• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา (2)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

เมื่อมีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของสุขภาพ ดังได้กล่าวถึงในฉบับก่อนแล้ว เราก็จะเข้าใจถึง
สมุฏฐาน ของโรคที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งจะกล่าวถึงในฉบับนี้ และฉบับหน้า
 

ตัวอย่างที่ 1
หญิงไทยโสดอายุ 20 ปี เกิดอาการเหนื่อย แน่น หายใจไม่สะดวก รู้สึกหายใจไม่ค่อยเข้า หายใจไม่
เต็มปอด ต่อมามีอาการมือเท้าเย็น รู้สึกชาเหมือนเป็นเหน็บ ถ้าเป็นมาก ต่อมาแขนขาจะรู้สึกแข็งเกร็ง

นิ้วมือเท้าก็แข็งเกร็ง และจีบเข้าหากัน (ดูรูป) เกิดอาการปวดเมื่อยทั้งตัวถ้าเป็นมาก ๆ จะเกิดอาการกระตุก ซึ่งอาจจะรุนแรงจนกลายเป็นอาการชักได้ อาการเหล่านี้เคยเป็น ๆ หาย ๆ มาก่อน บางครั้งก็มีอาการเพียงแน่น เหนื่อย มือเท้าเย็น บางครั้งก็มีอาการมาก ถึงแขนขาเกร็ง แต่น้อยครั้งมากที่เป็นจนมีอาการชักกระตุก ครั้งนี้มีอาการมาประมาณ 2 ชั่วโมงเมื่อมีคนไข้เช่นนี้มาหาเรา เราจะเห็นว่าคนไข้มีอาการวิตกกังวล หรือกลัวอาการเหล่านี้มาก และมีความรู้สึกคล้ายกับว่าตนกำลังจะตาย แม้คนไข้จะมีอาการเหนื่อยหอบ แต่เมื่อฟังปอด จะได้ยินเสียงหายใจเป็นปกติ (ดูวิธีฟังปอด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 43)

คนไข้อาจจะบ่นใจเต้น ใจสั่น เมื่อตรวจชีพจร (ดูวิธีตรวจชีพร ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 16) อาจจะพบว่าชีพจรเต้นเร็ว แต่เมื่อตรวจหัวใจ (ดูวิธีตรวจหัวใจ ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 44,45,46 )จะไม่พบว่าหัวใจโต นอกจากนั้น ถ้ามีเวลาตรวจร่างกายส่วนอื่นๆ ก็จะพบว่า ร่างกายส่วนอื่นปกติ ไม่มีอาการบวมหน้า บวมเท้า หรือบวมในที่อื่นใด โดยสรุปแล้วก็คือ ตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ นอกจากเรื่องหายใจเร็ว หรือหายใจลึก จนอาจจะเหมือนอาการหอบเหนื่อย นั่นคือ อาการเหนื่อย แน่น รู้สึกหายใจไม่ค่อยเข้า หรือหายใจไม่เต็มปอด ทำให้คนไข้พยายามหายใจเร็วขึ้นและหรือลึกขึ้น ทำให้เกิดการหายใจมากเกินไป (Hyperventilation) เมื่อหายใจมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปกับลมหายใจมาก เมื่อเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นกรด ออกไปจากร่างกายมาก เลือดในร่างกายก็จะกลายเป็นด่าง(แทนที่จะเป็นกลาง) เมื่อเลือดในร่างกายเป็นด่าง ก็จะทำให้เกลือแร่บางอย่างเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่ ในที่นี้ที่สำคัญ คือแคลเซียมอิสระ (free calciumion) ในกระแสเลือด จะเคลื่อนออกจาก
กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการมือเท้าเย็นชา แขน
ขาเกร็ง มือจีบ ไปจนถึงอาการชักกระตุกคล้ายบาด
ทะยัก (tetany) ได้

 

 

วิธีรักษา
ถ้าเป็นมาก จนถึงขั้นชักกระตุก อาจต้องฉีดแคลเซี่ยม (แคลเซี่ยมกลูโคเนต 10% ประมาณ 5-10 ซี.ซี. หรือมิลลิกรัม) เข้าเส้น เพื่อให้อาการดีขึ้นโดยเร็ว แต่ถ้าไม่มียา หรือฉีดยาไม่เป็น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฉีด ให้ตรวจรักษาตามวิธีการข้างล่างต่อไป

