• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการไม่รู้สึกตัว

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น


หมอชาวบ้าน” ได้เสนอถึงวิธีการแบ่งระดับความรุนแรงของอาการไม่รู้สึกตัวและอาการไม่รู้สึกตัวฉุกเฉิน รวมทั้งวิธีการตรวจรักษาผู้ป่วยที่เกิดอาการดังกล่าวในฉบับที่แล้ว โดยได้แบ่งออกเป็นขั้นตอน เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ
ฉบับนี้จะได้กล่าวถึงสาเหตุ และการรักษาอาการไม่รู้สึกตัวแบบอื่น ๆ ต่อไป

 

อาการไม่รู้สึกตัวที่ไม่เจ็บหนัก
ถ้าคนไข้ที่ไม่รู้สึกตัวมีอาการ เพียงแต่ง่วงหลับ หลับใน หรือเหม่อลอย ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะถือได้ว่าเป็นคนไข้ที่ไม่เจ็บหนักหรือฉุกเฉิน เพราะคนไข้มักจะไม่เกิดอันตรายถึงชีวิต นอกจากจะไปขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานกับเครื่องจักร หรือสิ่งอื่นที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ จึงจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เช่น ในกลุ่มอาการหลับและหยุดหายใจ (sleep-apnea syndrome) ที่อาจเป็นอันตรายได้

 

หลับนก หลับใน

คนไข้ที่ง่วงหลับหรือหลับนก หลับในบ่อย ส่วนใหญ่เกิดจาก
1. การพักผ่อนหลับนอนไม่เพียงพอ เช่น นอนดึกตื่นเช้า นอนหลับไม่สนิท หลับแล้วตื่นบ่อย ฝันมาก มีอาการเจ็บปวด หรือมีโรคภัยไข้เจ็บที่รบกวนการนอน เป็นต้น

2. ภาวะนอนมากผิดปกติ เช่น โรคหลับง่าย (narcolepsy )กลุ่มอาการหลับและหยุดหายใจ (sleep apnea syndrome) โรคซึมเศร้า (depression) โรคอ้วน (obesity, Pickwickian syndrome) โรคทางสมองอย่างอื่น เป็นต้น

ถ้าซักประวัติให้ดี จะสามารถแยกคนไข้ที่ชอบง่วงหลับ หลับนก หรือหลับในที่เกิดจากสาเหตุ “นอนไม่พอ” ออกจากพวกที่เกิดจากสาเหตุ “นอนมาก” ได้ เพราะพวกที่นอนมาก จะนอนหลับบ่อย และ/หรือนานกว่าคนทั่วไป ส่วนพวกที่นอนไม่พอ จะหลับน้อย หลับสั้น และ/หรือตื่นง่าย

พวกที่เกิดจากสาเหตุ นอนไม่พอ” อาจแก้ไขได้โดยรักษาสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ถ้าแก้ไขสาเหตุแล้ว หรือถ้าอ่อนเพลียมากเพราะไม่ได้หลับมานาน อาจกินยาไดอะซีแพม (เม็ดละ 5 มิลลิกรัม) 1-2 เม็ด ก่อนนอน แต่ถ้ากินยาไดอะซีแพม แล้วกลับทำให้ตื่นและยิ่งไม่หลับให้ลองใช้ยาอะมีทริพตีลีน (amitriptyline 10 มิลลิกรัม) 1 เม็ดก่อนนอน
ถ้ายังไม่หลับอีก คงต้องใช้ยานอนหลับ เช่น ยาฟีโนบาร์บิตัล (phenobarbital) คลอรัลไฮเดรต (chloral hydrate) หรืออื่น ๆ

พวกที่เกิดจากสาเหตุ “นอนมาก” ถ้าเป็นคนอ้วน ให้ลดความอ้วนลง แล้วอาการง่วงเหงาหาวนอนจะลดลง ถ้าเป็นคนที่มีอาการซึมเศร้าอยู่ การใช้ยาอะมีทริพตีลีน 1 เม็ด (10 มิลลิกรัม) ก่อนนอนติดต่อกัน 2-4 สัปดาห์อาจทำให้อาการนอนมากที่เกิดจากอาการซึมเศร้าลดลง ส่วนพวกนอนมากที่ไม่อ้วนและไม่ซึมเศร้า ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้แน่ว่าเกิดจากสาเหตุใด

 

