• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 23

 

   
การตรวจตามระบบ (ต่อ)
การตรวจปาก
ปาก เป็นอวัยวะที่ใช้กินอาหาร เคี้ยวอาหาร ดื่มน้ำหรือของเหลวอื่น ใช้ดูด เป่า พูด และหายใจในกรณีที่หายใจทางจมูกไม่ได้

การตรวจปาก ประกอบด้วยการตรวจ
1.ริมฝีปาก : ริมฝีปากของเรานั้นมีรูปร่างต่างๆ กัน บ้างหนาบ้างบาง บ้างห้อยบ้างหุบ บ้างเจ่อบ้างเรียบ ต่างๆ กันไปตามเชื้อพันธ์และลักษณะเฉพาะแต่ละคน จนหมอดูไปใช้ทายทักต่างๆ แต่ริมฝีปากที่ผิดปกติทางโรคภัยไข้เจ็บก็มีลักษณะเฉพาะของมัน เช่น

1.1 สี : ริมฝีปากของคนเราจะมีสีต่างๆ กัน ตามอายุ เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ อาชีพ และอุปนิสัย เช่น
ริมฝีปากของเด็กเล็กๆ จะเป็นสีชมพูสดใส แต่ริมฝีปากของแต่ละคนแก่จะเป็นสีแดงคล้ำค่อนไปทางดำ
ริมฝีปากของคนผิวขาวจะเป็นสีชมพู แต่ของคนผิวดำจะเป็นสีค่อนข้างดำ
คนที่มีอาชีพกลางแดดกลางฝุ่นจะมีริมฝีปากดำกว่าคนที่ทำงานในร่ม
คนมี่สูบบุหรี่หรือทาปาก (ทาริมฝีปาก) ด้วยลิปติเป็นประจำจะมีริมฝีปากดำกว่าคนทั่วไป เป็นต้น
การสังเกตสีของริมฝีปากของคนต่างๆ เป็นประจำ จะทำให้รู้ว่าสีเช่นใดยังอยู่ในเกณฑ์ปกติของคนเชื้อพันธุ์นั้น อายุนั้น อาชีพนั้น และอื่นๆ ถ้าลักษณะสีเปลี่ยนเกินไปจากเกณฑ์ปกติก็จะทำให้รู้ว่าผิดปกติ เช่น สีซีดกว่าปกติ สำหรับคนอายุนั้น เชื้อพันธุ์นั้น อาชีพนั้น และอื่นๆ ก็จะทำให้นึกถึงความผิดปกติที่สำคัญๆ 2 ประการ คือ

ก. โรคเลือดจางหรือโรคโลหิตจาง (anemia) ซึ่งหมายถึง ภาวะที่เม็ดเลือดแดงในร่างกายมีน้อย หรือเม็ดเลือดแดงซีดกว่าปกติ จึงทำให้ผิวหนังต่างๆ ทั่วร่างกายดูซีดลง โดยเฉพาะในบริเวณผิวหนังที่เคยมีเลือดมาหล่อเลี้ยงจนเห็นเป็นสีแดงหรือสีชมพู เช่นบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เล็บ (เนื้อใต้เล็บ) ฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นต้น

โรคเลือดจางนี้มักเกิดจากการขาดเหล็ก ดังนั้นจึงควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น ตับหมู ตับวัว ตับเป็ด ตับไก่ให้มากขึ้นหรือกินยาบำรุงเลือด (เฟอร์รัสซัลเฟต) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 เวลาหลังอาหาร (ยาบำรุงเลือด 1 ขวด 100 เม็ด ราคาประมาณ 7 บาท)

ข. ภาวะช็อค (shock) หมายถึงภาวะที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้รับเลือดไปเลี่ยงไม่เพียงพอ เช่น ในขณะที่ตื่นเต้นตกใจมากๆ จนหมดสติ, ในขณะที่ท้องร่วงมากๆ เป็นต้น

ในภาวะช็อคนี้ หลอดเลือดทั่วร่างกายจะหดเล็กลง ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายส่วนต่างๆ น้อยลง ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก จึงแลดูซีด แม้ว่าเลือดในร่างกายจะครบถ้วนสมบูรณ์เป็นปกติ นอกจากนั้น มือเท้า แขนขา หน้าผาก จะเย็นและมีเยื่อเย็นๆ ออก