วิธีตรวจรักษาโดยทั่วไป คือให้ปลอบคนไข้ เช่น บอกคนไข้ว่า ไม่เป็นอะไรมากหรอก ไม่ต้องตกใจไม่
ต้องกลัว อีกสักครู่จะดีขึ้นใช้ถุงกระดาษ หรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ถ้าได้ขนาดที่จะสวมศีรษะผู้ใหญ่ได้ก็ยิ่งดี เอาปากถุงครอบปากและจมูกของคนไข้แล้วใช้นิ้วกดปากถุงให้แนบติดกับหน้าและใต้คางของคนไข้ให้มากที่สุด (ดูรูป) ถ้าหาถุงไม่ได้ จะใช้กระดาษแผ่นโต ๆ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ม้วนเป็นรูปกรวยคลอบปากและจมูกของคนไข้แทนถุงก็ได้ (ดูรูป)

แล้วบอกให้คนไข้ทำสมาธิ โดยหายใจเข้าออกช้า ๆ เวลาหายใจเข้า ก็ให้รู้ว่ากำลังหายใจเข้า ตั้งแต่
เริ่มหายใจเข้า จนกระทั่งสุดของการหายใจเข้า เวลาหายใจออก ก็ให้รู้ตั้งแต่เริ่มหายใจออก จนกระทั่งสุดของการหายใจออก จะหายใจตื้นหรือลึกก็ได้ แต่คนไข้มักจะชอบหายใจลึก ๆมากกว่าหายใจตื้น ๆ เพราะทำให้รู้สึกว่าหายใจได้เต็มปอด แต่ควรจะให้คนไข้หายใจช้า ๆ เพื่อที่จะเพ่งจิตใจให้ติดตามการหายใจในแต่ละครั้งได้ตลอด

เมื่อคนไข้หายใจในถุงสักพัก อาการชักกระตุก แขนขาเกร็ง มือจีบ มือเท้าเย็นชา จะค่อย ๆ ลดลง
และในที่สุดจะหายไป และคนไข้รู้สึกว่าได้กลับเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะ

1.การหายใจในถุง ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออก ถูกเก็บไว้ในถุง ไม่กระจัดกระจายไปในอากาศ (ซึ่งมีก๊าซนี้อยู่น้อยมาก) เมื่อก๊าซนี้ถูกเก็บไว้ในถุง เวลาที่หายใจเข้า ก๊าซนี้ก็จะถูกหายใจเข้าไปอีก ทำให้ร่างกายไม่เสียก๊าซคาร์บอนไดออไซด์ไป และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะร่างกายสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ตลอดเวลา ในที่สุดภาวะการขาดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายก็จะหาย อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงหายไปด้วย


2.การทำสมาธิโดยการติดตามลมหายใจเข้าและออก ทำให้จิตใจไปเพ่งติดอยู่กับการหายใจ ไม่วุ่นวาย ฟุ้งซ่านไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ เช่น คิดถึงเรื่องความตาย กลัวว่าจะตายหรือคิดถึงเรื่องร้ายๆ หรือเรื่องที่ทำให้เครียด ให้กังวล จนเกิดอาการแน่น เหนื่อยหายใจไม่สะดวก ซึ่งทำให้เกิดการหายใจมากเกินไป จนเกิดอาการอื่น ๆ ตามมา

นั่นคือ สาเหตุดั้งเดิมที่ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ นี้ ก็คือ ความเครียด ความกังวล ความกลัว ความตื่นเต้น หรืออารมณ์รุนแรงอื่นๆ ทำให้เกิดอาการแน่น หายใจไม่สะดวก ทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้น ลึกขึ้นจนเกิดการหายใจมากเกินไป ทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา
ดังนั้น เมื่อปลอบใจ และให้คนไข้หายใจในถุงจนคนไข้หายจากอาการดังกล่าวแล้วต้องอธิบายให้
คนไข้เข้าใจว่า ทำไมจึงเกิดอาการเช่นนั้น และถ้าคนไข้ยังกลัว ยังโกรธ หรือยังเครียดกังวล ซึ่งมักจะ
เป็นเช่นนั้น ก็ควรให้ ยาไดอะซีแพม (เม็ดละ 5 มิลลิกรัม) ไปกินครั้งละครึ่ง- 2 เม็ด หลังอาหารเช้า
และเย็น และ 1-2 เม็ดก่อนนอน จนคนไข้หายกลัว หายโกรธ หรือหายเครียดกังวลแล้ว ก็หยุดยาได้


วิธีป้องกัน
1.ให้ผ่อนคลายความเครียดกังวล และอารมณ์รุนแรง โดยการสวดมนต์ภาวนาหรือนับหนึ่งถึงหมื่น
และออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ๆ

2.กินยาไดอะซีแพม ถ้ายังเครียดกังวลมาก

3.รีบหายใจในถุง เมื่อเริ่มมีอาการแน่น และรู้สึกหายใจไม่สะดวกจนต้องหายใจลึก หรือเร็ว ๆ เพราะฉะนั้น ควรจะพกถุงพลาสติกติดตัว (ถุงพลาสติกพบติดตัวได้สะดวก เพราะบางและไม่ฉีกขาดง่าย)

 

 

