• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกายตอนที่ 49 การตรวจ แขน ขา และข้อ

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

แขนและขาเป็นส่วนของร่างกายที่เคลื่อนไหวได้มาก เพราะประกอบด้วยข้อต่อหลายๆ ข้อด้วยกัน เช่น

แขน จะมีข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อในมือ ข้อนิ้ว เป็นจำนวนมาก (รูปที่ 1)
ขา จะต้องมี ตะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อในเท้า ข้อนิ้วเท้า เป็นจำนวนมาก

                                                  

นอกจากข้อของแขนขาแล้ว ข้อต่ออื่นๆ ของร่างกายจะช่วยให้ร่างกายส่วนที่มีข้อต่อนั้นเคลื่อนไหวได้ตามสภาพของมัน

การตรวจแขน ขา และข้อต่างๆ จึงเป็นการตรวจ

1. ลักษณะรูปร่าง เช่น แขน ขา และข้อนั้น มีลักษณะรูปร่างปกติหรือมีลักษณะบิดเบี้ยว ผิดรูปผิดร่างยาวเก้งก้าง สั้นผิดส่วน หรือพิกลพิการผิดปกติอื่นๆ

การสังเกตลักษณะ
รูปร่างว่าปกติหรือผิดปกตินี้คงจะไม่ยากนัก เพราะการได้เห็นลักษณะแขนขา และข้อต่างๆ ที่เป็นปกติอยู่เป็นประจำจะทำให้บอกลักษณะที่ผิดปกติได้ เมื่อพบเห็นลักษณะผิดปกตินั้น

2. ลักษณะผิวหนัง เช่น ผิวหนังนั้นละเอียด หยาบ แห้งกร้าน หรือสีสันผิดเผ่าพันธุ์ ผิดอายุ หรือผิดอาชีพหรือไม่ เช่น ถ้าเผ่าพันธุ์เป็นคนผิวขาว หรือเดิมเป็นคนผิวขาว แต่ต่อมผิวหนังเกิดดำคล้ำ ทั้งที่ไม่ได้ทำงานกลางแดดหรือกลางแจ้ง ก็จะแสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น อาจจะเป็นโรคตับ โรคต่อมหมวกไตพร่อง เป็นต้น

หรือถ้าเดิมมีผิวหยาบแล้วเปลี่ยนเป็นผิวละเอียดเหมือนผิวเด็ก และค่อนข้างชื้นๆ (มีเหงื่อซึมๆ) ก็ต้องสงสัยว่าผิดปกติ เช่น เป็นโรคคอพอกเป็นพิษ โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักร่างกายลดลง อย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น ผิวหนังอาจแสดงการอักเสบ เช่น บวม แดง ร้อน และกดเจ็บบริเวณข้อที่อักเสบ ก็จะทำให้ข้อนั้น บวม แดง ร้อน และกดเจ็บ เช่นเดียวกัน

อนึ่ง ผิวหนังบริเวณ แขน ขา และข้อต่างๆ อาจจะเกิดความผิดปกติของผิวหนังได้เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ เช่น เป็นตุ่ม เป็นฝี เป็นผื่นคัน แผลเป็น เนื้องอก เป็นต้น

3. ลักษณะกล้ามเนื้อและไขมันใต้ผิวหนัง ลักษณะของกล้ามเนื้อและไขมันใต้ผิวหนังจะสังเกตได้จากลักษณะรูปร่างของแต่ละส่วนกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะเห็นได้เป็นมัดๆ กล้ามเนื้อที่ฝ่อตัว และเหี่ยวจะเห็นเป็นรอยแฟบ หรือร่องบุ๋มลงในบริเวณแขนส่วนนั้น เช่นเดียวกับไขมันใต้ผิวหนัง ที่อาจจะฝ่อตัวและเหี่ยวหายไปเป็นแห่งๆ

ไขมันอาจจะโป่งออกมาเป็นก้อนที่เรียกว่า ก้อนไขมันหรือเนื้องอกไขมัน คนที่อ้วนเกินไปอาจจะทำให้แขน ขา มีเนื้อหนังห้อยย้อยส่วนคนที่ผอมเกินไป อาจจะทำให้เห็นเป็นสภาพหนังหุ้มกระดูก เพราะไขมันใต้ผิวหนังน้อยเกินไป

นอกจากจะตรวจลักษณะรูปร่างของกล้ามเนื้อ แขน ขา แล้ว ควรจะตรวจสอบกำลัง (ความแข็งแรง) ของกล้ามเนื้อแขนขาด้วย (รูปที่ 2) เช่น

                    