ภาวะช็อคนี้อาจเกิดจากการเสียเลือด (การตกเลือด หรือภาวะในเลือดแดงแตกอย่างมากมาย) ก็ได้ ซึ่งในกรณีเช่นนั้น ภาวะช็อคจะเกิดร่วมกับภาวะเลือดจางด้วย

สีเขียวกว่าปกติ หรือสีดำ (ม่วงดำ) กว่าปกติ สำหรับคนเชื้อพันธุ์นั้น อายุนั้น สูบบุรี่แบบนั้น หรือทาลิปติคบ่อยๆ แบบนั้นก็จะทำให้นึกถึงความผิดปกติที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงมีอ๊อกซิเจนน้อยกว่าปกติซึ่งมักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า “เขียว” (cyanosis)

ดังนั้น คนที่ “เขียว” หรือที่เห็นเป็นสีม่วงน้ำเงิน หรือม่วงดำจึงกำลังขาดอ๊อกซิเจนซึ่งอาจเกิดจากการหายใจไม่สะดวก การได้รับก๊าซพิษ หรือสารพิษเข้าไปในร่างกาย หรือเลือดในร่างกายไหลเวียนไม่สะดวก

 

  

 

ถ้าเกิดจากการหายใจไม่สะดวก ต้องรีบช่วยการหายใจโดยการล้วงหรือดูดเอาของที่อุดกั้นทางหายใจออก หรือถ้าไม่มีอะไรอุดกั้นอยู่ ก็ต้องเป่าปากช่วยหายใจ (รูปที่ 1)
ถ้าเกิดจากการได้รับก๊าซพิษ หรือสารพิษ รีบช่วยการหายใจ ถ้าหายใจช้าหรือตื้น ให้อ๊อกซิเจน (ถ้ามีอ๊อกซิเจน) ถ้าไม่มีอ๊อกซิเจนให้คนไข้อยู่ในที่โปร่งที่อากาศถ่ายเทได้โดยสะดวกแล้วใช้พัดโบกไปมาให้คนไข้ แล้วรีบหาทางแก้พิษนั้นถ้ารู้ว่าเป็นก๊าซพิษหรือสารพิษชนิดใด ถ้าไม่รู้ ให้ช่วยการหายใจไปเรื่อย ๆเหมือนดังคนที่กินปลาปักเป้า แล้วเกิดเป็นพิษ ยังไม่มียาแก้พิษที่หาได้ง่ายๆ ดังนั้น จึงต้องช่วยการหายใจไปเรื่อยๆ ร่างกายของคนไข้จะค่อยๆ ทำลายพิษนั้นเอง เมื่อพิษถูกทำลายหมด คนไข้ก็จะหาย แต่อาจจะต้องช่วยหายใจอยู่หลายชั่วโมง
 

ถ้าเกิดจากเลือดในร่างกายไหลเวียนไม่สะดวก เช่น คนไข้ที่อยู่ในภาวะช็อคที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้รีบแก้สาเหตุ เช่น ถ้าตกเลือด รีบห้ามเลือด และให้เลือดหรือให้น้ำเกลือไว้ก่อน ถ้าท้องเดินมาก ให้น้ำเกลือไว้ก่อนแล้วพาไปหมอทันที ถ้าไม่มีทางไป ให้รักษาสาเหตุและรักษาตามอาการไปเรื่อยๆ

 
1.2 ขนาด :
ริมฝีปากของคนเราหนาบางต่างๆ กัน และใหญ่เล็กต่างๆ กัน ตามขนาดของปากแต่ถ้าใหญ่และหนากว่าปกติ มาก ให้คิดถึงโรคต่อมใต้สมองทำงานมากเกินไป (ดูรูปที่ 2) หรือโรคต่อมธัยรอยด์ ทำงานน้อยเกินไป (ดูรูปที่ 3)

ริมฝีปากที่ใหญ่กว่าปกติอาจเกิดจาก การบวม เช่น ถูกคนต่อย ถูกแมลงต่อย หรืออาจเกิดจากการแพ้อาหารหรือแพ้สารบางอย่างทำให้ริมฝีปากบวมมาก อาจจะมีอาการหน้าบวม หรือมีผื่นแบบลมพิษเกิดขึ้นด้วย
 

