• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 22

 

     
การตรวจตามระบบ (ต่อ)
การตรวจจมูก
จมูกเป็นอวัยวะที่ใช้ดมกลิ่นและใช้หายใจ (เป็นทางผ่านของลมหายใจ) การตรวจจมูกประกอบด้วยการตรวจ

1.ลักษณะทั่วไป จมูกของคนเราย่อมมีรูปร่างลักษณะต่างๆ กันไป ตามกรรมพันธุ์และลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล จนหมอดูนำไปทำนายทายทักได้ต่างๆ นานา เช่น จมูกเชิด แสดงว่าเป็นคนหยิ่ง จมูกงุ้มเหมือนขอ แสดงว่าแกมโกง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในด้านสุขภาพแล้ว จมูกของคนเรานั้นจะโด่งหรือแบน บานหรือหุบ ใหญ่หรือเล็ก งุ้มหรือเชิด คดหรือตรงได้โดยไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่พอจะทำให้บอกได้ว่ามีปัญหาทางสุขภาพอยู่ เช่น

 

 

1.1 จมูกส่วนปลายพองใหญ่และแดง ผิวมักจะขรุขระด้วย ลักษณะเช่นนี้มักพบในคนที่ดื่มสุรามาเป็นเวลานานๆ หรือในคนที่ชอบแพ้อากาศจนเกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลและจามบ่อยๆ แต่ในบางครั้งก็เกิดขึ้นได้โดยไม่รู้สาเหตุ จมูกเช่นนี้ใครคนผิวขาวๆอาจจะเห็นเหมือนลูกชมพู่สีแดง แต่ไม่ใช่จมูกลูกชมพู่ผ่าซีกของเจ้าใหญ่นายโตบางคน เพราะลักษณะมันเหมือนกัน (ดูรูปที่ 1)

1.2 จมูกแบน หรือ จมูกหัก หมายถึง คนที่ไม่มีดั่งจมูกโด่งขึ้นมาจนเห็นชัด หรือดั้งจมูกดูเหมือนหักยุบลงไปตรงระหว่างหัวตาทั้งสอง (ดูรูปที่ 2)

 


 

ลักษณะเช่นนี้อาจจะเป็นลักษณะปกติ ตามเชื้อสายหรือกรรมพันธุ์ หรืออาจจะเป็นลักษณะผิดปกติ โดยเฉพาะถ้าร่วมด้วยลักษณะหน้าตา หรือส่วนอื่นของร่างกายผิดปกติด้วย เช่น จมูกแบนหรือหักในโรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติแต่กำเนิดที่เรียกว่า โรคธาลัสซีเมีย (ดูรูปที่ 4) ในโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดหรืออาจจะเกิดจากดั้งจมูกได้รับอันตรายจนดั้งจมูกหักยุบลง เช่น ในการชกต่อยกัน การกีฬา โรคเรื้อน เป็นต้น

 

 

1.3 จมูกใหญ่ หมายถึง จมูกที่แลดูใหญ่กว่าปกติ แต่ถ้าร่วมกับหน้าและคางที่ใหญ่ และยื่นกว่าปกติด้วย จะทำให้นึกถึงโรคต่อมใต้สมองทำงานมากกว่าปกติ (ดูรูปที่ 5) แต่ถ้าร่วมกับหน้าอูมใหญ่ ตาตี่เสียงแหบซ่า ก็จะทำให้นึกถึงโรคต่อมธัยรอยด์พร่อง (ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ) (ดูรูปที่ 6)แต่ถ้าร่วมกับแผลเป็นจนเป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระจะทำให้นึกถึงโรคผิวหนัง เช่น สิวเสี้ยนที่จมูกซึ่งถูกแกะถูกบีบจนเป็นหนองเป็นฝีบ่อยๆ ทำให้จมูกมีลักษณะดังกล่าว

