• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา (4) อาการเจ็บหนัก

ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

    

ในการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป นอกจากจะต้องรู้จักโรคที่พบบ่อยที่สุดที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อน ๆ แล้ว ก็ยังจะต้องรู้จัก “อาการเจ็บหนัก” เพราะคนไข้ที่เจ็บหนัก ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที่แล้ว จะเสียชีวิตได้โดยง่าย

คนไข้ที่เจ็บหนักมากจะมีอาการดังนี้
1. หมดสติและคลำชีพจรไม่ได้
ภาวะนี้เป็นภาวะฉุกเฉินที่สุด เมื่อคนใดคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นคนไข้หรือไม่ก็ตาม หมดสติและล้มฟุบลงทันที ให้จับชีพจรที่คอ และที่ขาหนีบ (อ่าน การตรวจสิ่งแสดงชีพเพิ่มเติม ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 16 หน้า 15)ถ้าคลำชีพจรที่คอและที่ขาหนีบไม่ได้ให้ถือว่าหัวใจคนไข้หยุดเต้น ต้องรีบช่วยเหลือทันที ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปในเรื่อง “หัวใจหยุด”
แต่ถ้าคนไข้หมดสติแล้วยังคลำชีพจรได้ แสดงว่าหัวใจไม่ได้หยุดเต้น ให้การตรวจรักษาแบบคนไข้เจ็บหนักอื่นๆ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

              

 

2. หอบเหนื่อยจนพูดไม่ได้ หรือหายใจช้าและลำบากมาก หรือหยุดหายใจภาวะเช่นนี้จัดว่าเป็นภาวะฉุกเฉินมาก โดยเฉพาะถ้าคนไข้หยุดหายใจ ต้องให้การช่วยหายใจทันที (ดูเรื่องช่วยหายใจในเรื่อง “หัวใจหยุด”)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3. ชักตลอดเวลา คือคนไข้มีอาการหมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) และชักกระตุกอยู่ตลอดเวลา หรือเกือบตลอดเวลา โดยที่มีช่วงที่หยุดชัก (ช่วงพัก ) น้อยมาก ภาวะเช่นนี้จัดเป็นภาวะที่ฉุกเฉินมากเช่นเดียวกัน แต่ไม่ฉุกเฉินเท่า “ภาวะหัวใจหยุด” หรือ “ภาวะหยุดหายใจ” จึงต้องให้การรักษาอย่างรีบเร่ง ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป


4. ตกเลือดมาก คือมีเลือดออกมาก ถ้าเลือดออกจากบาดแผลหรือเลือดไหลออกมาภายนอกก็จะมองเห็นและพอบอกว่าเลือดไหลออกมาเท่าใด
ในผู้ใหญ่ ถ้าเลือดออกมากกว่า 2-3 กระป๋องนมข้นหวาน (แล้วแต่ตัวเล็กหรือตัวโต ถ้าตัวเล็กและเลือดออกมากกว่า 2 กระป๋องนมข้นหวาน หรือในเด็กเล็ก ๆ ถ้าเลือดออกมากกว่าครึ่งถึง 1 กระป๋องนมข้นหวาน ) ก็ให้ถือว่าฉุกเฉิน ต้องรีบหยุดเลือดหรือห้ามเลือดทันที ถ้าทำได้ (ที่จริงถ้าเลือดออกก็ต้องรีบห้ามเลือดทันที ถ้าทำได้อย่ารอให้เลือดออกมาก ๆ แล้วค่อยห้ามเลือด) และรีบให้เลือดหรือน้ำเกลือเข้าเส้นเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป

สำหรับภาวะตกเลือดภายใน (เลือดตกใน) เช่น

เลือดออกในกระเพาะลำไส้ ซึ่งมักไหลออกมาให้เห็นภายนอก โดยการอาเจียน และเหงื่อออก อุจจาระเป็นเลือด หรือเป็นสีดำ คล้ายเฉาก๊วย หรือยางมะตอย

