• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกายตอนที่ 19

  
    

การตรวจตามระบบ
การตรวจตา (ต่อ)
เยื่อบุตาที่บุอยู่ด้านในของหนังตาทั้งบนและล่าง ถ้าแดงจัดเคืองตาและมีขี้ตามากแสดงว่า เยื่อบุตาอักเสบเกือบจะทั้งหมดแทบจะไม่มีสาเหตุอื่นอีกเลย ถ้าขี้ตาเป็นหนองมีสีเขียวสีเหลือง หรือสีขาวขุ่นข้น ให้ใช้ยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งป้ายตาที่ฆ่าเชื้อโรคได้ เช่น ยาหยอดตา หรือยาแก้ริดสีดวงตา ที่เป็นยาตำราหลวง (ยาสามัญประจำบ้าน)

ส่วนเยื่อบุตาที่บุอยู่บนตาขาว ถ้าตาแดงขึ้นมา อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า “ตาแดง” เพราะตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดงนั้นอาจเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบด้วยสาเหตุเช่นเดียวกับที่กล่าวมาไว้ข้างต้น หรือเกิดจากการอักเสบของตาส่วนในซึ่งมีอันตรายมาก

ตาแดงที่เกิดจากเยื่อบุตาอักเสบซึ่งไม่ค่อยอันตราย และลองรักษาเองดูก่อนได้ กับตาแดงที่เกิดจากการอักเสบของตาส่วน ส่วน ในซึ่งอันตราย และไม่ควรจะลองรักษาเอง อาจจะแยกจากกันได้โดย ตาแดงที่เกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ จะมีอาการคันตา เคืองตา เหมือนมีฝุ่นผงเข้าตา ตาแดงจากส่วนนอก (รูปที่ 1 ก.) น้ำตาน้อย ขี้ตามาก และอาจเป็นหนอง
 

   

 


ส่วนตาแดงที่เกิดจากการอักเสบของตาส่วนใน จะปวดตา ตาลืมไม่ค่อยได้เพราะกลัวแสงสว่าง ตาแดงจากส่วนใน (ตาดำ) ออกสู่ส่วนนอก (รูปที่ 1 ข.) ตามักไม่แดงจัด น้ำตามาก ขี้ตาน้อยและไม่เป็นหนอง ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกันก็จะเปรียบเทียบกันได้ดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบลักษณะของตาแดงที่ไม่ค่อยอันตราย ซึ่งเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ กับ ตาแดงที่อันตรายซึ่งเกิดจากการอักเสบของตาส่วนใน

 

ตาแดงที่ไม่ค่อยอันตราย

 ตาแดงที่อันตราย

 1.คันตา แสบตา

เป็นมาก

 เป็นน้อย

 2. ปวดตา ตากลัวแสง

เป็นน้อย

เป็นมาก 

 3.หลับตาแล้วใช้นิ้วกดลงบนหนังตาบน

ไม่เจ็บหรือเจ็บน้อย

 เจ็บมาก

 4.น้ำตา ขี้ตา

น้ำตาน้อย ขี้ตามาก อาจเป็นหนอง

น้ำตามาก ขี้ตาน้อย ไม่เป็นหนอง 

 5.ตาดำ( กระจกตา)

ปกติ 

ขุ่นมัว ไม่ปกติ

 6.ตาแดง

อาจแดงจัดได้ แดงทั่วไปหรือแดงจากส่วนนอกเข้าหาตาดำ( รูปที่ 1 ก.) 

ไม่แดงจัด แดงเรื่อๆ และแดงจากตาดำแผ่ออกไปข้างนอก( รูปที่ 1 ข.)

 7.ให้ผู้ป่วยมองขึ้นแล้วกดหนังตาล่างผ่านตาดำลงมาข้างล่าง

ตาแดงส่วนที่กดจะซีดขาวอยู่ตลอดเวลาที่กด ( ดูรูปที่ 2)

ตาแดงส่วนที่ถูกกดจะไม่ซีดขาว หรือซีดไปชั่วครู่เดียว ก็กลับมาแดงใหม่ 

 8.รูม่านตาทั้ง 2 ข้าง

ปกติ และ เท่ากัน

ไม่ปกติ และไม่เท่ากัน

การตรวจเยื่อบุตา จึงตรวจทั้งเยื่อบุตาทางด้านในของหนังตา และที่คลุมอยู่บนตาขาว เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสี ของความเรียบความหนาบาง น้ำตา ขี้ตา ฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอม และความปกติอื่นๆ