อาการไม่รู้สึกตัวเพียงชั่วครู่ เป็นครั้งคราว :
ถ้าคนไข้ที่ไม่รู้สึกตัว มีอาการไม่รู้สึกตัวเพียงชั่วครู่เป็นครั้งคราว อาจมีอาการเหม่อลอย หลับใน หรือฟุบลง คนไข้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไข้ฉุกเฉิน แต่ส่วนน้อยที่ทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลม หรือฟุบลง แม้จะเพียงชั่วครู่ ก็อาจถือว่าเป็นคนไข้ฉุกเฉินได้ แต่มักจะไม่เจ็บหนัก และคนไข้มักตื่นขึ้นเองได้
สาเหตุที่ทำให้คนไข้ไม่รู้สึกตัวเพียงชั่วครู่เป็นครั้งคราวมีอยู่มากมาย (ตารางที่ 4) เช่น

 

       ตารางที่ 4 สาเหตุของอาการที่ไม่รู้สึกตัวเพียงชั่วครู่เป็นครั้งคราว 

1. ภาวะหลับนก หลับใน สัปหงก ( catnap )

2. ภาวะหน้ามือเป็นลม ( fainting synope )

3. ภาวะหายใจเกิน ( hyperventilation )

4. ภาวะลมชัก ( siegure disorders )

5. โรคล้มลุก ( drop spells )

6. ภาวะน้ำตาลพร่องในเลือด ( hypoglycemia )

7. โรคลืมหมดชั่วครู่ ( transient global amnesia )

8. ภาวะไม่รู้ตัวจากยาหรือสุรา ( drung or alcohol blackouts )

9.ภาวะทางจิต เช่น โรคอุปาทาน ( hysteria,conversion reaction ) การแสร้งทำ ( malingering )

10. โรคทางสมองอื่นๆ เช่น สมองถูกกระทบกระเทือน( post-con-cussion amnesia ) ความดันสูงเฉียบพลันในกระโหลกศีรษะ ( acute intracranial hypertension )

1. ภาวะง่วงหลับ หลับนก หลับใน สัปหงก (catnap) : ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว

2. ภาวะหน้ามืดเป็นลม (fainting, syncope) : ดังที่กล่าวไว้ในฉบับก่อน ๆ แล้ว

3. ภาวะหายใจเกิน (hyperventilation) : การหายใจเกินทำให้มีการขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะด่างขึ้นในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเหน็บชารอบปาก และปลายมือ เท้า มือจีบ หน้าและกล้ามเนื้อกระตุก อาจเป็นมากจนถึงชักได้ นอกจากนั้น ยังทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง ทำให้เกิดอาการกลัว ตื่นเต้น รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะ รู้สึกคล้ายกับว่า กำลังจะตาย และอาจเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้

อาการหน้ามืดเป็นลมในภาวะหายใจเกิน มักเกิดจากคนไข้หายใจเกินอยู่สักพักหนึ่ง แล้วต่อมากลั้นหายใจและเบ่ง ทำให้สมองที่ขาดเลือดอยู่แล้วขาดเลือดมากขึ้น จนเป็นลมหมดสติ เช่น
3.1 เด็กที่งอแงบางคน จะร้องกวน (หายใจเกิน) สักพักหนึ่ง แล้วต่อมาจะร้องดังมากขึ้น และกลั้นหายใจ แล้วเบ่งจนหน้าแดง และเป็นลมฟุบลง หลังฟุบลงแล้ว การหายใจจะกลับเป็นปกติ และคนไข้จะฟื้นขึ้นเอง

3.2 ผู้ใหญ่บางคน อาจจะแกล้งทำ หรือทำโดยไม่รู้ตัวแล้ว เกิดอาการดังกล่าวได้ เช่น นักยกน้ำหนักขณะแข่งขัน อาจจะลืมตัวหายใจเข้าออกลึก ๆ เร็ว ๆ (หายใจเกิน) ก่อนยกน้ำหนัก พอกลั้นหายใจ แล้วเบ่งขณะยกน้ำหนักก็เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ หรือนักดำน้ำ ถ้าหายใจเข้าออกลึก ๆ เร็ว ๆ ก่อนดำน้ำ แล้วดำน้ำลงไปลึก ๆ จะทำให้เกิดการกลั้นหายใจและเบ่ง ทำให้หน้ามืดเป็นลมหมดสติในน้ำ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การรักษา : ถ้าคนไข้มีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้ถุงกระดาษ หรือถุงพลาสติกใบโต ๆ (ขนาดครอบศีรษะได้มิด) โดยใช้ปากถุง ครอบปากและจมูกให้มิด (ไม่ใช่ครอบศีรษะ) แล้วให้คนไข้หายใจเข้า ออกในถุงสักพัก (5-15 นาที) อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น และหายไปเมื่อคนไข้ดีขึ้น แล้วอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้น และจะป้องกันได้โดยอย่าหายใจลึกหรือเร็ว หรือถอนหายใจบ่อย ๆ และถ้ามีอาการอีกก็ให้หายใจในถุงอีก

