• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 21

 

    
การตรวจตามระบบ
การตรวจหู

หูเป็นอวัยวะที่ใช้ฟังเสียง และช่วยในการทรงตัว การตรวจหูประกอบด้วยการตรวจ

1.ใบหู
ใบหูของคนเรามีลักษณะต่างๆ เช่น หูกาง หูแฟบ หูเล็ก หูใหญ่ ไม่มีติ่งหู มีติ่งหูใหญ่หรือยาน เป็นต้น จนหมอดูนำไปใช้ในการทำนายชีวิตและอนาคตของคนที่เป็นเจ้าของใบหูได้
แต่ในการเจ็บป่วย ใบหูที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคมีหลายอย่าง เช่น

ก.ตำแหน่ง ใบหูปกติจะเกาะติดอยู่กับศีรษะ โดยขอบบนของส่วนที่ติดกับศีรษะจะอยู่ในแนวเดียวกับระดับตา นั่นคือ ถ้าลากเส้นต่อจากหางตาออกไป เส้นนี้จะไปชนกับขอบบนของใบหูส่วนที่ติดกับศีรษะ (ดูรูปที่ 1)ใบหูที่เกาะต่ำ หรือสูงกว่าปกติ มักจะพบในคนที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์บางชนิด หรือในคนที่ปัญญาอ่อนแต่กำเนิด (ดู รูปที่ 2)

 


ข.รูปร่างลักษณะ
ใบหูที่เล็กหรือใหญ่ กางหรือหุบ ที่เป็นมาแต่กำเนิด มักจะเป็นลักษณะเฉพาะคน เช่นเดียวกับรูปร่างหน้าตาที่ไม่เหมือนกันของคนแต่ละคน

  

แต่รูปร่างลักษณะที่มาเปลี่ยนแปลงภายหลัง อาจจะเป็นเครื่องแสดงถึงโรคหรืออันตรายที่เคยได้รับมาก่อน เช่น ใบหูที่บิดเบี้ยวขรุขระเหมือนดอกกะหล่ำ มักเกิดจากอุบัติเหตุหรือการที่ใบหูนั้นได้รับการกระทบกระแทกจากการชกต่อย การเล่นกีฬาหรืออื่นๆ บางครั้งหูที่กางออก อาจเกิดจากก้อนเนื้อ หรือการบวมของเนื้อหลังหูซึ่งจะดันให้ใบหูกางออกร่องที่ติ่งหู (ดูรูปที่ 3) อาจบ่งถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในคนบางคนได้ 

ค.การกดเจ็บ ถ้าใช้นิ้วคลำหรือกดที่ใบหูส่วนใดแล้วเจ็บแสดงว่ามีการอักเสบในบริเวณนั้นหรือใกล้เคียง การกดเจ็บที่บริเวณติ่งหน้าหูมักจะบ่งถึงการอักเสบภายในหู ถ้ากดเจ็บที่บริเวณกระดูก (กะโหลกศีรษะ) หลังหูมักจะบ่งถึงการอักเสบของโพรงกระดูกในบริเวณนั้น แต่การอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหู หรือหลังหู ซึ่งเกิดจากการอักเสบในบริเวณหน้าหรือหนังศีรษะก็อาจจะทำให้เกิดการกดเจ็บในบริเวณดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

ง.สิ่งผิดปกติอื่นๆ เช่น ถุงน้ำ ถุงไขมัน มักจะเกิดเป็นเม็ดกลมเล็กๆ ในบริเวณติ่งหู ซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อนกลมเล็กใต้ผิว หนัง ค่อนข้างแข็ง เรียบ และกลิ้งไปมาได้เล็กน้อย ฝี แผล จุดเลือดออก ตุ่ม ปม หรืออื่นๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหูได้ 


