ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้” |
การวินิจฉัยและการตรวจรักษาอาการปวดหัวแบบฉุกเฉินและแบบไม่ฉุกเฉินได้กล่าวไว้แล้วในฉบับก่อน ๆ ฉบับนี้จะกล่าวถึงอาการปวดหัวที่มีลักษณะเฉพาะ จนทำให้วินิจฉัยประวัติได้ เช่น
1.ปวดเครียด (tension headache)
ปวดเครียดเป็นอาการปวดหัวที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะถ้ารวมพวกปวดหัวจากหลอดเลือด (vascular headache) ไว้ด้วยจะพบบ่อยกว่าอาการปวดหัวแบบอื่น ๆ รวมกัน
ลักษณะอาการ :
มักเกิดอาการในขณะหรือหลังจากเครียด กังวล โกรธ หรือหลังอารมณ์รุนแรงหรืออารมณ์อันเป็นภัย
มักเป็นอาการปวดตื้อ ๆ ไม่จี๊ดจ๊าด ไม่แปล๊บปล๊าบ หรือไม่ปวดตุ้ยๆ มักปวดคงที่ (ไม่หนักขึ้นหรือเบาลงสลับกันไปอย่างรวดเร็ว) มักรู้สึกเหมือนถูกอะไรมาบีบรัด หรือกดทับศีรษะ หรือตึง ๆ ตื้อ ๆ มึนๆ เหมือนถูกทุบหัว มักจะปวดหัวเป็นช่วงนาน ๆ เป็นวันเป็นเดือน หรือเป็นปี โดยมีช่วงที่ไม่ปวดสลับอยู่มากบ้างน้อยบ้าง มักจะร่วมด้วยอาการเจ็บเสียวเวลาหวีผม หรือแปลงผมหรือกดบริเวณหนังศีรษะใบหน้า หรือต้นคอ บางครั้งการกดบริเวณที่ปวดอาจจะทำให้สบายขึ้น แต่บางครั้งก็ทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย และมีน้ำตาไหลได้
ตำแหน่งที่เป็น :
เป็นได้ทั่วศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณทัดดอกไม้ ขมับ หน้าผาก ท้ายทอย กกหู และ/หรือต้นคอ อาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
การรักษา :
1. กินยาแก้ปวด (แอสไพริน หรือพาราเซตามอล) ครั้งละ 1-2 เม็ด เวลาปวดมาก ให้กินน้ำตามมากๆ
หรือกินหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันการระคายกระเพาะ
2. กินยาไดอะซีแพม (diazepame) เม็ดละ 2 หรือ 5 มิลลิกรัม ครั้งละ ครึ่ง -1 เม็ด เวลาปวดมาก และเวลาที่หงุดหงิดกังวล ตื่นเต้น โมโห กลัวหรือเครียด ถ้าหงุดหงิดเป็นประจำ ให้กินครึ่งเม็ดหลังอาหารเช้าและเย็น และ 1 เม็ดก่อนนอนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้อารมณ์ดีขึ้น จะได้แก้สาเหตุที่ทำให้เครียดได้ดังหัวข้อการรักษาข้อที่ 4 ที่จะกล่าวถึง
3. กินยาอะมีทริบตีลีน (amitryptiline) เม็ดละ 10 มิลลิกรัม 1 เม็ดก่อนนอน ถ้ากินยาไดอะซีแพมแล้วไม่ดีขึ้น ถ้ากินยาอะมีทริบตีลีน 1 เม็ดก่อนนอน แล้วรุ่งขึ้นง่วงหรืองงมาก ให้ลดเหลือครึ่งเม็ดก่อนนอน แต่ถ้ากินแล้วไม่ง่วงเลยอาจเพิ่มเป็น 1 เม็ดหลังอาหารเย็น และ 1 ถ้าอาการเครียดยังไม่ดีขึ้นอาจเพิ่มเป็น 1 เม็ดหลังอาหารเช้า กลางวันเย็นและก่อนนอนได้
ถ้ากินยาอะมีทริบตีลีนแล้วปัสสาวะลำบาก หรือตาพร่ามัวให้หยุดกินยาทันทีและไปหาหมอ
4.รักษาสาเหตุที่ทำให้เครียด เช่นด้วยการออกกำลังกายทุกวันเป็นประจำหาสาเหตุที่ทำให้เครียดและหาสาเหตุของสาเหตุต่อไปเรื่อย ๆ เช่น
ถ้านาย ก.ทำให้เราโกรธ ก็หาสาเหตุว่าอะไรทำให้นาย ก.ทำเช่นนั้น
ถ้าพบว่าเป็นเพราะเราไม่ทำงาน นาย ก.จึงว่าเราและทำให้เราโกรธ อาการโกรธของเราจะได้ลดลง