1.4 ปีกจมูก บางคนจะมีปีกจมูกบาน (จมูกบาน) บางคนมีปีกจมูกหุบ บางคนมีปีกจมูกนุ่ม บางคนมีปีกจมูกแข็งต่างๆ กันไปแต่ถ้าเมื่อใด ปีกจมูกบานออกและหุบเข้าในขณะที่คนไข้หายใจเข้าออก จะแสดงว่า คนไข้กำลังหายใจลำบาก นั่นคือต้องใช้กำลังมากขณะหายใจเข้าออก


2. น้ำมูก
โดยทั่วไปจะเห็นได้เมื่อน้ำมูกถูกสั่งออกมาบนผ้าเช็ดหน้า หรือบนกระดาษเช็ดหน้า แต่ในบางครั้งก็อาจเห็นได้เมื่อมองเข้าไปในรูจมูก

น้ำมูกที่มีลักษณะเป็นเมือกใส มักเกิดในโรคหวัด (ไข้หวัด) โรคแพ้อากาศ (แบบคัดจมูก น้ำมูกไหล)

น้ำมูกที่ขุ่นข้น สีเหลือง หรือเขียว มักเกิดจากการติดเชื้อหนองทำให้น้ำมูกมีลักษณะเป็นหนองได้ เชื้อหนองนี้อาจเพียงทำ ให้เยื่อจมูกอักเสบ หรือ อาจจะลุกลามเข้าไปในโพรงกระดูกรอบจมูกทำให้โพรงกระดูกรอบจมูกอักเสบหรือที่เรียกว่า โรคไซนัสอักเสบก็ได้

น้ำมูกที่เป็นหนองและมีกลิ่นเน่าเหม็น ให้นึกถึงสิ่งแปลกปลอม เช่น เม็ดถั่ว เม็ดข้าวโพด หรืออื่นๆ ที่ถูกยัดเข้าไปในรูจมูกแล้วเอาออกไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าน้ำมูกไหลออกมาจากรูจมูกข้างเดียว (อีกข้างปกติ) โดยเฉพาะในเด็ก ถ้าออกจากรูจมูกทั้ง 2 ข้าง และมีสีเขียวหรือน้ำตาล พร้อมกับกลิ่นเหม็นให้นึกถึงโรคเยื้อจมูกอักเสบแบบฝ่อตัว ซึ่งจะเห็นสะเก็ดในผนังรูจมูกและสะเก็ดเหล่านี้มีกลิ่นเหม็นด้วย

 


3.เลือดกำเดา
โดยทั่วไปจะเห็นได้เมื่อเลือดไหลออกมาทางรูจมูก หรือไหลตกลงไปทางหลังจมูก ลงไปในคอ ทำให้ขากออกมาเป็นเสมหะปนเลือด หรือเป็นเลือดสดๆ แต่ในบางครั้ง เลือดน้อย ก็จะไม่ไหลออกมาให้เห็น และจะแห้งกรังอยู่ในรูจมูกเห็นได้โดยมองเข้าไปในรูจมูก หรือเมื่อสั่งน้ำมูก แล้วมีเลือดหรือสะเก็ดที่แห้งกรังติดออกมา

สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาออกที่พบบ่อยที่สุด คือ การกระทบกระแทกจมูก หรือแคะแกะเกาในรูจมูก

ถ้าเลือดกำเดาออกเองโดยไม่มีการกระทบกระแทกจมูก หรือการแคะแกะเกาในรูจมูกแล้วมักเกิดจากการแตกของเส้นเลือดฝอยในเยื่อบุรูจมูกโดยเฉพาะด้านล่างของรูจมูกส่วนนอก ซึ่งเป็นผลจากการสั่งน้ำมูกแรงๆ โรคไข้หวัด หรือเยื่อจมูกอักเสบจากเชื้อโรคอื่นๆ โรคความดันเลือดสูง โรคเลือดออกง่ายแบบต่างๆ หรือในขณะที่ขึ้นไปบนเขาสูงๆ หรือดำลงไปในน้ำลึกๆ เป็นต้น