 

            


8.สายตา คือความสามารถที่จะมองเห็นได้ ไม่ใช่ขี้ตาที่ออกมาเป็นสาย หรือร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือดในนวนิยายรักระทมเหล่านั้น

 

                                           

คนที่ สายตาปกติ
จึงหมายถึง คนที่มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องใส่แว่นหรือใช้อุปกรณ์ช่วย

 

                                             


คนที่ สายตาสั้น
หรือเรียกย่อๆ ว่า ตาสั้น จึงหมายถึง คนที่ต้องอ่านหนังสือในระยะที่ใกล้กว่าที่คนสายตาปกติจะอ่านได้ ดังนั้น วิธีตรวจง่ายๆ คือ ให้ดูรูปหรือหนังสือ ถ้าต้องเอารูปหรือหนังสือนั้นมาวางใกล้ๆ แล้วจึงเห็นชัด ก็แสดงว่าตาสั้น ในคนที่ตาสั้นมากๆ อาจจะต้องเอาหนังสือมาติดกับจมูกแล้วจึงจะอ่านได้ แก้ได้โดยใส่แว่นสำหรับตาสั้น

 

                                            


คนที่ สายตายาว
หรือเรียกย่อๆ ว่า ตายาว หมายถึง คนที่ต้องอ่านหนังสือในระยะที่ไกลกว่าคนที่สายตาปกติจะอ่านได้แต่เวลามองสิ่งที่อยู่ไกลๆ ก็เห็นไม่ชัดเช่นเดียวกัน ดังนั้น วิธีตรวจง่ายๆ คือให้ดูรูปหรือหนังสือ ถ้าตั้งเอารูป หรือหนังสือนั้นยื่นออกไปไกลๆ แล้วจึงจะเห็นชัด และเวลามองต้นไม้
หรือระยะที่อยู่ไกลๆ ก็เห็นไม่จัด ก็แสดงว่าสายตายาว แก้ได้โดยใส่แว่นสำหรับตายาว ซึ่งอาจจะต้องใช้แว่นถึง 2 คู่ คู่หนึ่งสำหรับมองของที่อยู่ไกลๆ เช่นใส่อยู่ตลอดเวลา ส่วนอีกคู่หนึ่งสำหรับอ่านหนังสือ หรือมองของที่อยู่ใกล้ๆ หรือบางคนขี้เกียจพก แว่น 2 คู่ก็ทำเป็นแว่นคู่เดียว แต่กระจกแว่นแบ่งเป็นส่วนบนสำหรับมองไกล และส่วนล่างสำหรับอ่านหนังสือ

คนที่ สายตาแก่ หรือเรียกกันทั่วไปว่า ตาคนแก่ หมายถึง คนที่ต้องอ่านหนังสือในระยะที่ไกลกว่าคนที่สายตาปกติจะอ่านได้ แต่เวลามองสิ่งที่อยู่ไกลๆ จะเห็นชัดเหมือนกับคนปกติ ดังนั้น วิธีตรวจง่ายๆ คือให้ดูรูปหรือหนังสือ ถ้าต้องเอารูปหรือหนังสือนั้นยื่นออกไปไกลๆ แล้วจึงจะเห็นชัด แต่เวลามองต้นไม้หรืออะไรที่อยู่ไกลๆ มองเห็นได้เป็นปกติ ก็แสดงว่าตาคนแก่ แก้ได้โดยใส่แว่นสำหรับตาคนแก่หรือใส่แว่นสำหรับตายาวที่ใช้ไว้สำหรับอ่านหนังสือ (คนแก่ที่กำลังใช้แว่น อ่านหนังสือ หรือเย็บปักถักร้อยอยู่ เวลาลูกหลายส่งเสียงดังจึงมักใช้วิธีก้มหน้าและมองลอดแว่น (ผ่านด้านบนของแว่น) ออกมาเพื่อจะได้เห็นสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ชัด)
อย่างไรก็ตาม ตาสั้น ตายาว หรือตาคนแก่ นี้อาจพบได้ในทุกอายุ และอันที่จริงแล้ว เด็กๆ ที่ตายาว มีจำนวนมากกว่าเด็กๆ ที่ตาสั้น

