• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 20

 

    


การตรวจตามระบบ
การตรวจตา (ต่อ)
ในการตรวจสายตา นอกจากจะตรวจดูว่า ตาสั้น ตายาว ตาเห็นชัด และตาบอดสีหรือไม่แล้วยังควรจะตรวจ ลานสายตาด้วย

ลานสายตา (visual field) คือ อาณาบริเวณที่สามารถมองเห็นกว้างไกลออกไปจากจุดศูนย์กลางที่ตากำลังเพ่งอยู่ ไม่ใช่ลานสำหรับพักตา เหมือนลานสำหรับรถหรือเครื่องบินจอดพักแบบนั้น

โดยปกติ แม้ว่าเรากำลังอ่านหนังสือหรือเพ่งมองอะไรอยู่ แต่ถ้ามีอะไรไม่ว่าจะเป็นแมลง จิ้งจก คน หรืออื่นๆ ผ่านเข้ามาทางข้างๆ ตัวเรา เราก็จะมองเห็นได้ แม้จะไม่เห็นชัดเจนว่าเป็นอะไรที่เรามักจะพูดกันว่าเห็นอะไรแว่บๆ ผ่านสายตาไปแสดงว่าสิ่งที่ผ่านไปนั้น ผ่านเข้ามาในลานสายตาของเรา ทำให้เรามองเห็น ถ้าผ่านไปนอกลานสายตาของเรา เราก็จะมองไม่เห็นเลย
 

   


วิธีตรวจลานสายตา อาจจะทำได้อย่างง่ายๆโดยนั่งลงหน้าคนไข้ที่นั่งอยู่โดยอยู่ห่างกันประมาณ 1 เมตร ถ้าต้องการตรวจลานสายตาขวาของคนไข้ ก็ให้คนไข้ใช้มือซ้ายปิดตาซ้ายของเขาไว้ และให้คนไข้จ้องตา (จ้องดูตา) ซ้ายของผู้ตรวจโดยผู้ตรวจใช้มือขวาปิดตาขวาของตนเอาไว้ ผู้ตรวจก็ต้องใช้ตาซ้ายของตนจ้องดูตาขวาของคนไข้เช่นเดียวกัน (ดูรูปที่ 1)

หลังจากนั้น ผู้ตรวจให้นิ้วชี้ของมือซ้ายที่เหลืออยู่ยื่นออกไปจนสุดแขนโดยให้นิ้วชี้นั้นอยู่ในแนวกลางระหว่างคนไข้กับผู้ตรวจนั่นคือ อย่าให้นิ้วชี้นั้นอยู่ใกล้คนไข้มากกว่าหรือน้อยกว่าผู้ตรวจ กระดิกนิ้วชี้นั้นน้อยๆ แล้วค่อยๆ เลื่อนนิ้วชี้เข้ามาใกล้ตาช้าๆ เมื่อใดที่คนไข้เริ่มเห็นนิ้วชี้นั้น ทั้งที่ยังจ้องตาผู้ตรวจอยู่ จุดนั้นก็จะเป็นจุดนอกสุดจุดหนึ่งสำหรับลานสายตาของคนไข้


ในขณะที่ตรวจ ตาของคนไข้และของผู้ตรวจจะต้องจ้องกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เหลือบไปมองนิ้วชี้ที่กระดิกอยู่เป็นอันขาด ถ้าผู้ตรวจเปลี่ยนทิศทางของนิ้วชี้ เช่นให้เข้ามาจากด้านบนบ้างด้านล่างบ้าง ด้านใน (ด้านทางดั้งจมูก) บ้าง ด้านนอก(ด้านข้าง) บ้าง ด้านเฉียงๆ บ้าง เราก็จะได้ลานสายตาของคนไข้ในทุกทิศทางและจะบอกได้ว่า ลานสายตาของคนไข้กว้างเป็นปกติ หรือแคบลงโดยทั่วไปหรือแหว่งเว้าเป็นบางตอน ซึ่งจะแสดงว่าตาผิดปกติหรือสมองผิดปกติ


