• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระบวนการย่อยอาหาร

              

                  
 

เชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับร่างกายของเราอย่างหนึ่งก็คืออาหาร ร่างกายของเราต้องการอาหารเพื่อเป็นพลังงานในการทำงานของร่างกาย อาหารเช้าก็เพื่อกิจวัตรในยามเช้า อาหารเที่ยงก็ใช้เป็นพลังงานในยามบ่ายเป็นต้น อาหารที่เรากินเข้าไปไม่ว่าจะเป็นข้าวเป็นก๋วยเตี๋ยวหรือเนื้อสัตว์ ผัก หรือขนมก็ดี ก่อนที่ร่างกายจะเอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการย่อยเสียก่อน เพื่อให้อาหารมีชิ้นเล็กมาก ๆ จนกระทั่งถูกดูดซึมเอาไปใช้กับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

อาหารเข้าสู่ร่างกายทางปากใคร ๆ ก็รู้ จากนั้นเราก็เคี้ยวบดอาหารให้ละเอียดก่อนที่จะกลืนอาหารลงคอไปในขณะที่อาหารอยู่ในปาก การย่อยอาหารก็เกิดขึ้นแล้ว ในปากมีต่อมน้ำลาย ปล่อยน้ำลายออกมาคลุกเคล้าปนกับอาหารที่กำลังถูกเคี้ยว เพื่อให้อาหารนิ่ม เมื่อฟันบดอาหารละเอียดดีแล้ว ลิ้นก็จะทำหน้าที่เกลี่ยอาหารเข้ามารวมกันเป็นก้อน แล้วลิ้นจึงผลักอาหารก้อนนี้ลงสู่คอหอย ซึ่งเป็นส่วนต่อของช่องปากกับหลอดอาหาร น้ำลายมีน้ำย่อยเรียกว่า ไทยาลิน ทำหน้าที่ย่อยแป้งให้โมเลกุลเล็กลงเป็นน้ำตาล เมื่อเราอมข้าวไว้ในปากนาน ๆ จะรู้สึกถึงรสหวาน แต่ถ้าอมเนื้อไก่แทนที่จะหวานกับได้รสจืดชืด
 

ดังนั้นจากกระบวนการย่อยอาหารในปาก เราจะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นที่อาหารแต่ละคำที่จะถูกป้อนเข้าไปในปากจะต้องเป็นจำนวนพอดี ไม่มากเกินไป ถ้าอาหารคำใหญ่เกินไปการเคี้ยวก็จะไม่ละเอียด และการกลืนก็ลำบากเนื่องจากก้อนอาหารนั้นใหญ่เกินกว่าช่องของหลอดอาหาร ทำให้สำลักและอาหารติดคอ อีกประการหนึ่งการเคี้ยวต้องให้นานพอ เพื่อที่น้ำลายจะทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ ก่อนที่อาหารจะผ่านไป นั่นคืออาหารจะต้องนิ่มพอเหมาะและถูกย่อยไปชั้นหนึ่งก่อน การรีบเคี้ยวแล้วกลืนก่อนที่อาหารจะนิ่มอาจจะทำให้เรากลืนไม่ลง เพราะก้อนอาหารนั้นฝืดเกินไปซึ่งอาจจะต้องดื่มน้ำตามเพื่อหล่อลื่นอาหาร
 