 




4.รูจมูก การตรวจรูจมูกส่วนนอกอาจจะทำได้ง่าย โดยการใช้ไฟฉายส่อง ซึ่งตรงส่วนกลางจะเห็นเยื่อบุผนังกั้นรูจมูกทั้ง 2 ข้างเป็นสีชมพูและเรียบ ส่วนด้านข้างจะเห็นเป็นส่วนนอกของเนื้อโป่งในจมูก (turbinate) อันล่าง มีลักษณะคล้ายเนื้องอกออกมาเป็นลักษณะกลม เรียบ สีชมพู ถ้าจะตรวจให้ลึกเข้าไปข้างในกว่านี้ ต้องใช้เครื่องถ่างรูจมูกและใช้ไฟสะท้อนจากกระจกเงาที่เจาะรูตรงกลางให้ตามองลอดผ่านได้ (ดูรูปที่ 7) เพราะถ้าใช้ไฟฉายทั่วไป กระบอกไฟฉายจะบังรูจมูกทำให้มองไม่เห็นข้างใน

4.1 เยื่อจมูกที่แดงจัด แสดงถึงเยื่อจมูกอักเสบ และจะทำให้มีน้ำมูกไหลออกมาด้วย อาจเกิดจากโรคหวัด โรคแพ้อากาศ หรืออื่นๆ

4.2 ผนังกั้นจมูก (กั้นรูจมูกทั้ง 2 ข้าง) อาจเป็นรูทะลุ ซึ่งอาจเกิดจากการแคะแกะเกาเป็นประจำ หรืออาจเกิดจากโรคที่ทำลายผนังกั้นจมูกได้ เช่น ซิฟิลิส วัณโรค เป็นต้น

4.3 ผนังกั้นจมูกบิดหรือเบี้ยว ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิด แต่ถ้าบิดหรือเบี้ยวมากจนทำให้รูจมูกข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างหายใจไม่สะดวก มักเกิดจากการกระทบกระแทกโดยตรง

4.4เนื้องอก หรือริดสีดวงจมูก เป็นเนื้องอกที่มีลักษณะกลมเป็นเนื้อฟุๆ สีซีดซึ่งผิดกับลักษณะของเนื้อโป่งในจมูกซึ่งผิวเรียบและเป็นสีชมพู เนื้องอกหรือริดสีดวงจมูกมักเกิดในคนที่เป็นโรคโพรงกระดูกรอบจมูกอักเสบเรื้อรัง (โรคไซนัสเรื้อรัง)

4.5 สิ่งแปลกปลอม อาจจะเป็นเม็ดถั่ว เม็ดข้าวโพด หรือสิ่งอื่น มักจะเกิดในเด็กเพระเด็กชอบเล่นใส่ของเหล่านี้เข้าไปในรูจมูก บางครั้งสิ่งแปลกปลอมในรูจมูก เช่น เม็ดข้าว อาจเกิดจากการอาเจียน หรือสำลัก ทำให้เศษอาหารกระเด็นจากคอขึ้นไปอยู่ในรูจมูกทางด้านหลังได้

 




5.การตรวจความโล่งของรูจมูก
เนื่องจากจมูกมีไว้สำหรับหายใจ รูจมูกจึงจะต้องโล่งไม่ตีบตัน ซึ่งตรวจได้ง่ายๆ โดยให้คนไข้ใช้ปลายนิ้วหัวแม่โป้งอุดรูจมูกข้างหนึ่ง แล้วให้คนไข้หายใจเข้าออกแรงๆ ทางรูจมูกอีกข้างหนึ่ง

