• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุฎฐานตามฤดู


ตำราแพทย์แผนโบราณกาลวางหลักไว้ว่า สมุฏฐานที่ทำให้เกิดโรค มีส่วนสัมพันธ์กับ ฤดูที่หมุนเวียนไปในปีหนึ่งๆ ด้วย ท่านว่าฤดู คือ อากาศหรืออุณหภูมิภายนอกร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ปีนึ่งมีสามฤดู ฤดูละ 4 เดือน นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จัดเป็นฤดูร้อน หรือคิมหันตฤดู ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เอน 8 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จัดเป็นฤดูฝนหรือ วสันตฤดู ตั้งแต่แรง 1 ค่ำ เดือน 12 ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 จัดเป็นฤดูหนาว หรือเหมันตฤดู รวมความว่า ฤดูหนึ่งมี 4 เดือน ปีหนึ่งมี 12 เดือน รวมมี 3 ฤดู

การเรียนเป็นหมอแผนโบราณต้องเรียนให้เข้าใจกาลเวลา ข้างขึ้น ข้างแรม และฤดูด้วย การแพทย์แผนโบราณไม่เหมือนกับการแพทย์แผนใหม่ ต้องมีการนับอายุ วัน เดือน ปี และฤดู เพื่อหาสมุฏฐานที่ตั้งและเกิดโรค

โบราณจัดเอาฤดูในปีหนึ่งเข้าเป็นต้นเหตุ เป็นสมุฏฐานของโรคที่ฤดูหมุนเวียนเปลี่ยนไป ถือเอาอากาศและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจากฤดูหนึ่งไปอีกฤดูหนึ่งทำให้คนเจ็บไข้ได้ เช่น ฤดูร้อนหรือคิมหันตฤดู ความร้อนคุ้นเคยกับร่างกายอยู่ ร่างกายเคยชินกับอากาศหรืออุณหภูมิความร้อนในฤดูร้อนนี้ คนในฤดูนี้มีความร้อนเป็นเจ้าสมุฏฐาน คุ้มครองร่างกายอยู่ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยลงในฤดูร้อนนี้ จะมีความร้อนในร่างกายเป็นเหตุ ภาษาหมอโบราณบอกว่า ปิตตะ และเตโช เป็นสมุฏฐานของโรค มีส่วนสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ ด้วย ปิตตะ แปล่า น้ำดี และเตโช แปลว่า ธาตุไฟในร่างกาย ทั้งปิตตะและเตโชนี้คือ ความร้อนในร่างกาย ในเมื่อมีอากาศในฤดูร้อนอยู่ภายนอก ย่อมเผาให้ร่างกายมีความร้อนยิ่งขึ้น เมื่อมีอาการเจ็บป่วยในฤดูนี้ คนไข้มีความร้อนหรือุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้นมากกว่าฤดูอื่นๆ แต่ไม่ได้เหมาเอาว่าเป็นโรคความร้อนนี้ไปทั้งหมด คือว่า อาจจะเป็นโรคอื่นก็ได้ แต่ต้องวางหลักการรักษาไว้ว่า ต้องใช้ยาที่รักษาสมุฏฐานนี้เจือผสมอยู่

โบราณกำหนดวางหลักเกณฑ์ตัวยาที่ใช้เจือหรือผสมให้คนไข้กินแก้โรคตามฤดูว่า คนไข้เจ็บไข้ลงในฤดูไหนก็ตามตรวจแล้วว่าคนไข้เป็นอะไร เมื่อให้กินยาแก้โรคนั้นแล้ว อย่างลืมสมุฏฐานของฤดู ต้องให้ยาแก้สมุฏฐานของฤดูกินด้วย เมื่อให้ถูกต้องคนไข้จะหายเร็วขึ้น กำหนดตัวยาประจำฤดู วางหลักไว้เรียกชื่อเป็น พิกัดยา เรียกเป็นคำศัพท์ของภาษาหมอโบราณ มีชื่อความหมาย และตัวยาทั้ง 3 ฤดู มีดังนี้
1. พิกัดตรีผลา
คำว่าพิกัด แปลว่า กำหนด ตรี แปลว่า สาม ผลา แปลว่า ผล รวมเรียกว่า พิกัดตรีผลา
ตัวยา ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม หนักสิ่งละ 15 กรัม
วิธีทำ ต้มรับประทานน้ำ มื้อละ 1 ถ้วย ประมาณ 3-5 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร เป็นยาแก้สมุฏฐานปิตตะและเตโช ประจำฤดูร้อนหรือคิมหันตฤดู

2. พิกัดตรีกฏก

คำว่า พิกัด แปลว่า กำหนด ตรี แปลว่า สาม กฏุก แปลว่าของเผ็ดร้อน
ตัวยา เมล็ดพริกไทย ดอกดีปลี เหง้าขิงแห้ง หนักสิ่งละ 15 กรัม
วิธีทำ ต้ม รับประทานน้ำ มื้อละ 3-5 ช้อน วันละ 3 เวลา ก่อนอาหารเป็นตัวยาแก้ สมุฏฐานวาโย ประจำฤดูฝน หรือ วสันตฤดู ฤดูฝนนี้ร่างกายคนถูกฝนและเย็นเพราะฝน ร่างกายจึงเกิดลม เรียกว่า สมุฏฐานวาโย เพราะร่างกายคนคุ้นเคยกับอากาศฤดูฝนนี้ หมดโบราณว่า ความเย็นทำให้เกิดโรคลมหรือเรียกว่า วาโย

3. พิกัดตรีสาร

คำว่า พิกัด แปลว่า กำหนด ตรี แปลว่า สาม สาร แปลว่า ของเป็นแก่นสาร
ตัวยา รากเจตมูล เถาสะค้าน รากช้าพลู หนักสิ่งละ 15 กรัม
วิธีทำ ต้ม รับประทานน้ำ มื้อละ 3-5 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร เป็นตัวยาแก้สมุฏฐาน เสมหะประจำฤดูหนาว หรือเหมันตฤดู ฤดูหนาวนี้ ร่างกายคนถูกน้ำค้าง หมอก ให้เป็นหวัด ไอ เป็นเสมหะ เพราะความหนาว อากาศนี้คุ้นเคยกับร่างกายคน จึงทำให้เป็นเสมหะไอ จัดว่าเป็น สมุฏฐาน เสมหะ

ยาโบราณ จัดเป็นยาประจำฤดูของหมอโบราณ มิใช่ว่าคนเป็นโรคอะไรในฤดูนั้น กินแล้วจะหายหมดไม่ใช่นะครับ ท่านเขียนไว้ในคัมภีร์แพทย์แผนโบราณหมายถึงว่า จะเป็นโรคอะไรก็ตาม จะกินยานี้รักษาสมุฏฐานของโรคประจำฤดูไว้ด้วย เพื่อไม่ให้สมุฏฐานโรคประจำฤดูกำเริบขึ้น จะได้ช่วยกับยาอื่นๆ เพื่อให้ถูกต้องกับสมุฏฐานของโรค

ข้อมูลสื่อ

58-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 58
มีนาคม 2527
ประเสริฐ พรหมณี