• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกายตอนที่ 52 การตรวจระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (ต่อ)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

ฉบับที่แล้ว การตรวจระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้กล่าวถึงการสังเกตลักษณะทั่วไปของคนไข้........
1. ความรู้สึกตัว
2. บุคลิกสีหน้า ท่าทาง ลักษณะการเดิน
3. ความไม่เท่าเทียมกันของใบหน้าและของร่างกายทั้งสองซีก
4. ลักษณะการพูด
และได้กล่าวถึงการตรวจการทำงานของเส้นประสาทสมองทั้ง 12 เส้นดังนี้
1. เส้นประสาทสมองเส้นที่ 1
2. เส้นประสาทสมองเส้นที่ 2
3. เส้นประสาทสมองเส้นที่ 3, 4 และ 6

ฉบับนี้
จะมาต่อถึง เส้นประสาทที่ 5, 7, 8, 9, 10, 11 และ 12

เส้นประสาทสมองเส้นที่ 5
หรือเส้นประสาทเคี้ยว (trigeminal nerve) เป็นเส้นประสาทที่สั่งให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยว (muscles of mastication) ทำงาน ทำให้ขากรรไกรบนและล่าง ขบ เคี้ยว บด และกัดได้ และยังเป็นเส้นประสาทที่รับความรู้สึกในบริเวณใบหน้า ทำให้ใบหน้ารู้สึกเจ็บร้อนหรืออื่นๆ

วิธีตรวจ
ให้คนไข้กัดฟัน (กัดกราม) กล้ามเนื้อหน้าหูที่ติดระหว่างขากรรไกร บนกับล่างจะแข็งเป็นสันนูนขึ้นมา ถ้าคนไข้เลิกกัดฟัน กล้ามเนื้อนั้นจะอ่อนและยุบลง (เวลาที่คนโกรธแล้วกัดฟันเห็นกล้ามเนื้อขากรรไกร ) นี้เต้น ก็เพราะเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 นี้ ทำให้กล้ามเนื้อนี้หดตัวแล้วคลายตัวๆ สลับ ไปมา

ถ้าแขนงของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบดเคี้ยวนี้เป็นอัมพาต คนไข้จะกัดฟันไม่ได้ในด้านนั้น และกล้ามเนื้อขากรรไกรด้านนั้นจะไม่เป็นสันนูนขึ้นมา (ดูรูปที่ 1)

                                                      

ส่วนแขนงของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่รับความรู้สึกบริเวณใบหน้า จะตรวจสอบได้โดยใช้สำลีและปลายเข็มแหลมๆ แตะบริเวณใบหน้า ถ้าคนไข้ไม่รู้สึกในด้านใด แสดง่า แขนงของเส้นประสาทสมองเส้นนั้นที่รับความรู้สึกในด้านนั้นเป็นอัมพาต

เส้นประสาทสามองเส้นที่ 7 หรือเส้นประสาทหน้า (facial nerve) เป็นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในบริเวณใบหน้าและหนังศีรษะ และยังช่วยการรับรสจากลิ้นส่วนใหญ่ (2 ใน 3 ส่วนทางด้านหน้า)

วิธีตรวจ
โดยทั่วไป เมื่อเส้นประสาทหน้าด้านใดเป็นอัมพาต หน้าด้านนั้นจะแลดูเรียบ (ไม่มีรอยย่น ไม่มีรอยตีนกา ไม่มีลักยิ้ม ฯลฯ) กว่าหน้าอีกด้านหนึ่ง เพราะกล้ามเนื้อด้านหน้านั้นไม่ทำงาน ดังนั้น กล้ามเนื้อหน้าทางอีกด้านหนึ่ง (ด้านตรงข้าม) ที่ยังทำงานอยู่ จะดังหน้าให้เบี้ยวไปทางด้านนั้น หน้าด้านที่เป็นอัมพาตมักจะหลับตาไม่ได้ หรือหลับตาไม่สนิท มุมปากด้านนั้นจะตก ทำให้นำลายไหลยืดออกทางด้านหน้า หรือเวลาตื่นน้ำลายก็ไหลออกทางมุมปากด้านนั้น (ดูรูปที่ 2)

                                                

