• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดหัว (ต่อ)

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

          

    

 

การตรวจรักษาอาการปวดหัว (ต่อ)
การตรวจรักษาอาการปวดหัว (ปวดศีรษะ) ดังที่ได้กล่าวไว้ในฉบับก่อน ๆ เป็นการตรวจรักษาที่สามารถกระทำได้อย่างง่าย ๆ ควรพยายามอ่านทบทวน เพื่อให้เข้าใจและจำได้ แล้วนำไปทดลองปฏิบัติ จึงจะเกิดความชำนาญขึ้น


จะเห็นได้ว่า การตรวจรักษาอาการปวดหัว (ปวดศีรษะ) ดังที่ได้กล่าวไว้นั้น อาศัยอาการ (ประวัติ) ของการปวดหัว (ปวดศีรษะ)เป็นสำคัญ การตรวจร่างกายที่สำคัญมีเพียง 3 ประการคือ

1.การวัดความดันเลือด
เพราะอาการปวดหัวจากโรคความดันเลือดสูงจะสามารถวินิจฉัยได้โดยง่ายที่สุด ด้วยการวัดความดันเลือด (ดูวิธีวัดความดันเลือดในหมอชาวบ้านฉบับที่ 19) ประวัติหรืออาการแทบจะไม่ช่วยในการวินิจฉัยเลย นอกจากคนไข้จะให้ประวัติว่าตนเป็นโรคความดันเลือดสูงอยู่
อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่มีความดันเลือดสูง อาจจะปวดหัวจากความดันเลือดที่สูง หรืออาจจะปวดหัวจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่นปวดเครียด ปวดหัวจากหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งในกรณีที่ปวดหัวจากสาเหตุอื่น ก็จะวินิจฉัยอาการปวดหัวนั้นจากอาการหรือประวัติได้ แต่ก็ต้องให้การรักษาภาวะความดันเลือดสูงไปพร้อม ๆ กันด้วย (ดูวิธีรักษาภาวะความดันเลือดสูง ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 69 หน้า 38-42)

                            

 

2.การคลำหลอดเลือดแดงบริเวณขมับ (Temporal artery)
เพราะถ้าพบหลอดเลือดแดงในบริเวณดังกล่าวกดเจ็บ และเป็นปุ่มเป็นปม (ดูรูปที่ 1) ให้ถือว่าอาการปวดหัวนั้นน่าจะเกิดจากหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (temporal arthritis) ต้องรีบให้การรักษาด้วยยาเพล็ดนิโซโลน เพื่อป้องกันไม่ให้ตาบอดซึ่งอาจเกิดขึ้นปุบปับได้ (ดูหมอชาวบ้านฉบับที่ผ่านมา)

    

3.การดูหัวประสาทตา (Optic disc)
ซึ่งต้องใช้กล้องตรวจตา (Ophthalmoscope) เพื่อดูผ่านรูม่านตาเข้าไปข้างในตา (ไม่ได้กล่าวไว้ในภาคการตรวจร่างกาย เพราะต้องใช้เครื่องมือซึ่งค่อนข้างแพง (ดูรูปที่ 2) ประดิษฐ์ขึ้นใช้เองได้ยากและฝึกหัดเองได้ยาก

ถ้าเห็นหัวประสาทตาบวม (papilledema) ร่วมกับอาการปวดหัว มักจะหมายความว่า อาการปวดหัวนั้นเกิดจากความดันในกะโหลกศีรษะสูง (increasec intracranial pressure) ซึ่งอาจเกิดจากความดันเลือดสูงมากมาเป็นเวลานาน จากเนื้องอก หรือเลือดออกในกระโหลกศีรษะ หรือจากการบวมของเนื้อสมอง เป็นต้น

                                


คนไข้ที่ปวดหัวและมีหัวประสาทตาบวม(ดูรูปที่ 3) จึงควรส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะอาจมีอันตรายร้ายแรงได้
ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (การตรวจแล็บ) ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการเอกซเรย์ศีรษะ (skull film) เอกซเรย์ไซนัส (sinus film) และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computer X-rays หรือ C.T.scan) ของสมอง จะไม่ช่วยในการตรวจรักษาอาการปวดศีรษะ ยกเว้นแต่ในกรณีที่คิดว่าจะต้องทำการผ่าตัด เช่น เป็นหนองในไซนัส (โพรงอากาศในกระดูกรอบจมูก) เป็นเนื้องอกในสมอง เป็นต้น