คนที่ สายตาเอียง หรือเรียกย่อๆ ว่า ตาเอียง หมายถึงคนที่กระจกตา มีส่วนโค้งโดยรอบไม่เท่ากัน (ไม่ได้หมายถึงคนที่ตาเหร่ ตาเข) คนที่ตาเอียงจะมองเห็นได้คล้ายคนปกติ หรืออาจเกิดร่วมกับสายตาสั้นหรือสายตายาวก็ได้ วิธีตรวจว่าสายตาเอียงหรือไม่นั้น ต้องการเครื่องมือพิเศษไม่สามารถตรวจโดยวิธีง่ายๆ ได้

คนที่ ตาเหร่ - ตาเขนานๆ ก็จะมีสายตาผิดปกติได้โดยเฉพาะตาข้างที่ไม่ได้ใช้มองดูเป็นประจำ เพราะคนตาเหร่ตาเข ส่วนใหญ่จะใช้ตาเพียงข้างเดียวในการมองดูสิ่งต่างๆ ตาข้างที่ไม่ได้ใช้เป็นประจำจะเสื่อมสภาพ และทำให้มองเห็นไม่ชัด ดังนั้น เด็กที่เกิดมาตาเหร่ - ตาเข ควรจะได้รีบแก้ไขตั้งแต่เล็กๆ เพื่อไม่ให้สายตาข้างหนึ่งเสื่อมสภาพไป

วิธีตรวจตาเหร่ ตาเข ในรายที่เป็นไม่มาก อาจตรวจได้ง่ายโดยให้คนไข้มองสิ่งของที่อยู่ไกลสิ่งหนึ่งแล้วบังตาข้างที่จะตรวจด้วยกระดาษแข็งหรือแผ่นไม้หรือใบไม้ ให้คนไข้มองของที่อยู่ไกล จนตาข้างที่เปิดอยู่นิ่งแล้วจึงเปิดตาข้างที่บังไว้โดยเอาสิ่งที่บังออก ถ้าตาข้างนั้นมีการเคลื่อนไหวเพื่อไปมองของที่อยู่ไกลนั้น ก็แสดงว่า คนไข้มีสภาวะตาเหร่ ตาเข ถ้าตาข้างนั้นไม่มีการเคลื่อนไหว ก็เป็นปกติ แล้วอาจจะตรวจตาอีกข้างหนึ่งได้ในทำนองเดียวกัน คนที่สายตาผิดปกติ อาจจะตรวจได้โดยใช้รูปหรือตัวหนังสือ มาตรฐานของสเนลเล่น (Snellen’s chart) ซึ่งได้ย่อส่วนลง มาพิมพ์ไว้ให้ในหนังสือ “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่แล้ว (รูปที่ 3)

 

 

 

 รูปที่ 3
 
รูปมาตรฐานสำหรับมองดู ในระยะ 3 เมตร หรือ 10 ฟุตเพื่อตรวจสอบสายตาว่าผิดปรกติหรือไม่ ตัวเลข ด้านซ้ายมือเป็นจเลขที่ของรูปแถวที่อ่านได้ ตัวเลขด้านขวามือ เป็นตัวเลขสากลที่แสดงถึงความสามารรถในการมองเห็น เช่นยืนอยู่ในระยะ 6 เมตรจากรูปแล้วเห็นชัดเฉพาะแถวที่ 6/60 หรือ 0.1 แสดงว่าสายตาผิดปรกติ เพราะคนที่สายตาปกติจะมองเห็นรูปแถวนี้ได้ในระยะชัด 60 เมตร แต่ถ้ามองชัดได้ในแถวที่ 6/6 หรือ 0.1 หรือมากกว่าก็แสดงว่าสายตาปกติ

 

 

 

 

 

 

 



