• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผิวหนัง:เปลือกนอกของร่างกาย

 ชั้นนอกสุดของร่างกายเราเป็นเปลือกเรียบ คลุมอวัยวะภายในร่างกายทั้งหมดเอาไว้ เราเรียกอวัยวะนี้ว่าผิวหนัง ส่วนที่รวมเรียกว่าผิวหนังนั้นยังหมายถึงสิ่งที่งอกออกจากผิวหนังด้วยเช่น ผม เล็บ และขน ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ถือได้ว่าใหญ่ที่สุดในร่างกายของเรา ถ้าเอาผิวหนังทั้งตัวมาแผ่รวมกันเราจะได้ผิวหนังผืนใหญ่มากกว่า 20,000  ตารางเซนติเมตร หนักกว่าตับที่ถือกันว่าเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งเสียอีก

ในแต่ละตารางเซนติเมตรของผิวหนังประกอบด้วยต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ ปลายประสาทหลายร้อยอัน มีเส้นเลือดยาวหลายเซนติเมตร และมีเซลล์อยู่หลายพันเซลล์ ความหนาของผิวหนังมีตั้งแต่ 1/00 เซน
ติเมตรไปจนถึง ½ เซนติเมตรในบริเวณที่ใช้งานมาก ที่ส้นเท้าอาจจะหนากว่านั้นอีก
 

 

 

 

 

 

 

 

                              • ผิวหนังในแต่ละส่วนของร่างกายที่มีพื้นผิวที่ต่างกัน •
รูปที่ 1 :  รูปขยายของผิวหนังที่หลังมือ                           รูปที่ 2  : ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ  

 

ผิวหนังมีสองชั้นคือ หนังแท้ และหนังกำพร้า

หนังกำพร้า เป็นหนังชั้นนอกที่ลอกออกเวลาเราถูขี้ไคลตอนอาบน้ำ หรือส่วนที่ลอกออกเวลาตากแดดนาน ๆ ผิวหนังชั้นนี้เป็นชั้นนอกสุด ส่วนบนของชั้นเซลล์ผิวหนังจะค่อยๆ แบนราบลง เซลล์ชั้นนอกสุดที่ตายจะหลุดออกเกาะกันเป็นส่วนแข็ง รังแคก็เป็นเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วอย่างหนึ่ง การที่มีเซลล์งอกเข้ามาแทนที่อยู่เรื่อย ๆ ทำให้ผิวหนังดูดี และดูอ่อนวัย อยู่นับเป็นสิบ ๆปี และทำให้รอยขีดข่วน รอยแผลบนผิวหนังหายเร็ว

หนังแท้ เป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนังกำพร้า เป็นชั้นที่นำอาหารมาหล่อเลี้ยงหนังกำพร้า ในชั้นนี้มีเนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่น และแข็งแรงมาก ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนรูปร่างภายนอกให้รับกับท่าร่างกายของคนเราได้ เมื่อคนเราแก่ตัวลงความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อดังกล่าวเสียไป ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น


สีผิวของคนเราเกิดจากเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน เม็ดสีเมลานินมีสีน้ำตาลจนกระทั่งสีดำ อยู่ใต้ชั้นของหนังกำพร้า ถ้าคนผิวดำมากก็จะมีเม็ดสีนี้มากขึ้น ตอนแรกเกิด เม็ดสีนี้จะมีจำนวนน้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กนิโกรก็ตามเม็ดสีก็ยังมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนเม็ดสีที่เขามีเมื่อโตเต็มที่แล้ว เมื่อเราตากแดดเม็ดสีเมลานินใต้ผิวหนังถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนขึ้นทำให้ผิวหนังคล้ำลง นอกจากเมลานินจะมีผลทำให้คนเรามีสีผิวที่ต่างกันแล้ว จำนวนเส้นเลือดที่อยู่ในชั้นหนังแท้และลักษณะพื้นผิวของคนเราก็ยังมีผลต่อสีผิวด้วย เพราะแสงที่ตกลงพื้นผิวหนังที่ต่างกันย่อมสะท้อนกลับออกไปไม่เท่ากัน


หน้าที่ของผิวหนัง
ก็เป็นที่รู้กันว่าทำหน้าที่ปกป้องรักษาอวัยวะภายในของเรา แต่ที่เราอาจจะนึกไม่ถึงก็คือ ผิวหนังเป็นหนังที่ใช้กันน้ำได้จึงทำหน้าที่รักษาปริมาณน้ำในร่างกายของเราไม่ให้สูญเสียไป ผิวหนังยังเป็นส่วนที่ทึบแสง การไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าไปในผิวหนังง่ายๆ ทำหน้าที่ป้องกันแสงจัดจ้าที่จะทำลายเนื้อเยื่อภายในตัวเรา เม็ดสีเมลานินยังทำหน้าที่เป็นฉากกั้นแสงไว้ได้เป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถตากแดดได้นาน ๆ โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
 

 

 

 

 

 

 

 

 

                      • รูปิดของต่อมเหงื่อขยายหลายเท่าโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อีเล็กตรอน •
รูปที่ 1: รูเปิดของต่อมเหงื่อที่ปกติ                                 รูปที่ 2 : รูเปิดอุดตันจากโรคผิวหนังโซเรียซีส
 

นอกจากนี้ผิวหนังยังทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเรา การที่ผิวหนังแข็งแรงและยืด
หยุ่นได้ทำให้ป้องกันอันตรายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะทำให้ผิวหนังปริออก เป็นเหตุให้อวัยวะภายในเป็นอันตราย และเส้นเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนังยังสามารถส่งผ่านความร้อนภายในร่างกายให้ออกไปนอกร่างกาย โดยอาศัยผิวหนังเป็นตัวกระจายความร้อน นอกจากนี้ผิวหนังยังทำหน้าที่สัมผัสความรู้สึกต่าง ๆ อย่างเช่น ความร้อน หนาว เป็นต้น

