• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “ความดันเลือดสูง”

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

อันที่จริง “ความดันเลือดสูง” ไม่ใช่อาการ (symptom) แต่เป็นอาการแสดง (sign) หรืออาการที่เราตรวจได้ เนื่องจาก “ความดันเลือดสูง” ในระยะแรกมักไม่ทำให้เกิดอาการ คนที่เป็นโรคความดันเลือดสูงในระยะแรกจึงรู้สึกเหมือนคนปกติ เพราะไม่มีอาการผิดปกติอะไร


การที่จะรู้ว่าความดันเลือดสูงหรือไม่ จึงต้องอาศัยการตรวจวัดความดันเลือด เพราะการตรวจวิธีอื่น เช่น การคลำชีพจร จะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย โดยเฉพาะในคนที่ไม่ได้ฝึกมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ

เนื่องจากความดันเลือดสูงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะ โรคเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบตัน ทำให้เป็นอัมพาต โรคหัวใจ โรคไต และอื่น ๆ ซึ่งยังความทุกข์ทรมานให้อย่างมากได้ จึงควรที่จะตรวจวัดความดันเลือดของตนเป็นครั้งคราว แม้จะไม่รู้สึกว่าเป็นอะไร โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในเกณฑ์ต่อไปนี้
1. อายุ 35 ปีขึ้นไป
2. อ้วน
3. ตั้งครรภ์
4. มีพี่น้องเป็นโรคความดันเลือดสูง
5. เป็นโรคไต
6. เป็นเบาหวาน
7. ปัสสาวะผิดปกติ
8. เหนื่อยง่าย บวม ปวดหรือเวียนศีรษะ ตามัว เลือดออกในตาขาว เลือดกำเดาออกง่าย เจ็บแน่นใน
หน้าอกหรือใจเต้นใจสั่นเป็นครั้งคราว



วิธีตรวจวัดความดันเลือดและค่าของความดันเลือดปกติให้ดูคอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 19 เดือนพฤศจิกายน 2523 หน้า 14-19 และฉบับที่ 20 เดือนธันวาคม 2523 หน้า 15-20
ความหมายของ ”ความดันเลือดสูง” นั้นหมายถึงภาวะที่ความดันเลือดเท่ากับหรือสูงกว่า 160/95 มิลลิเมตรปรอทอยู่ตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลาในผู้ใหญ่ นั่นคือความดันเลือดตัวบนเท่ากับหรือสูงกว่า160 หรือความดันเลือดตัวล่างเท่ากับหรือสูงกว่า 9 5มิลลิเมตรปรอท อยู่ตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ส่วนความดันเลือดที่อยู่ระหว่าง140/90 ถึง 160/95 อาจจะเป็นความดันเลือดสูง หรือมีโอกาสที่จะเป็นความดันเลือดสูงได้ในผู้ใหญ่

ส่วนในเด็ก ค่าความดันเลือดสูงจะเพิ่มขึ้นตามความสูงและ/หรือน้ำหนัก(หรือตามอายุนั่นเอง เพราะในเด็กความสูงและน้ำหนักเพิ่มตามอายุ) ตัวเลขที่เป็นค่าสูงสุดสำหรับความดันเลือดปกติจึงเปลี่ยนแปลงตามอายุ ความสูง และ/หรือน้ำหนักในเด็ก

ในผู้ใหญ่ ความดันเลือดปกติก็มีการเปลี่ยนแปลงตามน้ำหนักเช่นเดียวกัน โดยคนอ้วนจะมีความดันเลือดสูงกว่าคนผอม เพราะความดันเลือดในผู้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 มิลลิเมตรปรอทถ้าอ้วนขึ้น 10 กิโลกรัม แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามอายุในผู้ใหญ่ปกติ
 

        

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดค่าของความดันเลือดสำหรับผู้ใหญ่ไว้ดังนี้
ความดันช่วงบน
 ถ้าวัดได้ตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอทลงมาก็ถือว่าปกติ
 ถ้าวัดได้ระหว่าง 141-159 มิลลิเมตรปรอท ก็ถือว่าเป็นระดับก้ำกึ่ง
 ถ้าวัดได้ตั้งแต่ 160 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ก็ถือว่าสูง