เลือดออกในปอด ซึ่งมันไหลออกมาให้เห็นภายนอก โดยการไอเป็นเลือด (ในคนที่ไอเป็นเลือดออกมาสดๆ หรือไอออกมาเป็นลิ่มเลือด มากว่าครึ่งกระป๋องนม ก็ให้ถือว่าฉุกเฉิน ต้องพยายามให้พัก นอนพักหรือนั่งพัก) ให้ไอน้อยที่สุด ให้มีการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด และให้คนไข้สงบที่สุดเพราะถ้าเลือดออกมาก (แม้จะไม่มากเท่าภาวะอื่น) เลือดที่ออกจะอุดกั้นทางหายใจ (หลอดลม) ทำให้คนไข้ตายเพราะหายใจไม่ออก ไม่ใช่จากการเสียเลือด

เลือดออกในช่องท้อง เช่นท้องนอกมดลูกแล้วปีกมดลูกแตก มดลูกแตก ตับแตก ม้ามแตก เป็นต้น ส่วนมากจะมีประวัติให้สงสัยภาวะดังกล่าว เช่น ถ้าท้อง(ตั้งครรภ์) มักจะมีประวัติประจำเดือนขาด ต่อมามีอาการปวดท้องรุนแรง แล้วเกิดอาการหน้าซีด มือเท้าซีดเย็นเป็นลมและหมดสติ ก็ให้สงสัยว่าท้องนอกมดลูกแตก หรือมดลูกแตก
ถ้าถูกเตะ ถูกตี หรือถูกกระทบกระแทกที่ชายโครงอย่างแรง เช่น จากรถชนกันทำให้มีอาการปวดท้องและปวดชายโครงต่อมามีอาการหน้าซีด มือเท้าซีดเย็น เป็นลมและหมดสติก็ให้สงสัยว่ามีเลือดออกในช่องท้อง

เลือดตกในบริเวณกระดูกหัก ที่ทำให้เลือดออกมากและไม่เห็นก็คือ การหักของกระดูกบริเวณสะโพก และต้นขา เลือดจะออกอยู่ข้างในจนต้นขาบวมตึง และเจ็บมาก เมื่อเลือดออกมาก ๆ ไม่ว่าจะมองเห็นหรือไม่เห็น คนไข้จะมีอาการหน้าซีด มือเท้าซีดเย็น เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม โดยเฉพาะในท่านั่งหรือยืน ต่อมาจะสับสน กระวนกระวายพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วในที่สุดจะหมดสติ ซึ่งแสดงว่าคนไข้อยู่ในภาวะซ็อก (ภาวะที่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง และต้องรีบให้การรักษา)

สำหรับคนไข้ที่เจ็บหนักรองลงไปจะมีอาการดังนี้
1. หมดสติ ชัก กระสับกระส่าย และไม่ค่อยรู้สึกตัว

2. หายใจลำบาก หรือหายใจมากกว่า 30-40 ครั้งต่อนาที หรือน้อยกว่า 3-4 ครั้ง ต่อนาที

3. หน้าซีด มือเท้าเย็นและชื้นด้วยเหงื่อ และมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่ายและพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง

4. ชีพรจรเต้น ๆ หยุด ๆ หรือเต้นเร็วมากกว่า 160-180 ครั้งต่อนาที หรือช้ากว่า 30-40 ครั้งต่อนาที โดยมีอาการหอบเหนื่อย หรือหน้ามือเป็นลมร่วมด้วย

5. ความดันเลือดที่สูงมากกว่า 250/150 หรือต่ำกว่า 70/- มิลลิปรอท

6. ไข้สูงมาก (มากกว่า 40 องศาเซลเซียส)
คนไข้ที่มีอาการหนึ่งอาการใด หรือหลายอาการดังกล่าวข้างต้น ถือว่าอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ถ้ามีอาการเจ็บหนักรองลงไปก็ถือว่าอยู่ในภาวะฉุกเฉินธรรมดา ซึ่งจะได้กล่าวถึงการตรวจรักษาสำหรับแต่ละอาการหรือแต่ละภาวะต่อไป

 

ภาวะที่หมอสติและคลำชีพจรไม่ได้
เมื่อใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนไข้หรือไม่ก็ตามหมดสติและล้มฟุบลงทันทีให้รีบคลำชีพจรที่คอ และที่ขาหนีบ

