• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอน ความดันเลือดสูง

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

    
 

ความดันเลือดสูง จะรู้ได้แน่นอนโดยการวัดความดันเท่านั้น (ดูวิธีวัดความดันเลือดใน " หมอชาวบ้านฉบับที่ 19")

การพยายามเดาเอาหรือคิดเอาว่าตนเอง หรือคนนั้นคนนี้มีความดันเลือดสูง เพราะปวดศีรษะบ่อย ๆ หรือเพราะอาการอื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย

การพยายามเดาเอาหรือคิดเอาว่าตนเอง หรือคนนั้นคนนี้มีความดันเลือดปกติ เพราะผอม หรือไม่เคยปวดศีรษะ หรืออื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะคนที่มีความดันเลือดสูง อาจไม่มีอาการก็ได้ (แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการ ถ้าความดันเลือดสูงมาก หรือสูงอยู่นาน) 

ในผู้ใหญ่ ความดันเลือดที่สูงกว่า 160/95 ในขณะที่นอนพักอยู่ให้ถือว่าเป็นความดันเลือดสูง โดยเฉพาะถ้าให้นอนพักอีก 5-10 นาทีแล้ววัดใหม่ ความดันเลือดก็ยังเท่าเดิม หรือใกล้เคียงกับที่วัดครั้งก่อน และอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา วัดแล้วก็ยังสูงกว่า 160/95

ส่วนความดันเลือดในผู้ใหญ่ที่วัดได้ ระหว่าง 140/90 กับ 160/95 ให้ถือว่าอาจจะเป็น “ความดันเลือดสูง” แต่ถ้าพบว่ามีหัวใจห้องล่างซ้ายโต(ดูหมอชาวบ้านฉบับที่ 20) หรือมีการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดภายในลูกตา (ซึ่งต้องมองผ่านแก้วตาเข้าไปจึงจะเห็น ) ก็ให้ถือว่าเป็นความดันเลือดสูงได้
ในเด็กเล็ก ๆ ความดันเลือดสูงกว่า 130/80 อาจถือว่าเป็นความดันเลือดสูงได้

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า ความดันเลือดนั้นมี 2 ค่าคือค่าตัวบน และค่าตัวล่าง ค่าความดันเลือดตัวบนเป็นค่าความดันเลือดขณะหัวใจเต้น (หัวใจห้องล่างหดตัว)ส่วนค่าความดันเลือดตัวล่างเป็นค่าความดันเลือดขณะหัวใจหยุดเต้น (หัวใจห้องล่วงคลายตัว)

 

ภาวะความดันเลือดสูง จึงอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ

ก. ภาวะความดันเลือดตัวล่างสูง เมื่อความดันเลือดตัวล่างสูง ความดันเลือดตัวบนมักจะสูงขึ้นด้วย เช่น 180/110, 190/110, 190/120, 170/120 เป็นต้น แต่ในบางครั้งความดันเลือดตัวบนอาจจะไม่สูงก็ได้เช่น 140/110, 150/110, 150/120 เป็นต้น
ภาวะความดันเลือดตัวล่างสูง เกิดจากหลอดเลือดแดงเล็ก ๆทั่วร่างกายแข็งและตีบแคบลง ความดันเลือดตัวล่างจึงสูงขึ้น ถ้าความดันเลือดตัวล่างสูงขึ้นมาก มันก็จะไปกระทบกระเทือนหลอดเลือดแดงเล็ก ๆ เหล่านั้น ทำให้หลอดเลือดแดงเล็ก ๆเหล่านั้นแข็งและตีบแคบมากขึ้น เกิดเป็นวัฏจักรแห่งความเสื่อม ทำให้หลอดเลือดเล็ก ๆ ในตา ในสมอง ในหัวใจและในไต ตีบแคบไปด้วย ถ้าเป็นมากก็จะทำให้ตาฝ้าฟางหรือบอด ทำให้หลอดเลือดเล็ก ๆ ในสมองตีบตันหรือแตกเกิดเป็นอัมพาต ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบเกิดอาการเจ็บแน่นในอกและทำให้ไตพิการได้

