• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดและการบริจาคเลือด

ผู้ที่สนใจจะรักษาตนเองเบื้องต้นในยามเจ็บป่วย ก่อนอื่นก็ควรจะรู้จักตัวเองในยามไม่เจ็บป่วยเสียก่อน คอลัมน์ “ร่างกายของเรา” จะมาคุยกับท่านเกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปในร่างกายของตัวเราเองในยามปกติหรือเรียกให้หรูอีกนิดคือ ว่าด้วยวิชากายวิภาคสรีรวิทยาระดับชาวบ้าน ซึ่งเราจะเล่าสู่กันฟังเป็นตอนๆไป

 

ทุกคนมีเลือดอยู่ในตัว เวลาเรามีบาดแผลมีเลือดก็จะออกมาจากร่างกายปกติเลือดไหลวนเวียนอยู่ในระบบไหลเวียนโลหิตอันประกอบด้วย เส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำ เส้นเลือดฝอย และหัวใจเมื่อเราถูกมีดบาดหรือเข็มแทงเพียงนิดเดียว ก็เท่ากับการไปเจาะให้เลือดไหลออกนอกวงจรปกติที่มันเคยไหลอยู่ เลือดก็จะออกเป็นหยด ๆ เลือดที่ออกเพียง 2-3 หยดจากอุบัติเหตุข้างต้นไม่น่ากลัวเลย เพราะว่าร่างกายของเรามีเลือดอยู่มากมายตั้ง 4-5 ลิตร
เลือดที่ออกมาจากร่างกายให้เราเห็นไม่ใช่น้ำสีแดงเฉย ๆ หากประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และส่วนที่เป็นของเหลงที่เรียกว่าพลาสมา


พลาสมา
เป็นน้ำเหลือง พวกเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดจะแขวนลอยอยู่ในพลาสมา เลือดของเรามีส่วนประกอบดังนี้คือ มีพลาสมา 2 ส่วน และส่วนที่เป็นเม็ดเลือด 1 ส่วน ทุกคนคงเคยเห็นเลือดมาแล้ว แต่คุณเคยเห็นพลาสมาไหม ถ้าคุณช่างสังเกตเวลามีแผลถลอกตามเข่า แขน คุณอาจจะเห็นน้ำใสสีเหลือง หนืดเล็กน้อยซึมออกมา ที่คนโบราณเรียกว่า น้ำเหลือง นั่นแหละคือพลาสมา ดังนั้นน้ำเหลืองจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่กลับมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นส่วนที่ทำให้เลือดเหลว ไหลไปได้ทั่วร่างกาย ถ้าไม่มีพลาสมาเลือดจะแข็งตัวไหลไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้

นอกจากนี้พลาสมายังมีความสำคัญเพราะเป็นส่วนที่มีอาหารที่ย่อยแล้วสำหรับนำไปแจกจ่ายเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย หากไม่มีพลาสมาเราก็ไม่มีพลังงานให้เซลล์ร่างกายได้ใช้ พลาสมายังเป็นที่แขวนลอยของขยะ ของเสียต่าง ๆ ที่ร่างกายกำจัดออก เพื่อที่จะนำกลับไปกำจัดออก เพื่อที่จะนำกลับไปกำจัดออกที่ไต ปัสสาวะที่ไตกำจัดออกมาประกอบด้วยน้ำและของเสียเหล่านี้เอง


เม็ดเลือดแดง คือส่วนที่ทำให้เลือดเป็นสีแดง เม็ดเลือดแดงเป็นรูปกลมตรงกลางบุ๋ม เป็นส่วนของเม็ดเลือดแดงที่มีมากที่สุด มีอยู่นับหลายล้านเม็ด แต่ละเม็ดมีอายุใช้งานเพียง 4 เดือน เม็ดเลือดถูกสร้างขึ้นที่ไขกระดูก ไขกระดูกก็คือส่วนสีแดงโปร่ง ที่เป็นรูพรุนอยู่ในแกนกลางของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกที่เป็นแท่ง ถ้าคุณอยากเห็นก็ลองหากระดูกขาไก่หรือขาหมูดู

หน้าที่ของเม็ดเลือดแดงคือนำเอาออกซิเจนไปให้เนื้อเยื่อใช้ และขนเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปยังปอด เราหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปให้เม็ดเลือดแดงขนไปใช้งาน และหายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่เม็ดเลือดขนมาถ่ายเทที่ปอด


เม็ดเลือดขาว มีไม่มากเท่าเม็ดเลือดแดง แต่เม็ดเลือดขาวก็มีหน้าที่สำคัญมาก คือมีหน้าที่ต่อสู้กับการอักเสบเชื้อโรค แบคทีเรียหรือไวรัส ที่เข้ามารุกรานร่างกายของเรา ถ้าไม่มีเม็ดเลือดขาวก็เหมือนไม่มีทหารป้องกันประเทศ


เกร็ดเลือด ทีหน้าที่ทำให้เลือดหยุดไหล ถ้าไม่มีเกล็ดเลือดเวลาถูกมีดบาดเลือดจะออกไม่หยุด เพราะเกล็ดเลือดจะทำหน้าที่ไปอุดรูรั่วเส้นเลือดที่ฉีกขาดเพื่อทำให้เลือดหยุดไหล
เราต้องมีเลือดจำนวนมากพอ และมีส่วนประกอบของเลือดที่พอดี จึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ถ้าเรามีเม็ดเลือดแดงน้อยหรือที่เรียกว่า โลหิตจาง จะทำให้เรามีพาหนะที่ใช้ขนออกซิเจนไปให้ร่างกายใช้น้อย ทำให้เราอ่อนเพลียได้ง่าย การทำให้เลือดเข้มข้นสมบูรณ์ต้องทำดังนี้

