• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 2 เคล็ดลับในการสร้างพลังสมาธิ พลังความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์


18. อย่าสังกัดก๊ก “ไปพลาง” จงอยู่ก๊ก “ทีละอย่าง”

การรวมศูนย์ความสนใจไปที่สิ่งหนึ่งสิ่งเดียว และมุมานะทำสิ่งนั้นจนสำเร็จ เป็นการพัฒนาพลังสมาธิของเด็กซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก หากเด็กมีพลังสมาธิดี ผลการเรียนย่อมดีไปด้วย เพราะสามารถจดจำบทเรียนที่เด็กอื่นต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงได้ภายใน 20 นาที คะแนนสอบจึงจะดีขึ้น
กล่าวได้ว่า เด็กที่มีพลังสมาธิ คือเด็กหัวดี เพราะการมีสมาธิเป็นคุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งของการเป็นคนหัวดีหรือไม่ดี

ปัจจุบันนี้มีวัยรุ่นจำนวนมาก ชอบฟังรายการเพลงยามดึก โดยเฉพาะนักเรียนซึ่งกำลังดูหนังสือสอบ ต้องอยู่คนเดียวจนดึก จึงเกิดความเหงาและอาศัยรายการเพลงเป็นเพื่อน เมื่อผู้จัดรายการคุยก็รู้สึกเหมือนมีเพื่อนนั่งคุยอยู่ด้วย เป็นการช่วยผ่อนคลายความโดดเดี่ยว มีเด็กจำนวนมากที่ฟังเพลงไปพลาง ดูหนังสือไปพลาง และอ้างว่า ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ดูเหมือนบทเรียน จะไม่ซึมเข้าหัว แม้แต่เด็กประถมบางคนก็ต้องดูการ์ตูนไปพลางในระหว่างทำการบ้าน พวกก๊ก “ไปพลาง” เหล่านี้ จะต้องฟังวิทยุหรือฟังเพลงไปพลาง จึงจะดูหนังสือได้ ผมสงสัยว่าทำแบบนี้แล้วจะได้ผลจริงหรือ?

ผมไม่เห็นด้วยกับพวกก๊ก “ไปพลาง” หรอกครับ ดูผิวเผินจะรู้สึกเหมือนว่าฟังเพลงไปพลางดูหนังสือไปพลางนั้นทำให้ตาสว่างดี เพราะมีจังหวะดนตรีคอยกระตุ้นจึงเรียนได้ผล แต่ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจผิดมากกว่า ความจริงเป็นการดูหนังสือที่ไม่มีประสิทธิภาพเลย ผมคิดว่าการมีสมาธิเป็นเงื่อนไข ที่ขาดไม่ได้สำหรับคนหัวดี เพราะการคิด การประดิษฐ์ การสร้างจินตนาการ ล้วนต้องการพลังสมาธิทั้งสิ้น
ลองนึกถึงภาพของเด็กซึ่งกำลังใช้ความคิด แล้วมีเสียงดนตรีซึ่งไม่เกี่ยวพันกันสอดแทรกเข้ามา หรือมีเสียงแหลม ๆ ของนักจัดรายการพูดจ้อย ๆ กรอกหูอยู่ตลอดเวลา บทเรียนในตำรากับบทเจรจาในรายการวิทยุคงจะผสมกันอยู่ในสมอง เหมือนถูกกวนด้วยที่ตีไข่ ในสภาพเช่นนี้ จะเรียกดูหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรกัน

ผลก็คือ ฟังเพลงได้แค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ดูหนังสือก็ได้แค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เหมือนวิ่งไล่จับกระต่ายทีละสองตัว ผลสุดท้ายเลยไม่ได้สักตัว หรือจับปลาสองมือจึงลื่นหลุดมือไปทั้งสองตัวนั่นเอง ที่ร้ายกว่านั้นคือ หัวและหูหันไปหาแต่ของที่ตนชอบ สนใจแต่รายการวิทยุ ทั้ง ๆ ที่นั่งกางตำราอยู่ตรงหน้า แต่ปากกากลับไม่ขยับเอาเสียเลย ในสภาพที่ขาดสมาธิเช่นนี้ รับรองว่าดูหนังสือไม่ได้ผลหรอกครับ
อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลิกของชอบทั้งหมด อดทนอดกลั้นใจเรียนแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะทำแบบนั้นก็ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียนเช่นเดียวกัน ผมเพียงแต่เสนอให้ออกจากสังกัดก๊ก “ไปพลาง” มาอยู่ก๊ก “ทีละอย่าง” ดีกว่า

ก๊ก “ทีละอย่าง” นี้ หมายถึง การทำอะไรทีละอย่างตามชื่อ กล่าวคือ เวลาดูหนังสือก็ดูอย่างมีสมาธิ เวลาเล่นก็เล่นอย่างมีสมาธิ ทำทีละอย่าง เมื่อเสร็จอย่างหนึ่งจึงลงมือทำอีกอย่างหนึ่ง ไม่ทำอะไรสองอย่างในเวลาเดียวกันอย่างเด็ดขาด สมัยผมเป็นเด็กประถม ผมก็อยู่ก๊ก “ทีละอย่าง” ผมชอบเครื่องบินจำลองมาก เวลาดูหนังสือ พอคิดถึงเครื่องบินจำลองก็อยากออกไปร่อนเครื่องบินเล่นข้างนอก จิตใจไม่อยู่กับบทเรียนเสียแล้ว หากเป็นเช่นนี้ ผมจะออกไปข้างนอกทันที

เมื่อวิ่งเล่นจนสมใจอยากแล้ว จึงกลับเข้าห้องเพื่อดูหนังสือหรือทำการบ้านต่อ คราวนี้ผมจะทุ่มจิตใจให้กับการเรียนได้อย่างเต็มที่ ไม่พะวักพะวนอีกต่อไป เป็นการแบ่งแยกการเรียนและการเล่นออกจากกัน เมื่อได้เล่นสมใจ เวลาเรียนจึงมีสมาธิดีกว่าการอดทนไม่ยอมเล่นเลย พยายามนั่งดูหนังสือแต่ใจลอยออกไปข้างนอกด้วยความอยากเล่น ซึ่งเป็นการเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ถ้าอยากมีลูกหัวดี จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU ประธานสมาคม นักประดิษฐ์นานาชาติ
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

115-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 115
พฤศจิกายน 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า