ภาวะความดันเลือดตัวล่างสูงเป็นภาวะที่มักจะเรียกกันว่า “โรคความดันเลือดสูง” ซึ่งส่วนใหญ่(ร้อยละ
85-90)
จะไม่รู้สาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเล็ก ๆ ทั่วร่างกายตีบ มีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 10-15) เท่านั้น ที่รู้สาเหตุเช่น

1.โรคครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะความดันเลือดสูงที่เกิดร่วมกับการตั้งครรภ์ เมื่อคลอดหรือเอาเด็กออกแล้วความดันเลือดมักจะลดลง

2.โรคไต เช่นโรคไตอักเสบฉับพลัน จะทำให้ความดันเลือดสูง พอหายแล้วความดันเลือดก็กลับเป็นปกติ โรคไตเรื้อรังบางชนิดก็ทำให้ความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดไตตีบก็อาจจะทำให้ความดันเลือดสูงได้ เป็นต้น

3.โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตบางชนิด ก็ทำให้ความดันเลือดสูงได้ เมื่อผ่าตัดเนื้องอกออกแล้วความดันเลือดมักจะกลับเป็นปกติ

4.โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกหรือช่องท้องตีบ ซึ่งอาจจะเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือมาเกิดขึ้นทีหลังในบางครั้งการผ่าตัดหลอดเลือดส่วนที่ตีบและต่อด้วยหลอดเลือดเทียมอาจจะช่วยให้ความดันเลือดสูงลดลงได้เช่นเดียวกัน

5.การใช้ยาคุมกำเนิด ในสตรีบางคนจะทำให้ความดันเลือดสูงได้ เมื่องดใช้ยาคุมกำเนิดแล้วความดันเลือดจะกลับเป็นปกติ

ดังนั้นถ้าพบความดันเลือดสูงในคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือร่วมด้วยอาการใจเต้นเร็ว หรืออาการผอมลงอย่างรวดเร็ว หรืออาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว หรือรักษาแล้วควบคุมความดันเลือดไม่ได้ดี จะต้องหาดูว่ามีสาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงและรีบแก้สาเหตุด้วย มิฉะนั้นจะคุมความดันเลือดไม่ได้ผลเท่าที่ควร

   

 
ข.ภาวะความดันเลือดตัวบนสูง นั่นคือสูงเฉพาะตัวบน ตัวล่างจะปกติหรือสูงเพียงเล็กน้อย เช่น 240/100, 190/90, 200/80, 180/90 เป็นต้น

ภาวะความดันเลือดตัวบนสูงเกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกและช่องท้องมีผนังหนาแข็งยืดหยุ่น
ได้น้อย เมื่อหัวใจหดตัวผลักดันเลือดออกมาสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ จะขยายตัวออกรับเลือดไม่ได้ดี ความดันเลือดตัวแรกจึงสูงขึ้น แต่เนื่องจากหลอดเลือดแดงเล็ก ๆ ยังไม่ตีบแข็ง ความดันเลือดตัวล่างจึงยังปกติ หรือถ้าสูงขึ้น ก็สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะหลอดเลือดแดงเล็กบางส่วนอาจตีบแข็งด้วย
ภาวะความดันเลือดตัวบนสูงส่วนใหญ่เกิดในคนสูงอายุ โดยเฉพาะคนที่อายุมากว่า 50-60 ปี จนบางคนถือว่า เป็นภาวะปกติสำหรับคนแก่ ถึงกับพูดว่าความดันเลือดตัวบนให้เอา 100+อายุ เช่นถ้าอายุ 50 ก็ให้เอา 100 + 50 = 150, ถ้าอายุ 70 ก็ให้เอา 100 +70 = 170 แต่อันที่จริงแล้ว คนที่อายุ 40 ปี ความดันเลือดตัวบนอาจจะต่ำกว่า 100 โดยเฉพาหญิงไทยหรืออาจจะสูงถึง 160 ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติได้

  

ภาวะความดันเลือดตัวบนสูงส่วนน้อยเกิดขึ้นจากสาเหตุเช่น โรคคอพอกเป็นพิษ โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติครั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด หรือแม้แต่ในภาวะปกติเช่น ในขณะออกกำลัง หรือหลังออกกำลังใหม่ ๆ ในขณะโกรธ ตื่นเต้น หรืออื่นๆ

