“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”
ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึง การตรวจแขน ขา และข้อต่าง ๆ
1. ลักษณะรูปร่าง
2. ลักษณะผิวหนัง
3. ลักษณะกล้ามเนื้อและไขมันใต้ผิวหนัง
4. การเคลื่อนไหว
โดยได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของข้อแขน
ฉบับนี้จะมาว่ากันต่อถึง ข้อขา ข้อกระดูกสันหลัง และข้อต่าง ๆ
ข. ข้อขา
ข.1 ข้อตะโพก (hip joint) โดยทั่วไป ข้อตะโพกจะเคลื่อนไหวได้โดยรอบเช่นเดียวกับข้อไหล่ ยกเว้นด้านข้าง ด้านใน และด้านที่ติดกับลำตัวโดยเฉพาะด้านหลัง (1)
ข้อตะโพกอาจจะมีความพิกเนิด หรือเป็นมาตั้งแต่ตอนคลอด โดยเฉพาะเด็กที่คลอดผิดปกติ เช่น คลอดท่าก้น เป็นต้น นอกจากนั้น ข้อตะโกของคนสูงอายุ มักจะหักตรงคอของกระดูกต้นขา จึงหกล้มได้ง่าย ส่วนความผิดปกติอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกับข้ออื่น
ข.2 ข้อเข่า (knee joint) โดยทั่วไป ข้อเข่าจะงอและเหยียดได้เท่านั้น ถ้าใช้ข้อเข่าในท่าที่ทำให้เข่าบิดจะทำให้เข่าอักเสบ บวม แดง และเจ็บได้ (2)
ในคนที่เจ็บเข่าบ่อย จึงควรจะงดการนั่งยอง ๆ การนักขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ และการยืนเดินอื่น ๆ ที่ทำให้เข่าบิด ถ้าเผลอไผลเก่ง ควรจะใส่สนับเข่า (ปลอกเข่า) ที่ทำด้วยยางยืดและค่อนข้างหนาและแข็งรัดเข่าไว้จะทำให้เข่าที่อักเสบหายดีขึ้นเร็ว และไม่เกิดการเจ็บปวดได้ง่าย
ข.3 ข้อเท้า (ankle joint) โดยทั่วไป ข้อเท้าจะงอ (เงยขึ้น) และเหยียดตรงได้ เบนไปทางซ้ายหรือขวาได้ (เบนเข้าและเบนออกได้) (3)
ข้อเท้าเกิดการอักเสบได้ง่ายถ้าถูกใช้มากเกินไป (เดิน วิ่ง กระโดดมาก เกินกว่าปกติที่เคยทำเป็นประจำ) หรือใส่รองเท้าส้นสูง หรือรองเท่าที่ทำให้เดินลำบากจะทำให้ข้อเท้าพลิก เกิดอาการเจ็บปวด ที่เรียกว่า ข้อเท่าเพลง หรือข้อเท่าเคล็ดได้ง่าย
ในคนที่ชอบเจ็บข้อเท้าบ่อยๆ การใช้สนับข้อเท้า (ปลอกข้อเท้า) แบบที่่นักกีฬาใช้หรือการใส่ท็อบบู๊ตรัดเท้าไว้ให้มั่นคง จะช่วยป้องกันและรักษา สาเหตุทำให้ข้อเท้าไม่เคล็ดและแพลงได้ง่าย
ข.4 ข้อนิ้วเท้า โดยทั่วไป ข้อนิ้วเท้าจะงอและเหยียดได้เป็นสำคัญ แต่ข้อบางข้อ เช่น ข้อหัวแม่เท้า อาจจะเบนไปมาได้เล็กน้อย (4)
ข้อนิ้วเท้าที่มักเป็นปัญหา คือข้อหัวแม่เท้า ซึ่งถ้าอยู่ดี ๆ เกิดปวดเจ็บ และบวมแดงขึ้นมา โดยไม่ได้ไปกระทบกระแทกถูกอะไร มักเกิดจากโรคเก๊าท์ (gout) หรือโรคข้ออักเสบจากการมีกรดยูริค (uric acid) คั่ง ต้องงดอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์และกินยาโคลซีซีน จะทำให้อาการดีขึ้น