ถ้าพบว่าเป็นเพราะนาย ก.อิจฉาริษยาเรา เราก็ต้องหาสาเหตุต่อไปอีก ถ้าพบว่าเป็นเพราะนาย ก. ทำงานได้เงินน้อยกว่าเรา เราก็ต้องหาสาเหตุต่อไปอีกว่าทำไมเมื่อหาสาเหตุต่อไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ ความโกรธของเราก็จะบรรเทา และทำให้เมตตาสงสาร นาย ก. แทนที่จะโกรธเขา
การหาสาเหตุและแนะนำวิธีทำใจเพื่อผ่อนคลายความเครียดความกังวล จึงทำได้หลายประการ (อ่านมาเป็นหมอกันเถิดใน หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 63 ประจำเดือน กรกฏาคม 2527)
การป้องกัน :
คือการป้องกันไม่ให้เครียด และถ้าเครียดรีบผ่อนคลายด้วยวิธีรักษาดังกล่าวข้างต้น
2.ปวดศีรษะจากหลอดเลือด (vascular headache)
ปวดศีรษะจากหลอดเลือด เป็นอาการปวดหัวที่พบบ่อยที่สุด พอ ๆ กับอาการปวดหัวจากความเครียด หรือปวดเครียด อาการปวดหัวจากหลอดเลือดอาจแบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น
2.1 ลมตะกัง หรือไมเกรน (migraine หรือ migraine headache)
ลมตะกังหรือไมเกรนพบได้ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ใหญ่ ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยชรา แต่เริ่มมีอาการในระยะวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ลักษณะอาการ :
อาจเกิดอาการโดยไม่มีสาเหตุกระตุ้น หรืออาจเกิดอาการหลังจากมีเรื่องเครียด มีประจำเดือน (ระดู) นอนน้อยเกินไป หรือมากเกินไป หรือกินอาหารหรือยาที่ทำให้หลอดเลือดหดหรือขยายตัว บางคนจะเกิดอาการในขณะที่รู้สึกโล่งใจ หรือเริ่มผ่อนคลายจากความเครียดที่บีบรัดจิตใจมาเป็นเวลานาน ๆ มักมีประวัติลมตะกัง หรือไมเกรนในครอบครัว หรือญาติที่มีสายเลือดเดียวกัน นั่นคือเป็นกรรมพันธุ์ได้
ก่อนจะเกิดอาการปวดศีรษะมักจะมีอาการนำ (อาการเตือน) มาล่วงหน้า เช่น มีอารมณ์เปลี่ยนไป รู้สึกหิวข้าวหรือหิวน้ำมากกว่าปกติ รู้สึกซึม เซ็ง หรือง่วงเหงาหาวนอน นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว เห็นภาพเป็นสอง เห็นจุดเรืองแสงหรือฟองเงาลอยไปมา เห็นภาพเพียงซีกเดียวหรือส่วนเดียว หรืออื่น ๆ อาการนำหรืออาการเตือนนี้ อาจจะเกิดก่อนอาการปวดศีรษะเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียว หรือหลาย ๆ ชั่วโมง และทำความรำคาญให้มากกว่าอาการปวดศีรษะก็ได้ โดยเฉพาอาการนำแบบตาพร่ามัวที่ทำให้เห็นอะไรไม่ชัด
หลังจากอาการนำ (อาการเตือน) แล้วจะเกิดอาการปวดศีรษะตุ้บ ๆ ที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง(ปวดศีรษะข้างเดียว) อาการปวดตุ๊บ ๆ จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นแล้วในที่สุดจะปวดศีรษะทั้งสองข้าง อาจปวดไปหมดทั้งศีรษะ ถ้าปวดมาก ๆ จะลืมตาไม่ขึ้น (กลัวแสงสว่าง) มีน้ำมูกไหลและคลื่นไส้อาเจียนด้วย อาการปวดตุ๊บ ๆ จะเปลี่ยนเป็นอาการปวดเต็มที่ (ไม่ตุ๊บ) เมื่อเป็นมาก
ในบางครั้งอาจจะมีอัมพาตครึ่งซีกแขนหรือขาอ่อนแรงไปข้างหนึ่ง หรือเป็นเหน็บชาไปส่วนหนึ่ง หรือพูดไม่ได้ ส่วนใหญ่เมื่อมีอาการปวดศีรษะแล้ว อาการนำ (อาการเตือน) มักจะหาย คนที่ตาพร่ามัวก่อนปวดศีรษะ เมื่อปวดศีรษะแล้วอาการตาพร่ามัวมักจะหายไป แต่ในบางคนที่ไม่มีอาการตาพร่ามัวก่อนปวดศีรษะ เมื่อปวดศีรษะแล้วตาอาจจะพร่ามัวได้
