• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอน 2 เคมีที่มีผลต่อชีวิตเพศ


ปราชญ์นิรนามกล่าวไว้ว่า ความรักทำให้โลก (เบี้ยว ๆ บูด ๆ ลูกนี้) หมุนไปได้ ความใคร่ทำให้การหมุนนี้มีพลัง”
ในตอนที่แล้ว เราได้พูดกันถึงเรื่องการวิ่งว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตเพศอย่างไร หลักฐานที่มีอยู่แสดงว่าการวิ่งในขนาดที่พอเหมาะทำให้ชีวิตเพศดีขึ้นหรือใครที่ยังข้องใจลองฟังเรื่องจริงที่ไม่อิงนิยายนี้ดู

เรื่องนี้เล่าโดย นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม จิตแพทย์นักวิ่งชื่อดัง คุณหมอไปวิ่งที่ราชกรีฑาสโมสรพบผู้อาวุโสคนหนึ่งเล่นกอล์ฟเป็นประจำ

วันหนึ่งท่านลงมาวิ่ง คุณหมอจึงถามว่า “คุณลุงวันนี้ไม่เล่นกอล์ฟหรือครับ?”

คุณลุงเหลียวซ้ายแลขวาแล้วเรียกคุณหมอเข้าไปกระซิบบอกว่า
“นกเขามันไม่ค่อยขันลุงจึงลงมาวิ่งสักหน่อย”

คุณลุงวิ่งอยู่ได้ราวเดือนหนึ่งก็กลับไปเล่นกอล์ฟอย่างเดิม

คุณหมออดแปลกใจไม่ได้ ถามอีกที “คุณลุงวันนี้ไม่วิ่งหรือครับ ?”
นักกอล์ฟอาวุโสกระซิบตอบ “ไม่หรอกหมอ นกเขามันขันแล้ว”

คุณหมออุดมศิลป์สรุปว่า “การวิ่งทำให้ชีวิตเพศดีขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณ”
วันนี้เราลองมาดูกันว่าทำไมการวิ่งจึงทำให้เกิดผลเช่นนั้นได้ ผู้เขียนพยายามจะไม่ใช้ศัพท์แสงทางแพทย์ที่ยาก ๆ นอกจากจำเป็นจริง ๆ เพราะต้องเจาะลึกลงไปสักหน่อย สำหรับผู้อ่านที่ไม่ต้องการรายละเอียดให้รกสมองอาจเปิดผ่านไปได้เลย สำหรับผู้อ่านที่สนใจในข้อพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ นี่คือบทความสำหรับท่าน

⇒เทสโตสเตอโรน ฮอร์โมนเพศชาย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า “อะไรคือตัวกระตุ้นสมรรถนะทางเพศ”
เมื่อเข้าวัยรุ่นหนุ่มสาวร่างกายจะเริ่มสร้างฮอร์โมนเพศออกมาในผู้ชายจะมีฮอร์โมนที่เรียกว่าเทสโตสเตอโรน (TESTOSTERONE) เป็นฮอร์โมนประจำเพศชาย

ในผู้หญิงก็จะมีเอสโตรเจน (ESTROGEN) เป็นฮอร์โมนประจำเพศหญิง แต่ก็มีการสร้างเทสโตสเตโรนออกมาด้วยแม้จะเป็นจำนวนน้อยกว่าผู้ชายก็ตาม

หน้าที่ของเทสโตเตอโรน นอกจากจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของผู้ชายแล้วยังมีผลกระตุ้นความรู้สึกทางเพศด้วย

ความแปลกของธรรมชาติคือ เทสโตสเตอโรนจะทำหน้าที่นี้ทั้งในชายและหญิง (แทนที่จะเป็นว่าผู้หญิงถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเพศหญิงก็กลับเป็นฮอร์โมนเพศชาย)

 

พบปริมาณเทสโตสเตอโรนสูงกว่าในนักวิ่ง

ที่ผู้ทำการศึกษาในสัตว์ทดลอง คีธ เฮย์ นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การแพทย์ไวท์ เมมอเรี่ยล ในนครลอส
แองเจลีส แยกหนูตัวผู้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้วิ่งบนลูกล้อเฉลี่ยวันละกว่า 5,000 รอบ อีกกลุ่มขังกรงไว้เฉยๆ เพื่อการเปรียบเทียบ
เขาพบว่าในกลุ่มที่ให้วิ่งมีขนาดของลูกอัณฑะใหญ่กว่ากลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลัง 30 เปอร์เซนต์ เขาอธิบายว่า “การที่หนูได้วิ่งมีผลทำให้มีการหลั่งของฮอร์โมนเพศออกมามากขึ้น”  การทดลองในสัตว์ไม่จำเป็นว่าจะนำมาอธิบายหรือใช้กับคนได้เสมอไป

