• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกายตอนที่ 44 การตรวจตามระบบ การตรวจท้อง (ต่อ)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง "มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้"

ฉบับที่แล้ว "มาเป็นหมอกันเถิด" ตอน การตรวจร่างกาย ได้กล่าวถึง การตรวจท้องด้วยการคลำ ซึ่งได้รายละเอียดตามหัวข้อดังนี้

การคลำท้อง
อาจจะทำได้โดย
1. การคลำมือเดียว
2. การคลำ 2 มือ

การคลำจะทำให้ได้ลักษณะผิดปกติเช่น
1. ลักษณะของผนังหน้าท้อง
2. จุดกดเจ็บ
3. การเกร็งแข็งของท้อง
4. ก้อน
4.1 หลอดเลือดแดงใหญ่กลางท้อง
4.2 กระดูกสันหลัง
4.3 ขอบล่างตับ


ฉบับนี้จะขอกล่าวต่อในหัวข้อย่อย 4.4 ดังนี้
4.4 กล้ามเนื้อท้อง (abdominal muscle) ในคนที่กล้ามเนื้อหน้าท้องและข้างท้องเป็นมัดๆ อาจจะคลำได้คล้ายกับว่าเป็นก้นในท้อง แต่อาจจะแยกจากก้อนในท้องได้โดยคนไข้ผงกศีรษะ (ยกศีรษะ) ขึ้นจากท่านอนหงายอยู่ ถ้าก่อนที่คลำได้ชัดขึ้นแสดงว่าก้อนนั้นเป็นกล้ามเนื้อท้อง แต่ถ้าก้อนที่คลำได้นั้นเกิดหายไป มีแต่กล้ามเนื้อหน้าที่แข็งตึงเป็นก้อนแทน ก็แสดงว่าก้อนนั้นคงเป็นก้อนในท้องจริง (รูปที่ 1)

                                              

4.5 ไต (kidney) ในคนปกติไตที่คลำได้มักจะเป็นไตขวา และจะคลำได้เฉพาะส่วนล่างด้วยการคลำสองมือ โดยมือหนึ่งคลำทางหน้าท้อง อีกมือหนึ่งคลำทางหลังท้อง แล้วกดทั้งสองมือเข้าหากัน ในขณะที่คนไข้หายใจเข้าออกลึกๆ อาจจะคลำส่วนล่างของไตขวาผลุบเข้าผลุบออกจากมือทั้งสอบข้างที่คลำอยู่ (รูปที่ 2)

                                     

ในคนที่ไตหย่อน อาจจะคลำไตขวาและไตซ้ายได้ทั้ง 2 ข้าง

4.6 อวัยวะอื่นๆ มักจะคลำไม่ได้นอกจากจะมีความผิดปกติเช่น กระเพาะอาหารลำไส้ที่โป่งด้วยลม น้ำหรืออุจจาระจึงจะคลำได้ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoid colon) ที่เต็มไปด้วยอุจจาระ (ท้องผูก) จะคลำได้เป็นลักษณะคล้ายไส้กรอกในบริเวณท้องน้อยส่วนที่ 9 (ดูรูปที่ 3)

                                          

ส่วนอวัยวะอื่นๆ ในช่องเชิงกราน (pelvic organs) ถ้าจะคลำให้ได้ ต้องคลำด้วยสองมือ โดยให้มือหนึ่งคลำทางหน้าท้อง อีกมือหนึ่งใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนัก หรือช่องคลอดเพื่อคลำรังไข่หรือมดลูก ซึ่งจะกล่าวถึงในเรื่องการตรวจช่องเชิงกรานและอวัยวะเพศกับทวารหนักในตอนต่อไป

ในการตรวจก้อนในท้องควรจะศึกษารายละเอียดของก้อนดังนี้ คือ
1. ตำแหน่งของก้อน : ว่าอยู่ในท้องส่วนไหน

2. รูปร่าง :
ว่ามีรูปร่างเป็นอย่างใด ตำแหน่งและรูปร่างของก้อนมักจะช่วยให้รู้ว่าก้อนนั้น
เป็นอวัยวะอะไรเช่น

ก้อนที่ท้องส่วนที่ 1 และ 2 ที่มีลักษณะเป็นขอบของก้อนที่มีลักษณะเป็นแถบจากด้านข้างไปถึงตรงกลาง (ตรงลิ้นปี่) มักจะเป็นตับ

ก้อนที่ท้องส่วนที่ 3 ที่มีลักษณะคล้ายส่วนล่างของเมล็ดถั่วแดงยักษ์มักจะเป็นม้าม ก้อนนี้จะยื่นลงมาถึงท้องส่วนที่ 5 และ 6 เมื่อโตมากขึ้นและลงมาถึงส่วนที่ 8 และ 9 เมื่อโตมากๆ (ดูรูปที่ 3)

ก้อนที่ท้องส่วนที่ 9 ที่มีลักษณะคล้ายไส้กรอก มักจะเป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่คดที่มีอุจจาระอยู่ (ดูรูปที่ 3)

ก้อนที่กลมที่ท้องส่วนที่ 7 มักจะเป็นความผิดปกติของลำไส้ส่วนกระเปาะ (caecum) หรือฝีไส้ติ่ง (appendicial abscess) หรือไส้ติ่งอักเสบเรื้อรัง (choronic appendicitis) (ดูรูปที่ 4)

                                         

ก้อนที่ท้องส่วนที่ 8 ที่เป็นรูปค่อนข้างกลม มักเป็นกระเพาะปัสสาวะที่โป่งตึงหรือเป็นมดลูกที่โตพันกระดูกหัวหน่าวขึ้นมา