ให้นำรูปนี้ไปตั้งห่างจากตาคนไข้ 3 เมตร หรือ 10 ฟุต ในที่ที่สว่างพอ ตรวจสายตาของตาคนไข้แต่ละข้าง โดยใช้กระดาษ ใบไม้ หรือแผ่นไม้บังตาข้างหนึ่งไว้ แล้วให้คนไข้บอกลักษณะของรูปที่เห็น จากแถวแรกลงมาเรื่อยๆ ถ้าบอกแถวแรกได้ถูกต้องว่า เป็นวงกลม และ กากบาท ก็ให้เรื่อยลงมาดูแถวที่ 2 ถ้าถูกต้องอีก ก็ลงมาแถวที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ได้ สายตาจะดีกว่าปกติหรือถือว่าปกติ นั่นเอง
ถ้าคนไข้อ่านได้ถูกต้องเฉพาะแถวที่ 5 หรือ น้อยกว่านั้นก็แสดงว่า สายตาผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของสายตา หรือเกิดจากความผิดปกติอื่น ให้ใช้เข็มเจาะรูเล็กๆ บนกระดาษใบไม้หรือแผ่นไม้ที่ใช้บังตา แล้วให้คนไข้มองรูปมาตรฐานนี้
โดยมองผ่านทางรูที่เจาะไว้
ถ้าคนไข้มองเห็นได้เท่าเดิม เช่น เดิมเคยอ่านได้ถูกต้องแค่แถวที่ 2 พอมองผ่านรูเข็ม แล้วก็ยังเห็นแค่แถวที่ 2 จะแสดงว่าสายตาผิดปกติเพราะมีความผิดปกติในดวงตา ไม่ใช่ความผิดปกติของสายตาเท่านั้น เช่น อาจจะเป็นต้อกระจก ต้อหิน ต้อลำใย จอรับภาพเสื่อม หรืออื่นๆ
ถ้าคนไข้มองเห็นชัดเจนขึ้น เช่น เดิมเคยบอกได้ถูกต้องแค่แถวที่ 2 พอมองผ่านรูเข็ม แล้วบอกได้ถูกต้องถึงแถวที่ 4 หรือมากกว่า จะแสดงว่าสายตาผิดปกติเอง
เมื่อตรวจพบว่า สายตาผิดปกติเองแล้ว ก็อาจจะตรวจว่า ตาสั้น หรือ ตายาว ได้โดยใช้รูปมาตรฐานแบบตรวจใกล้ซึ่งได้
 

  


ให้ไว้ในขนาดเท่าของจริงในหนังสือ “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่แล้ว (รูปที่ 4)ให้นำรูปนี้ไปตั้งห่างจากตาคนไข้ประมาณ 1 ฟุต ในที่ที่สว่างพอแล้วตรวจสายตาของแต่ละข้างโดยใช้กระดาษ ใบไม้ หรือ
แผ่นไม้บังตาข้างหนึ่งไว้ แล้วให้คนไข้บอกว่าวงกลมที่เห็นมีรูเปิดอยู่ทางด้านใด ด้านบนด้านล่าง ด้านซ้ายด้านขวา หรือรูเปิดเฉียงไปทางไหน โดยใช้นิ้วชี้แสดงก็ได้ ถ้าคนไข้อ่านแถวสุดท้าย (ที่มีเครื่องหมายดอกจันทร์*)ได้ชัดเจนในระยะ 1 ฟุต ถึง 1 ฟุตครึ่ง (ประมาณ 2 คืบผู้ใหญ่) ก็แสดงว่าตาปกติ แต่ถ้าต้องมองในระยะใกล้กว่า 1 ฟุตจึงจะเห็น ก็แสดงว่าตาสั้น ถ้าต้องมองในระยะไกลกว่า 1 ฟุตครึ่ง ก็แสดงว่าตายาว
 

   


ส่วนคนที่ ตาบอดสี
หมายถึง คนที่ไม่สามารถมองเห็นสีบางสี เช่น ไม่เห็นสีแดง หรือ สีเขียว เป็นต้น หรือคนที่เห็นสีแดงเป็นสีเขียว หรือ สีเขียวเป็นสีแดง เป็นต้น วิธีตรวจอย่างง่ายๆ ให้ใช้รูปสีที่ได้ตีพิมพ์ไว้ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่แล้ว (รูปที่ 5)