ภาวะความดันเลือดตัวบนสูงที่มีสาเหตุ จะรักษาได้ผลดีโดยการแก้สาเหตุ ส่วนภาวะความดันเลือดตัวบนสูงที่เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัวในคนแก่ ยังไม่มีวิธีรักษาและไม่มียารักษาที่ให้ผลได้ดีและแน่นอน การพยายามจะรักษาด้วยยาลดความดันเลือดโดยตรง มักจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีต่อผู้ป่วย จึงไม่ควรจะใช้ยาลดความดันเลือดในกรณีนี้ แต่อาจจะใช้ยากล่อมประสาทและยาขับปัสสาวะลองดูสักระยะหนึ่ง (ประมาณ 2-4 สัปดาห์) ถ้าไม่ได้ผลดี หรือมีผลแทรกซ้อน (ผลร้าย)ควรจะหยุดยาดีกว่า มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วิธีลดความดันเลือด
วิธีลดความดันเลือดของคนเรานั้นจะขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอดเวลา ในเวลาหลับสบาย ๆ ความดันเลือดจะลงไปต่ำสุด เช่น 70/50,80/50 เป็นต้น แต่ในขณะทำงาน ออกกำลัง ตื่นเต้น โกรธ กลัว หรืออื่น ๆ ความดันเลือดอาจจะสูงขึ้นไปได้มาก ๆ เช่น 180/90,190/100 เป็นต้น
ดังนั้นการจะลดความดันเลือดของผู้ใด ต้องแน่ใจเสียก่อนว่า ความดันเลือดของผู้นั้นสูงจริง ๆ นั่นคือให้นอนพักแล้วก็ยังสูง


หลักปฏิบัติทั่วไปสำหรับคนที่มีความดันเลือดสูง คือ

1.ลดอาหารเค็มลง ให้อาหารขนม และเครื่องดื่มทุกชนิดมีเกลือ น้ำปลา ฯลฯ น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ถ้าไม่ใส่เกลือ น้ำปลา ฯลฯ ได้ก็ยิ่งดี

2.ลดความอ้วนลงถ้าอ้วน โดยกินแต่ผักเป็นสำคัญ งดอาหารมันทุกชนิด แม้แต่ของผัดของทอด และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น เผือก มัน กล้วย เป็นต้น

3.ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่นการเดินเล่น การวิ่งเล่น การเล่นกีฬา หรือการทำงานออกกำลังแบบที่ไม่จำเจหรือเคร่งเครียด การออกกำลังแบบนี้ จะเป็นการบริหารจิตด้วย การออกกำลังต้องเริ่มแต่น้อยก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ควรออกกำลังแบบที่กลั้นหายใจแล้วเบ่ง เช่นยกน้ำหนัก ชักเย่อ

4.หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น หรือเครียดและพยายามสวดมนต์ภาวนาตามศาสนาแห่งตนเพื่อให้จิตใจสงบ เยือกเย็นและไม่ทุกข์ร้อนจนเกินควร

5.ในสตรีที่ใช้ยาคุมกำเนิด ควรจะหยุดยาคุมกำเนิด (เปลี่ยนไปใส่ห่วงแทน หรือทำหมันเสียเลย)
แล้วดูว่าความดันเลือดกลับเป็นปกติไหม ถ้าไม่กลับคืนสู่ปกติ จึงจะใช้ยาลดความดันเลือด นอกจากความดันเลือดนั้นสูงกว่า 170/100 ก็อาจจะให้ยาลดความดันเลือด พร้อมกับที่หยุดยาคุมกำเนิด
ถ้าคนที่มีความดันเลือดสูงได้ปฏิบัติตนดังกล่าวข้างตนแล้ว ความดันเลือดยังไม่ลดลง หรือถ้าคนนั้นมีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดหัวมากตาฝ้าฟาง (ตามัว) หอบ เหนื่อย จึงจะใช้ยาลดความดันเลือด

สำหรับคนที่ไม่มีอาการหรือไม่มีอาการอะไรมาก เช่น ปวดศีรษะนาน ๆ ครั้ง และความดันเลือดก็ไม่สูงมาก เช่น ความดันเลือดระหว่าง 160/100 หรือ 180/120 ในผู้ใหญ่ให้ลองปฏิบัติรักษาตนด้วยวิธีดังกล่าวข้างตนก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น จึงใช้ยาลดความดันเลือด