ก้อนขรุขระในท้องส่วนที่ 5 มักเป็นต่อมน้ำเหลือหรือพังผืดในเยื่อยึดลำไส้ (omentum)

3. ขนาด : เพื่อจะได้รู้ว่าเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน

4. ผิว :
ดูว่าผิวขรุขระ หรือผิวเรียบหรือเป็นตะปุ่มตะป่ำ เช่น ตับที่โตและผิวเรียบ อาจเกิดจากเลือดคั่ง หรือมีไขมันมากหรือมีอาการอักเสบ ส่วนที่ตับโตและผิวขรุขระเล็กน้อย มักเป็นตับแข็งจากพิษสุรา ส่วนตับที่โตและผิวขรุขระมากจนเป็นตะปุ่มตะป่ำมักเป็นตับแข็งจากเชื้อไวรัส หรือเป็นมะเร็งที่ตับ เป็นต้น (ดูรูปที่ 5)

                                          

5. ความหยุ่นแข็ง : 
เพื่อดูว่าก้อนนั้นนิ่ม (เช่นกระเพาะลำไส้ที่โป่งด้วยลม) หรือหยุ่น
เหมือนถุงน้ำ (เช่นเป็นถุงน้ำ (cyst) หรือฝี) หรือแข็งเหมือนเนื้อแน่นๆ (เช่นตับ ม้าม) หนทอแข็งเหมือนไม้หรือหิน (เช่น มะเร็ง นิ่ว)

6. ความกดเจ็บ : 
ก้อนที่กดเจ็บ มักจะแสดงว่ามีการอักเสบอยู่ ส่วนก้อนที่กดไม่เจ็บก็จะ
แสดงว่าไม่มีการอักเสบ เป็นต้น

7. การเคลื่อนไหว :
ควรจะดูว่า
7.1 ก้อนนั้นเคลื่อนไหวตามการหายใจหรือไม่ ถ้าเคลื่อนไหวตามการหายใจ มักจะ
เป็นตับ ไต และม้าม อวัยวะอื่นๆ ที่ใกล้กับกะบังลมก็เคลื่อนไหวตามการหายใจเช่นกัน แต่มักจะคลำไม่ได้ เช่น กระเพาะอาหาร
7.2 ก้อนนั้นเคลื่อนที่ไปมาได้เมื่อถูกดันไปมาโดยมือหรือไม่ก้อนที่ถูกดันให้เคลื่อนที่ไปมาได้ มักเป็นก้อนที่ติดอยู่กับกระเพาะลำไส้ หรือก้อนที่มีขั้วยาวๆ หรือลอยขึ้นมาจากช่องเชิงกราน
7.3 ก้อนนั้นเต้นได้หรือไม่ ถ้าก้อนนั้นเต้นได้ตามจังหวะชีพจร แสดงว่าก้อนนั้นติดกับหลอดเลือดแดงหรือเป็นหลอดเลือดแดงที่โป่งพองเป็นก้อน สำหรับกรณีที่ก้อนนั้นติดหรือใกล้กับหลอดเลือดแดง การเต้นของก้อนจะเกิดขึ้นในทิศทางเดียว (รูปที่ 6) สำหรับกรณีที่ก้อนนั้นเป็นหลอดเลือดแดงที่โป่งพองก้อนนั้นจะเต้นออกทุกทิศทาง (รูปที่ 6)

                     

8. ความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น : เช่น
8.1 ก้อนนั้นติดกับผนังหน้าท้องหรืออวัยวะหนึ่งอวัยวะใดในท้องหรือไม่
8.2 เมื่อคลำหรือก้อนนั้นทำให้เกิดอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ เช่น ทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้อาเจียน อยากถ่ายปัสสาวะ อยากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ หรือทำให้ความดันเลือดขึ้นสูง หรือทำให้ชีพจรเต้นเร็วมากเป็นต้น

9. เสียง : เช่น
9.1 เสียงฟู่ ในบริเวณก้อน ทำให้รู้ว่าก้อนนั้นเป็นหลอดเลือด หรือต่อกับหลอดเลือด
9.2 เสียงจ๊อกๆ เหมือนเสียงกระเพาะลำไส้ แสดงว่าก้อนนั้นเป็นกระเพาะลำไส้ หรือต่อกับกระเพาะลำไส้ หรือมีน้ำและลมกระฉอกไปมา
9.3 เสียงโปร่งทึบเวลาเคาะทำให้รู้ว่าก้อนนั้นโปร่ง เช่น กระเพาะ ลำไส้ หรือทึบ เช่น ตับ ม้าม เป็นต้น
9.4 เสียงเสียดสี ซึ่งอาจจะคลำได้ เวลาหายใจหรือเมื่อก้อนเคลื่อนไหวแสดงว่ามีการอักเสบที่บริเวณผิวโดยรอบของก้อนกับเยื่อบุช่องท้องในบริเวณนั้น เป็นต้น

การคลำที่ละเอียดละออละมุนละม่อม จะเป็นการตรวจท้องที่สำคัญที่สุด และอย่าลืมว่ายิ่งคลำท้องเบาเท่าใด ยิ่งจะคลำได้ดีขึ้นเท่านั้น คนที่ชอบคลำท้องโดยกดเอาๆ หรือคลำหนักๆ จะตรวจรายละเอียดต่างๆ ได้น้อยมาก และจะพลาดความผิดปกติต่างๆ ได้ง่าย
 

ข้อมูลสื่อ

50-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 50
มิถุนายน 2526
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์