• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้สามฤดู

ไข้สามฤดูเป็นไข้ที่คนสมัยเก่าเรียกกัน และยังเรียกกันมาทุกวันนี้
ในปีหนึ่งๆ การเปลี่ยนฤดูจากฤดูหนึ่งไปอีกฤดูหนึ่ง ท่านเคยสังเกตไหมว่า มักจะทำให้คนไม่สบาย เกิดการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ

หมอโบราณพยากรณ์สมุฏฐานว่า คือ ร่างกายที่มีอุณหภูมิเคยชินกับอากาศในฤดูนั้นอยู่ เมื่อเปลี่ยนจากฤดูนี้ไปสู่อีกฤดูหนึ่ง อุณหภูมิที่เคยชินกับร่างกายเปลี่ยนแปลงไปไม่ทันกัน จึงมีการเจ็บป่วย (ผิดอากาศ) บ้างก็เรียกว่าไข้หัวลม

ไข้สามฤดู ก็คือ จะไม่สบาย เจ็บป่วยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับฤดูดังนี้
ฤดูร้อนย่างต่อเข้าฤดูฝน
ฤดูฝนย่างต่อเข้าฤดูหนาว
และฤดูหนาวย่างต่อเข้าฤดูร้อน

คนมักจะเจ็บป่วยไม่สบายเพราะร่างกายเคยชินต่ออากาศเปลี่ยนแปลงไม่ทันกับอากาศฤดูนั้นๆ
คนไข้ที่ว่าจะมีอาการ ปวดเมื่อยเป็นไข้ตัวร้อน นอนละเมออาจเพ้อฝันร้าย เป็นหวัด ไอ หมดเรี่ยวแรงเจ็บในปาก มือเท้าเย็น มีน้ำลายมาก ให้กระหายน้ำ อาจปวดข้อมือข้อเท้า สะท้านร้อนสะท้านหนาว เบื่อหน่ายการงาน บางทีเป็นฝีพุพอง เป็นต้น

หมอสมัยโบราณมักแนะนำให้คนไข้กินผักที่เป็นยาเป็นอาหาร เช่น ให้กินยอดแคต้ม จิ้มน้ำพริกกิน เป็นอาหาร เป็นยาแก้ไข้เปลี่ยนอากาศ และแก้ไข้หัวลมได้

ยาโบราณหาได้ง่ายและไม่เป็นอันตราย เพราะเปลี่ยนอากาศหรือไข้สามฤดูย่อมเป็นได้อยู่ทุกฤดูกาล เป็นไข้ธรรมดา ถ้าไม่มีโรคอื่นมาแทรก

ยาธรรมชาติจะช่วยอาการไข้นี้ได้ และเป็นยาที่หาได้ง่ายตามพื้นบ้านและหาทำกินเองก็ได้
โรคไข้โบราณดังกล่าวนี้ ยาโบราณยังใช้ได้ดีอยู่ เราจะสังเกตดูได้ เช่น คนร้อนในกระหายน้ำ ปากเจ็บแตกออกหัดสุกใส ยาเขียวโบราณยังใช้ได้และขายดี

ตำรับยาที่สามารถทำขึ้นกินเองแก้ไข้สามฤดู คือ
ยาผง โกศสอ โกศเขมา โกศจุฬาลัมพา แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม บอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก สิ่งละน้ำหนักเท่ากัน
วิธีทำ บดเป็นผง
วิธีใช้ ผู้ใหญ่กินมื้อละ 1 ช้อนชา เด็กกินมื้อละ ครึ่งช้อนชา วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร

ยาต้ม
ต้นขี้เหล็กทั้ง 5 (ต้น ใบ ดอก ราก ลูก (ฝัก)) ฝาง แกแล แก่นขนุน แก่นไม้สัก แก่นไม้ประดู่ ต้นขลู่ จันทน์แดง จันทน์ขาว บอระเพ็ด เกสรทั้ง 5 (ดอกพิกุล ดอกบุนนาก ดอกสารภี ดอกมะลิ และเกสรบัวหลวง) หนักสิ่งละ 1 บาท
ใบมะกา 1 กำมือ ก้านสะเดา 33 ก้าน
วิธีทำ ต้ม
วิธีใช้ ผู้ใหญ่กินมือละ 2-3 ช้อนโต๊ะ เด็กกินมือละ 2 ช้อนกาแฟถึง 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร

ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดสงสัยหรือมีปัญหาจะสอบถาม ขอเชิญเขียนจดหมายไปยังสำนักงาน "หมอชาวบ้าน" ได้นะครับ
 

ข้อมูลสื่อ

49-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 49
พฤษภาคม 2526
ประเสริฐ พรหมณี