• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา(6)อาการปวดหัว

ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

 

อาการปวดหัว เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดอาการหนึ่ง มนุษย์เราทุกคนคงเคยปวดหัวมาแล้วทั้งนั้น ในสังคมที่มีความเครียด (ความสับสน ความกังวล หงุดหงิด จิตใจมีสงบ) มาก อาการปวดหัวยิ่งมีมาก
อาการปวดหัวในที่นี้หมายถึง อาการปวดหรือเจ็บ หรือตื้อ หรือร้าว หรือหนักในบริเวณหัว ตั้งแต่บริเวณหน้าส่วนบน (หน้าผาก) ขึ้นไปที่ส่วนบนสุดของหัว แล้วลงไปยังบริเวณท้ายทอย และด้านข้างส่วนที่เป็นกะโหลกหัวทั้งหมด 
เมื่อคนไข้มาหาด้วยอาการปวดหัว ขั้นตอนแรกที่จะต้องทำคือดูว่าเป็นคนไข้หนัก (ฉุกเฉิน)หรือไม่


คนไข้ปวดหัวแบบฉุกเฉิน
คนไข้ปวดหัว ที่ถือว่าฉุกเฉินหรือหนักคือคนไข้ปวดหัวที่มีอาการอื่นร่วมด้วยเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้คือ

1.อาการเจ็บหนัก
คนไข้ไม่ว่าจะมีอาการอะไร ถ้ามีอาการเจ็บหนักร่วมด้วย ย่อมถือว่าเป็นคนไข้หนัก (คนไข้อาการหนัก) หรือคนไข้ฉุกเฉินทั้งสิ้น อาการเจ็บหนักมีอะไรบ้างได้กล่าวไว้แล้วในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64-65

การรักษา
ให้รักษาแบบคนไข้เจ็บหนักดังที่กล่าวไว้ในหมอชาวบ้านสองฉบับก่อน และให้ยาแก้ปวดด้วย อาจใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็น (น้ำแข็ง)ประคบบริเวณที่ปวด (ควรใช้น้ำร้อนประคบถ้ามีการกดเจ็บบริเวณที่ปวด แต่ถ้าไม่มีอาการกดเจ็บบริเวณที่ปวด ควรใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ) แล้วรีบพาไปหาหมอ 

                                 

                           ขั้นตอนแรกของการตรวจรักษาอาการปวดหัว

                                                                   ปวดหัว

                        ฉุกเฉิน

                            ไม่ฉุกเฉิน

-มีอาการเจ็บหนัก

-เพิ่งปวดครั้งแรกและรุนแรง

-ร่วมกับการอาเจียนพุ่ง

-ร่วมกับอาการตาผิดปกติ

-ร่วมกับอาการคอแข็ง

-ร่วมกับภาวะความดันเลือดสูงมาก

-ร่วมกับการกดเจ็บบริเวณกะโหลกศีรษะ

 

2.เพิ่งปวดหัวเป็นครั้งแรก และปวดรุนแรง (ปวดมาก)
นั่นคืออาการปวดหัวครั้งนี้มีลักษณะ (อาการ)แปลกกว่าครั้งอื่น ๆ และลักษณะแบบที่เป็นครั้งนี้เพิ่งเป็นครั้งแรก ไม่เคยเป็นมาก่อน และปวดมาก (ปวดรุนแรง) อาจจะปวดตลอดเวลา (ไม่มีเวลาสร่าง)หรือปวดมากเป็นครั้งคราว (เป็น ๆ หาย ๆ )

การรักษา
1.ให้คนไข้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด จะนอนหรือนั่งหรืออื่น ๆ ก็ได้ ถ้าทำให้อาการปวดนั้นดีขึ้น

2.ให้ยาแก้ปวด เช่นพาราเซตามอล 1-2 เม็ด

3.ใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็น (น้ำแข็ง)ประคบที่บริเวณที่ปวด

4.ให้กำลังใจคนไข้

5.ให้การปฐมพยาบาลอื่นๆ แล้วรับพาไปหาหมอ
 

3. อาเจียนพุ่ง(projectile vomiting)
คืออาการอาเจียนที่พุ่งพรวดออกมาโดยไม่มีอาการขย้อนหรืออาการคลื่นไส้นำมาก่อน อาการอาเจียนมักจะรุนแรง ทำให้อาหารและน้ำพุ่งพรวดออกมาจากปาก จึงเรียกว่า อาเจียนพุ่ง
คนไข้ที่ปวดหัวแล้วอาเจียนพุ่ง ทำให้สงสัยว่าความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่ม (increased intracranial pressure) ซึ่งอาจเกิดจากสมองบวม (brain edema), เลือดออกหรือเนื้องอกในกะโหลกศีรษะ (intracranial hemorrhage or tumour) หรือจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งเป็นภาวะอันตราย
ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มอาจตรวจรู้ได้โดยใช้กล้องส่องตรวจภายในตา (ophthalmoscopy) จะพบหัวประสาทตาบวม (papilledema) ได้