ถ้าคลำชีพจรที่คอและที่ขาหนีบไม่ได้ให้ถือว่าหัวใจคนไข้หยุดเต้น ต้องรีบช่วยเหลือทันที (ส่วนภาวะที่หมดสติแล้วยังคลำชีพจรได้ ไม่ใช่ภาวะหัวใจหยุดเต้น ให้การตรวจรักษาแบบภาวะหมดสติ)

 

 

 

เมื่อคนไข้หมดสติและคลำชีพจรไม่ได้รีบ
1. นอนหงาย
จับคนไข้นอนหงายลงกับพื้นทันที

2. ทุบหน้าอก ใช้กำปั้นทุบลงตรงครึ่งล่างของกระดูกกลางอก (ทุบแรงมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับรูปร่างและความหนาของหน้าอกคนไข้ ให้ลองทำกับตัวเองดูก่อนในยามว่าง โดยใช้กำปั้นทุบลงตรงกลางอกในระดับราวนม ถ้าทุบเบาเกินไปจะไม่รู้สึกสะอึก ถ้าทุบหนักเกินไปจะรู้สึกเจ็บหน้าอกไปหลายวัน เพราะกระดูกและข้อกระดูกซี่โครงขัดยอก ถ้าทุบได้แรงพอดีจะรู้สึกสะอึกในขณะทุบ หลังทุบไม่มีอาการเจ็บหรืออาการผิดปกติอื่น) 

สำหรับคนไข้ในครั้งแรก ถ้าไม่แน่ใจว่าจะต้องทุบแรงเพียงใด ให้ทุบพอสมควรสัก 1 ครั้ง แล้วคลำชีพจรดูที่คอหรือที่ขาหนีบ ถ้ายังคลำไม่ได้ ให้ทุบแรงขึ้นอีก 1 ครั้ง แล้วคลำชีพจรอีก ถ้ายังคลำไม่ได้อีก ให้ทุบแรงมากขึ้นอีก 1 ครั้ง แล้วคลำชีพจรอีก ถ้ายังคลำไม่ได้ ให้การรักษาขั้นที่ 3 ต่อไป ถ้าคลำชีพจรได้ ให้การรักษาขั้นที่ 2 ต่อไปการทุบหน้าอกดังกล่าว ก็เพื่อกระตุ้นหัวใจที่หยุดเต้นให้เต้นใหม่ (ดูรูปที่ 1)

 

  

3. ช่วยหายใจ ในกรณีที่คนไข้หยุดหายใจ หรือหายใจเข้ามาก (ในคนไข้ที่หัวในหยุดเต้น การหายใจจะหยุดด้วย) ให้ช่วยหายใจโดย

3.1 ล้วงปาก ใช้มือล้วงสิ่งของต่าง ๆ ในปากออกให้หมด รวมทั้งฟันปลอม เสมหะอาหาร และสิ่งอื่นที่ตกค้างอยู่ในปาก (รูปที่ 3)
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.2 เปิดทางหายใจ ใช้มือข้างหนึ่งช้อนคอคนไข้ขึ้น แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งดันหน้าผากของคนไข้ยกขึ้น แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งดันหน้าผากของคนไข้เพื่อให้ศีรษะของคนไข้เงยขึ้น ปากจะได้เปิดอ้าออก และโคนลิ้นจะได้ไม่ตกไปอุดกั้นทางหายใจ ในกรณีที่จะช่วยหายใจโดยการเป่าปาก (รูปที่ 4)
ส่วนในกรณีที่จะช่วยหายใจโดยการเป่าทางจมูก หรือโดยการใช้ฝาครอบปากและจมูก อาจใช้วิธีดึงคาง (ขากรรไกรล่าง) คนไข้ขึ้นด้วยมือ ศีรษะของคนไข้จะเงยขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ปากจะปิด (รูปที่ 5)

 

 

 

 

 

