• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 2 เคล็ดลับในการสร้างพลังสมาธิ พลังความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์


13. ความอยากรู้อยากเห็น คือขุมพลังกระตุ้นสมอง
ภาพแม่จูงลูกเดินในขณะที่ลูกเล็ก ๆ เอียงคอถามแม่ด้วยเสียงจ๋อย ๆ ว่า “แม่ฮะไอ้นั่นอะไรฮะ?” “แล้วไอ้นี่ล่ะ อะไรฮะ?” เป็นภาพที่เราพบเห็นกันบ่อย เด็กในวัยเรียนรู้ภาษานั้นช่างซักช่างถาม แกจะถามว่า “อะไร” หรือ “ทำไม” ตั้งแต่เช้าจรดเย็นทีเดียว ไม่ว่าเราจะมีงานยุ่งสักเพียงใดก็ตาม ไม่ควรละเลยคำถามของเด็กและเห็นเป็นสิ่งน่ารำคาญ ถ้าเราดุแกว่าหนวกหูหรือสั่งให้อยู่เงียบ ๆ เด็กจะเลิกถามคำถามไปเลย การที่เด็กถามคำถามไม่หยุดหย่อนเพราะแกมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่เต็มเปี่ยม ในหัวของเด็กเล็ก ๆ นั้น มีจำนวนคำถามบรรจุอยู่พอ ๆ กับปริมาณของดวงดาวบนท้องฟ้าทีเดียว เวลาเด็กเห็นสิ่งแปลกใหม่ ความอยากรู้จะกระตุ้นให้สมองของแกทำงานทันที เท่ากับเป็นการฝึกสมอง และช่วยให้สมองพัฒนาขึ้นด้วย

พ่อแม่ต้องดูแลรักษาต้นหน่อของความอยากรู้อยากเห็นของลูกเอาไว้ให้ดี อย่าเผลอถอนทิ้งเพราะความเกียจคร้านของตนเองเป็นอันขาด เวลาเด็กหมกมุ่นอยู่กับการเล่นของแก แสดงว่าการเล่นนั้นตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของแกได้ ทำให้เด็กอยากเล่นสนุกยิ่งขึ้น เด็กที่มีระดับความอยากรู้สูง จะพัฒนาพลังความคิด จินตนาการ สร้างสรรค์ ความรู้จักสังเกต และความสามารถในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเด็กๆ หาคำตอบให้กับความสงสัยข้อหนึ่งของแกได้ คราวนี้แกจะสงสัยในสิ่งซึ่งลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก และจะก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

การที่ผมหมกมุ่นอยู่กับเครื่องบินจำลองในวัยเด็ก เพราะผมมีความอยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลกใหม่ หากเป็นเครื่องบินแบบเหมือน ๆ กันละก็ ผมทำไม่กี่ลำคงเบื่อ เครื่องบินจำลองกระตุ้นให้ผมคิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้มันบินได้ไกล ๆ ? จะสร้างเครื่องบินแบบที่หุบขาล้อเองโดยอัตโนมัติได้หรือไม่ ? จะสร้างเครื่องบินที่โปรยใบปลิวโดยอัตโนมัติได้ หรือไม่ ? ผมอยากเห็นสิ่งใหม่ ๆ จึงพยายามปรับปรุงเครื่องบินของผมไปเรื่อยๆ สร้างเครื่องใหม่ทีไรประสิทธิภาพก็ดีกว่าเครื่องเก่า ทำให้ผมหมกมุ่นอยู่กับการสร้างเครื่องบินจำลองอยู่หลายปีทีเดียวครับ  ไม่เฉพาะแต่ในวัยเด็กเท่านั้น เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่หากความอยากรู้อยากเห็นมิได้สูญหายไปสมองของเราก็จะเฉียบไวอยู่เสมอ

หลังจากที่ผมจบการศึกษา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว (TODAI) ผมเข้าทำงานที่บริษัทมิตซุยบุซซัง (Mistuibussan) ทางบริษัทจัดให้ผมอยู่ในแผนกเครื่องบินพิเศษ ซึ่งสังกัดฝ่ายเครื่องยนต์ เพราะผมจบวิศวกรรมศาสตร์ และชอบเครื่องบิน ผมมีหน้าที่ขายเฮลิคอปเตอร์ ผมเลือกเข้าบริษัทมิตซุยบุซซังเพราะต้องการศึกษา วิชาการขายซึ่งเป็นจุดอ่อนของผม แต่พนักงานขายซึ่งพูดไม่เก่งอย่างผม ย่อมเทียบชั้นเชิงการขายกับพนักงานที่จบจากโรงเรียนพาณิชย์ได้ยาก อย่างไรก็ตามผมประสบความสำเร็จสูงในการขายเฮลิคอปเตอร์ โดยไม่ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อลูกค้าเลยครับ เพียงแต่อาศัยจินตนาการการสร้างสรรค์ และเทคนิคในการปรับปรุงสินค้าเท่านั้นเอง เคล็ดลับของความ สำเร็จคือ “ความสนใจค้นหาคำตอบ” ของผม