 

การใช้ยาลดความดันเลือด
ยาที่ควรใช้ในระยะแรกคือ

1.ยากล่อมประสาท เช่นยาไดอะซีแพม ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม ให้กินครั้งละ ½ -1 เม็ด หลังอาหารเช้าเย็น และถ้าเป็นคนหลับยาก อาจให้อีก 1 เม็ด ก่อนนอน เพื่อลดความตื่นเต้น หงุดหงิด กังวล และความเครียดทางอารมณ์ลง ความดันเลือดจะได้ไม่พุ่งขึ้น ๆ ลง ๆ ตามอารมณ์มากนัก ยานี้อาจจะทำให้ง่วง ถ้ากินยานี้แล้วง่วง ให้หลีกเลี่ยงจากการขับรถหรือการทำงานที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
ยาไดอะซีแพม ขององค์การเภสัชกรรม ขนาด 2 มิลลิกรัม ขนาด 5 มิลลิกรัม

 

2 . ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดจำนวนเกลือและน้ำในร่างกายลง ความดันเลือดจะได้ลดลง ยาขับปัสสาวะที่ใช้กันบ่อย และได้ผลดีคือ

2.1 ยาฮัยโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) ให้กิน 1 เม็ดหลังอาหารเช้า ถ้ามีอาการบวมหรือหอบเหนื่อยด้วยอาจให้กิน 1 เม็ด หลังอาหารเช้า และ 1 เม็ดหลังอาหารเที่ยง ถ้าให้ 2 เม็ดแล้วขับปัสสาวะยังไม่มากขึ้น ให้ใช้ยาฟูโรซิไมด์ในข้อ 2.2
ยานี้ขององค์การเภสัชกรรมราคาเม็ดละประมาณ 30 สตางค์ ของบริษัทเอกชน ในชื่อว่าไดคลอไตรด์ (Dichlotride) ราคาเม็ดละประมาณ 70 สตางค์

2.2 ยาฟูซีไมด์ (Furosemide) ใช้ในรายที่บวมมากหรือหอบเหนื่อยมาก หรือปัสสาวะน้อยมาก หรือมีอาการไตพิการร่วมด้วย ให้กิน 1 เม็ด (เม็ดละ 40 มิลลิกรัม)หลังอาหารเช้า ถ้าเป็นมาก อาจให้กิน 2 เม็ด หลังอาหารเที่ยง (ถ้าหลังกินยาแล้วปัสสาวะไม่มากขึ้น อาจกินเพิ่มได้ถึงวันละ 10 เม็ด)
ยาฟูซีไมด์ มีฤทธิ์รุนแรงกว่ายาฮัยโดรคลอโรไทอะไซด์ ถ้าไม่จำเป็นดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วละก็ อย่าใช้เป็นอันขาด อาจจะทำให้ปัสสาวะมากจนอ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลมและช็อกได้

หมายเหตุ ยาขับปัสสาวะทั้ง 2 ชนิดนี้จะขับเกลือโปตัสเซียม (Pltassium) ออกจากร่างกาย ทำให้อ่อนเพลีย ท้องอืด และเป็นตะคริวได้ จึงควรจะกินส้มและ/หรือกล้วย วันละ 5-6 ผลเพื่อทดแทนเกลือโปตัสเซียมที่ถูกขับออกไป

สำหรับคนที่ไม่มีอาการอะไรมาก การใช้ยาเพียง 2 ตัวนี้ คือยากล่อมประสาท (ไดอะซีแพม) และยาขับปัสสาวะ (ฮัยโดรคลอโรไทอะไซด์) ก็มักจะเพียงพอสำหรับการคุมความดันเลือด ควรใช้ยาทั้ง 2 นี้ดูสัก 1-2 สัปดาห์ ถ้าความดันเลือดไม่ลดจึงจะเพิ่มยาอื่นที่เป็นยาลดความดันเลือดโดยตรงเช่น อาจจะเพิ่มยาในหัวข้อ 1 และ 2