2.รูหู
การตรวจรูหูอาจจะทำได้อย่างง่ายๆ โดยใช้ไฟฉายส่องหรือให้แสงแดดส่องเข้าไปในรูหูใช้มือข้างหนึ่งดึงใบหูเบาๆ ไปทางด้านหลังโดยเยื้องขึ้นทางด้านบนเล็กน้อย และใช้นิ้วมืออีกข้างหนึ่งกดติ่งหูไปทางด้านหน้า เพื่อให้รูหูเป็นแนวตรงจะได้มองเห็นรูหูได้ตลอดหรือเกือบตลอดทาง ในกรณีที่รูหูคดเคี้ยวมากอาจใช้กระดาษดำม้วนเป็นรูปกรวย (ดูรูปที่ 4)
 

   

 
สอดเข้าไปในรูหู ก็จะทำให้เห็นรูหูได้ดีขึ้น การใช้แว่นขยาย หรือเครื่องมือที่ใช้ดูรูหูก็จะช่วยให้ตรวจรูหูได้ดีขึ้น (ดูรูปที่ 5)ภายในรูหู อาจจะเห็นสิ่งผิดปกติต่างๆ ได้เช่น
 

  

ก. ขี้หู โดยปกติคนเราจะมีขี้หูเล็กๆ น้อยๆ ในรูหูเป็นประจำ ขี้หูเมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ จะเหมือนเมือกแฉะๆ ซึ่งต่อมาจะแห้ง กลายเป็นแผ่นหรือก้อนแข็งๆ สีนวลติดอยู่ในรูหู และมีกลิ่นซึ่งเป็นกลิ่นเฉพาะของมัน
ในบางคนขี้หูอาจจะมีกลิ่นผิดแปลกไปจากเดิม ซึ่งมักเกิดจากการมีเชื้อโรคเข้าไปสมทบด้วยหรือไปอาศัยขี้หูอยู่ ทำให้ขี้หูมีกลิ่นผิดแปลกไป เหมือนกลิ่นอาหารที่บูดเน่า หรืออื่นๆ
ในบางคนขี้หูอาจจะมีสีผิดแปลกไปจากเดิม หรือเป็นหนองจากการอักเสบของรูหูส่วนนอกหรือส่วนกลาง (ดูรูปที่ 6) บางคนที่เชื้อราขึ้นที่หู หรือรูหู อาจจะเห็นเป็นลักษณะฟุๆสีดำหรือสีอื่นเหมือนลักษณะเชื้อราที่ขึ้นตามอาหารก็ได้ ขี้หูที่มีสีแดงหรือแดงดำมักเกิดจากการมีเลือดออกเล็กๆ น้อยๆ ปะปนอยู่

 

 

ข. ผนังรูหู โดยปกติจะเป็นผิวที่เรียบ มีขนอ่อนสั้นคลุมอยู่ และไวต่อความรู้สึกมากเวลาแคะหู หรือไชหู จึงทำให้เกิดความเจ็บปวด และเกิดการอักเสบได้ง่าย เมื่อผนังรูหูอักเสบ จะเห็นผนังรูหูเป็นสีแดง อาจจะเห็นแดงเป็นส่วนๆ ตรงจุดที่ถูกแคะหรือระคายมาก หรืออาจจะเห็นแดงทั่วไปหมด อาจจะมีน้ำเหลืองเยิ้มหรือแห้งกรังอยู่ หรืออาจเป็นเลือดหรือเป็นหนองก็ได้

ในกรณีที่ไม่ระวังรักษาให้ดี หูจะมีกลิ่นเหม็นเน่า จากการติดเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและหนองที่คั่งค้างอยู่เกิดกลิ่นเหม็นเน่าขึ้น มักจะเกิดในกรณีที่เป็นหูน้ำหนวก หรือการอักเสบของหูชั้นกลางจนแก้วหูทะลุ และมีหนองไหลออกมาทางรูหูชั้นนอก

