“ตุ๊บตะลู๊บ ตุ๊บตะลู๊บ”
เสียงหัวในที่เต้นแรงและเร็วประมาณนาทีละ 120-150 ครั้ง ขณะที่นักวิ่งกำลังเร่งฝีเท้าอยู่ ราวกับว่าหัวใจจะหลุดออกจากทรวงอกให้ได้ การหายใจถี่และแรง เส้นเลือดที่ขมับทั้งสองข้างโป่งออกและเต้นในจังหวะเดียวกับหัวใจ ยิ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดราวกับมีใครเอาฆ้อนมาทุบที่หัว ทุกฝีก้าวที่ย่ำลงกับพื้น นี่เราเป็นอะไร ตาชักมืดมึนไป ขาชักอ่อนปวกเปียกจนแทบจะลงไปนอนกองกับพื้น เหนื่อย ! เหนื่อยเหลือเกิน เราเป็นโรคหัวใจหรือเปล่านี่ ? โรคหัวใจ...หัวใจวาย ...หายใจไม่ออก
“โอ๊ย! หัวใจจะหยุดเต้นแล้ว...”
อาการต่าง ๆที่ปรากฏ หาใช่เป็นอาการของโรคหัวใจอย่างที่กังวลไม่ แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของผู้ที่ไม่เคยวิ่งมาก่อน แล้วต้องตรากตรำทนวิ่ง โดยเกรงว่าผู้อื่นจะเห็นว่าเราช่างอ่อนแอเหลือเกิน
การบริหารทุกชนิดย่อมทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เลือดถูกฉีดออกจากหัวใจมากขึ้น ความดันเลือดแดงสูงขึ้น ความต้องการก๊าซออกซิเจนสูงขึ้น ทำให้หายใจถี่และหลอดเลือดของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งจำต้องขยายตัวมากขึ้น ทำให้เลือดฉีดแรงและหลอดเลือดเต้นแรง
ข้อแตกต่างระหว่างนักวิ่งที่วิ่งเป็นประจำและนักวิ่งสมัครเล่นอยู่ที่การเต้นของหัวใจ
ในนักวิ่งที่วิ่งเป็นประจำหัวในจะเต้นช้ากว่า และบีบได้แรงกว่า ดังนั้นเลือดออกจากหัวใจในแต่ละนาทีจึงมีมากกว่า ขณะที่คนที่ไม่เคยวิ่งหัวใจเต้นเร็วก็จริง แต่เลือดที่ถูกบีบออกจากหัวในมีปริมาณน้อย ทำให้ไม่พอกับความต้องการของร่างกายในขณะนั้น เลือดที่ไปเลี้ยงสมองไม่พอ เนื่องจากเลือดส่วนใหญ่ต้องลงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อของขา จึงทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้ และเมื่อไม่สามารถหายใจถี่ขึ้นตามการเต้นของหัวใจ ยิ่งทำให้ขาดออกซิเจนและเกิดความกังวลว่าจะหายใจไม่ออก และการที่หัวใจเต้นเร็วและแรงเกินไป ทำให้รู้สึกว่าหัวใจจะกระเต็นออกจากทรวงอกไป อย่างไรก็ดี ความกังวลยิ่งทำให้จะพยายามหายใจให้ถี่ขึ้น ซึ่งกลับทำให้กล้ามเนื้อของหลอดลมหดตัวแทนที่จะขยายตัวออก อากาศที่เข้าสู่ปอดยิ่งน้อยลง เกิดอาการขาดออกซิเจนมากขึ้น วงจรที่ชั่วร้ายนี้ทำให้ผู้ที่ทำการวิ่งคิดว่าหัวใจวายและอาจจะหยุดเต้นไป
อาการของโรคหัวใจเป็นอย่างไร ?