ในร่างกายที่เป็นอัมพาตน้อยๆ (อัมพฤกษ์) อาจจะไม่เห็นอาการหน้าเบี้ยวชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ ให้ตรวจสอบได้โดยใช้คนไข้ยิงฟัน ยิ้ม ทำปากจู๋ หลับตาเต็มที่ ก็จะพอสังเกตเห็นความแตกต่างของการทำงานของกล้ามเนื้อหน้าทั้ง 2 ข้างได้ (ดูรูปที่ 3)

               

เส้นประสาทสมองเส้นที่ 8
หรือเส้นประสาทหู (auditory nerve) เป็นเส้นประสาทที่รับฟังเสียง และควบคุมการทรงตัว หรือรักษาสมดุลของร่างกายขณะเคลื่อนไหว

วิธีตรวจ
ถ้าเส้นประสารทหูส่วนที่ใช้ฟังพิการหรือเป็นอัมพาต จะทำให้หูข้างนั้น ตึง หนวก อื้อ หรือมีเสียงในหู ซึ่งจะทดสอบได้โดยให้คนไข้ฟังเสียงนาฬิกาข้อมือ (แบบไขลาน) หรือฟังเสียงกระซิบ เปรียบเทียบระหว่างหู 2 ข้าง (ดูรูปที่ 4) หูข้างที่ฟังได้น้อยหว่า (ค่อยกว่า)

                                          

มักเป็นหูที่ผิดปกติ ความผิดปกติในการได้ยินนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทหูแต่เป็นความผิดปกติของหูชั้นนอก (เช่นมีขี้หูมาก) และของหูชั้นกลาง (เช่น เยื่อแก้วหูทะลุ หูน้ำหนวก กระดูกหูพิการ เป็นต้น) จึงต้องตรวจดูรูหูด้วย ตามวิธีที่กล่าวไว้แล้วในหมอชาวบ้านประจำเดือนกรกฎาคม 2524 ในเรื่อง มาเป็นหมอกันเถิด

ถ้าเส้นประสาทหูส่วนที่ใช้สำหรับการทรงตัวพิการหรือเป็นอัมพาต คนไข้จะรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหมือนคนเมารถหรือถ้าเป็นมาก อาจจะรู้สึกเหมือนตัวหมุนหรือบ้านหมุน จนลุกขึ้นจากเตียงไม่ได้ ถ้าตรวจ อาจพบว่า คนไข้มีอาการตากระตุก โดยเฉพาะเมื่อเหลือบมองไปทางข้างใดข้างหนึ่ง แต่อาการโคลงเคลงหรือบ้านหมุน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเส้นประสาทหูพิการหรือเป็นอัมพาต แต่เกิดจาหูชั้นในผิดปกติ ให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหมอชาวบ้านประจำเดือนกรกฎาคม 2524 ในเรื่องมาเป็นหมอกันเถิด

เส้นประสาทสมองเส้นที่ 9 และ 10 หรือเส้นประสาท คอหอย (glosso – pharyngeal and vagus nerves) เป็นเส้นประสาทที่รับรสที่ส่วนหลังของลิ้น รับความรู้สึกภายในปาก คอหอย หลอดอาหาร หลอดลม และอวัยวะภายในอกและท้อง และช่วยควบคุมทำงานของอวัยวะภายในเหล่านั้น

วิธีตรวจ

การทำงานของเส้นประสาทเส้นที่ 9 มักจำกัดอยู่เฉพาะภายในปากและคอย ส่วนการทำงานของเส้นประสาทเส้นที่ 10 จะครอบคลุมลงไปถึงอวัยวะภายในอกและท้องด้วย ความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 9 และ 10 มักจะไม่ผิดปกติ โดยสมบูรณ์ และส่วนมากจะแสดงให้เห็นด้วยอาการของการสำลักน้ำ หรืออาหารเวลากลืนอาหารหรือน้ำ ซึ่งตรวจได้โดยให้คนไข้อ้าปาก ใช้ไม้กดลิ้นไว้ แล้วออกเสียงอาดังๆ และดูว่าเพดานอ่อนด้านหลังยกขึ้นพร้อมๆ กันหรือไม่ ถ้ายกขึ้นไม่พร้อมกัน ลิ้นไก่จะเบี้ยวไปทางด้านที่ยังดีอยู่ (ดูรูปที่ 5) ก็จะแสดงว่า เส้นประสาทสมองที่เลี้ยงกล้ามเนื้อเพดานอ่อนอีกด้านหนึ่งเป็นอัมพาต เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหมอชาวบ้าน ประจำเดือน ธันวาคม 2524 ในเรื่องมาเป็นหมอกันเถิด

