• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันตรายจากแหวนรัด

 

                                                          

 

คุณป้าจะเลือกแหวนหรือเลือกนิ้ว”
นักศึกษาแพทย์เริ่มหงุดหงิด และพูดเสียงดังที่คุณป้าไม่ยอมให้หมอตัดแหวนออกจากนิ้วที่บวมเป่ง

เหตุเกิดเมื่อสองวันก่อน คุณป้าตกคันนา ข้อมือซ้ายหักได้รับการรักษากับหมอพื้นบ้านตามมีตามเกิด โดยการดึงกระดูกทาน้ำมัน แล้วเข้าเฝือกไม้ไผ่ขันชะเนาะไว้แน่น
คุณป้าได้รับการรักษาด้วยความรัก แต่ขาดความรู้ มือและนิ้วมือข้างซ้ายของคุณป้า ปวดบวมมากขึ้น ๆ โดยเฉพาะนิ้วนาง ซึ่งสวมแหวนทองเกลี้ยงนั้นอาการหนักกว่าเพื่อน บวมเป่งจนเขียวคล้ำ วงแหวนรดโคนนิ้วจนดูเหมือนแหวนวงน้อยจมลงไปในเนื้อ คุณป้าและลูกหลานพยายามจะถอดแหวนแต่ไม่สำเร็จ จึงต้องเหมารถมาหาหมอในคืนนี้ คุณป้าต้องการให้หมอช่วย แต่ห้ามตัดแหวนเด็ดขาด เพราะเป็นแหวนที่คุณลุงสวมให้ และยังไม่เคยถอดออกจากนิ้วเลยตั้งแต่แต่งงาน

เมื่อได้รับบาดเจ็บที่แขน ข้อมือ มือ หรือนิ้วมือ ที่เกิดอาการบวม ช้ำ โดยเฉพาะในรายที่มีกระดูกหัก ซึ่งมักจะบวมได้มาก ๆ ควรถอดแหวน หรือกำไลข้อมือออกแต่แรกก่อนที่จะเกิดการบวม เพราะแหวนหรือกำไลจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดทำให้บวมได้มากขึ้น เมื่อบวมจนถึงระดับหนึ่ง เนื้อเยื่อส่วนปลายก็จะขาดเลือด เกิดการเน่าตาย อย่างเช่นคุณป้าคนนี้ หากไม่ตัดแหวนออก นิ้วก็จะต้องเน่าตายจนต้องตัดนิ้วกว่าพวกเรารวมทั้งลูกหลานของคุณป้า จะอ้อนวอนให้คุณป้ายอมให้ตัดแหวน ก็อ่อนอกอ่อนใจ จนเกือบท้อไปตาม ๆ กัน

อย่าลืมนะครับ เมื่อมือเป็นแผลบวมช้ำ กระดูกหัก อักเสบ รีบถอดแหวนออกเสียก่อนที่จะเกิดอันตรายจากแหวนรัด

 

ข้อมูลสื่อ

118-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
นานาสาระ
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์