3.3 ให้ลมหายใจ การให้ลมหายใจอาจจะทำได้โดย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.3.1 เป่าปาก (mouth-to-mouth breating) โดยผู้ช่วยหายใจ หายใจเข้าเต็มปอดของตนแล้วก้มลงไปเอาปากของตนคร่อมปากของคนไข้จนสนิท ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกของผู้ป่วยจนปิดสนิท แล้วเป่าลมหายใจออกของตนเข้าไปในปอดคนไข้อย่างเต็มที่จนหมดลม (รูปที่ 6) แล้วเงยหน้าขึ้น สูดหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปจนเต็มปอดใหม่แล้วก็ก้มลง เป่าลมหายใจออกเข้าไปในปอดของคนไข้ใหม่ สลับกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้

3.3.2 เป่าจมูก (mouth-to-nose breating) จะสู้การเป่าปากไม่ได้ เพราะรูจมูกของคนไข้จะแคบกว่าปากและอาจจะตีบตันอยู่ ทำให้ต้องออกแรงเป่ามากกว่าวิธีแรก และต้องใช้แรงดึงคางของคนไข้ขึ้น เพื่อให้ปากของคนไข้ปิดสนิท นอกจากนั้นในขณะที่ดึงคางของคนไข้ขึ้นด้วยมือ ควรจะใช้นิ้วหัวแม่มือที่ยังเหลืออยู่ กดแก้มคนไข้ไว้ เพื่อไม่ให้แก้มของคนไข้โป่งออกขณะที่เป่าลมหายใจเข้าไปทางจมูก มิฉะนั้น ลมส่วนหนึ่งจะไปค้างอยู่ในปากไม่เข้าไปถึงปอดของคนไข้

3.3.3 เป่าด้วยถุงยาง (ถุงแอมบู) โดยผ่านทางฝาครอบ ใช้ฝาครอบปากและจมูกให้สนิท (ดูรูปที่ 2 )แล้วบีบถุงยางใส่ลมเข้าไปในปอดคนไข้ ถ้ามีออกซิเจนอยู่ควรต่อท่อออกซิเจนเข้าสู่ถุงยาง เพื่อให้อากาศในถุงยางมีออกซิเจนมากขึ้น

การให้ลมหายใจแก่คนไข้ โดยทั่วไปแล้วจะเป่าลมหายใจให้คนไข้ประมาณนาทีละ  10-15 ครั้ง ๆละเท่าไร (กี่มิลลิลิตร) ไม่จะเป็นต้องวัด ควรเป่าลมเข้าไปให้เต็มที่จนสามารถเห็นหน้าอกของคนไข้ขยายออก และท้องโป่งขึ้นอย่างชัดเจน ถ้าเป่าลมหายใจให้คนไข้แล้ว หน้าอกของคนไข้ไม่ขยายออก แสดงว่าลมหายใจเข้าปอดของคนไข้ไม่ได้ดี ต้องรีบแก้ไขการอุดกั้นทางเดินหายใจโดยล้วงปากและคอจับคนไข้คว่ำหน้าและทุบแรง ๆ ตรงกลางหลังระหว่างสะบักหรือโดยวิธีรัดท้องอัดยอดอก (Heimlich maneuver) ซึ่งทำได้ดังนี้
ถ้าคนไข้อยู่ในท่านั่งหรือท่ายืน ให้อ้อมไปทางด้านหลังผู้ป่วย ใช้แขนทั้ง 2 ข้าง โอบรอบเอวคนไข้ มือข้างหนึ่งกำหมัดแน่น และวางไว้ชิดกับผนังหน้าท้องส่วนบน ใกล้แต่ไม่ชิดกับกระดูกลิ้นปี่ โดยให้ด้านนิ้วหัวแม่มือแตะผนังท้อง ด้านนิ้วก้อยถูกกุมด้วยมืออีกข้างหนึ่ง แล้วโอบรัดหน้าท้องของคนไข้ทันที ให้กำหมัดนั้นกดเข้าไปในผนังหน้าท้อง และดันขึ้นข้างบนในฉับพลัน ซึ่งจะทำให้กระบังลมถูกผลักขึ้นข้างในทันที เกิดเป็นแรงดันสิ่งที่อุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบนให้หลุดออก ใช้ได้ดีในผู้ที่สำลักก้อนเนื้อหรืออาหารชิ้นใหญ่ไปอุดทางเดินหายใจส่วนบน (ดูรูปที่ 7 ในหน้า 50)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถ้าคนไข้อยู่ท่านอนหงายให้ใช้สันมือข้างหนึ่งวางลงบนผนังหน้าท้องของคนไข้ใกล้แต่ไม่ชิดกับกระดูกลิ้นปี่ แล้วออกแรงดันเข้าและดันขึ้นไปทางศีรษะอย่างรุนแรงทันที เพื่อให้กะบังลมถูกผลักขึ้นข้างบนทันทีเกิดเป็นแรงดันสิ่งที่อุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบนให้หลุดออก ถ้าคนไข้อาเจียนรับคว่ำหรือตะแคงหน้าคนไข้ทันที ถ้าล้วงปากและคอทุบกลางหลัง หรือรัดท้องอัดยอดอกแล้ว ยังเป่าลมหายใจให้หน้าอกของคนไข้ขยายไม่ได้ รีบใช้เข็มใหญ่ ๆ หรือใบมีดเจาะหลอดลมคอทันทีโดยเฉพาะส่วนที่เป็น cricothyroid membrane (ดูรูปที่ 8) เพื่อให้ระบบหายใจเข้า-ออกได้