1.3 ปากแหว่งหรือริมฝีปากแหว่ง (harelip หรือ cleft lip) : มักจะเป็นความพิการแต่กำเนิด แต่ก็อาจเกิดจากอุบัติเหตุ หรือความรุนแรงต่างๆ ได้ (ดูรูปที่ 4)

 

1.4 ริมฝีปากอักเสบ ( cheilosis): ผิวบางส่วนของริมฝีปากอาจจะหลุดลอกเป็นหย่อมๆ จากการแคะ แกะ เกา หรือการถูกระคายด้วยบุหรี่ หมาก ยาฉุน กล้องยาสูบ หรืออื่นๆ

แผลที่ริมฝีปาก มักเกิดจากการถูกขบกัดด้วยฟันที่เก หรือจากการกระทบกับของแข็ง แต่อาจเกิดจากโรคผิวหนัง หรือโรคภายในบางชนิดก็ได้

ริมฝีปากอาจจะเป็นฝีหรือเม็ดหนองจากการติดเชื้อ

ริมฝีปากอาจจะแห้ง แตกแดงเลี่ยน (เรียบ) ตกสะเก็ด มีน้ำเหลือง หรือน้ำหนองไหลจากการอักเสบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอาหารบางอย่าง หรือเกิดจากโรคภายในร่างกายที่รุนแรงและเรื้อรังก็ได้
 

1.5 ปากนกกระจอก (anguler (cheilosis) : คือการอักเสบที่บริเวณมุมปาก ทำให้มุมปากแดงและแตกเป็นร่อง มักเกิดจากการที่น้ำลายไหลออกมาในบริเวณมุมปากบ่อยๆ ซึ่งอาจเกิดจากลักษณะเฉพาะของบางคน หรือกรณีที่มีน้ำลายมากไปในปากจากการอักเสบในปาก จากฟันปลอมที่ไม่เหมาะกัน จากการขาดวิตามินบางชนิดโดยเฉพาะวิตามินบีหรือจากการขาดเหล็กซึ่งทำให้เกิดโรคเลือดจาง

ถ้าร่องที่มุมปากเป็นอยู่เรื้อรังและลุกลามสู่ผิวหนังข้างแก้ม ต้องนึกถึงโรคซิฟิลิส หรือถ้ามีแผลเป็นซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นกระจายออกจากบริเวณมุมปาก ก็ต้องนึกถึงโรคซิฟิลิสเช่นเดียวกัน มักจะเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด
 

1.6 เริม (herpes simplex) : จะมีลักษณะเป็นเม็ดพองใสๆ ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กประมาณหัวเข็มหมุด อยู่รวมกันเป็นกระจุก เมื่อเม็ดเหล่านี้แตก จะมีน้ำเหลืองไหล และภายในเม็ดจะเป็นสีแดงซึ่งจะแห้งภายในไม่กี่วัน เหลือเป็นสะเก็ดสีเหลืองๆ ซึ่งจะล่วงหลุดไปในที่สุด (ดูรูปที่ 5)

 

 

 

เริมมักขึ้นที่บริเวณริมฝีปาก และอวัยวะเพศ มีน้อยที่ปรากฏบนส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ที่จมูก แก้ม คาง ทวาร เริมมักจะเกิดในคนที่ชอบเป็นเริม และมักจะเกิดในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น เวลาเป็นหวัด เป็นไข้ ไปถูกแดดจัดๆ จนผิวหนังไหม้ ในขณะที่มีเรื่องเครียดเรื่องกลุ้มใจ เป็นต้น
ไม่ต้องการการรักษาใดๆ สำหรับเริม เพราะมันจะหายเองภายในเวลาไม่กี่วัน ให้รักษาภาวะอื่นๆ ที่เป็นชนวนให้มันเกิด เช่น หวัดไข้ ความเครียด เป็นต้น แล้วเริมจะหายเอง และไม่ลุกลามออกไป
 