อย่างไรก็ดี มีหลักฐานที่ส่อแสดงว่า การวิ่ง (และการออกกำลังกายแบบแอโรบิคอื่นๆ เช่นว่ายน้ำ ถีบจักรยาน) ทำให้มีการหลั่งของฮอร์โมนเพศชายมากขึ้น เช่นการทดลองของนายแพทย์ เอิร์ล ดับบลิว.เฟอร์กูซั่น แห่งโรงเรียนแพทย์ทหารในรัฐแมรี่แลนด์ เขาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มนักวิ่งกัลกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลัง โดยการวัดดูปริมาณมาใช้ออกซิเจนสูงสุด (VO2 MAX) (ซึ่งช่วยบอกความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายในการออกกำลังติดต่อกันนาน ๆ ) ปริมาณเทสโตสเตอโรน และจำนวนเชื้อในน้ำอสุจิ (SPERM) เขาพบว่า นักวิ่งมีปริมาณเทสโตเตอโรนสูงกว่าพวกที่ไม่ได้ออกกำลัง (ดูตาราง) นอกจากนี้นักวิ่งยังมีจำนวนเชื้ออสุจิสูงกว่าด้วย แต่อย่างหลังนี้ไม่มีความสำคัญทางสถิติ

 


⇒ ความสำคัญของเทสโตลเตอโรน

แม้ผลการศึกษาจะออกมาแน่ชัดว่า ในกลุ่มนักวิ่งมีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลัง การแปลผลการทดสอบนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราเหตุว่าการมีเทสโตสเตอโรนในระดับสูงมีผลอย่างไรต่อคนเรา เป็นเรื่องที่ยังไม่กระจ่างชัด

มีการศึกษาบางอันรายงานว่าผู้ชายทีมีฮอร์โมนเพศชายสูงมีบุคลิกภาพเป็นผู้นำ และค่อนข้างก้าวร้าว (คำว่าก้าวร้าวในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เกกมะเหรกเกเร แต่เป็นแบบว่าไม่ยอมใครง่ายๆ) สำหรับทางด้านเพศนั้นมีผู้มีฮอร์โมนเพศชายสูงไม่จำเป็นว่าจะมีความแข็งขันมากตามไปด้วย

เรื่องที่การแพทย์รู้แน่ชัดกลับเป็นในภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายต่ำกว่าปกติ จะทำให้คน ๆ นั้นเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ และในภาวะเช่นนี้การให้ฮอร์โมนเสริมจะช่วยให้สมรรถภาพกลับคืนมาได้

 

⇒บทบาทของเทศโตสเตอโรนในผู้หญิง
ดังที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า ในเพศหญิงฮอร์โมนที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศโดยตรงกลับเป็นฮอร์โมนเพศชายฮอร์โมนเพศหญิงไม่ได้มีบทบาทในทางนี้สักเท่าไร

ในปี พ.ศ. 2503 นายแพทย์แอส.อี.แวกเซนเบอร์ก และผู้ร่วมรายงานการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางเพศทของผู้หญิงภายหลังการตัดต่อมหมวกไต (ซึ่งเป็นที่สร้างฮอร์โมนเพศชายในผู้หญิง) ออกเพื่อรักษาโรคบางชนิด เขาพบว่าในหญิงพวกนี้หลังการผ่าตัดจะมีความต้องการทางเพศลดลง ในขณะที่หญิงที่ถูกตัดเอารังไข่ (ซึ่งเป็นที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง) ออกกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกทางเพศ นอกจากนี้หมอที่ให้ยาเทสโตสเตอโรนเพื่อรักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคเกี่ยวกับเต้านม พบว่าคนไข้มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น