ตัวอย่างที่ 2
ชายไทยหม้าย อายุ 64 ปี มีอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะมา 4-5 วัน บางครั้งเวลาลุกขึ้นยืน จะหน้ามือ
บางครั้งตื่นขึ้นตอนเช้า จะมีอาการอ่อนระโหย ลุกไม่ขึ้น รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ทำให้เดินไม่ค่อยไหว เบื่ออาหาร ได้กลิ่นอาหารแล้วคลื่นไส้ ท้องผูก แต่ยังถ่ายได้ อุจจาระน้อยและแข็ง ปัสสาวะปกติ ผอมลง เพราะกินอาหารไม่ได้ นอนไม่ค่อยหลับ หลับไป 1-2 ชั่วโมงก็ตื่น ตื่นแล้วก็หลับยาก
 

  

 ตรวจร่างกาย ดูชีพจร การหายใจ และความดันเลือด ปรากฏว่าปกติ (ดูวิธีตรวจชีพจร การหายใจ และความดันเลือดในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 16,17,18,19,20 ) ตรวจร่างกายส่วนอื่น ๆ อย่างคร่าว ๆ ก็
ปรากฏว่า ปกติ นอกจากสีหน้าและลักษณะอาการทั่วไป ที่แสดงความกังวลและเครียด

เมื่อซักประวัติเพิ่มเติม
หมอ    :  น้าเคยเป็นอย่างนี้มาก่อนไหม

คนไข้   :  ไม่เคย

หมอ  :   อะไรทำให้น้าเกิดอาการอย่างนี้ขึ้น มีอะไรเกิดขึ้นใน 2-3 อาทิตย์ (สัปดาห์)นี้ ที่ทำให้น้าไม่สบายใจ จนกระทั่งกินไม่ได้ นอนไม่หลับ

คนไข้  :  ตาแดง ๆ แต่ไม่ยอมตอบ

หมอ   :  ถ้าน้าไม่อยากเล่าให้หมอฟังก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าน้าเล่าให้หมอฟังได้ อย่างน้อยน้าก็จะได้ระบายความอึดอัดออกบ้าง ไม่ต้องกลัดกลุ้ม และเก็บอัดไว้ข้างในมากนัก และถ้าหมอพอจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ จะได้ช่วยกันทำให้น้าสบายขึ้น

คนไข้  :  ซับน้ำตา แต่ยังไม่ยอมพูด

หมอ   :  หมอขอโทษน้านะ ที่ทำให้น้าร้องไห้ ที่จริงหมอไม่ต้องการและไม่ตั้งใจที่จะทำให้น้าร้องไห้หรอก หมอเพียงแต่คิดว่า ถ้ามีอะไรที่ทำให้น้าไม่สบาย หมอจะได้ช่วยแก้ไขให้ญาติคนไข้ หมอ น้าแกเพิ่งจะเสียลูกชายคนสุดท้องไป เพราะรถชนกันเมื่อ 2 อาทิตย์ ก่อน

คนไข้   ร้องไห้มากขึ้น

หมอ   :  หมอเสียใจด้วยนะน้า แต่น้าลองคิดดูอีกทีซิ ลองคิดว่าระหว่างน้ากับลูกที่จากไปแล้วใครมีความสุขกว่ากัน หมอคิดว่า ลูกที่เขาจากไปแล้ว เขาไปมีความสุขแล้ว มีความสงบแล้ว แต่น้าและหมอที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ต่างหากที่ยังต้องทรมานชดใช้กรรมต่อไป จริงไหมน้า

คนไข้   :  ขอบใจหมอ ผมก็พยายามคิดอย่างหมอว่า แต่ก็ยังอดคิดถึงลูกไม่ได้ มันไม่น่าจะต้องมาตายตั้งแต่อายุเท่านี้เลย รู้อย่างนี้ไม่ซื้อรถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซด์) ให้มันขี่ก็จะดีหรอก (คนไข้ตอบสะอึกสะอื้น)

หมอ  :  มันคงเป็นเพราะโชคชะตานะน้า คงไม่เกี่ยวกับที่น้าซื้อรถเครื่องให้เขาขี่หรอก ถึงน้าไม่ซื้อรถให้เขา ถ้าชะตาชีวิตของเขาหมดเวรหมดกรรมเพียงนี้ มันก็จะต้องมีเหตุผลอื่น ๆ มา เอาเขาไปจนได้ จริงไหมน้า

คนไข้  : มันก็อาจจะจริงอย่างหมอว่า แต่ผมก็ยังตัดใจไม่ได้ เพราะมันเป็นลูกคนสุดท้อง ทำให้คิดถึงมันมากไปหน่อย คุณหมอช่วยให้ยาผมนอนหลับและกินได้สักพัก ผมคงจะดีขึ้น