                                              

เส้นประสารทสมองเส้นที่ 11 หรือเส้นประสาทแผงคอ (accessory nerve) เป็นเส้นประสาทที่ควยคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหันศีรษะ และกล้ามเนื้อยกไหล่ ถ้าเส้นประสาทนี้เป็นอัมพาตในด้านใด ก็จะทำให้หันศีรษะไปทางด้านตรงข้ามหรือยกไหล่ทางด้านนั้นไม่ได้

วิธีตรวจ
ให้คนไข้หันหน้าไปทางขวา และซ้าย ถ้าหันไปทางด้านหนึ่งด้านใดไมได้ดีเท่าอีกด้านหนึ่ง แสดงว่าแขนงของเส้นประสาทเส้นที่ 11 ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัสศีรษะของอีกด้านหนึ่งเป็นอัมพาต หรืออัมพฤกษ์

ให้คนไข้ยกไหล่ทั้ง 2 ข้างขึ้น ถ้ายกไหล่ข้างใดไม่ได้ดีเท่าอีกข้างหนึ่ง แสดงว่าแขนงของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 11 ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อยกไหล่ของข้างนั้นเป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์
ในรายที่ไม่ชัดเจน ให้ใช้มือยันคางของคนไข้ไว้ แล้วให้คนไข้หันศีรษะสู้กับมือนั้นเพื่อดูแรงต่อสู้ในขณะที่หันศีรษะทางซ้ายทีขวาที ถ้าการหันศีรษะไปทางด้านใดอ่อนแรงกว่าทางอีกด้านหนึ่ง ก็แสดงว่ากล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทอีกด้านหนึ่ง พิการหรือเป็นอัมพาต (ดูรูปที่ 6)

                                  

ในการยกไหล่ก็เช่นเดียวกัน อาจจะใช้มือทั้งสองข้างของผู้ตรวจกดไหล่ทั้งสองข้างของคนไข้ไว้ แล้วให้ยกไหล่สู้กับแรงกดนั้น ด้านใดที่อ่อนแรงกว่าแสดงว่ากล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทด้านนั้นพิการ หรือเป็นอัมพาต

เส้นประสาทสมองเส้นที่ 12 หรือ เส้นประสาทลิ้น (hyplglossa nerve) เป็นเส้นประสาทที่ใช้ในการแลบลิ้น และเคลื่อนไหวลิ้น

วิธีตรวจ

ให้คนไข้อ้าปาก แล้วดูว่าลิ้นนอนนิ่งอยู่ที่พ้นปากตรงกลางหรือไม่ แล้วให้คนไข้แลบลิ้นออกมาตรงๆ ถ้าลิ้นนอนนิ่งอยู่ตรงกลาง (ไม่เบี้ยวไปทางซ้ายหรือทางขวา) และเวลาแลบลิ้นออกมา ลิ้นก็แลบออกมาได้ตรงๆ แสดงว่า เส้นประสาทสมองเส้นที่ 12 ปกติ

แต่อ้าปาก แล้วลิ้นเบี้ยวไปทางขวา และเมื่อแลบลิ้นออกมาแล้ว จะเบี้ยวไปทางซ้าย แสดงว่า กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทลิ้นด้านซ้าย พิการหรือเป็นอัมพาต

ถ้าอ้าปาก แล้วลิ้นนอนเบี้ยวไปทางซ้าย และเมื่อแลบลิ้นออกมา จะเบี้ยวไปทางขวา แสดงว่า กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทลิ้นด้านขวาพิการหรือผิดปกติ (ดูรูปที่ 7)

การตรวจระบบประสาทสมอง โดยคร่าวๆ จะมีเพียงเท่านี้ ต่อไปจะกล่าวถึงการตรวจระบบประสาทและกล้ามเนื้อของร่างกายส่วนอื่น
 

ข้อมูลสื่อ

58-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 58
กุมภาพันธ์ 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์