ถ้าหายใจได้สะดวก แสดงว่ารูจมูกข้างนั้นไม่ตีบแคบ หรืออุดตัน

ถ้าหายใจเข้าออกไม่ได้เลย แสดงว่ารูจมูกข้างนั้นตีบตัน

ห้ามตรวจโดยการกดปีกจมูกข้างหนึ่งเข้าไปเพื่อเปิดรูจมูก เพราะการกดเช่นนั้น อาจจะดันผนังกั้นจมูกโป่งเข้าไปในรูจมูกอีกข้างหนึ่งทำให้รูจมูกอีกข้างหนึ่งตีบแคบหรือตีบตันได้

สาเหตุที่ทำให้รูจมูกตีบตันหรือตีบแคบ คือเยื่อจมูกอักเสบเช่น จากโรคหวัด โรคแพ้อากาศ โรคไซนัส เป็นต้น หรือเกิดจากมีเนื้องอก สิ่งแปลกปลอม ผนังกั้นจมูกบิดเบี้ยว หรืออื่นๆ

 




6.การได้กลิ่น
อาจจะตรวจได้ง่ายๆ โดยให้คนไข้หลับตาแล้วดมกลิ่นต่างๆ ที่คนไข้รู้จัก ถ้าคนไข้บอกได้ถูกต้อง แสดงว่าการได้กลิ่นเป็นปกติคนที่ไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยกว่าคนอื่น มักเกิดจากเยื่อจมูกอักเสบ มีน้อยครั้งมากที่เกิดจากความผิดปกติในสมอง หรือเส้นประสาทสมองเส้นที่ 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับกลิ่น (ดูรูปที่ 9)


7.กลิ่นลมหายใจ หรือบางคนก็เรียกว่า กลิ่นปาก โดยทั่วไปกล่ินลมหายใจ หรือกลิ่นปากของคนแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่กลิ่นนั้นก็จางมาก จนไม่ได้กลิ่นเลย กลิ่นจากจะเข้าไปใกล้กันมากจนหน้าต่อหน้าชิดกัน หรือเกือบชิดกัน จึงจะได้กลิ่นกลิ่นลมหายใจที่ผิดปกติมีหลายอย่าง เช่น

7.1 กลิ่นเหม็น ส่วนมากจะมีกลิ่นเหมือนน้ำลายแห้ง สาเหตุมักเกิดจาก
ก. ปากไม่สะอาด ปากแห้ง หรือมีโรคเหงือกหรือฟันอยู่ แบบที่เรียกกันว่า “ปากเหม็น” ต้องหมั่นอมน้ำ หรือน้ำเกลือบ้วนปากบ่อยๆ และถ้ามีโรคฟันหรือเหงือกก็รักษาเสีย จะได้หายปากเหม็น

ข. ผนังในปากอักเสบ หรือเป็นแผล ก็ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ รักษาแบบข้อ ก.

ค. ต่อมทอนซิลที่คอหอยอักเสบ หรือเป็นร่อง จนเศษอาหารเข้าไปค้างอยู่และบูดเน่าเกิดเป็นกลิ่นเหม็นขึ้น รักษาแบบข้อ ก และให้ดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าต่อมทอนซิลอักเสบมาก อาจต้องกินยาเพนนิซิลลิน หรือ แอมพิวิลลินร่วมด้วย

ง. เยื่อจมูกอักเสบแบบฝ่อตัว หรือสิ่งแปลกปลอมในรูจมูกในบางครั้งโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังก็อาจทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นได้

จ. โรคฝีในปอด (ไม่ใช่วัณโรค) หรือโรคหลอดลมพอง

7.2 กลิ่นหมัก
เป็นกลิ่นหวานเอียนๆ คล้ายกลิ่นผลไม้หวานๆ ที่งอมจนเน่า กลิ่นสารระเหย พวกที่ใช้ผสมสีน้ำมันหรือสีพ่นรถ กลิ่นยาสลบพวกคลอโรฟอร์ม หรือกลิ่นอะซีโตน มักพบในภาวะที่เลือดเป็นกรด เช่น ในเบาหวานที่ไม่ได้รักษาให้ดี ในคนขาดสารอาหารหรือขาดน้ำมากๆ เป็นต้น