ค. แก้วหู เป็นเยื่อบางๆ ขวางกั้นระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง เมื่อส่องไฟเข้าไปในรูหู จะเห็นเหมือนกระจกฝ้าที่ปิดกั้นรูหูไว้และสะท้อนแสงกลับออกมาเหมือนแก้วจึงเรียกกันว่าแก้วหู ข้างในแก้วหูจะเห็นมีกระดูกเล็กๆ ติดอยู่ทางด้านใน ซึ่งเป็นส่วนของกระดูกฆ้อน (ดูรูปที่ 7) ส่วนกระดูกอีก 2 ชิ้น คือ ทั่ง และโกลน (ดูรูปที่ 6) จะมองไม่เห็น

 

  

โดยปกติ แก้วหูที่มองเห็นจะเห็นเป็นสีขาวขุ่นๆ มีส่วนสะท้อนแสงทางด้านหน้าส่วนล่าง มีลักษณะตึง เรียบ และเห็นส่วนของกระดูกฆ้อน (ดังในรูปที่ 7)


ถ้าเห็นแก้วหูบุ๋มเข้าไปข้างใน หรือโป่งออกมาทางรูหูชั้นนอกหรือแก้วหูขุ่นมัวไม่สะท้อนแสงเหมือนปกติ หรือขุ่นจนมองไม่เห็นส่วนของกระดูกฆ้อน หรือมีสีแดงจัด มักหมายถึงการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งมักจะมีอาการหูอื้อ ปวดหู ปวดหัว หรือมีเสียงแปลกๆ ในหูได้

 

  


ถ้าแก้วหูทะลุ น้ำเหลืองและหนองที่คั่งอยู่ในหูชั้นกลางจะไหลออกมาสู่หูชั้นนอก และรูทะลุนั้นจะเห็นเป็นรูสีดำที่แก้วหูส่วนใดส่วนหนึ่ง (ดูรูปที่ 8) ซึ่งบางครั้งใหญ่มากจนอาจทำลายแก้วหูเกือบทั้งหมด


3.การได้ยินเสียง อาจจะตรวจได้อย่างคร่าวๆ ว่าหูได้ยินเสียงน้อยลง (หูหนวก) หรือไม่โดย

3.1 การฟังเสียงกระซิบ ให้คนไข้นั่งหลับตาและหันข้างให้ผู้ตรวจซึ่งยืนห่างออกไปประมาณ 6 เมตร หรือ 3 วา แล้วให้ คนไข้ใช้นิ้วอุดหูด้านที่อยู่ตรงข้ามกับผู้ตรวจเพื่อให้หูด้านที่อยู่ใกล้กับผู้ตรวจคอยฟังเสียงกระซิบ หูปกติจะฟังเสียงกระซิบได้ใน ระยะ 6 เมตร

ถ้าไม่ได้ยิน ให้ผู้ตรวจเดินใกล้เข้ามาครั้งละ ½-1 เมตร แล้วดูว่าคนไข้จะได้ยินเมื่อใด เช่นถ้าได้ยินในระยะ 5 เมตร ก็เขียนว่าหูซ้าย 5/6 ถ้าคนไข้ฟังด้วยหูซ้าย เป็นต้น

ในการตรวจแบบนี้ ต้องระลึกไว้เสมอว่าเสียงกระซิบของคนตรวจแต่ละคนดังไม่เท่ากัน ดังนั้นคุณต้องทดสอบโดยใช้คนที่หูปกติมาฟังดูด้วยว่า ฟังได้ยินในระยะนั้นหรือไม่

 

3.2 การฟังเสียงนาฬิกา ใช้นาฬิกาข้อมือ หรือนาฬิกาปลุกที่เดินแล้วมีเสียงดังติ๊กๆๆ พอสมควร แล้วตรวจดูว่าหูคนไข้ได้ยินเสียงพอๆ กับคนหูปกติหรือไม่