ถัดจากช่องปาก อาหารก็จะไหลลื่นลงไปตามหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหาร หลอดอาหารเป็นท่อกลวง ผนังของท่อเป็นกล้ามเนื้อ ด้านบนของหลอดอาหารต่อกับคอหอย ซึ่งเป็นที่รวมของทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร เหนือหลอดคอที่อยู่ด้านหน้าของหลอดอาหารมีแผ่น
กระดูกอ่อนปิดไว้ ในขณะที่เรากลืนอาหารแผ่นกระดูกอ่อนนี้จะหน้าที่ปิดหลอดคอเอาไว้ เพื่อก้อนอาหารที่เรากลืนเข้าไปจะได้ไหลลื่นเข้าหลอดอาหารไม่หลงตกเข้าไปในทางเดินหายใจ ถ้าเราพูดในขณะที่กำลังกลืน แผ่นกระดูกอ่อนจะเปิดเพื่อให้ลมออกมาเป็นเสียง อาหารที่กำลังตกลงไปอาจจะหล่นลงไปในหลอดคอ และทำให้เกิดการสำลักหรือไอได้
หลอดอาหารมีกล้ามเนื้อทำหน้าที่บีบตัวส่งผ่านอาหารลงไปสู่กระเพาะอาหาร อาหารใช้เวลาเดินทางจากปากสู่กระเพาะอาหารเพียง 2-3 วินาที เท่านั้น


กระเพาะอาหารเป็นถุงกลวงรูปร่างเหมือนเป็ด ทำหน้าที่บรรจุอาหารที่เรากินเข้าไปทั้งหมด เมื่ออาหารตกถึงกระเพาะ ถุงนี้จะขยายตัวออก บรรจุอาหารได้เต็มที่ถึง 1.5 ลิตร ผนังของกระเพาะอาหารเป็นกล้ามเนื้อหนาที่สานซ้อนกันอยู่ถึงสามชั้น ผนังนี้จึงแข็งแรงมาก กระเพาะจะไม่มีวันแตกออกเพราะอาหารที่เข้าไปมากเกินไป ยกเว้นในรายเด็กแรกเกิดที่ผนังกระเพาะอาหารยังบาง เมื่อแม่ป้อนกล้วยเข้าไปจึงมีรายงานว่ากระเพาะอาหารเด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 เดือนแรกแตกบ่อย ๆกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานของมันเองโดยอัตโนมัติ เพื่อบีบตัวคลุกอาหารไปมาระหว่างที่การย่อยเกิดขึ้น

ผนังด้านในของกระเพาะอาหารมีต่อมเล็ก ๆ หลายล้านต่อม มีหน้าที่ปล่อยน้ำย่อยที่เรียกว่า “น้ำย่อยของกระเพาะอาหาร” น้ำย่อยเป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กลง อาหารที่ถูกย่อยที่กระเพาะอาหารก็คืออาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล กระเพาะอาหารเป็นที่เก็บอาหารมากกว่า การย่อยอาหารที่เกิดขึ้นที่กระเพาะอาหารมีน้อย ส่วนใหญ่อาหารจะถูกย่อยที่ระดับของลำไส้เล็ก
 
อาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารประมาณ
2-6 ชั่วโมง อาหารที่จะผ่านไปสู่ลำไส้เล็กก่อน ก็คืออาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เช่นข้าว บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว มัน และข้าวโพดเป็นต้น ส่วนอาหารที่อยู่ในกระเพาะนานที่สุดได้แก่จำพวกไขมัน หรือน้ำมันสัตว์ต่างๆ เมื่ออาหารที่เรากินเข้าไปมื้อแรกผ่านกระเพาะอาหารไปหมดแล้ว ก็พอดีถึงเวลาที่เราจะต้องกินอาหารอีกมื้อหนึ่ง ถ้าถึงเวลาแล้วไม่กิน กระเพาะอาหารก็จะทำงานของมันไปตามปกติ เมื่อหิวเราจึงรู้สึกว่าท้องร้องจ๊อกๆ เนื่องจากกระเพาะอาหาร
เริ่มบีบตัว บางครั้งน้ำย่อยในกระเพาะอาจจะทำงานของมันในขณะที่อาหารไม่อยู่ในกระเพาะได้ เช่นเมื่อคุณเห็นอาหารที่น่ากินหรือได้กลิ่นอาหารลอยมาหรือแม้แต่เพียงการคิดถึงอาหารที่คุณชอบ กระเพาะอาหารที่จะถูกกระตุ้นให้หลั่งน้ำย่อยออกมา แล้วคุณก็อาจจะได้ยินเสียงท้องร้องอีกเช่นเดียวกัน