7.3 กลิ่นปัสสาวะ
เป็นกลิ่นคล้ายกลิ่นปัสสาวะค้างคืนหรือคล้ายกลิ่นแอมโมเนียมักพบในคนที่ไตพิการมากๆ จนของเสียคั่งในร่างกาย แต่ต้องระวังกลิ่นปัสสาวะที่เปื้อนเสื้อผ้าที่คนไข้สวมอยู่ และค้างหมักไว้จนแห้งด้วย

7.4 กลิ่นเหล้า กลิ่นเบียร์ หรือกลิ่นอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ก็ออกมาทางลมหายใจได้

7.5 กลิ่นยาฆ่าแมลง หรือยาอื่นๆ ที่คนไข้กินเข้าไป หรือได้รับเข้าไปในร่างกาย ก็อาจจะออกมาทางลมหายใจได้

 




8.การตรวจโพรงกระดูกรอบจมูก (การตรวจไซนัส) อาจจะทำได้อย่างหยาบๆ แต่ต้องใช้ห้องมืด (ห้องที่มืดมากๆ)
8.1 การตรวจโพรงกระดูกตรงโหนกแก้ม ใช้ไฟฉายอย่างเล็กขนาดเท่านิ้วมือ สอดเข้าไปในปากคนไข้ และฉายขึ้นไปข้างบนตรงโหนกแก้ม แล้วให้คนไข้หุบปากและปิดริมฝีปากรอบไฟฉายให้มิดไม่ให้แสงโผล่ออกมาจากปาก

ถ้าโพรงกระดูกตรงโหนกแก้ม (maxillary sinus) ปกติจะเห็นแสงเรืองที่ขอบตาล่างของคนไข้ คนไข้เองก็รู้สึกเห็นแสงสว่างและรูม่านตาของคนไข้อาจจะเห็นเป็นสีแดงแทนที่จะเป็นสีดำ

ถ้าโพรงกระดูกตรงโหนกแก้มมีหนองอยู่ภายใน จะทึบแสงทำให้ไม่มีแสงเรือง คนไข้เองก็จะไม่เห็นแสงสว่าง

หรืออาจตรวจได้โดยใช้ไฟฉายสอดอยู่ระหว่างกระพุ้งแก้มกับฟันกรามแล้วส่องขึ้นไปทางลูกตา ถ้าปรากฏแสงเรืองที่ขอบตาล่างหรือคนไข้รู้สึกเห็นแสง ก็แสดงว่าปกติ ถ้าไม่ก็อาจจะผิดปกติ (รูปที่ 11)

8.2 การตรวจโพรงกระดูกตรงหว่างคิ้ว ใช้ไฟฉายเล็กกดแนบติดกระดูกของตาบนตรงบริเวณหัวตา แล้วส่องไฟไปตรงหว่าง คิ้ว แสดงว่าโพรงกระดูกตรงหว่างคิ้ว (frontalsinus) ปกติ ถ้าไม่เห็นแสงเรืองโพรงกระดูกอาจจะผิดปกติก็ได้

 

 

วิธีตรวจแบบนี้ทั้งข้อ 8.1 และ 8.2 ค่อนข้างหยาบมาก คือ ถ้าเห็นแสงเรือง บอกได้ค่อนข้างแน่ว่าปกติ แต่ถ้าไม่เห็นแสงเรืองอาจจะปกติหรือผิดปกติก็ได้ เพราะกระดูกคนบางคนอาจจะหนาหรือมีลักษณะโพรงกระดูกที่แตกต่างกันแต่กำเนิด ทำให้ไม่เห็นแสงเรืองได้ แม้จะมีหนองหรือการอักเสบในโพรงกระดูกนั้น


(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

28-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 28
สิงหาคม 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์