1.หายใจแต่อากาศที่บริสุทธิ์ เพราะจะได้ออกซิเจนที่มากพอสำหรับใช้ทั้งร่างกาย สูดหายใจเข้าออกให้ยาวลึก เพื่อให้ได้ออกซิเจนมากที่สุดและกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด

2.กินอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่นตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว เพราะเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดที่จะใช้ขนส่งออกซิเจน

3.ออกกำลังกายทุกวัน เพราะการเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกายทำให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้สะดวก

4.เมื่อมีบาดแผล ต้องล้างแผลและระวังให้บาดแผลสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ทางเส้นเลือดและเนื้อเยื่อที่เปิดออก

5.เมื่อไม่สบาย หมอสั่งให้นอนพัก คุณก็ต้องพักเพราะจะทำให้เม็ดเลือดขาวมีโอกาสต่อสู้ทำลายเชื้อโรคได้อย่างเต็มที่

             


การบริจาดเลือดคืออะไร
การบริจาดเลือดก็คือการเอาเลือดในร่างกายของคนคนหนึ่งออกไปจำนวนน้อยเพื่อเอาไปให้คนป่วยคนหนึ่งในกรณีที่คนนั้น ๆ เสียเลือดไปมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือในกรณีที่มีเม็ดเลือดอยู่น้อยหรือขาดส่วนประกอบที่จำเป็นในเลือด อย่างเช่นกรณีที่บาดเจ็บเลือดออกมาก ผ่าตัดเสียเลือดไปมาก โลหิตจางอย่างร้ายแรง เป็นโรคเลือดบางอย่างเป็นต้น

ปัจจุบันเรามีธนาคารเลือดเป็นที่เก็บเลือดที่มีคนบริจาคเพื่อเก็บเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ในธนาคารเลือดจะมีเลือดสำรองเอาไว้ใช้ตลอดเวลาเขาเก็บเลือดเอาไว้ในตู้เย็น เลือดแต่ละรุ่นจะเก็บได้นาน 2-3 อาทิตย์ หากเราประสงค์จะบริจาคเลือดจะทำได้ทุก ๆ 3 เดือน เลือดของเรามีมากถึง 4-5 ลิตร บางคนมีมากถึง 6 ลิตร ถ้าเอาออกสัก 300-400 ซีซี. (ขนาดเท่ากับน้ำประมาณ 2 แก้ว) ไขกระดูกก็จะรีบสร้างเลือดใหม่มาให้ใช้ทดแทนภายใน 7 วัน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะมีเลือดใหม่มาหมุนเวียนใช้อยู่เรื่อยๆ เด็ก ๆ บริจาคเลือดไม่ได้เพราะร่างกายยังต้องเจริญเติบโต และร่างกายของเด็กมีเลือดน้อยกว่าผู้ใหญ่ เราเริ่มบริจาดเลือดได้เมื่อมีอายุ 18 ปี สถานที่ที่จะบริจาคเลือดได้คือสถานเสาวภา สำนักงานกาชาดทุกจังหวัดหรือโรงพยาบาลทุกแห่ง

เม็ดเลือดของคนเราแม้จะมีรูปร่างกลม ๆ เหมือนกันหมด แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันออกไปจนแบ่งกรุ๊ปใหญ่ได้ 4 กรุ๊ป คุณคงเคยได้ยินเรื่องกรุ๊ปเลือดมาบ้างแล้ว กรุ๊ป เอ, บี, เอบี และโอ เมื่อมีการให้เลือดหมอต้องทดสอบเลือดของผู้บริจาคกับเลือดของคนไข้ว่าเป็นกรุ๊ปเดียวกันหรือไม่ หมอจะให้เลือดกรุ๊ปเอกับคนที่มีเลือดกรุ๊ปเอ เลือดกรุ๊ปบี ให้คนกรุ๊ปบี แต่ในกรณีฉุกเฉินหมอสามารถให้เลือดกรุ๊ปโอแก่ทุกคนได้ เพราะร่างกายของทุกคนรับเลือดกรุ๊ปโอได้
แต่บางทีคุณอาจจะเคยได้ยินว่าคนเลือดกรุ๊ปเดียวกันอาจจะเข้ากันไม่ได้ ไม่สามารถถ่ายเลือดให้กันได้ เพราะเลือดยังมีกรุ๊ปย่อยอีกหลายกรุ๊ป เช่น อาร์ เอช เป็นต้น ดังนั้นทุกครั้งที่มีการถ่ายเลือด หมอจะต้องทดสอบอย่างละเอียด

การบริจาคเลือดทำได้ไม่ยากเพียงแต่เจาะเอาเลือดจากเส้นเลือดดำ บรรจุไว้ในถุงหรือขวดที่มีสารพิเศษกันเลือดแข็งตัว เวลาเจาะก็ไม่เจ็บ หลังจากบริจาคเลือดแล้วคุณจะไม่รู้สึกอะไรเลยทุกคนควรจะรู้กรุ๊ปเลือดของตนเอง เพื่อสะดวกในกรณีฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเลือดหรือรับเลือดการบริจาคเลือดไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่ผู้บริจาคจะอิ่มเอมใจในกุศลที่ได้ช่วยชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

ข้อมูลสื่อ

63-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 63
กรกฎาคม 2527
พญ.ลลิตา ธีระศิริ