อาการปวดศีรษะที่เกิดจากสาเหตุที่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด เป็นสิ่งที่พบได้น้อยมาก (ประมาณ 1 คน ในหมื่นคนในแสนคนที่ปวดศีรษะ) จึงไม่ควรที่จะวิตกกังวล จนถึงกับต้องตรวจเอกซเรย์ต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น จะได้ช่วยประหยัดเงินของคนไข้และของประเทศได้

ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่นการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจสารเคมีในเลือด ก็มีความจำเป็นน้อยเช่นเดียวกัน ยกเว้นในกรณีที่สงสัยว่าจะมีโรคอื่นร่วมอยู่ด้วย หรือในกรณีที่ต้องการติดตามผลการรักษา เช่น ถ้าคนไข้ปวดหัวจากความดันเลือดสูงอาจจะต้องตรวจเลือดดูเกลือแร่ (electrolytes) และการทำงานของไต (creatinine,uricacid) เพื่อติดตามดู เพื่อติดตามหลังการักษาว่าภาวะเกลือแร่และการทำงานของไตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

 

ถ้าคนไข้ปวดหัวจากหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ อาจจะตรวจการตกของเม็ดเลือดขมับอักเสบ อาจจะตรวจการตกของเม็ดเลือดแดง (erythrocyte sedimentation rate) เพื่อติดตามดูหลังการรักษาว่ามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
จึงเห็นได้ว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (การตรวจแล็บ) ต่างๆ มีส่วนช่วยน้อยมาก (เกือบไม่มีเลย) ในการตรวจรักษาอาการปวดศีรษะในระยะแรก จึงควรจะทบทวนและฝึกวิธีการตรวจรักษาโดยอาศัยอาการ (ประวัติ) และการตรวจร่างกาย (การวัดความดันเลือด การคลำหลอดเลือดแดงขมับ และถ้าทำได้ การดูหัวประสาทตา) อยู่เนืองๆ เพื่อให้มีความชำนาญในการใช้ประวัติและการตรวจร่างกายเพิ่มขึ้น ๆ

อนึ่ง การรักษาอาการปวดศีรษะที่เป็น ๆ หาย ๆ อย่างเรื้อรังนั้น นอกจากจะใช้ยาและวิธีการดังได้กล่าวไว้ในฉบับก่อนๆ แล้วอาจใช้วิธีการอื่น ๆ เช่น

1.การกด นวด คลึง ในบริเวณที่ปวดหรือในบริเวณอื่น ซึ่งทำให้อาการปวดหัวบรรเทาลง

2.การประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำร้อนในบริเวณที่ปวด หรือในบริเวณอื่น ซึ่งทำให้อาการปวดหัวบรรเทาลง

3.การสงบจิตใจ เช่นด้วยการนอนหลับอย่างสนิท (อาจต้องใช้ยานอนหลับถ้าจำเป็น) การทำสมาธิ เป็นต้น มักจะทำให้อาการปวดหัวไม่เป็นบ่อย ๆ และไม่รุนแรง

4.การตั้งจิตมั่นว่าจะต้องหายจากอาการปวดหัวที่น่ารำคาญนี้ให้ได้ แล้วหางานทำให้ยุ่ง ๆ จะได้ไม่หมกมุ่นกับอาการปวดหัวและสาเหตุที่ทำให้เครียดอื่น ๆ

5.การออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเริ่มอย่างน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ๆ จนสามารถออกกำลังได้ประมาณครึ่งชั่วโมงตอนเช้าและตอนเย็น

6.การงดเว้นจากอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ง่าย เช่นสุรา เบียร์ ยาดอง ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น

ส่วนวิธีการอื่น ๆ เช่น การสะกดจิตด้วยตนเอง หรือด้วยผู้อื่น การใช้เครื่องมือช่วยบอกภาวะเครียดที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อให้คนไข้ผ่อนคลายตนเอง หรืออื่น ๆ เป็นวิธีการที่ค่อนข้างยาก และอาจจะสิ้นเปลืองเพิ่มขึ้น


คนไข้ที่ปวดหัวเพิ่มขึ้น ๆ หรือไม่ดีขึ้นหลังการรักษา ควรส่งคนไข้ไปหาหมอหรือผู้ที่ชำนาญกว่า เพื่อหาสาเหตุหรือวิธีการรักษาที่ถูกต้อง หรือเหมาะสมกับคนไข้นั้นต่อไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

71-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 71
มีนาคม 2528
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์