เมื่อเป่าลมหายใจเข้าไปให้คนไข้แล้ว อกของคนไข้ขยายออกและท้องโป่งออกแล้วก็หยุดเป่าลมหายใจ เมื่อหยุดเป่าลมหายใจให้คนไข้ หน้าอกและท้องของคนไข้จะต้องหุบและยุบลงสู่ระดับเดิม
ในรายที่ท้องคนไข้ไม่ยุบลงสู่ระดับเดิม อากาศหายใจที่ให้เข้าไปอาจเข้าสู่กระเพาะอาหารของคนไข้ส่วนหนึ่ง

ในรายที่หน้าอกผู้ป่วยไม่ยุบลงสู่ระดับเดิม อากาศหายใจที่เข้าสู่ปอดส่วนหนึ่งอาจรั่วออกจากปอดเข้าไปอยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอด โดยเฉพาะในรายที่ปอดรั่วและมีลมอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอดอยู่ก่อน ให้ช่วยหายใจต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าคนไข้จะหายใจได้เอง


4. นวดหัวใจ การนวดหัวใจอาจจะทำได้จากภายนอก (external-cardiac massage) หรือจากภายใน (internal cardiac massage) ซึ่งหมายถึงการนวดหัวใจภายนอกหรือภายในทรวงอกนั่นเอง
ควรจะนวดหัวใจ (กดปล่อย ๆ ) เช่นนี้ประมาณนาทีละ 50-60 ครั้ง (ไม่ควรเร็วกว่านี้) จะทำให้หัวใจผลักดันเลือดออกไปเลี้ยงร่างกาย 50-60 ครั้งต่อนาทีเช่นเดียวกันแต่เลือดที่ออกไปเลี้ยงร่างกายในขณะที่นวดหัวใจนั้นจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนเลือดที่น้อยที่สุดที่ร่างกายต้องการในภาวะปกติ ดังนั้นจึงควรจะทำให้หัวใจเต้นเองโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยทั่วไป จะช่วยหายใจ (เป่าลมเข้าปอด) ให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง แล้วกดหน้าอก (นวดหัวใจ) ผู้ป่วย 5 ครั้งสลับกันไปในสัดส่วน 1:5 ในกรณีที่มีคนช่วยชีวิตผู้ป่วย 2 คน แต่ถ้ามีผู้ช่วยชีวิตผู้ป่วยเพียงคนเดียวซึ่งจะต้องทำหน้าที่ทั้งการหายใจและการนวดหัวใจ ในกรณีเช่นนั้นให้เป่าลมหายใจให้ผู้ป่วย 2 ครั้งติด ๆ กัน แล้วนวดหัวใจให้ผู้ป่วย 15 ครั้งติด ๆกัน แล้วกลับไปช่วยหายใจใหม่ สลับกันไปเช่นนี้ในสัดส่วน 2:15 ในขณะที่เริ่มทำ จะต้องเป่าลมเข้าปอดผู้ป่วยก่อน แล้วจึงจะนวดหัวใจ เพื่อให้ปอดมีออกซิเจนมากขึ้น จะได้ซึมเข้าสู่เลือดที่จะไหลผ่านปอดเข้าสู่หัวใจ เลือดที่ออกจากหัวใจจะได้มีออกซิเจนเพิ่มขึ้นสำหรับไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่าง ๆ ต่อไป