การรักษา
เช่นเดียวกับข้อ 2 

 

4.ตาผิดปกติ
อาการตาผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวแบบที่ถือว่าฉุกเฉิน คืออาการตาผิดปกติแบบหนึ่งแบบใดดังต่อไปนี้คือ

4.1 ตาแดงโดยไม่มีขี้ตา คือตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่ไม่มีขี้ตา และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าอาการตาแดงนั้นจะแดงจัดบริเวณรอบตาดำ จางลงบริเวณรอบนอกออกไป มีอาการปวดตาและกดเจ็บ (ให้คนไข้หลับตา แล้วใช้ปลายนิ้วกดลูกตาเบา ๆ คนไข้จะเจ็บ) และสายตาจะผิดปกติด้วย (มองเห็นอะไรผิดปกติ หรือตาพร่ามัว หรือกลัวแสงมาก ) ซึ่งแตกต่างจากตาธรรมดา (ตาแดงแบบไม่มีอันตราย)
การแยกตาแดงแบบอันตราย และแบบไม่อันตราย (แบบธรรมดา) ให้ดูในตารางที่ 1

                              ตารางที่ 1 การแยกตาแดงแบบธรรมดา และแบบอันตราย

 

ตาแดงธรรมดา

(Conjunctivitis)

ตาแดงแบบอันตราย

(acute glaucoma uveitis)

1.ตาขาวแดง

จากรอบนอก

จากรอบตาดำ

2.ขี้ตา

มีมาก

ไม่มี

3.เจ็บและกดเจ็บ

ไม่มี

มี

4.มองเห็นผิดปกติ

ไม่มี

มีมาก

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

4.2 รูม่านตาผิดปกติ (abnormal pupil) ตาข้างที่ผิดปกติมักจะมีรูม่านตา (pupil)โต(dilated) หรือเล็ก (constricted) หรือมีรูปผิดปกติ (คือไม่กลม อาจจะเป็นรูปรี หรืออื่น ๆ )หรือไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง (no reaction to light) ทั้งนี้เพราะม่านตาอักเสบ หรือมีความผิดปกติอยู่

 4.3 ลูกตาแข็ง หรือกดเจ็บ ให้คนไข้หลับตา แล้วใช้ปลายนิ้วกดที่ลูกตาเบาๆ ถ้ารู้สึกว่าลูกตาแข็งและกดเจ็บมากกว่าอีกข้างหนึ่งให้นึกถึงต้อหิน (glaucoma) แต่ถ้ากดเจ็บอย่างเดียวโดยไม่แข็ง ให้นึกถึงการอักเสบในลูกตา (uveitis)

ในกรณีที่ปวดหัวและตาผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ให้รีบรักษาทันที

การรักษา

1.ถ้ามีหมอตาอยู่ใกล้ ๆ ให้รีบไปหาหมอตา

2.ถ้าไม่มีหมอตาอยู่ใกล้ ๆ ให้แยกอาการตาแดงแบบอันตราย ออกเป็นแบบต้อหิน หรือแบบการอักเสบในลูกตา โดยดูตารางที่ 2  

                                                                    ตารางที่  2

การแยกต้อหินแบบฉับพลัน หรือเฉียบพลัน (acute glaucoma)

จากการอักเสบในลูกตาแบบเฉียบพลัน (acute uveritis)

 

ต้อหิน (glaucoma)

การอักเสบในลูกตา

(uveritis)

1.กลัวแสง

น้อยหรือไม่กลัว

กลัวแสงมาก

2.เห็นสีรุ้งรอบดวงไฟโดย

เฉพาะในเวลาเย็น

 

เห็น

 

ไม่เห็น

3.ตาพร่ามัว (บอด)อย่างรวดเร็ว

เป็นมาก

เป็นน้อย

4.กดดูที่ลูกตา

แข็ง

ไม่แข็ง

5.รูม่านตา

โตเป็นรูปรีและไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง

เล็ก(อาจเล็กเท่ารูเข็ม)

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
(ยังมีต่อ)

 

ข้อมูลสื่อ

66-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 66
ตุลาคม 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์