หมายเหตุ การตรวจการได้ยินเสียงกระซิบหรือเสียงนาฬิกานี้อาจผิดพลาดได้ ถ้าคนไข้แกล้ง เช่น คนไข้ได้ยินแล้วแต่กลับบอกผู้ตรวจว่าไม่ได้ยิน เพื่อแกล้งเป็นคนหูหนวก หรือถ้าสถานที่ตรวจนั้นจ้อกแจ้กจอแจ (หนวกหู) มาก

ในกรณีที่คนไข้แกล้ง จะต้องใช้วิธีตรวจการได้ยินเสียงของคนไข้โดยไม่ให้คนไข้รู้ตัว เช่น ในขณะที่กำลังตรวจท้องหรือเท้าของคนไข้อยู่ อาจออกคำสั่งให้คนไข้ชันเข่า ยกเท้า ฯลฯ ด้วยเสียงกระซิบ หรือเสียงเบาๆ คนไข้อาจเผลอทำตามคำสั่งนั้นซึ่งจะ แสดงว่าหูคนไข้ยังได้ยินเป็นปกติ

วิธีการตรวจการได้ยินเสียงที่ดีที่สุด คือการใช้เครื่องตรวจการได้ยินเสียง (audiometer) ซึ่งจะบอกได้ว่าเสียงที่ไม่ได้ยินนั้นเป็นเสียงสูง หรือเสียงต่ำ หรือทุกคลื่นเสียง และหนวกมาก-หนวกน้อยเพียงใด คนที่แกล้งทำเป็นหูหนวกเมื่อเข้าเครื่องแล้ว ก็ จะจับได้ดีกว่าวิธีอื่น

 

  


3.3 การใช้ส้อมเสียง (tuningfork) ส้อมเสียงเป็นแท่งโลหะโค้งงอเป็นรูป u หรือ U และมีด้ามถือดัง ( รูปที่ 9 )ด้ามถือ เมื่อใช้มือหนึ่งจับด้ามถือ แล้วเคาะปลายส้อมกระแทกกับฝ่ามืออีกข้างหนึ่ง ส้อมเสียงจะสั่นและเกิดเป็นเสียงขึ้น
นำส้อมเสียงนี้ไปวางบนบุ๋มกระดูกหลังด้านล่าง (ปุ่มมาสตอยด์) โดยให้ปลายด้ามถือแตะปุ่มกระดูก เมื่อคนไข้ได้ยินเสียงสะเทือนนี้ผ่านทางปุ่มกระดูกจนไม่ได้ยินแล้ว ให้นำส้อมเสียงนี้มาใกล้รูหู (ดูรูปที่ 10)ถ้าคนไข้ยังได้ยินต่อไปอีกสักครู่ แสดงว่า การนำเสียงปกตินั่นคือ จะได้ยินเสียงที่นำผ่านอากาศเข้าทางรูหู ได้ดีกว่าได้ยินเสียงที่นำผ่านทางกระดูก

 

  


ถ้าคนไข้ไม่ได้ยินเสียงอะไรอีก ให้ลองเคาะส้อมเสียงอีกครั้งหนึ่ง แล้วเอาไปจ่อที่รูหูคนไข้ จนคนไข้ไม่ได้ยินเสียงแล้ว จึงนำไปแตะที่ปุ่มกระดูกด้านหลังหูคนไข้จะได้ยินเสียงผ่านทางปุ่มกระดูกต่อไปอีกสักครู่ ถ้าเป็นเช่นนี้ จะแสดงว่า การนำเสียงผ่านทางกระดูกดีกว่าการนำเสียงผ่านทางอากาศ หรือเรียกว่า หูหนวกเพราะการนำเสียงผิดปกติ (conduction deafness) ซึ่งมักเกิดจาก

ก. ขี้หูอัดแน่นรูหู ทำให้เสียงผ่านรูหูไม่สะดวก

ข. รูหูชั้นนอก หรือชั้นกลางอักเสบ มีหนอง น้ำเหลือง เม็ดถั่ว หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ในรูหู ทำให้เสียงผ่านรูหูไม่สะดวก