ค. ข้อกระดูกสันหลัง
โดยทั่วไป ข้อของกระดูกสันหลังทำให้งอได้มาก แอ่นได้น้อย เช่น ก้มคอ ได้มาก แต่แหงนคอได้น้อย ก้มตัวได้มาก แต่แอ่นหลังได้น้อย การบิดตัวก็ทำได้แต่มีขอบเขตจำกัด
ท่าที่กระดูกหลังจะรับน้ำหนักได้ดีที่สุด คือท่าที่กระดูกหลังตั้งแต่หัวจรดหาง (ตั้งแต่คอถึงก้นกบ) เป็นเส้นตรงซึ่งโค้งน้อย ๆ ตามธรรมชาติ การออกกำลังในท่าที่กระดูกหลังเอียง บิด แอ่น หรือ งอเกินไป จะทำให้เกิดอาการปวดเสียวที่หลัง หรือที่กล้ามเนื้อที่คอ ไหล่ สะบัก แขนและขาได้ เพราะเส้นประสาทที่ออกจากกระดูกสันหลังถูกกดหรือเบียด ทำให้เสียวร้าวไปเจ็บที่ไหล่ สะบัก แขน หรือขา โดยไม่มีอาการเจ็บปวดที่กระดูกสันหลังเลยก็ได้ (5) (6)
ในคนสูงอายุที่ไม่ได้ออกกำลังเป็นประจำๆ กระดูกสันหลังบริเวณคอและเอว และหมอนรองกระดูกในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกเหล่านี้จะอ่อนกำลังลง ทำให้ข้อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือบิดออกจากแนวเดิม (แนวตรงตามธรรมชาติ) ได้ง่าย
เมื่อเกิดอาการที่คอ จะตรวจพบว่าคอจะเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกที่เรียกว่า คอเอียง หรือ ตกหมอน (torticollis) และมีอาการปวดที่ไหล่ สะบัก หรือร้าวลงมาที่แขน
เมื่อเกิดอาการที่หลัง โดยมากจะปวดเมื่อยที่บริเวณกระบนเหน็บทำให้ชอบคิดกันว่าเป็น โรคไต โรคกษัย แต่อันที่จริง เป็นเรื่องของกระดูกสันหลังบริเวณเอวที่ถูกใช้งานผิดท่าผิดทาง ทำให้ปวดเมื่อย และถ้าไปกดทับเส้นประสาท ก็จะเกิดอาการปวดร้าวมาที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้
การตรวจอาจทำได้ โดยให้คนไข้งอหรือแอ่นหลังหรือบิดตัว จะเกิดอาการดังกล่าวขึ้น หรือให้นอนหงายบนเตียง แล้วผู้ตรวจยกขาของคนไข้ขึ้นตรงๆ โดยไม่ให้เข่างอ (straight leg raising test) จะยกขาขึ้นได้ไม่ตั้งฉากกับลำตัว ในคนปกติ จะยกขาขึ้นตรงๆ ได้ตั้งฉากหรือเกือบตั้งฉากโดยไม่เกิดอาการเจ็บปวดใดๆ
การตรวจข้อต่างๆ จึงเป็นการตรวจดูสภาพของข้อเหล่านั้นโดยการดูการคลำ และการเคาะ (รวมทั้งการทุบ) ว่ามีอาการบวม แดง ร้อน หรือกดเจ็บไหม มีการเคลื่อนไหวได้ตามปกติหรือไม่ นั่นคือ เคลื่อนไหวได้เต็มที่ปกติไหม และเวลาเคลื่อนไหว มีความเจ็บปวดหรือมีเสียกรอกแกรกไหม ส่วนการตรวจข้อด้วยการฟังนั้น มีความสำคัญน้อยและไม่ให้ผลประโยชน์เท่าที่ควร จึงไม่ขอกล่าวในที่นี้
- อ่าน 16,481 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้