การที่จะบอกได้ว่าลานสายตาของคนไข้แคบกว่าปกติ หรือไม่อย่างง่ายๆ ก็โดยใช้เปรียบเทียบกับคนปกติซึ่งเป็นคนที่ตรวจคนไข้ ถ้าขณะที่เลื่อนนิ้วชี้จากส่วนไกลๆ เข้ามาหาตา แล้วผู้ตรวจเห็นนิ้วนั้นก่อนที่คนไข้จะเห็นก็แสดงว่าคนไข้มีลานสายตาในทิศนั้นแคบกว่าผู้ตรวจ (ต้องระวังให้นิ้วชี้นั้นอยู่ในแนวกลางระหว่าคนไข้กับผู้ตรวจ มิฉะนั้นจะทำให้ตรวจผิดได้ )

   


ในรายที่ตรวจอย่างง่ายๆ แล้วพบว่าลานสายตาแคบ หรือผิดปกติ อาจจะต้องตรวจเพิ่มเติมโดยใช้เครื่องตรวจซึ่งในกรณีเช่นนั้นจะทำให้ได้ลานสายตาที่ค่อนข้างละเอียด (ดูรูปที่ 2) ซึ่งจะเห็นได้ว่าลานสายตาของคนปกตินั้นจะเห็นได้กว้างไกลทาง ด้านนอก (ด้านข้าง) และเห็นได้ไม่ไกลนักทางด้านใน (ด้านดั้งจมูก) เพราะจมูกมันบังไว้ ซึ่งตาอีกข้างหนึ่งจะช่วยดูแทนทางด้านนั้น
นอกจากนั้น ในลานสายตาของคนปกติทุกคน จะมีจุดบอดเล็กๆ จุดหนึ่ง (ดูรูปที่ 2) ซึ่งถ้ามีอะไรมาอยู่ตรงจุดบอดนั้นก็จะมองไม่เห็น ถ้าจุดบอดนี้ใหญ่มากตาคนนั้นก็ผิดปกติ


9.ตาดำ หมายถึงส่วนของตาที่มองเห็นเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลหรือในคนเผือก และในคนบางเชื้อชาติ เช่น ฝรั่งบางคน จะเห็นเป็นสีฟ้า (ส่วนตาขาวคือส่วนที่อยู่รอบตาดำ ซึ่งถูกคลุมด้วยเยื่อบุตาได้กล่าวไว้ในหัวข้อเยื่อบุตาในฉบับก่อนๆ แล้ว)

ตาดำประกอบด้วยหลายส่วน คือ
ก.กระจกตา
(cornea) คือส่วนของตาที่เห็นเป็นกระจกบางใสนูนออกมาจากลูกตา (ส่วนตาขาว) โดยเฉพาะเมื่อมองทางด้านข้าง (ดูรูปที่ 3)

  


ข.ม่านตา
(iris) คือส่วนที่อยู่หลังกระจกตา และเป็นส่วนที่เปิดปิดได้มีสีดำหรือสีน้ำตาล หรือในคนเผือกและในคนฝรั่งบางคนจะเป็นสีฟ้า ตรงกลางของม่านตาจะเป็นรูกลม ซึ่งเป็นสีดำสนิทเพราะข้างในตามืด แต่ถ้าส่องไฟเข้าไปตรงๆ และมองตามไฟเข้าไป จะเห็นเป็นสีแดงซึ่งเป็นสีของเนื้อแดงข้างใน รูกลมนี้เรียกว่า รูม่านตา (pupil) ซึ่งจะใหญ่ขึ้นเวลาอยู่ในที่มืดและหรี่ตาลงเมื่ออยู่ในที่สว่างจ้า
 

ค.แก้วตา (lens) คือ แว่นขยายหลังม่านตา ทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอรับภาพที่ด้านในของลูกตา โดยทั่วไป จะมองไม่เห็นแก้วตานี้ เพราะแก้วตานี้จะใสมาก และจะสะท้อนเงาของภาพที่อยู่ตรงหน้าออกมาแทน ที่เรามักจะเรียกกันว่า เห็น “ตุ๊กตา” อยู่ในตาดำ
 