3. ยารีเซอร์ปีน (Reserpine) ซึ่งจะไปช่วยลดความดัน ใช้กินครั้งละ ½-1 เม็ด (เม็ดละ 0.25 มิลลิกรัม) วันละ 1-4 ครั้ง หลังอาหาร และ/หรือก่อนนอน ในผู้ใหญ่ ไม่ควรใช้เม็ดละ 0.1 มิลลิกรัม เพราะเปลืองโดยใช่เหตุ ยานี้กินแล้วอาจทำให้ง่วง คัดจมูก อ้วน หรือปวดท้องเพราะกรดในกระเพาะออกมาก จึงไม่ควรใช้ในคนที่ชอบคัดจมูก คนอ้วน หรือคนที่เป็นแผลในกระเพาะลำไส้ ส่วนอาการง่วงและอาการคัดจมูกในคนทั่วไป มักจะหายได้เมื่อลดยาลง หรือ เมื่อใช้ยาไปสักพักหนึ่งเนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ง่วงอยู่บ้าง การใช้ยานี้ก่อนนอนจึงช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
ยานี้ขององค์การเภสัชกรรมขนาดเม็ดละ 0.25 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละประมาณ 10 สตางค์ ของบริษัทยาเอกชน เช่นในชื่อการค้าว่าเซอร์พาซิล (Serpasil) ราคาเม็ดละประมาณ 45 สตางค์

 

4. ยาฮัยดราลาซีน (Hydralazine) ใช้กินครั้งละ 1 เม็ด (เม็ดละ 50 มิลลิกรัม) วันละ 1-4 ครั้ง หลังอาหารและ/หรือก่อนนอน ในผู้ใหญ่ไม่ควรใช้เม็ดละ 10 มิลลิกรัม เพราะเปลืองโดยใช่เหตุ
โดยทั่วไปแล้วความดันเลือดสูงระหว่าง 160/100 ถึง 200/140 ส่วนใหญ่จะควบคุมได้ด้วย ยา 4 ตัว ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อ 1 ถึง 4 อาจจะใช้เพียง 2 และ 3หรือ 2 และ 4 หรืออาจจะใช้ทั้ง 4 ตัว พร้อมกันก็ได้ ถ้าคนไข้มีอาการมากและไม่มีข้อห้ามใช้สำหรับยาตัวหนึ่งตัวใดในคนไข้คนนั้น
การใช้ยาทั้ง 4 ตัว หรือใช้ในหัวข้อ 1 ถึง 4 อย่างน้อย 3 ตัวแล้วไม่ได้ผล หรือไม่สามารถใช้ยาในหัวข้อ 3 และ 4 ได้ หรือคนไข้มีความดันเลือดสูงระหว่าง 180/130 ถึง 210/150 ก็อาจจะใช้ยาลดความดันเลือดที่มีฤทธิ์รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น

 

5. เมธีลโดปา (Methyldopa) ซึ่งจะไปช่วยลดความดันเลือดลงให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด (เม็ดขนาด 250 มิลลิกรัม) วันละ 1-4 ครั้ง หลังอาหาร และ/หรือก่อนนอน ในผู้ใหญ่ ไม่ควรใช้เม็ดละ 125 มิลลิกรัม เพราะเปลืองโดยใช่เหตุ
คนไข้โรคความดันเลือดสูงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80-90) จะสามารถควบคุมความดันเลือดได้ด้วยยาในหัวข้อ 1 ถึง 5 เพียง 2-4 ตัวร่วมกัน ถ้ายังควบคุมไม่ได้ควรไปหาหมอ

 

สรุป
ภาวะความดันเลือดสูงเกือบทั้งหมดเป็นภาวะเรื้อรัง นอกจากภาวะความดันเลือดสูงที่รู้สาเหตุบางชนิด และบางกรณีที่เมื่อกำจัดสาเหตุแล้ว ความดันเลือดสูงจะหายไป ดังนั้นคนที่เป็นความดันเลือดสูงส่วนใหญ่จึงต้องปฏิบัติรักษาตนไปตลอดชีวิต ส่วนเรื่องการใช้ยานั้น ควรจะใช้ต่อเมื่อการปฏิบัติรักษาตนเป็นอย่างดีแล้ว ไม่สามารถจะควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพราะยาแต่ละตัวก็มีพิษอยู่มากบ้างน้อยบ้างต่าง ๆ กันไป จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของตน รวมทั้งสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

69-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 69
มกราคม 2528
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์