ค. กระดูกหูแข็ง (otosclerosis) คือ กระดูกเล็กๆ 3 ชิ้น (กระดูกฆ้อน, ทั่ง ,และโกลน) ในรูหูชั้นกลาง แข็งยึดติดกันเป็นชิ้นเดียวจนไม่สามารถสั่นสะเทือนรับเสียงจากแก้วหูเพื่อผ่านไปยังหูชั้นไนได้
ในคนไข้ที่ตรวจด้วยส้อมเสียงแล้วไม่ค่อยได้ยินทั้ง 2 ทาง คือ ทางกระดูก (เมื่อใช้ส้อมเสียงแตะที่ปุ่มกระดูก) และทางอากาศ (เมื่อใช้ส้อมเสียงไปวางไว้ใกล้ๆ รูหู) จะแสดงว่า หูหนวกเพราะการรับเสียงผิดปกติ (perceptipondeafness) ซึ่งมักเกิดจาก

ก. โรคติดเชื้ออย่างรุนแรง จนกระทบกระเทือนหูชั้นในหรือสมอง

ข. อุบัติเหตุ หรืออันตราย ที่ทำให้กะโหลกศีรษะแตกจนเส้นประสาทสมองเส้นที่ 8 (ที่ใช้รับเสียง) ถูกกระทบกระเทือน

ค. การได้ยินเสียงดังๆ อยู่เป็นเวลานานๆ จะทำให้หูหนวกหรือหูตึงได้

ง. การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตร๊ปโตมัยซิน, คานามัยซิน, ควีนิน, แอสไพริน รวมทั้งยาทัมใจ ยาประสระบอแรด และยาแก้ปวดอื่นๆ ที่เข้าแอสไพรินอาจจะทำให้หูตึง และหูหนวกได้

จ. เป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิด


การตรวจด้วยส้อมเสียง ยังอาจตรวจได้โดยวางส้อมเสียงลงตรงกลางส่วนบนของศีรษะ (ยอดศีรษะ) หรือกลางหน้าผากหรือกลางท้ายทอย แล้วให้คนไข้บอกว่าได้ยินเสียงชัดที่หูข้างใด

คนที่หูปกติ หรือหูผิดปกติ เท่ากันทั้ง 2 ข้าง จะได้ยินเสียงชัดเท่ากันทั้ง 2 ข้าง

คนที่มีหูข้างหนึ่งผิดปกติ ถ้าผิดปกติในด้านการนำ เสียง หูที่ผิดปกติจะได้ยินเสียงดังกว่าหูข้างที่ปกติ เพราะการนำเสียงผ่านกระดูกจะไม่ถูกลบล้างด้วยเสียงที่นำผ่านอากาศทางรูหู แต่ถ้าผิดปกติในด้านการรับเสียงหูข้างที่ผิดปกติจะได้ยินเสียงค่อย กว่าหูข้างที่ปกติ (ดูรูปที่ 11)

 

  


4.การตรวจการทรงตัว หูชั้นในมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งทำหน้าที่ฟัง (รับเสียง) อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่รับรู้ว่าเรากำลังอยู่ในท่าอะไร ท่านอน ท่านั่ง ท่าตะแคง ท่าเอียง และอื่นๆ
ส่วนที่ทำหน้าที่ฟัง ถ้าผิดปกติ ก็เกิดอาการหูตึง หรือหูหนวก ดังได้กล่าวถึงวิธีตรวจในข้างต้นแล้วแต่ในส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้ว่า เรากำลังอยู่ในท่าอะไรซึ่งเกี่ยวข้องกับการทรงตัวนี้ จะได้กล่าวถึงในช่วงนี้