ตำแหน่งที่เป็น :
มักปวดศีรษะบริเวณทัดดอกไม้ ขมับ ศีรษะด้านบน หรือรอบกระบอกตา ในระยะแรกมักจะเป็นข้างเดียว(ปวดศีรษะข้างเดียว) ต่อมาเมื่อปวดรุนแรงขึ้นจะปวดทั้ง 2 ข้าง และอาจปวดไปทั่วศีรษะ
การรักษา :
ในระยะที่มีอาการนำ (อาการเตือน) อาจจะป้องกันการปวดศีรษะได้โดย
1. หลับตาและนอนพักในที่สงบ ๆ หรือในบางคนการออกกำลังหรือทำงานให้ยุ่ง ๆ ทันที อาจจะทำให้หายจากอาการและไม่เกิดอาการปวดศีรษะได้
2. การใช้ยา ให้กินยาเออร์กอตตามีน (Ergotamine compound) ขององค์การเภสัชกรรมฯ 2-4 เม็ด หรือจะกินยาคาเฟอร์กอต (Cafergot) 1-2 เม็ด
ถ้ามีเรื่องเครียดกังวลอยู่ควรกินยาไดอะซีแพม ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม 1 เม็ด ร่วมด้วย
ในคนที่อาการนำเป็นอยู่ในช่วงระยะสั้น ๆ (น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง) แล้วก็ปวดศีรษะเลย ควรกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือแอสไพริน ร่วมไปด้วยเลย
ในระยะที่มีอาการปวดศีรษะแล้วให้กินยาแก้ปวด เช่นพาราเซตามอล หรือแอสไพริน 1-2 เม็ด และอาจกินยาไดอะซีแพม 1-2 เม็ดร่วมด้วย แล้วเข้านอนเสีย เมื่อหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาอาการปวดศีรษะมักจะหายไป แต่มักจะมีอาการอ่อนเพลีย มึนงง หรือซึมเซา อีกหลายชั่วโมงหรืออีก 1-2 วันได้
ในระยะที่ไม่มีอาการ ไม่ต้องใช้ยาอะไร นอกจากในคนที่ชอบเป็นบ่อย ๆ ก็ควรจะใช้วิธีการป้องกันได้
การป้องกัน :
หลีกเลี่ยงจากสาเหตุกระตุ้น (ชนวน) ที่ทำให้เกิดลมตะกังหรือไมเกรน และใช้วิธีการรักษาแบบเรื่องอาการปวดเครียดในหัวข้อ 2-4 ยาไดอะซีแพม และ/หรือยาอะมีทริบตีลีน วันละ 1-2 เม็ด อาจจะช่วยป้องกันลมตะกังหรือไมเกรนได้เป็นอย่างดี ถ้ายังไม่เป็นผล อาจใช้
1. ยาไพโซไทเฟน (pizotifen) เช่นยาแซนโดไมเกรน (Sandomigran)หรือโมเซกอร์ (Mosegor) วันละ 1-2 เม็ด ก่อนนอนหรือ
2. ยาจำพวกเออร์กอต เช่น ยาเออร์กอตตามีน (ergotamine compound) ขององค์การเภสัชกรรม วันละ 1-3 เม็ด หรือยาเบเลอร์กาล (Bellergal) วันละ 1-3 เม็ด หรือยาไดไฮเดอร์กอต (Dihydergot) วันละ 1-3 เม็ด
3. ยากั้นเบต้า เช่น ยาโพรพรานอลอล (propranolol) ขนาดเม็ดละ 40 มิลลิกรัม วันละ 1-4 เม็ด
4. ยาเมธิ-เซอไยค์ (methysergide) แม้จะมีฤทธิ์ในการป้องกันลมตะกังได้ดี แต่มีพิษมาก จึงไม่ควรใช้ นอกจากจำเป็นจริง ๆ และใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล
2.2 ปวดศีรษะเป็นกลุ่มเป็นช่วง (cluster headache)
การปวดศีรษะเป็นกลุ่มเป็นช่วงมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและเกิดอาการครั้งแรกระหว่างอายุ 20-26 ปี
ลักษณะอาการ :
อาจเกิดอาการโดยไม่มีสาเหตุกระตุ้นหรือเกิดอาการหลังดื่มสุรายาดองของเมา มักจะเกิดอาการปวดศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงทันที พร้อมกับมีน้ำมูกน้ำตาไหลทางข้างที่ปวด รูม่านตา(pupil) ข้างนั้นอาจจะหรี่เล็ก และหนังตาข้างนั้นอาจจะตกลง (หนังตาตก ลืมตาไม่ค่อยขึ้น) และผิวหนังของข้างที่ปวดอาจจะแดงและอุ่นกว่าอีกข้างหนึ่งด้วย