ถูกแล้ว คนไข้ที่เกิดความเครียดความกังวล ความห่วงใย ฯลฯ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ย่อมจะทำให้เกิดการอ่อนเพลีย มึนงง เวียนศีรษะ หน้ามืด และอาการอื่น ๆ อีกได้ เช่น ใจเต้น ใจสั่น ใจเบาหวิว หายใจไม่สะดวก หายใจไม่เต็มปอด เมื่อได้ยาไปคลายเครียดคลายกังวลแล้ว คนไข้ก็จะดีขึ้นและอาการทางกาย ที่เกิดจากความเครียดความกังวลก็จะหายไป

 

วิธีรักษา
ในกรณีที่คนไข้สูญเสียสิ่งที่รัก และคนไข้ต้องการยาเพื่อช่วยให้สบายขึ้น ควรใช้

1.ยาไดอะซีแพม (เม็ดละ 5 มิลลิกรัม ) ให้กินครั้งละ ครึ่ง-1 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น และ 1-2 เม็ด
ก่อนนอน ถ้ากินยานี้แล้วยังไม่หายโศกเศร้า ก็ควรเพิ่มยา

2.ยาอะมีทริบตีลีน (Amitryptyline เม็ดละ 10 มิลลิกรัม) ให้กิน 1 เม็ดหลังอาหารเย็น ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจเพิ่มเป็น 1 เม็ดหลังอาหารเย็นและก่อนนอน แต่ถ้ากินแล้ววันรุ่งขึ้น ง่วงหรือมึนศีรษะมาก ให้ลดขนาดยาลง เช่น ให้กินเหลือ ½ เม็ด หลังอาหาร

 

วิธีป้องกัน
การป้องกันการสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก อาจจะกระทำได้หลาย ๆ ประการ ในกรณีนี้ การไม่ซื้อรถเครื่อง หรือสิ่งที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุง่ายแก่เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ยังคะนองอยู่ อาจจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุ ดังที่คนไข้รายนี้ได้เอ่ยถึง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้เศร้า และโกรธตนเอง เพราะคิดว่าตนเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกตาย

อย่างไรก็ตาม ถ้าได้พยายามป้องกันแล้ว และยังเกิดการสูญเสียขึ้น ก็จะต้องนึกถึงความเป็นจริงตาม
ธรรมชาติ หรือสัจธรรมอยู่เสมอว่า :-
สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไป (อนิจตา) วันนี้เขาหรือสิ่งนั้นอาจจะยังอยู่ แต่พรุ่งนี้เขาหรือสิ่งนั้นอาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้ แต่พรุ่งนี้เขาหรือสิ่งนั้นอาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้ เพราะแม้แต่ตัวเราเองก็เช่นกัน วันนี้เราอาจจะยังอยู่ แต่พรุ่งนี้เราอาจจะเจ็บป่วย หรือตายไปแล้วก็ได้”

อันที่จริงความตายก็ไม่ใช่ของเลว เพราะถ้าคิดให้ดีแล้ว ความตายอาจจะทำให้เกิดความสุข ความสงบมากกว่าการมีชีวิตอยู่การพยายามทำความเข้าใจในเรื่องของความตาย และความไม่เที่ยงของสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งของชีวิตเราเอง จะช่วยป้องกันอาการโศกเศร้า เสียใจเกินควร และจะช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วย อันเกิดจากความเครียด ความกังวล อันสืบเนื่องมาจากความอยาก (อยากให้สิ่งอันเป็นที่รักยังอยู่ หรือยังเป็นของเรา ฯลฯ) ความโกรธ ความเกลียด ความหลง หรืออื่นๆ ได้

 

หมายเหตุ
อาการหายใจมาก หายใจเร็วและลึก หรือหอบเหนื่อยจะพบในโรคอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ปอดบวม หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ภาวะหัวใจล้ม (หัวใจวาย) เลือดออกในสมอง ไตล้ม (ไตวาย) เบาหวานเป็นพิษ หรืออื่น ๆ แต่อาการหายใจมากในกรณีเหล่านี้ส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) จะไม่ทำให้เกิดอาการมือเท้าเย็น ชา แขนขาแข็ง เกร็งและมือจีบ เพราะการหายใจมากในกรณีเหล่านี้ ไม่ทำให้เกิดภาวะด่างในร่างกายหรือไม่ทำให้เลือดเป็นด่างเพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ จากการหายใจมากได้ นอกจากนั้นเมื่อตรวจร่างกาย ก็จะพบสิ่งผิดปกติที่เกิดจากปอดบวม หอบหืด หรืออื่น ๆ ซึ่งจะกล่าวถึงในเรื่องของการตรวจรักษาปัญหาเรื่อง “หอบเหนื่อย” ในอนาคต 

 

ข้อมูลสื่อ

62-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 62
มิถุนายน 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์