• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 3 ชีวิตความเป็นอยู่ (สภาพแวดล้อม)ที่กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง


22. ให้เด็กรับผิดชอบห้องของตนเอง

การสร้าง “ห้องเล่น” ให้ลูกทำเลอะเทอะได้ตามใจชอบนั้นเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเด็กอย่างยิ่ง ยิ่งกว่านั้นการสร้าง “ห้องเล่น” ในห้องส่วนตัวให้ลูก ๆ ยังส่งผลอย่างอื่นโดยที่มิได้คาดหมายมาก่อนคือ เด็กเริ่มรู้จักเก็บกวาด ทำความสะอาดห้องของตัวเองโดยไม่ต้องมีใครสั่ง ความจริงบริเวณ “ห้องเล่น” นั้น ลูกจะทำสกปรกหรือรื้อของจนยุ่งเหยิงแค่ไหนผมก็ไม่ว่าอยู่แล้ว แต่เด็ก ๆ กลับลุกขึ้นมาทำความสะอาดด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะห้องเดียวกันนี้ ยังเป็นทั้งห้องดูหนังสือ และห้องนอนด้วย เวลานั่งดูหนังสือสายตาคงเหลือบเห็นความระเกะระกะของบริเวณ “ห้องเล่น” จึงเกิดความรำคาญทนไม่ได้ขึ้นมากระมังครับ และเวลานอนเด็ก ๆ ก็คงอยากนอนในห้องที่เป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย ในเมื่อ “ห้องเล่น” คือปราสาทส่วนตัวของเด็ก เขาอยากทำสกปรกก็ทำได้ตามสบาย แต่ไม่มีใครเก็บกวาดให้ ภรรยาผมช่วยทำความสะอาดห้องให้ลูก ๆ ก็จริง แต่เฉพาะบริเวณที่เป็น “ห้องเล่น” ภรรยาผมจะไม่แตะต้องเลย เด็ก ๆ คงผจญกับปัญหาที่ว่า ถ้าอยากทำให้ปราสาทส่วนตัวของเขาน่าอยู่ เขาจะต้องลงมือเองเพราะไม่มีใครช่วย

ลูกชายคนโตของผม ลงมือทำความสะอาด “ห้องเล่น” ของตนเองเป็นคนแรก เมื่อลูกสาวเห็นพี่ชายทำเช่นนี้ก็ทำบ้าง และต่อมาลูกชายคนสุดท้องก็เอาอย่าง หลังจากนั้นการทำความสะอาดก็ขยายขอบเขตไปถึงโต๊ะเรียนและทั่วทั้งห้อง ในที่สุดการทำความสะอาดห้องของตนเองก็กลายเป็นประเพณีประจำบ้านแต่มิได้หมายความว่าเด็ก ๆ เลิกใช้ “ห้องเล่น” นะครับ เวลาพวกเขาวุ่นอยู่กับงานประดิษฐ์ บริเวณนั้นจะสกปรกรกรุงรังที่สุด แต่เมื่อเสร็จสิ้นงานของเขา เด็ก ๆ จะเก็บข้าวของเข้าที่ และเช็ดถูทำความสะอาดเสียทีหนึ่ง ผมแอบปลื้มใจอยู่เงียบ ๆ ที่ลูก ๆ เรียนรู้ด้วยตนเองว่า ห้องของเขา เขาควรรับผิดชอบเอง และทำให้เด็ก ๆ เข้าใจความหมายของ “ความรับผิดชอบ” ด้วย เด็กส่วนมากมักไม่เข้าใจว่า “ความรับผิดชอบ” คืออะไร สำหรับความรับผิดชอบทางสังคมนั้น ต้องรอให้อายุมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง เด็กจึงจะเข้าใจ แต่โดยทั่วไปไม่ว่าในชีวิตประจำวันหรือในโรงเรียนอนุบาล เด็ก ๆ ยังไม่ค่อยรู้จักกับคำว่า “ความรับผิดชอบ” เท่าใดนัก

เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนประถม เด็กจึงเริ่มเรียนรู้เรื่อง “ความรับผิดชอบ” อย่างไรก็ตาม ช่วยเวลาที่อยู่โรงเรียนก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัน เวลาส่วนใหญ่เด็กจะยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ ทำให้เด็กไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำว่า “ความรับผิดชอบ” ดังนั้น อันดับแรกควรหัดให้เด็กรับผิดชอบห้องส่วนตัวของตนเอง สกปรกแค่ไหนพ่อแม่ก็ต้องทำใจไม่ดุ ว่า และไม่ทำให้ แม่บางคนเห็นห้องของลูกรก รุงรังจะทำความสะอาดให้โดยคิดว่า ทำเสียเองดีกว่า เพราะดุว่าไปเด็กก็ไม่รู้เรื่อง จริงอยู่ การลงมือเก็บห้องให้ลูกนั้นเสียเวลาน้อยกว่า การดุว่า ปากเปียกปากแฉะ และเหนื่อยน้อยกว่าด้วย แต่ถ้าหากทำเช่นนี้เรื่อยไป เด็กคงพึ่งแม่อยู่ร่ำไปเช่นกัน เพราะรู้ว่าปล่อยทิ้งไว้ไม่นานแม่ก็เก็บให้ หรืออาจจะหลงคิดว่าห้องของตนเป็นของแม่ด้วย เพราะแม่ช่วยทำความสะอาดให้อยู่เสมอ แม้แต่เด็กเล็ก ๆ หากเรามอบหมายหน้าที่เลี้ยงสุนัขในบ้านให้แก แกจะดูแลอย่างมีความรับผิดชอบ เพราะรู้ว่า ถ้าไม่เอาอาหารให้สุนัขกิน มันจะหิว หรือต้นไม้ที่เด็กปลูกเอง แกจะหมั่นรดน้ำพรวนดินให้ปุ๋ย ดูแลเอาใจใส่อย่างมีความรับผิดชอบทีเดียว

สรุปแล้ว
ผมคิดว่าหากต้องการสอนให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบ เรามอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เป็นของแกเองจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เช่น มอบห้องส่วนตัวให้เด็กดูแลรับผิดชอบเอง เป็นต้น
 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

ถ้าอยากมีลูกหัวดีจากหนังสือ KODOMO NO O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU ประธานสมาคม นักประดิษฐ์นานาชาติ
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

119-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 119
มีนาคม 2532
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า