ง.ห้องหน้า (anterior chamber) คือส่วนที่อยู่ระหว่างม่านตา กับกระจกตา ซึ่งจะมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่โดยทั่วไปจะเห็นเป็นส่วนแคบๆ ระหว่างม่านตากับกระจกตา
 

จ.วุ้นตา (vitreous) คือ เมือกที่อยู่ระหว่างแก้วตากับจอรับภาพโดยทั่วไปจะมองไม่เห็นวุ้นตานี้ เพราะวุ้นตาจะใสมากจนมองไม่เห็น
 

ฉ.จอรับภาพ (retina) คือ เยื่อบุลูกตาด้านในที่ทำหน้าที่รับภาพ และส่งภาพนี้ไปตามเส้นประสาทตาที่โผล่ออกทางด้านหลังของลูกตาไปสู่สมอง สมองจะเป็นผู้บอกว่า ภาพนั้นเป็นภาพอะไร อยู่ใกล้หรือไกลแค่ไหน มีอันตรายหรือไม่ ฯลฯ


การตรวจกระจกตา : กระจกตาปกติจะเป็นรูปโค้งนูนออกจากลูกตาเป็นระดับสม่ำเสมอโดยตลอด จะบางใสเรียบ และสะท้อนแสงเหมือนกระจกใส

    


ถ้าเห็นกระจกตาใดขุ่น จะขุ่นทั้งหมดหรือเป็นบางส่วน กระจกตานั้นก็ผิดปกติและคนไข้จะมีอาการตาพร่ามัวเหมือนมีม่านหมอกมาบัง ท่ีพบบ่อย คือ “ต้อลำใย” ซึ่งเกิดจากกระจกตาถูกกระทบกระแทกจนเป็นแผล จากสะเก็ดไม้ เศษหิน หรืออื่นๆ เมื่อแผลหาย ก็จะเกิดแผลเป็น ซึ่งมีลักษณะขุ่นขาวคล้ายเนื้อลำใยที่กระจกตา (ดูรูปที่ 4) ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “ต้อลำใย” ซึ่งถ้าเป็นมากจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตานั้นจึงจะเห็นใหม่ได้การผ่าตัดเปลี่่ยนกระจกตานี้จำเป็นต้องใช้กระจกตาของคนอื่นบรรดาผู้ที่ใจบุญทั้งหลายจึงได้อุทิศดวงตาของตนให้แก่ศูนย์สภากาชาดไทย เมื่อตนตายไปแล้วดวงตาของตนจะได้ทำให้คนตาบอดมองเห็นขึ้นมาได้ใหม่ แทนที่จะปล่อยให้ดวงตาของตนเน่าเปื่อยไปพร้อมกับร่างกายของตน

  


ถ้าเห็นกระจกตาใดขรุขระไม่เรียบ กระจกตานั้นก็ผิดปกติซึ่งอาจจะเกิดจากแผลเป็น (ต้อลำใย) หรือการอักเสบของกระจกตา (ดูรูปที่ 5)

ถ้าเห็นกระจกตาใดไม่เป็นส่วนโค้งนูนที่มีระดับอย่างสม่ำเสมอเท่ากัน กระจกตานั้นก็ผิดปกติและจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า สายตาเอียง แต่โดยทั่วไปแล้ว การตรวจระดับสม่ำเสมอของกระจกตานี้จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษ

   

ถ้าเห็นขอบโดยรอบของกระจกตามีสีขาว (รูปที่ 6) แสดงว่าตาคนนั้นเริ่มแก่แล้ว จึงเกิดเป็นวงขาว (arcus senilis)

ถ้าเห็นขอบโดยรอบของกระจกตามีสีสนิมเหล็ก (ดูรูปที่ 7) แสดงว่ามีทองแดงไปเกาะอยู่ที่ขอบโดยรอบกระจกตา เป็นวงสีน้ำตาลแดง (Kayser-Fleischer ring) ซึ่งพบในคนที่ทองแดงคั่งมากในร่างกาย เป็นต้น
 