ถ้าส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวนี้ผิดปกติไป คนไข้จะรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เหมือนคนเมารถเมาเรือถ้าเป็นมากอาจจะรู้สึกเหมือนบ้านกำลังโคลงไปโคลงมา หรือบ้านหมุนไปรอบๆ จนลุกขึ้นจากเตียงไม่ได้ต้องนอนอยู่เฉยๆ ถ้าเเคลื่อนไหวศีรษะหรือเปลี่ยนท่า เช่นจากนอนเป็นนั่ง หรือจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง หรืออื่นๆ จะเกิดอาการเวียนศีรษะมากขึ้นจนไม่กล้าขยับเขยื้อนเลย

ที่จริงถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้นอย่างชัดเจน ก็อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นความผิดปกติของหูชั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวได้เลย โดยไม่ต้องตรวจอย่างอื่นแต่ถ้าอยากจะตรวจทดสอบให้แน่ ก็อาจจะตรวจได้โดย

1.ให้คนไข้มองตามนิ้วของผู้ตรวจ จากด้านซ้ายสุดไปด้านขวาสุดหรือด้านบนสุด (ตาเหลือกขึ้นบน) ไปด้านล่างสุด (ตามอง ลงล่าง) ถ้าในขณะที่ตามองตามนิ้วไปจนสุดด้านใดด้านหนึ่ง แล้วตานั้นเกิดอาการสั่นกระตุก ก็แสดงว่าผิดปกติจริง (คนปกติจะไม่มีการสั่นกระตุกเช่นนี้)

2.ฉีดน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นๆ เข้าไปในรูหูข้างหนึ่งข้างใดเบาๆ จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลูกตาแบบในข้อที่ 1 แต่ถ้าไม่จำเป็นอย่าทำการตรวจนี้ เพราะจะทำให้คนไข้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนได้

3.ให้คนไข้นอนศีรษะอยู่นิ่งๆ จนหายเวียนศีรษะ แล้วลองให้ใช้ส้นเท้าของขาข้างหนึ่งวางลงบนเข่าของขาอีกข้างหนึ่ง แล้วลากส้นเท้านั้นลงไปตามสันหน้าแข้งจนถึงปลายเท้า ถ้าทำได้ดี ไม่สะเปะสะปะ ทั้ง 2 ข้าง จะแสดงว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวปกติดี เพราะฉะนั้นการทรงตัวที่เสียไปเกิดจากหูชั้นในแน่


หูชั้นในที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวเกิดผิดปกติ แล้วทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะนี้ มักเกิดจากการอักเสบหรืออื่นๆ โดยที่หา สาเหตุ ที่แน่นอนไม่ค่อยพบบ้างก็เกิดจากเชื้อไวรัส เช่นเชื้อหวัดจนบางคนเรียกว่า “หวัดลงหู” เหมือนที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนหนึ่งเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ จนเป็นข่าวเกรียวกราวในหน้าหนังสือพิมพ์

วิธีการรักษาง่ายๆ ก็คือ ให้นอนพัก รักษาความอบอุ่นของร่างกายกินอาหารและเครื่องดื่มร้อนๆ ถ้าคัดจมูกน้ำมูกไหลด้วยให้ใช้ยาคลอร์เฟนิรามีนกินครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหาร 3 เวลา และก่อนนอน ถ้าเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้อาเจียนมาก ให้ใช้ยาไดเมนไฮดรีเนต (เม็ดละประมาณ 60 สตางค์) หรือเมโตโคลปราไมด์ (เม็ดละประมาณ 90 สตางค์) ครั้งละ 1-2 เม็ดเวลามีอาการ
ยาเหล่านี้กินแล้วจะทำให้ง่วงเหงาหาวนอนได้ เพราะฉะนั้นถ้ากินแล้วง่วง ห้ามขับรถหรือทำอะไรที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายเป็นเด็ดขาด


(อ่านต่อฉบับหน้า)

ข้อมูลสื่อ

27-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 27
กรกฎาคม 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์