ข้อควรระวังในการนวดหัวใจ
1. อย่าใช้ฝ่ามือ ให้ใช้สันมือวางลงบนกระดูกอก และอย่าวางนิ้วลงบนผนังหน้าอก (ให้ยกฝ่ามือและนิ้วมือให้พ้นผนังหน้าอก) เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกซี่โครงหักในขณะนวดหัวใจ (รูปที่ 6)

2. อย่ากดกระดูกลิ้นปี่ (ต้องวางสันมือบนกระดูกหน้าอกห่างจากกระดูกลิ้นปี่เล็กน้อย) มิฉะนั้นจะทำให้ตับฉีกได้

3. อย่ากดท้อง เพื่อกันลมเข้าท้องในขณะช่วยหายใจและช่วยนวดหัวใจ เพราะการกดท้องจะทำให้ตับเคลื่อนลงมาข้างล่างไม่ได้ในขณะนวดหัวใจ ทำให้ตับฉีกได้

4. อย่านวดหัวใจแบบกระแทก (ให้ใช้น้ำหนักตัวกดผ่านแขนที่เหยียดตรงลงสู่สันมือที่วางติดกับกระดูกหน้าอก ให้ระยะเวลาที่กดเท่ากับระยะเวลาที่ปล่อยซึ่งรวมกันแล้วประมาณ ¾ -1 วินาที) เพราะการกระแทกจะทำให้เกิดอันตรายต่อกระดูก ตับและหัวใจ และทำให้หัวใจส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยกว่า

5. อย่ายกสันมือจากกระดูกอก ในขณะที่เลิกกด (ต้องให้สันมือแนบกับกระดูกอกอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ลงน้ำหนักในขณะที่เลิกกด) มิฉะนั้นจะทำให้เกิดการกระแทกและเกิดอันตรายได้มากขึ้น

6. อย่าหยุดนวดหัวใจในขณะที่หัวใจยังหยุดอยู่ ผู้ที่ช่วยชีวิตคนไข้มักจะหยุดนวดหัวใจเมื่อต้องการใส่ท่อหลอดลมคอ (endotracheal intubation) ต้องการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือต้องการจะเคลื่อนย้ายคนไข้ ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม อย่าหยุดนวดหัวใจเกินกว่า 5 วินาที หรืออย่างมากที่สุดไม่เกิน 15 วินาที เพราะจะทำให้หัวใจฟื้นตัวยากขึ้น เนื่องจากปริมาตรเลือดที่ถูกบีบออกจากหัวใจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมากสุดหลังจากนวดหัวใจ 8-10 ครั้งติด ๆ กันแล้ว นั่นคือถ้าหยุดนวดไปเกินกว่า 5 วินาที ก็เท่ากับเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นการใส่ท่อหลอดลมคอการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเคลื่อนย้ายคนไข้ หรืออื่นๆ จะต้องไม่ขัดขวางการช่วยชีวิตจนทำให้ต้องหยุดนวดหัวใจมากกว่า 15 วินาที มิฉะนั้นอย่าทำจะดีกว่า

หมายเหตุ
เมื่อจะนวดหัวใจต้องให้คนไข้นอนหงายอยู่กับพื้นที่แข็งพอ เช่นพื้นหิน พื้นกระดาน ถ้าคนไข้นอนอยู่บนเตียงสปริงหรือที่นอนนุ่ม ๆ จะต้องใช้ไม้กระดานแข็ง ๆ สอดไว้ใต้หลังคนไข้เสียก่อน หรืออุ้มคนไข้ลงมาวางไว้กับพื้นเสียก่อน การนวดหัวใจจึงจะได้ผลดี (ส่วนการทุบหน้าอกนั้น คนไข้จะนอนหงายอยู่บนที่นอนนุ่ม ๆ ก็ได้) 