   


การตรวจม่านตา
: ม่านตาปกติจะเห็นเป็นรูปกลม และมีรูกลมตรงกลาง เป็นรูม่านตา (ดูรูปที่ 8)

รูม่านตาจะใหญ่จะเล็กขึ้นอยู่กับการเปิดหรือปิดของม่านตา

ถ้าตาโดนแสงจัด ม่านตาจะปิด ทำให้รูม่านตาเล็ก

ถ้าอยู่ในที่มืด ม่านตาจะเปิด ทำให้รูม่านตาใหญ่

ยาหลายชนิดก็ทำให้รูม่านตาเปลี่ยนขนาดได้ เช่นยาหลอดตา หรือยาฉีดจำพวก อะโทรปีน(atropine) หรือโฮมะโทรปีน(homatropine) จะขยายรูม่านตาให้ใหญ่ขึ้น ยาหยอดตาหรือยาฉีดจำพวก พีโลคาร์ปีน (pilocarpine) จะหดรูม่านตาให้เล็กลง

ดังนั้น คนที่หมดสติ และมีรูม่านตาเล็กเป็นรูเข็ม อาจจะมีอาการหายใจช้าหรือหยุดหายใจด้วย จะต้องนึกถึงภาวะหมดสติจากฝิ่น เฮโรอีนหรือมอร์ฟีนเสมอ

รูม่านตาปกติจะเป็นวงกลมถ้ารูม่านตาบิดเบี้ยวไม่กลม แสดงว่าม่านตามีการอักเสบ หรือมีแผลเป็น ทำให้ม่านตาไม่สามารถปิดเปิดได้โดยสม่ำเสมอทั่วผืนม่านตาจึงทำให้รูม่านตาไม่เป็นวงกลม

รูม่านตาของตาทั้งสองข้างจะเท่ากัน และจะใหญ่ขึ้นหรือหดเล็กลงในเวลาเดียวกัน ถ้ารูม่านตาของทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากันแสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นที่ดวงตาเอง หรือเป็นความผิดปกตในสมองก็ได้

รูม่านตาปกติจะหดเล็กลง เมื่อใช้ไฟฉายหรือแสงสว่างอื่นส่องไปถูกตาแม้จะฉายไฟส่องไปถูกตาข้างเดียวรูม่านตาของตาทั้งสองข้างจะหดเล็กลงพร้อมกันและพอๆ กัน ดังนั้น

ถ้าส่องไฟไปที่ตาข้างใด แล้วรูม่านตาข้างนั้นไม่หดเล็กลง จะแสดงว่าม่านตาข้างนั้นผิดปกติหรือตาบอดสนิท หรือมีความผิดปกติที่สมองหรือประสาทที่มาควบคุมม่านตาข้างนั้น

ถ้าส่องไฟไปที่ตาข้างซ้าย แล้วรูม่านตาข้างซ้ายหดเล็กลง แต่รูม่านตาข้างขวาไม่หดเล็กลงแสดงว่าม่านตาข้างขวาผิดปกติหรือมีความผิดปกติที่สมองหรือประสาทที่มาควบคุมม่านตาข้างขวา
 

  


เมื่อให้คนไข้มองดินสอในระยะห่างประมาณ 1 เมตร แล้วค่อยๆ เคลื่อนดินสอเข้ามาเรื่อยๆ จนเข้ามาใกล้กับดั้งจมูกคนไข้ ถ้าคนไข้มีตาปกติ ตาทั้ง 2 จะเคลื่อนเข้ามาทางดั้งจมูก (เฉเข้าหากัน) และรูม่านตาจะหดเล็กลง ดังนั้นถ้าตาทั้งสองไม่เฉเข้าหากันหรือรูม่านตาไม่หดเล็กลงเวลามองของใกล้ ตาทั้งสองข้างหรือตาข้างหนึ่งข้างใดจะผิดปกติ รูม่านตาที่ค่อนข้างเล็กและหดเล็กลงได้เมื่อมองใกล้ แต่ไม่หดเล็กลงเมื่อถูกแสง (Argyll Robertson pupil) มักพบในโรคซิฟิลิสขึ้นสมอง (neurosyphilis)
ม่านตาโดยปกติจะเป็นแผ่นกล้ามเนื้อบางๆ ไม่มีรอยแหว่งเว้า ถ้ามีรูหรือรอยแหว่ง แสดงว่าม่านตาได้รับผ่าตัด หรือได้รับอันตรายจนม่านตาฉีกขาด (ดูรูปที่ 9)