อาการปวดมักจะเกิดในเวลากลางคืน และปลุกคนไข้ให้ตื่นขึ้น อาการปวดจะคงอยู่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วก็จะหายทันทีเป็นปลิดทิ้ง
อาการปวดนี้จะเกิดขึ้นใหม่วันละครั้งหรือวันละหลายครั้งติดต่อกันไปเป็นช่วง ช่วงหนึ่งอาจจะกินเวลาหลายสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจกินเวลาเป็นเดือน แล้วคนไข้จะมีเวลาปลอดจากอาการ (ไม่มีอาการ) เป็นเวลาหลาย ๆ สัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือน แล้วจะกลับมีอาการใหม่
ตำแหน่งที่ปวด :
มักเริ่มปวดบริเวณจมูก แล้วลามไปที่บริเวณเบ้าตา หน้าผาก และขมับ
การรักษา :
1.ให้กินยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน พาราเซตามอลครั้งละ 1-2 เม็ด กินซ้ำได้อีก 1-2 เม็ด ในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ถ้าไม่ดีขึ้น
2.อาจให้กินยาไดอะซีแพม 1-2 เม็ด ร่วมด้วยเพื่อช่วยลดความกังวลหรือความเครียด
การป้องกัน :
ถ้าเป็นติดต่อกันหลาย ๆ วันหรือหลาย ๆ สัปดาห์ อาจให้กินยาป้องกันเช่น
1.ยาเพร็ดนิโซโลน (prednislolne) เม็ดละ 5 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด หลังอาหารเช้า-กลางวัน เย็นประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วลดยาลงครึ่งหนึ่งในสัปดาห์ต่อไป แล้วหยุดได้ (ห้ามใช้ในคนที่เป็นแผลในกระเพาะลำไส้ และต้องกินยาลดกรด 1-2 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง และเวลาหิวหรือปวดท้อง เพื่อป้องกันการระคายกระเพาะร่วมไปด้วย)
2.ยาอินโดเมธาซิน (indomethacin) วันละ 2-4 เม็ด โดยเฉพาะในรายที่เป็นวันละ 10-20 ครั้งติดต่อกันเป็นเดือน ๆ หรือปี ๆ หรือที่เรียกว่าอาการปวดศีรษะข้างเดียว เป็นพัก ๆ อย่างเรื้อรัง (chronic paroxysmal hemicrania)
3.การใช้ยาเมธิเซอร์ไยด์ (methysergide) หรือลิเธียม (lithium) ในการป้องกันมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ควรใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ และใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล
2.3 ปวดศีรษะจากหลอดเลือดอักเสบ (cranial arteritis)
ปวดศีรษะจากหลอดเลือดอักเสบ มักเป็นในคนที่มีอายุกว่า 60 ปี
ลักษณะอาการและตำแหน่ง :
มักจะปวดศีรษะข้างเดียวในบริเวณขมับ มักจะปวดรุนแรงและกดเจ็บในบริเวณที่ปวดด้วย ถ้าคลำหลอดเลือดแดง (ที่เต้นตุ๊บ ๆ ) บริเวณขมับ (temporal artery) จะพบว่าหลอดเลือดแดงค่อนข้างแข็ง กดเจ็บ และอาจจะขรุขระเป็นปุ่มเป็นปม อาจจะมีอาการตาพร่ามัว และถ้ามีอาการนี้ในโรคนี้จะต้องรีบรักษาด้วยยาเพร็ดนิโซโลนทันที เพราะอาจจะเกิดอาการตาบอดได้ อย่างไรก็ตาม อาการตาบอดอาจจะเกิดขึ้นทันทีในโรคนี้ ทำให้การใช้ยาเพร็ดนิโซโลนในระยะเริ่มแรกที่วินิจฉัยโรคนี้ได้มีความจำเป็นแต่ตาจะยังไม่พร่ามัว อาจมีอาการไข้ (ตัวร้อน) อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ผอมลง ซีด และอาการเหน็บชาที่แขนหรือขาข้างหนึ่งข้างใด ด้วยก็ได้