4. ภาวะลมชัก (siegure disorders) : คนไข้ที่ไม่รู้สึกตัวและชัก อาจเกิดจาก
4.1 ภาวะหน้ามืดเป็นลม ที่เป็นนานเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่หน้ามืดเป็นลมแล้วไม่สามารถล้มฟุบลงนอนราบกับพื้น ทำให้สมองขาดเลือดเป็นเวลานาน จึงเกิดอาการชักขึ้น

การรักษา : คนไข้ที่หน้ามืด เป็นลม หรือเริ่มรู้สึกหน้ามืด ควรจับให้นั่งลง และถ้านอนลงได้จะดีที่สุด จะได้ฟื้นเร็วขึ้น

4.2 โรคลมชัก (epilepsy) : อาจทำให้เกิดอาการชักทั้งตัว โดยคนไข้ไม่รู้สึกตัวขณะชักและหลังชัก เป็นเวลา 5-30 นาที หรืออาจทำให้เกิดอาการเหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว แต่ไม่ล้มลงและไม่ชักอยู่ชั่วครู่หนึ่ง แล้วก็กลับรู้สึกตัวใหม่ และไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับตน (นั่นคือ ไม่รู้ว่าตนเหม่อลอยไม่รู้สึกตัวไปพักหนึ่ง ผิดกับคนที่เหม่อลอยทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้เป็นโรคลมชัก จะรู้และจำได้ว่าตนเป็นโรคลมชักจะรู้และจำได้ว่าตนเหม่อลอยเพราะคิดถึงเรื่องแฟนหรือเรื่องอื่น ๆ ได้)
การรักษา : คนที่ชักทั้งตัวและไม่รู้สึกตัว (รู้ได้เพราะปัสสาวะ อุจจาระราด กัดปากตัวเองล้มฟาด จนเกิดบาดแผลหรือรอยฟกช้ำ) เมื่อฟื้นแล้ว ควรรีบให้กินยาฟีโนบาร์บิตัล (Phenobarbital) ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 2-4 ครั้ง และรีบพาไปโรงพยาบาลทันที่ทำได้ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ส่วนคนที่เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว แต่ไม่ล้มลง และไม่ชัก เมื่อรู้สึกตัว ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น (คนไข้คิดว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าทำอะไรอยู่ ก็จะทำต่อ เช่น พูดค้างอยู่ก็จะพูดต่อ เขียนหนังสืออยู่ก็จะเขียนต่อ เป็นต้น) ควรจะพาไปโรงพยาบาลพร้อมกับคนที่เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น (เพราะคนไข้ไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับตน) เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนการให้ยา ไม่ควรให้ยาก่อน เพราะอาการเช่นนี้ ไม่มีอันตรายเท่ากับการชัก สำหรับคนที่เหม่อลอย เพราะคิดถึงแฟนหรือเรื่องอื่น รักษาโดยการทุบตัวเอง หยิกตัวเอง หรือไปล้างหน้าล้างตาเสียให้หายคิดถึงเรื่องต่าง ๆ จะได้มีสมาธิกับงานที่ตนเองทำอยู่


5. โรคล้มลุก
(drop spells) : เกิดจากสมองส่วนล่างขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วครู่ ทำให้ขา 2 ข้างอ่อนแรงทันทีและฟุบลง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงเดี๋ยวเดียว จนแม้แต่ตัวคนไข้เองและคนที่อยู่ข้าง ๆ ก็ไม่แน่ใจว่า คนไข้หมอสติหรือไม่ เมื่อคนไข้ฟุบลงแล้วก็จะลุกขึ้นใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