ลูกค้าผมต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อเฮลิคอปเตอร์ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตัวผมซึ่งเป็นผู้ขายควรรู้จักเฮลิคอปเตอร์เป็นอย่างดีด้วย ผมจึงขึ้นเครื่องจากคิวชิว (Kyushu) จนถึงฮอกไคโด (Hokkaida) และทำสถิติบินรอบประเทศญี่ปุ่น 1 รอบได้สำเร็จ เฮลิคอปเตอร์นั้น มีใบพัดอันใหญ่ติดอยู่ที่ส่วนหัว เมื่อใบพัดหมุน จะตีอากาศลงด้านล่างทำให้เครื่องลอยตัวขึ้น เวลาเครื่องขึ้น รอบ ๆ จะเต็มไปด้วยฝุ่น ผมต้องอาบฝุ่นจากหัวลงมา พอรู้สึกตัวก็รีบหลับตา แต่ช้าไปเสียแล้ว เศษผงทรายเข้าไปติดขอบตาบนทำให้น้ำตาหยดไม่ยอมหยุด จุดนี้เองที่สมองผมถูกกระตุ้นให้ทำงานด้วยความอยากรู้คำตอบว่าทำไมมันถึงติดขอบตาบน ? ตามธรรมดามันน่าจะติดขอบตาล่างนี่นา” ผมจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผงทรายซึ่งถูกใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ตีนั้น อาจสะท้อนขึ้นมาจากพื้นดินอีกครั้งก็ได้ หลังจากนั้นผมก็ใช้ทฤษฎี “ผงทรายเข้าขอบตาบน ของผมนี้มาผลิตเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงด้วยเฮลิคอปเตอร์ชื่อ “นาคาซันดัวต้า” (NAKASANDUSTA) ซึ่งสามารถฆ่าแมลงที่เกาะอยู่ใต้ใบพืชได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้เฮลิคอปเตอร์จึงขายดี จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นตัวทำเงินให้กับแผนกเครื่องบินและยานอวกาศของบริษัทมิตซุยบุซซัง โดยมียอดขายสูงถึงหนึ่งแสนล้านเยน (สองหมื่นล้านบาท)

ความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจค้นหาคำตอบเป็นต้นกำเนิดของความคิดอิสระและสร้างสรรค์ แต่น่าเสียดายที่คุณสมบัติเหล่านี้โดยทั่วไปจะด้อยลงตามอายุขัยซึ่งมากขึ้นของคนเราด้วยเหตุนี้เราต้องพยายามส่งเสริมและพัฒนาความอยากรู้และความสนใจค้นคว้าของเด็ก เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่มีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่เต็มเปี่ยม ส่งเสริมให้เด็กสนใจสิ่งแปลกใหม่ รู้จักคิด รู้จักสังเกต และแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง ต่อจากนั้น เด็กก็จะมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่ง ซึ่งลึกซึ้งยิ่งขึ้น ถ้าเราฝึกให้เด็กมีนิสัยเช่นนี้ได้ เด็กจะเกิดความอยากรู้ขึ้นมาเอง และกระตุ้นให้สมองทำงานอย่างเฉียบไวด้วย หากคนเราขาดความอยากรู้อยากเห็นเมื่อใด สมองก็จะเฉื่อยชาลงไปเรื่อย ๆ

ความอยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลกใหม่นั้น นอกจากจะช่วยพัฒนาสมองแล้ว ยังทำให้สมองสามารถปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบได้ ดังเช่นเต้าหู้ ไม่เป็นสมองแข็งทื่อดุจก้อนอิฐก้อนหิน

 

( อ่านต่อฉบับหน้า )
ถ้าอยากมีลูกหัวดี จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR.YOSHIRO NAKAMATSU ประธานสมาคม นักประดิษฐ์นานาชาติ
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า
 

ข้อมูลสื่อ

110-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า