การทดลองที่ทำโดยนายแพทย์คาร์นีย์และคณะพบว่า ในหญิงที่แต่งงานแล้ว และมีความเย็นชาทางเพศ การให้เทสโตสเตอโรนทำให้ความต้องการและกิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้นกว่าในกลุ่มที่ไม่ได้ให้
อย่างไรก็ดีเทสโตสเตอโรนไม่ได้ถูกใช้ในการรักษาโรคกามตายด้านในผู้หญิง เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไม่ใช่อยู่ที่ร่างกาย หรือการขาดฮอร์โมน แต่เป็นที่จิตใจ ดังนั้นการรักษาโดยการบำบัดทางจิตใจจึงให้ผลดีกว่า เพราถึงแม้เทสโตสเตอโรนจะไปกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แต่ไม่อาจทำให้โรคกามตายด้านดีขึ้นเสมอไป ในทางตรงกันข้ามมันอาจทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนตามมา

 

⇒ดีไม่ดี อยู่ที่การใช้
ถึงตอนนี้ผู้อ่านอาจมีความรู้สึกเช่นเดียวกับผู้เขียนคือชักงง ๆ แล้ว ไม่รู้ว่าเทสโตสเตอโรนนี่มันดีหรือไม่ดีอย่างไร ถ้าจะสรุปกันง่าย ๆ การที่ออกไปวิ่งแล้วมีฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น อาจให้ผลทั้งบวกและลบ
เทสโตสเตอโรนมีฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศทั้งในชายและหญิงนอกจากนี้มันยังเพิ่มความก้าวร้าวเอาเรื่องเอาราว อันเป็นนิสัยประจำเพศชายอีกด้วย

เมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว เทสโตสเตอโรนก็เหมือนไฟ ถ้าเอาไปใช้ให้ถูกวิธีก็ให้คุณมากหลาย แต่ถ้าเอาไปใช้ในทางที่ผิดก็ย่อมทำให้เกิดโทษมหันต์ได้ ฉันใดฉันนั้นอันความรู้สึกทางเพศก็ดี ความแข็งขัน ความดุดันก็ดี ไม่มีคุณหรือโทษอยู่ในตัวเอง หากขึ้นอยู่กับการนำมันไปใช้มากกว่า ว่าจะใช้ไปในทางใด

 

⇒ สารอื่น ๆที่มี่ผลทางเพศ
นอกจากเทสโตสเตอโรนแล้วยังมีสารอื่น ๆ ที่มีผลต่อเรื่องเพศ เช่น สารที่เรียกว่า เอ็นดอร์ฟิน
เอ็นดอร์ฟินส์มีฤทธิ์คล้ายสารจำพวกฝิ่นและมอร์ฟีน (ชื่อเอ็นดอร์ฟินส์ มาจากคำว่า เอ็นโด+มอร์ฟีนส์)
เอ็นดอร์ฟินส์จะหลั่งออกมามากในภาวะที่มีความกดดันต่อร่างกาย การศึกษา ในนักวิ่งหลังการแข่งมาราธอนพบว่า มีสารตัวนี้ในกระแสเลือดสูงกว่าปกติมาก

เอ็นดอร์ฟินส์ทำให้นักวิ่งไม่รู้สึกเจ็บปวด จิตใจสบาย บางครั้งถึงขั้นเคลิบเคลิ้ม และมีผลต่อความรู้สึกทางเพศด้วย

 

⇒การเมืองไม่ยุ่ง การมุ้งไม่เกี่ยว ขอวิ่งลูกเดียว
โดยสรุปการวิ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และสารเคมีหลายตัวในร่างกาย ในจำนวนนี้บาอย่างก็เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ แม้เราจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลอย่างไรต่อชีวิตเพศ

นักวิจัยหลายกลุ่มกำลังศึกษาหาความจริงให้ถ่องแท้ แต่สำหรับนักวิ่งทั้งหลายแล้ว ผลการศึกษาจะออกมาอย่างไรก็คงไม่สนใจนัก การวิ่งยังคงเป็นการออกกำลังที่เป็นความสนุก และมีผลดีต่อสุขภาพกายและใจอยู่เช่นเดิม
เรื่องนี้ยังไม่จบว่าย ๆ คราวหน้าจะพูดถึงเรื่อง “ทำไมนักวิ่งจึงคิดว่าตัวเองเป็นนักรักที่ดีด้วย”

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

66-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 66
ตุลาคม 2527
อื่น ๆ
นพ.กฤษฎา บานชื่น