ที่ผิวหนังมีรูเปิดของต่อมเหงื่อ ต่อมเหงื่อเป็นท่อขด มีรูเปิดออกที่หนังกำพร้า ทำหน้าที่สร้างเหงื่อเพื่อช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย ต่อมในผิวหนังที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือต่อมไขมัน ทำหน้าที่สร้างไขมันเพื่อหล่อลื่นผิวหนัง ทำให้ผิวหนังกันน้ำได้ ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าไม่มีต่อมไขมัน เมื่อเราแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ ฝ่ามือฝ่าเท้าจะเหี่ยวเห็นได้ชัด ทำให้เราเห็นความสำคัญของผิวหนังที่กันน้ำได้


เส้นผม เป็นผิวหนังที่ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำหน้าที่เป็นขนปกคลุมร่างกาย คนมีผมที่ยาวและดก และก็มีขนตลอดทั้งร่างเป็นเส้นบาง ๆ สั้น ๆ ยกเว้นบางแห่งเช่น ริมฝีปากหรือฝ่ามือ เป็นต้นที่ไม่มีขน
ขนของร่างกายหรือผมเกิดจากกลุ่มเซลล์พิเศษที่อยู่ในชั้นของหนังกำพร้า เซลล์เหล่านี้งอกยาวลงไปฝังในเนื้อหนังแท้ โคนที่ลึกที่สุดของเซลล์กลุ่มนี้จะทำหน้าที่สร้างรากขนหรือรากผม รากผมจะงอกเร็วมาก ดันให้ผมหรือขนงอกโผล่ออกไปนอกหนังกำพร้า รากผมทำหน้าที่ของมันอยู่ทุกวัน ทำให้ผมยาวออกเรื่อย ๆ

แล้วทำไมผมถึงมีสี และมีหลายสีตามชาติพันธุ์

ที่รากผมมีเม็ดสีเมลานินคอยป้อนเข้าไปกับเส้นผม เมื่อเราแก่ตัวลงแกนกลางของเส้นผมแทนที่จะมีเมลานินกลับกลายเป็นมีฟองอากาศเล็ก ๆ แทน จึงทำให้ผมคนแก่เปลี่ยนสีไปเป็นสีเทาหรือสีขาว
ผมของคนเรามีอายุเหมือนกัน ผมจะร่วงเมื่ออายุได้ 2-3 ปี หรือนานที่สุดก็ไม่เกิน 6 ปี ในวันหนึ่ง ๆผมของเราจะร่วงประมาณ 50-70 เส้น ถ้าผมร่วงวันละไม่ถึง 100 เส้นถือว่าเป็นปกติ แต่บางคนก็มีผมบางลงเป็นหย่อมหรือบริเวณหน้าผากเมื่อมีอายุมากขึ้นจน
กระทั่งศีรษะส่วนนั้นปราศจากผม การที่มีศีรษะล้านไม่ได้แสดง่าเจ้าของเป็นโรคแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาหากเจ้าตัวไม่เดือดร้อน วิธีการรักษาศีรษะล้านโดยตรงยังไม่มี แต่วิธีการปลูกผมหรือแก้ไขความโล่งเตียนของศีรษะได้ คน (คนที่เดือดร้อนมาก ๆ ก็ลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ดู)


เล็บ ก็เป็นส่วนหนึ่งของผิวหนังที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำหน้าที่อื่น คือ ทำให้ส่วนปลายของนิ้วแข็งแรงขึ้น หยิบจับและใช้ทำงานได้ดี โคนเล็บเป็นส่วนที่มีชีวิต ประกอบด้วยเซลล์ที่ทำหน้าที่แบ่งตัวได้แผ่นเล็บที่ค่อนข้างแข็ง ปกติเล็บที่สมบูรณ์จะเรียบเป็นมัน ถ้ามีเล็บขรุขระแสดงว่าการงอกของเซลล์ไม่สม่ำเสมอ รอยด่างสีขาวเล็ก ๆ ในเล็บที่เราเรียกว่าดอกเล็บนั้น คือฟองอากาศที่ถูกขังอยู่ในระหว่างชั้นของเซลล์ในเล็บ เล็บแต่ละนิ้วงอกเร็วไม่เท่ากัน เล็บของนิ้วกลางจะงอกเร็วกว่าเล็บของนิ้วที่สั้นกว่า นิ้วก้อยจะมีเล็บที่งอกช้าที่สุด

                                                                   วิธีดูแลรักษาผิวหนังก็คือ

 

 

1. ทำความสะอาดผิวหนังทุกวัน เพื่อให้สะอาดไม่เป็นที่อยู่ของเชื้อโรค เชื้อรา และตัวแมลงเล็กๆ ต่างๆ

 

 

 

 


2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกส่วน

 

 

 

 


 

3. หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนัง ผมถูกสารเคมีที่อาจจะทำอันตรายต่อผิวหนังหรือเส้นผมได้ หลีกเลี่ยงการถูกแสงอาทิตย์จัดจ้านานเกินควร เพื่อรักษาผิวหนังและเพื่อป้องกันไม่ให้ผมแห้งและแตกปลาย การดัดผม ย้อมผม ยืดผม เป่าผมบ่อยๆจะทำให้เส้นผมเสียได้
 

 

 

                     

       

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

   

ข้อมูลสื่อ

66-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 66
ตุลาคม 2527
พญ.ลลิตา ธีระศิริ