อาการต่าง ๆ ที่กล่าวมาอาจเป็นอาการของโรคหัวใจก็ได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีอาการเจ็บปวดของหน้าอกหรือไหล่ซ้ายเกิดขึ้นร่วมด้วย อาการของโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในวัย 40-50 ปี ขึ้นไป มักจะมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตันหรือแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอหัวใจจึงวายได้ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอยู่บนผิวของหัวใจนั่นเองและโดยทั่วไปถ้าไม่ได้ออกกำลังกาย เลือดที่เลี้ยงหัวใจก็มีความเพียงพอแล้ว จึงไม่เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น และจะปวดเมื่อทำการวิ่งสักระยะเวลาหนึ่งแล้วถ้านักวิ่งรู้สึกเจ็บปวดที่หน้าอกหรือไหล่ซ้ายขณะทำการวิ่งเมื่อไรต้องหยุดวิ่งและพักทันที
วิธีการตรวจว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือไม่ มีอยู่หลายวิธี แต่วิธีค่อนข้างแน่นอนคือ การวัดคลื่นหัวใจหรือเรียกตามคำย่อภาษาอังกฤษ อีเคจี ( E.K.G.) ความจริงมักปรากฏออกมาว่าคนที่สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ ไปทำการตรวจคลื่นหัวใจแล้วมักไม่มีอาการของโรคหัวใจ คนที่เห็นและไม่แน่ใจเหลือเกินว่าตนเองแข็งแรงอย่างกับช้างสาร กลับพบบ่อยว่าเป็นโรคหัวใจ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเล่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนที่กังวลอยู่ตลอดเวลา มักไปหาแพทย์เมื่อเกิดข้อสงสัยทุกครั้ง และคนที่ไม่เคยเป็นโรคอะไรมักจะปล่อยปละละเลยไม่สนใจสุขภาพตัวเอง และเมื่อเกิดอาการของโรคหัวใจ เช่น มีการปวดที่หัวไหล่ซ้าย กลับคิดว่าไขข้อไม่ดีสะบัด 2-3 ทีก็หาย และเป็นเช่นนี้จริง ๆ เนื่องจากถ้าหยุดวิ่งก็ไม่เจ็บปวดอีกเลยไม่ให้ความสนใจอีก จึงเกิดอุบัติเหตุหัวใจวายได้กระทันหัน
การตรวจคลื่นหัวใจไม่รู้สึกเจ็บปวดอย่างไรเลย (ดังรูป 1) สบายกว่ากินยา ฉีดยาอีก ทำการตรวจได้ตามโรงพยาบาลและคลินิกใหญ่ ๆ ได้ เนื่องจากเครื่องตรวจคลื่นหัวใจได้พัฒนาไปไกลมาก และมีราคาถูก จนปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถสร้างเครื่องตรวจคลื่นหัวใจได้เอง เช่น ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ผู้ป่วยไปรับเครื่องมาติดกับตัวตลอดเวลา โดยมีเครื่องบันทึกเทปคาสเซทท์คอยทำการบันทึกตลอด 24 ชั่วโมง แล้วจึงนำเทปตลับนั้นไปให้แพทย์วินิจฉัย
การที่จำเป็นต้องบันทึกคลื่นหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากต้องการทราบว่าคลื่นหัวใจจะผิดปกติเมื่อทำกิจกรรมใดบ้าง เช่น ขึ้นลงบันได เข้าห้องน้ำ ปล่อยทุกข์ ยกของหนัก หรือขณะทำการวิ่งอยู่ แต่ในภาวะไม่ได้ทำงานคลื่นหัวใจอาจปกติก็ได้ ในการตรวจคลื่นหัวใจ จึงไม่ควรตรวจในท่านอนนิ่งเท่านั้น แต่ควรตรวจก่อนและหลังทำการออกกำลังกาย เช่นขี่จักรยานจนเหนื่อย หรือวิ่งอยู่กับที่ให้เหนื่อย แต่ทั้งนี้ถ้านอนอยู่เฉย ๆ คลื่นหัวใจยังเกิดความผิดปกติแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจหลังทำการออกกำลังกายอีก นอกจากตรวจคลื่นหัวใจ ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนและอาจทำไม่ได้ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นักวิ่งย่อมสามารถตรวจสอบตนเองว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ทางอ้อม โดยจับชีพจรของตนเองก่อนและหลังการวิ่ง การจับชีพจรทำได้ 2 แห่ง แห่งแรกที่เส้นเลือดบริเวณด้านหน้าข้อมือเยื้องไปทางด้านนิ้วหัวแม่มือ(ดังรูปที่ 2) แห่งที่สองที่เส้นเลือดบริเวณคอ(ดังรูป 3)การนับจะนับให้ครบทั้งหนึ่งนาที หรือนับเพียงครึ่งนาทีแล้วคูณด้วยสองก็ได้
นับชีพจรหลังวิ่งทุก ๆ 5 นาที ชีพจรหลังการวิ่งย่อมเต้นถี่กว่าก่อนวิ่ง แต่ถ้าหลังจาก 5 นาทีแล้ว ชีพจรกลับสู่ปกติคือเต้นดัวยความเร็วเท่ากับก่อนวิ่ง แสดงว่าเป็นผู้มีหัวในที่ดี แต่ถ้าหลังจาก 5 นาที 10 นาที 15 นาที 20 นาที ...ชีพจรยังเต้นเร็วอยู่ตลอดเวลา แสดงว่าหัวใจอาจมีปัญหาก็ได้ สมควรไปทำการตรวจสุขภาพ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้คนที่เป็นโรคหัวใจก็ทำการวิ่งได้ แต่ต้องคอยจับชีพจรไม่ให้เต้นเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที ถ้าเกินกว่านี้ก็สมควรหยุดวิ่งทันที ไม่ควรฝืนต่อไปทั้งนี้หมายถึงโรคหัวใจที่เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงเท่านั้น แต่โรคหัวใจบางชนิดแพทย์อาจห้ามไม่ให้วิ่งเลย เช่น การเต้นของหัวใจไม่เป็นจังหวะที่แน่นอน เร็วบ้าง ช้าบ้าง หัวใจรั่ว หรือภาวะเสียเลือดเสียน้ำ เป็นต้น
ท่านที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ โปรดทำการวิ่งตั้งแต่บัดนี้เถิด เพราะการวิ่งจะป้องกันโรคหัวใจได้อย่างแน่นอน
- อ่าน 5,766 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้