เมื่ออาหารถูกกระเพาะอาหารย่อยแล้ว ก็จะผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็กที่เป็นท่ออยู่ต่อจากปลายข้างหนึ่งของ
กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กขดไปขดมาในช่องท้อง ลำไส้เล็กเป็นส่วนของลำไส้ที่ยาวที่สุด ถ้าเราเอาลำไส้เล็กออกมายืดจะแลดูคล้ายกับสายยางรดน้ำในสวน อาหารส่วนใหญ่จะถูกย่อยที่ลำไส้เล็ก โดยได้รับน้ำย่อยหลายชนิดจากตับอ่อน และน้ำดีจากตับ อาหารไม่ว่าจะเป็นประเภทโปรตีน แป้งหรือน้ำตาล หรือไขมัน จะถูกทำให้มีโมเลกุลเล็กลง ทำให้ดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่เส้นเลือดฝอยไปเลี้ยงร่างกาย

ผนังของลำไส้เล็กมีส่วนยื่นเข้ามาคล้ายนิ้วมือ เรียกว่า วิลไล แต่ละวิลไลจะมีเส้นเลือดฝอยและท่อน้ำเหลืองอยู่ภายใน เมื่ออาหารซึมผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าไป ก็ได้อาศัยเส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองนี้เองที่พาอาหารเข้าสู่ระบบการไหลเวียนโลหิต เพื่อนำไปเลี้ยงร่างกายต่อไป ดังนั้นลำไส้เล็กจึงมีความยาวที่ยาวมาก เพื่อจะได้เอื้อให้การย่อยและการดูดซึมอาหารเป็นไปอย่างเต็มที่และสมบูรณ์

 


เมื่ออาหารผ่านลำไส้เล็กแล้ว สิ่งที่มีประโยชน์มีคุณค่าในอาหารก็ถูกร่างกายซับเอาไปใช้หมดแล้ว กากอาหารที่เหลือจะผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าลำไส้เล็กกว่า 2 เท่า มีหน้าที่ดูดเอาน้ำในอาหารไว้ใช้ เมื่อกากอาหารไม่มีน้ำเหลือก็จะกลายเป็นก้อนแข็ง ถูกดันไปจนสุดทางลำไส้ใหญ่ ทำให้เรารู้สึกปวดอุจจาระ แล้วก็ถ่ายเอากากที่ไร้ประโยชน์เหล่านี้ทิ้งออกนอกร่างกายไป

ส่วนต่อระหว่างลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่มีไส้เล็ก ๆ ปลายตันติดอยู่เรียกว่า ไส้ติ่ง ไส้ติ่งที่ยาวที่สุดอาจจะยาวประมาณ 6-7 ซม. เท่านั้น ไส้ติ่งของคนเราไม่ได้ทำหน้าที่อะไร ส่วนไส้ติ่งของสัตว์ประเภทกินหญ้าเป็นอาหาร เช่นกระต่ายเป็นต้น มีไส้ติ่งที่ยาวและใหญ่ทำหน้าที่ย่อยอาหารด้วย ดังนั้นเราจึงเข้าใจว่าหน้าที่เดิมของไส้ติ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการย่อยอาหารประเภทผักและหญ้า

แต่เนื่องจากคนเรามีวิวัฒนาการกินเนื้อสัตว์ด้วย ประกอบกับการกินอาหารประเภทผักลดลง ไส้ติ่งจึงเป็นส่วนเกินที่ไร้ประโยชน์ มีไว้เพื่อการอักเสบและรอการผ่าตัดออก
 

 
 

 

 

ข้อมูลสื่อ

68-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 68
ธันวาคม 2527
พญ.ลลิตา ธีระศิริ