                   


ควรจะหยุดนวดหัวใจ เมื่อ

1. หัวใจของผู้ป่วยเต้นเองแล้ว และคลำชีพจรได้ แม้จะวัดความดันเลือดไม่ได้ ให้ใช้วิธีเพิ่มความดันเลือดหรือวิธีอื่นสำหรับรักษาภาวะช็อกแทนการนวดหัวใจ มิฉะนั้นอาจจะทำให้หัวใจหยุดอีก

2. รูม่านตาขยายกว้างและไม่ตอบสนองต่อแสง แม้จะให้การฟื้นชีวิต (cardiopulmonary resuscotation) มาเป็นเวลากว่า 30 นาที แล้ว (ต้องระวังกรณีที่รูม่านตาผิดปกติจากสาเหตุอื่น)

3.คลำชีพจรที่คอและที่ขาหนีบไม่ได้แม้ในขณะที่นวดหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพ แสดงว่าไม่มีการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงร่างกายแม้แต่ในที่นวดหัวใจแล้ว

4. ผู้ป่วยจะไม่สามารถฟื้นขึ้นมาดำรงชีวิตที่จะไม่ยังความทุกข์ทรมานแก่ตนเองได้

5. ผู้ช่วยฟื้นชีวิตหมดแรง

สิ่งที่แสดงว่าการช่วยนวดหัวใจนั้นได้ผล เช่น ขณะที่นวดหัวใจ จะคลำชีพจรได้ รูม่านตาจะหดเล็กลง สีของผิวหนังจะแดงขึ้น ผู้ป่วยเริ่มมีการขยับตัวหรือแขนขาได้และอาจจะหายใจได้เอง

การนวดหัวใจอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้หลายอย่าง เช่น กระดูกหัก เลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจจนเกิดการบีบอัดหัวใจ เกิดลมหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด ไขกระดูกหลุดไปอุดหลอดเลือดในปอด (fat embolism) ตับฉีก ม้ามฉีก หรืออื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยที่ช่วยชีวิตจนฟื้นขึ้นมาแล้ว กลับทรุดลงและตายได้ จึงต้องสังวรถึงภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่หัวใจหยุดเต้นซึ่งจะทำให้คนไข้หยุดหายใจด้วยในเวลาอันรวดเร็วนั้นอาจถือได้ว่าคนไข้ตายแล้ว (เพราะหัวใจหยุดเต้นและคนไข้หยุดหายใจแล้ว) การช่วยเหลือต่าง ๆที่ทำไป เพื่อการฟื้นชีวิตคนไข้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้มาก เพราะเป็นการช่วยเหลืออย่างฉุกละหุก แต่เมื่อคนไข้ฟื้นแล้ว จึงค่อยทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนนั้น ในระยะแรกจะต้องช่วยชีวิตไว้ให้ก่อน

ควรทำการช่วยหายใจ และนวดหัวใจต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะเคลื่อนย้ายคนไข้ไปโรงพยาบาล จนกว่าคนไข้จะหายใจเองและคลำชีพจรได้แล้ว

หมายเหตุ
สำหรับคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคที่ยังความทุกข์ทรมานโดยที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว การช่วยฟื้นชีวิตคนไข้ จะเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานให้แก้คนไข้ที่ต้องการจากไปสู่ความสุขสงบ ดังนั้นการช่วยฟื้นชีวิตให้แก่คนไข้ดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานมากกว่าเป็นการรักษา จึงควรพินิจพิจารณาว่าควรจะทำการฟื้นชีวิตหรือไม่ไว้ล่วงหน้า สำหรับคนไข้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังจะได้ไม่ลงไม้ลงมือให้คนไข้ต้องเจ็บปวดทรมานเพิ่มขึ้นก่อนตาย เพื่อให้คนไข้ได้จากไปอย่างสงบมากขึ้น  

 

                          

ข้อมูลสื่อ

64-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 64
สิงหาคม 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์