การทดสอบกล้ามเนื้อหน้าต้นแขน อาจทำได้โดยให้คนไข้งอแขน (งอข้อศอก) แล้วเกร็งไว้ อย่าให้คนอื่นๆ (คนตรวจ) ดึงแขนที่งอไว้ให้เหยียดออกได้ (ดูรูปที่ 3)

                                                    

การทดสอบกล้ามเนื้อหลังต้นแขน อาจทำได้โดยให้คนไข้งอแขน แล้วพยายามเหยียดแขนออก ในขณะที่คนอื่น (คนตรวจ) ดันแขนที่งอนั้นไว้เพื่อไม่ให้เหยียดออก (รูปที่ 4)

                                                  

การทดสอบกล้ามเนื้อฝ่ามือ
อาจทำได้โดยให้คนไข้จับมือกับคนตรวจแล้วออกแรงบีบมือคนตรวจเต็มที่ในกรณีที่คนไข้ทำท่าว่าจะมีกำลังมากกว่า ควรให้คนไข้กำนิ้วมือของผู้ตรวจเพียง 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว แล้วให้ออกแรงบีบเต็มที่ เพื่อดูกำลังของกล้ามเนื้อนั้น (ดูรูปที่ 5)

                                               

การทดสอบกล้ามเนื้อหลังมือ
อาจทำได้โดยการให้คนไข้เหยียดนิ้วและเกร็งไว้ ในขณะที่คนตรวจพยายามกดหรือดันนิ้ว (ดันปลายนิ้ว) เพื่อให้นิ้วนั้นงอเข้า (ดูรูปที่ 6)

                                            

4. การเคลื่อนไหวข้อต่างๆ มีไว้เพื่อให้ร่างกายส่วนต่างๆ มีการเคลื่อนไหวได้ ข้อที่มักจะทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ได้ง่าย เช่น

ก. ข้อแขน เช่น

ก.1 ข้อไหล่ (shoulder joint) โดยทั่วไป ข้อไหล่จะหมุนได้โดยรอบ นอกจากด้านที่ติดกับลำตัวและด้านหลัง (รูปที่ 7)

                     

ในคนสูงอายุที่ไม่ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะเป็นประจำ ข้อไหล่จะติดข้อและเจ็บปวดได้ง่าย จึงต้องยกแขนขึ้นเหนือศีรษะเป็นประจำ จะทำให้อาการติดขัดและเจ็บปวดลดลง

ในคนที่เป็นอัมพาตหรือคนที่เคยไหล่หลุด เช่น นักกีฬา จะต้องระวังไหล่ข้างที่เป็นอัมพาตหรือข้างที่หลุดไม่ให้ตกหรือหลุดออกจากที่บ่อยๆ โดยการใช้ผ้าคล้องแขนนั้นไว้กับคอ (รูปที่ 8) ไหล่ข้างนั้นจะได้ไม่หลุดจากที่และใช้ได้ดีเมื่ออาการอัมพาตดีขึ้น หรืออาการไหล่หลุดหายไป

                              

ก.2 ข้อศอก (elbow joint) โดยทั่วไป มีการเคลื่อนไหวได้ 2 แนวทาง คือ งอแขนและเหยียดแขน กับบิดแขนเข้าและบิดแขนออก (รูปที่ 9)

                               

ข้อศอกมีความผิดปกติที่พบบ่อยได้หลายชนิด เช่น แขนอ่อน (แขนแอ่นมากเวลานั่งเท้าแขน) แขนเฉเข้าหรือเฉออก ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้มักเป็นมาแต่กำเนิด แขนคอก (ข้อศอกแตกจากอุบัติเหตุ และไม่ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง ทำให้ข้อศอกมีลักษณะพิกลพิการจากปกติ) ข้อศอกบวม เจ็บ เช่น จากการเล่นเทนนิส หรืออื่นๆ

ก.3 ข้อมือ (wrist joint) โดยทั่วไป มีการเคลื่อนไหวได้หลายแนวทาง คือ งอข้อมือและเหยียด (แหงน) ข้อมือ และเหวี่ยงมือไปรอบๆ ได้ในขอบเขตจำกัด ส่วนการบิดมือโดยให้กระดูกแขนอยู่นิ่ง จะทำได้น้อยมาก (ดูรูปที่ 10) ข้อมือมีความผิดปกติได้ เช่นเดียวกับข้ออื่นๆ

                                   
 
ก.4 ข้อนิ้วมือ
(phalangeal joint) โดยทั่วไปมีการเคลื่อนไหวได้ เพียงงอนิ้วมือและเหยียดนิ้วมือ ข้อนิ้วมือมีการอักเสบบวมและผิดปกติได้เช่นเดียวกับข้ออื่นๆ (ดูรูปที่ 11)
 
              
 

ข้อมูลสื่อ

55-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 55
พฤศจิกายน 2526
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์