ความดันช่วงล่าง
 ถ้าวัดได้ตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอทลงมาก็ถือว่าปกติ
 ถ้าวัดได้ระหว่าง 91-94 มิลลิเมตรปรอท ก็ถือว่าเป็นระดับก้ำกึ่ง

 ถ้าวัดได้ตั้งแต่ 95 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ก็ถือว่าสูง

   

ใช้มือข้างหนึ่งจับม้วนผ้า มืออีกข้างหนึ่งกดปลายผ้าส่วนแรกให้แนบติดกับเนื้อ มือปล่อยม้วนผ้าให้อีกมือหนึ่งรับไปพันรอบต้นแขน แล้วคอยรับม้วนผ้าที่ถูกส่งกลับมาให้ใหม่

ประเภทความดันเลือดสูง

ภาวะความดันเลือดสูง อาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ภาวะความดันเลือดตัวบนสูง (systolic hypertension) นั่นคือ ความดันเลือดตัวบนเท่ากับหรือสูงกว่า 160 มิลลิเมตรปรอทอยู่ตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ในขณะที่ความดันเลือดตัวล่างต่ำกว่าปกติปกติ หรือสูงกว่าปกติเล็กน้อย เช่น 170/40, 180/80, 200/90, 220/100 เป็นต้น
2. ภาวะความดันเลือดตัวล่างสูง (diastolic hypertension) นั่นคือ ความดันเลือดล่างเท่ากับหรือสูงกว่า 95 มิลลิเมตรปรอทอยู่ตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ความดันเลือดตัวบนจะสูงด้วย แต่ก็อาจจะปกติได้ เช่น 140/110, 180/110, 200/130 เป็นต้น

 

     

⇒ สาเหตุ
ในคนปกติความดันเลือดจะสูงขึ้นได้ในกรณีต่อไปนี้
1. ขณะออกกำลังกาย และหลังจากนั้น ซึ่งรวมถึงการทำงานการร่วมเพศ การตั้งครรภ์ และอื่น ๆ
2. ขณะมีอารมณ์รุนแรง เช่น ดีใจมาก ตื่นเต้นมาก เครียดมาก ตกใจ กลัว โกรธ หรืออื่น ๆ
ดังนั้น การตรวจวัดความดันเลือดจึงต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกตรวจกำลังอยู่ในความสงบ ทั้งทางกายและใจ นั่นคือ นั่งพัก หรือนอนพักอยู่ในที่สงบ
การวัดความดันเลือดในขณะที่ผู้ป่วยตื่นเต้น กำลังพูด กำลังคุย หรืออื่น ๆ จะทำให้ได้ค่าความดันเลือดสูงกว่าปกติได้
นอกจากนั้น คนที่ไม่เคยถูกวัดความดันเลือด หรือคนที่ตื่นเต้นง่าย กลัวหมอ หรือกลัวว่าความดันจะผิดปกติ เมื่อถูกวัดความดันเลือดความดันเลือดอาจจะสูงกว่าปกติได้
ดังนั้น การจะถือว่าความดันเลือดสูงจริง ๆ นอกจากจะต้องวัดความดันเลือดในขณะที่ผู้ถูกวัดได้นั่งพักหรือนอนพักและอยู่ในความสงบแล้ว ยังต้องวัดอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1-2 สัปดาห์ และความดันเลือดที่วัดได้ทุกครั้งจะต้องเท่ากับหรือสูงกว่า 160/95 มิลลิเมตรปรอท ยกเว้นในบางกรณีที่ความดันเลือดสูงมาก ๆ และ/หรือมีอาการแทรกซ้อนของความดันเลือดสูง เช่น ความดันเข้าตา (Hypertensive retinopathy) หัวใจห้องล่างซ้ายโต (left ventricular hypertrophy) โรคลมปัจจุบัน (stroke, cerebrovascular accident) เป็นต้น การวัดความดันเลือดครั้งเดียวและพบว่าสูง จึงจะถือว่าเป็นโรคความดันเลือดสูงได้
สาเหตุของภาวะความดันเลือดสูงนอกจากที่พบในคนปกติ อาจจะแยกตามประเภทของความดันเลือดสูง คือ
1. สาเหตุของภาวะความดันเลือดตัวบนสูง เช่น
1.1 หลอดเลือดแดงใหญ่กลางตีบแข็ง (aortic arteriosclerosis)
1.2 หัวใจเต้นช้ามากแต่แรง (bradycardia)
1.3 หัวใจเต้นแรงและเร็ว ( hyperkinetic cardiovascular state)
1.4 ลิ้นแอออร์ติกรั่ว (aortic regurgitation)
1.5 หลอดเลือดแดงทะลุเข้าหลอดเลือดดำ (arteriovenous fistula ) ซึ่งรวมถึง หลอดเลือดแดงใหญ่กลางทะลุเข้าหลอดเลือดแดงปอดแต่กำเนิด ( patent ductus aeteriosus) ด้วย
1.6 คอพอกเป็นพิษ (thyrotoxicosis)
1.7 โรคหัวใจเหน็บชา (cardiac beriberi )
1.8 ภาวะซีดมาก ๆ (severe anemia)
1.9 ไม่รู้สาเหตุ (idiopathic)