ม่านตาโดยปกติจะเปิดปิดหรือเคลื่อนไหวได้โดยสม่ำเสมอและนิ่ง (ไม่สั่นพริ้ว)ถ้าม่านตามีการสั่นพริ้วเวลาลูกตาเคลื่อนไหวหรือเวลาม่านตาปิดหรือเปิด มักจะแสดงว่าแก้วตาที่รองรับอยู่ด้านหลังเคลื่อนหลุดไปจากที่เดิม หรือถูกผ่าตัดออกไป เช่นในรายที่ตัดเอาแก้วตาขุ่น (ต้อกระจก) ออกเพื่อให้ตาเห็นได้ใหม่

  


การตรวจแก้วตา : โดยปกติจะมองไม่เห็นแก้วตา ถ้าเมื่อใดมองเห็นแก้วตาได้โดยการตรวจธรรมดาๆ เมื่อนั้น แก้วตานั้นผิดปกติ เช่น แก้วตาเคลื่อนจากที่ (lens dislocation) (ดูรูปที่ 10) หรือแก้วตานั้นขุ่นเช่นเป็นต้อกระจก (cataract) (ดูรูปที่ 5)


การตรวจห้องหน้า : โดยปกติ ห้องหน้าจะเห็นเป็นลักษณะช่องว่างแคบๆ ระหว่างม่านตากับกระจกตา ถ้าเมื่อใดลักษณะช่องว่างนี้หายไป เพราะม่านตามาติดหรือมาชิดกับด้านหลังของกระจกตามาก แสดงว่ามีความผิดปกติ เช่นกระจกตาเป็นแผลทะลุ ทำให้ม่านตาเลื่อนออกมาจุกแผลทะลุที่กระจกตาไว้ หรือม่านตาอักเสบและมาเกาะติดกับกระจกตาหรือตานั้นเป็นต้อหินที่เกิดจากห้องหน้าแคบ (ดูรูปที่ 11)

  

การตรวจวุ้นตาและจอรับภาพ
ไม่สามารถจะตรวจได้โดยปราศจากกล้องดูตา จึงของดไว้ ไม่กล่าวถึงในที่นี้


10.แววตา หมายถึงลักษณะทางจิตใจหรืออารมณ์ที่แสดงออกทางตา
คนที่จิตใจสดชื่นแจ่มใส จะมีแววตาเป็นประกายสดชื่นงดงาม คนที่จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง จะมีแววตาที่แสดงออกเช่นนั้น คนที่ตาขวาง แสดงว่าคนนั้น กำลังโกรธหรือบ้า

คนที่ตาเหม่อลอย ไม่มีความรู้สึกที่แสดงออกทางแววตาแสดงว่าจิตใจเขาไม่อยู่กับเนื้อกับตัวกำลังเคลิ้มฝัน หรือกำลังจะบ้า (เป็นโรคจิต)

การสังเกตแววตาให้ชำนาญจะช่วยให้เราทราบถึงสุขภาพจิตของคนไข้ และช่วยให้การตรวจรักษาของเราถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

การตรวจตา จึงประกอบด้วยการตรวจคิ้ว หนังตา ขนตา ขี้ตา น้ำตา ลูกตา เยื่อบุตา สายตา ตาดำ และแววตา ดังได้กล่าวไว้ในฉบับก่อนๆ และฉบับนี้


(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

26-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 26
มิถุนายน 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์