การรักษา : ควรไปโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ถ้าไปไม่ได้ ให้กินยาแอสไพรินวันละ 1-2 เม็ด พร้อมอาหารไปก่อน


6. ภาวะน้ำตาลพร่องในเลือด : ดูตารางที่ 3 และขั้นตอนที่ 7 ในการแก้อาการไม่รู้สึกตัวแบบฉุกเฉิน


7. โรคลืมหมดชั่วครู่ (transient global amnesia) : คืออาการที่คนไข้ลืมทุกสิ่งทุกอย่างในขณะนั้น หรือในระยะใกล้ ๆ นั้นจนหมด แต่ยังจำตนเองได้และจำอดีตนาน ๆ ก่อนหน้านั้นได้ มักเกิดในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ และมักจะเป็นเพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่ในบางคนก็อาจเป็นหลายครั้งได้ แต่ละครั้งจะมีอาการอยู่ประมาณ 1-6 ชั่วโมง

การรักษา : ให้กำลังใจ อย่าให้เสียขวัญ อาจให้กินยาแอสไพริน วันละ 1-2 เม็ดพร้อมกับอาหาร เพื่อช่วยให้เลือดไม่แข็งตัวอุดหลอดเลือดในสมองได้ง่าย


8. ยาและสุรา : การเป็นพิษจากยา หรือจากเมาเหล้ามาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการไม่รู้สึกตัว และลืมเหตุการณ์ในขณะนั้นหรือก่อนหน้านั้นได้

การรักษา : หยุดยาและเลิกเหล้า


9. ภาวะทางจิต : จิตใจที่กลัดกลุ้มและหาทางระบายออกไม่ได้ อาจทำให้เกิดอาการ “คล้ายจะไม่รู้สึกตัว หรือคล้ายจะหมดสติ” ได้ เรียกว่า โรคอุปาทาน (hysteria หรือ conversion reaction) รักษาโดยการแนะนำ และการผ่อนคลายความกลัดกลุ้มของคนไข้
คนไข้บางคนอาจแสร้งทำเป็นไม่รู้สึกตัว หรือแสร้งหมดสติ เพราะต้องการผลประโยชน์บางอย่างจะรู้ได้ว่าคนไข้แสร้งทำหรือเป็นโรคอุปาทาน จากการที่คนไข้จะทำโน่นทำนี่ได้ ถ้าไม่มีคนเห็น แต่พอมีคนเห็น จะแกล้งไม่รู้สึกตัว แต่จับได้ว่ารู้สึกตัว เพราะยังมีการกระพริบตาอยู่บ่อย ๆ หรือเห็นลูกตาเคลื่อนไปมาภายใต้หนังตาที่ปิดอยู่ หรือถ้าหยิกคนไข้แรง ๆ โดยไม่ให้คนไข้รู้สึกตัวก่อน คนไข้มักจะสะดุ้ง

การรักษา : การรักษาทางจิตใจ โดยการคุยหาสาเหตุและผ่อนคลาย หรือบรรเทาสาเหตุทางจิตใจนั้น อาจใช้ยาไดอะซีแพมหรืออะมิทริพตีลีน ร่วมในการรักษาด้วย

 

10. โรคทางสมองอื่น ๆ เช่น มีประวัติสมองถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ มีอาการอัมพาต ชัก ความดันเลือดสูงมาก หรืออื่น ๆ ควรนึกถึงภาวะไม่รู้สึกตัวจากโรคทางสมอง ถ้ามีอาการเจ็บหนักหรือฉุกเฉิน ให้ช่วยการหายใจและรักษาเช่นเดียวกับอาการไม่รู้สึกตัวแบบฉุกเฉิน แล้วรีบส่งโรงพยาบาลทันที ถ้าไม่มีอาการเจ็บหนักหรือฉุกเฉินก็ควรพาไปโรงพยาบาลเมื่อมีเวลา เพื่อการตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป


การตรวจรักษาอาการไม่รู้สึกตัว จึงไม่ใช่สิ่งที่ยากมากนัก แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้ไม่รู้สึกตัวหลายอย่าง จะต้องการการตรวจรักษาที่ละเอียดเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาล แต่การตรวจรักษาขั้นแรกควรจะทำกันได้ทั่วไป และอาจช่วยให้คนไข้ไม่ตายหรือพิการอย่างถาวรได้

 

ข้อมูลสื่อ

115-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 115
พฤศจิกายน 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์