ให้นำรูปที่ 5 นี้วางห่างจากตาคนไข้ประมาณ 1 เมตร หรือ 3 ฟุตครึ่ง (ถ้าคนไข้จำเป็นต้องใส่แว่น ให้ใช้แว่นได้แต่ไม่ควรใช้แว่นสี (กระจกแว่นที่มีสี) เพราะจะทำให้เห็นสีผิดไปได้)และให้ดูไม่เกิน 15 วินาที (ถ้าไม่มีนาฬิกาให้นับ 1 ถึง 15แบบที่กรรมการห้ามมวยนับเวลานักมวยถูกน็อคก็ได้) แล้วให้คนไข้บอกว่าเห็นตัวเลขอะไร

ในรูป 5 ก. คนปกติจะเห็นตัวเลข “182” แต่คนที่ตาบอดสีอาจเห็นแค่เลข “8” ถ้าไม่เห็นตัวเลขอะไรเลย แสดงว่า ตาบอดสีทั้งหมด หรือแกล้งทำเป็นตาบอด

ในรูป 5 ข. คนปกติจะเห็นตัวเลข “69” แต่คนที่ตาบอดสีอาจเห็นเป็นตัวเลข “96” “99” “66” หรือ “00” อย่างใด อย่างหนึ่ง

คนไทยที่ตาบอดสีแต่กำเนิดพบน้อย และคนที่เป็นก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ส่วนคนที่เกิดตาบอดสีทีหลังมักมีปัญหามากเพราะความเคยชินมันเปลี่ยนไป และคนที่ตาบอดสีทีหลังมักเกิดร่วมกับอาการตาพร่ามัว มองเห็นอะไรไม่ชัด ซึ่งอันตราย อาจเกิดความผิดปกติในสมอง ในดวงตาหรือเกิดจากยา อาหาร และสิ่งเป็นพิษยาหลายชนิดทำให้ตาบอดได้ ไม่ว่าจะเป็นยาฝรั่ง ยาไทย ยาสมุนไพร หรืออื่นๆ ในปัจจุบันยาฝรั่งที่ทำให้คนไทยตาบอดมากคือ ยารักษาวัณโรค พวกเอ็ทแธมบูตอล (ethambutol) ซึ่งมีชื่อการค้าหลายอย่าง เช่น บูตอล (Botol), ไมแอมบูตอล(Myambutol), คอนบูตอล (Conbutol), เด๊กแซมบูตอล (Dexambutol), อีทีบี (Etibi) เป็นต้น

ดังนั้น ใครก็ตามที่กินยา อาหาร หรือสิ่งอื่น แล้วเกิดอาการตาพร่ามัว หรือสายตาผิดปกติ หรือตาบอดสี ขึ้น จะต้องรีบหยุดยา อาหาร สิ่งอื่นที่ต้องสงสัยทันที มิฉะนั้นตาอาจจะบอดได้ถ้าอยู่ใกล้โรงหมอโรงพยาบาลรีบไปหาหมอทันที และเอายา อาหาร หรือสิ่งที่ต้องสงสัยไปให้หมอดูด้วยถ้าอยู่ไกลหมอมากๆ จนไม่มีทางจะไปหาหมอให้ลองกินยาวิตามินบี หนึ่ง-หก-สิบสอง หรือ วิตามินบีรวมอย่างเข้ม (B-complexforte)ครั้งละหนึ่งเม็ดวันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร และอาจใช้ยาเพร็ดนิโซโลน หรือ เด๊กซาเมธาโซน ครั้งละ1-2 เม็ดวันละ 4 ครั้ง หลังอาหารร่วมด้วย(คนที่ใช้ยาเพร็ดนิโซโลน หรือ เด๊กซาเมธาโซน จะต้องกินยาลดกรดครั้งละ 2 เม็ด หรือ ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง และก่อนนอน และเวลาท้องว่างหรือปวดท้องด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะลำไส้เป็นแผล หรือตกเลือด, ในคนที่เป็นโรคกระเพาะลำไส้ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเพร็ดนิโซโลน หรือ เด๊กซาเมธาโซน ต้องกินยาลดกรดทุก 1-2 ชั่วโมง ร่วมด้วย) ถ้ากินยาทั้ง 2 ชนิดแล้วอาการตาพร่ามัว หรือตาบอดสี ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน รีบหาทางไปให้หมอเขาตรวจรักษาจะดีกว่า เพราะถ้าตาบอดแล้วจะไม่คุ้มกัน


(อ่านต่อฉบับหน้า) 

ข้อมูลสื่อ

25-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 25
พฤษภาคม 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์