2. สาเหตุของภาวะความดันเลือดตัวล่างสูง เช่น
2.1 ครรภ์เป็นพิษ (toxemia of pregnancy)
2.2 หลอดเลือดแดงใหญ่กลางตอด หรือตีบแคบ ( coarctation of aorta และ Takayasu’aortitis )
2.3 โรคไตหลายชนิด เช่น ไตอักเสบเฉียบพลัน (acute glomerulonephritis) ไตล้มเรื้อรัง (chronic renal failure) หลอดเลือดแดงไตตีบ (renal artery stenosis)
2.4 โรคหมวกไต เช่น Cushing’s syndrome , Conn’s syndrome
2.5 เนื้องอกบางชนิด เช่น เนื้องอกความดัน (pheochromocytoma)
2.6 การได้ยาหรือสารบางอย่าง เช่น ยาคุมกำเนิด สตีรอยด์ licorice
2.7 การหยุดยาหรือสารบางอย่าง
2.8 ปฏิกิริยาระหว่างยา หรือระหว่างยากับอาหารบางชนิด
2.9 ไม่รู้สาเหตุ (idiopathic)

 

อาการ
ภาวะความดันเลือดสูงอาจทำให้เกิดอาการหรือไม่ทำให้เกิดอาการก็ได้ คนจำนวนมากที่ความดันเลือดสูงจึงไม่รู้สึกว่าตนมีอาการผิดปกติ จึงไม่ได้ไปหาหมอและไม่ได้วัดความดันเลือด จนเกิดอาการจากภาวะแทรกซ้อนของความดันเลือดสูง เช่น ตามืดมัว หัวใจล้ม (เหนื่อยง่ายและบวม) หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีกแล้ว
ดังนั้น ถ้าไม่อยากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากความดันเลือดสูง ควรจะวัดความดันเลือดเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในคนต่อไปนี้
1. มีอายุมากกว่า 35 ปี
2. อ้วน
3. ตั้งครรภ์
4. มีอาการเหนื่อยง่าย บวม ปวดหรือเวียนศีรษะ ตามัวโดยไม่มีสาเหตุ ใจเต้นใจสั่น ปัสสาวะผิด ปกติ หรืออื่น ๆ ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น
อาการที่เกิดจากภาวะความดันเลือดสูงอย่างเดียว (โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน) พบได้บ้าง โดยเป็นอาการปวดมึนศีรษะในตอนตื่นนอนเช้า แต่อาการดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น นอนหลับไม่สนิท ดื่มสุรามากเกินไปในคืนวันก่อน เป็นต้น

 

⇒ การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยภาวะความดันเลือดสูง ที่ดีที่สุดคือการตรวจวัดความดันเลือดแล้วพบว่าความดันเลือดในขณะพักสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อย่างน้อย 2-3 ครั้งในระห่างกันครั้งละ 1-2 สัปดาห์

ถ้ามีอาการแทรกซ้อน เช่น ความดันเข้าตา หัวใจห้องล่างซ้ายล้ม ไตผิดปกติ หรืออื่น ๆ จะช่วยทำให้แน่ใจว่าเป็นโรคความดันเลือดสูงจริง ๆ
 

ข้อมูลสื่อ

118-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์