การรักษา :
ถ้าอาการปวดศีรษะมีลักษณะและการตรวจพบหลอดเลือดแดงที่ขมับแข็ง กดเจ็บ และเป็นปุ่มเป็นปม หรือมีการตกของเม็ดเลือด (erythrocyte sedimentation rate)เร็วมาก ควรให้กินยาเพร็ดนิโซโลน ครั้งละ 2-3 เม็ดวันละ 4 ครั้งทันที เป็นเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ ลดยาลง (ควรให้กินยาลดกรดครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ หลังอาการ 1-2 ชั่วโมง และทุกครั้งที่ปวดท้องหรือรู้สึกหิวหรือท้องว่าง)
2.กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ดเวลาปวดมาก
3.รีบไปหาหมอ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การป้องกัน :
ปรึกษาหมอ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องเสียก่อน ถ้าการวินิจฉัยถูกต้องอาจต้องกินยาเพร็ดนิโซโลนในขนาดต่ำ ๆ (น้อย) เป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้โรคกำเริบขึ้นอีก ซึ่งการให้ยาเพร็ดนิโซโลนเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะลำไส้ กระเพาะทะลุ กระดูกผุ และพิษอื่น ๆ จากยาได้ง่าย จึงควรให้หมอรักษาและป้องกันโรคให้จะปลอดภัยกว่า
3. อาการปวดศีรษะจากสิ่งอื่น
อาการปวดศีรษะจากสิ่งอื่น ซึ่งจะทำให้วินิจฉัยได้เช่น
3.1 อาการปวดฟัน เพราะจะพบฟันผุ เหงือกอักเสบ เป็นต้น
3.2 อาการปวดแผลหรือฝีบริเวณใบหน้า เพราะเห็นแผลหรือฝี เป็นต้น
3.3 อาการปวดประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia) เพราะมีอาการปวดแปล๊บ ๆ (เป็นทันทีหายทันที) ติด ๆ กัน เป็นช่วง ๆ บริเวณใบหน้า การกดลงในจุดบางจุดที่ใบหน้าอาจทำให้เกิดอาการเช่นนั้น หรือการพูด การกิน การยิ้ม การแปรงฟัน ในบางครั้งก็ทำให้เกิดอาการได้ เป็นต้น
3.4 งูสวัด (herpes zoster) ที่บริเวณหนังศีรษะ หรือใบหน้า เพราะเกิดมีตุ่มน้ำเล็กๆ ขึ้นกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นทางต่อมาแตกเป็นแผล และหายเหลือเป็นแผลเป็นไว้ เป็นต้น
3.5 กระดูกคอทับเส้นประสาท (cervical spondylosis) เพราะจะมีอาการปวดเสียวมาที่สะบัก บ่า ไหล่ หรือแขน เวลาเอี้ยวคอ อาจมีอาการคอเอียงแข็ง (crickde neck torticollis) เป็นต้น
3.6 ไซนัสอักเสบ (sinusitis) เพราะจะมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง มีน้ำมูกเป็นหนองหรือมีการเคาะเจ็บบริเวณหว่างคิ้ว หรือโหนกแก้ม เป็นต้น
3.7 หูอักเสบ (otitis) เพราะมีอาการหูอื้อ หูน้ำหนวก (หนองไหลจากหู) เป็นต้น
3.8 ตาผิดปกติ เพราะมีสายตาสั้น สายตายาว ตามองเห็นไม่ชัด ต้อหิน ตาอักเสบ เป็นต้น
ในกรณีที่ปวดศีรษะจากสิ่งอื่น นอกจากจะให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดแล้ว จะต้องรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะด้วย
(อ่านต่อฉบับหน้า)
- อ่าน 80,254 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้