1.7 ผื่นฝ้า : ริมฝีปากอาจจะเป็นผื่น เป็นฝ้าได้เช่นเดียวกับผิวหนังและเยื่อเมือก (เยื่อปากเยื่อจมูก) ผื่นฝ้าเหล่านี้มักเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา การเจ็บป่วยเรื้อรัง การติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อรา หรือในบางครั้งอาจเกิดจากการระคายอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น จากการสูบบุหรี่ สูบกล้อง กินหมาก ทำให้เกิดเป็นเนื้อด้านสีขาว (leucoplakia) หรือสะเก็ด (keratosis) ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งของริมฝีปากได้
 

1.8 แผลเรื้อรัง : แผลที่ริมฝีปากที่เป็นอยู่นานเกิน 10 วัน ต้องนึกถึงแผลริมฝีปากแข็งของโรคซิฟิลิสและผลมะเร็ง ด้วยเสมอ
แผลริมฝีปากแข็งของโรคซิฟิลิส มักจะเกิดในคนที่ชอบสำส่อนทางเพศ มีลักษณะเป็นแผลที่มีขอบเขตค่อนข้างชัดเจน มีน้ำเหลืองเยิ้มต่อมน้ำเหลืองใต้คางจะโต แผลจะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในระยะ 2 สัปดาห์ และจะหายเองได้ โดยเชื้อจะหลบใน ไปทำลายอวัยวะอื่นต่อไป (แผลหายแต่โรคไม่หาย)

แผลมะเร็ง มักจะเกิดที่ริมฝีปากล่าง มีลักษณะแข็งกว่าแผลริมแข็ง ขอบเขตก็ชัดเจนกว่าแต่ลักษณะการอักเสบ (ปวด บวมแดงร้อน) มีน้อยกว่า ต่อมน้ำเหลืองใต้คางและที่คอจะโตจนคลำได้เฉพาะในระยะหลังไม่โตตั้งแต่ระยะแรกๆ เหมือนแผลซิฟิลิส (ดูรูปที่ 6)

 

 


2.ภายในปาก : ซึ่งตรวจด้วยโดยให้คนไข้อ้าปาก แล้วใช้ไฟฉายส่องหรือให้แสงส่องเข้าไปภายในปาก ควรจะใช้ไม้กดลิ้นหรือด้ามช้อนด้ามส้อมแหวกมุมปาก เพื่อดูภายในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม รวมทั้งเหงือกและฟันด้านนอก แหวกลิ้นเพื่อดูเหงือกและฟันด้านใน กดลิ้นเพื่อดูคอและเพดานปาก


ถ้ามีสิ่งปกติในปาก เช่นเป็นเม็ด หรือเป็นฝ้า ให้ใช้ไม้กดลิ้น หรือด้ามช้อนด้ามส้อมเขี่ยหรือขูดดูว่ามันติดแน่นหรือไม่ นุ่มหรือแข็ง และมีลักษณะอื่นๆ อย่างไร


ถ้าต้องการตรวจพื้นปาก (บริเวณที่อยู่ใต้ลิ้น) ก็ให้คนไข้กระดกลิ้นขึ้น ก็จะตรวจบริเวณพื้นปากได้
การตรวจภายในปาก อาจจะพบสิ่งผิดปกติต่างๆ ได้ เช่น

2.1 สี : สีของภายในปากมักจะแดงสดกว่าสีของริมฝีปาก และใช้สังเกตความซีด ความคล้ำเขียวได้ดีกว่าริมฝีปาก เพราะริมฝีปากมักถูกเปลี่ยนสีโดยแสงแดด การสูบบุหรี่ การทาลิปติค ฯลฯ

ดังนั้น ถ้าสังเกตสีของริมฝีปากแล้วเห็นว่าผิดปกติ อย่าเพิ่งมั่นใจมากนักให้สังเกตสีภายในปากด้วยว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

นอกจากจะดูว่าสีของภายในปาก ซีดหรือเขียวมากกว่าปกติแล้วอาจจะเห็นความผิดปกติอื่นไปด้วนสีของภายในปากอีก เช่น

จุดน้ำตาล หรือด่างน้ำตาลภายในปาก อาจจะพบได้ในคนปกติอาจจะเรียบหรือนูนจากผิวปากหรือผิวริมฝีปากเล็กน้อยก็ได้

จุดดำ หรือด่างดำ ภายในปาก จะทำให้นึกถึงโรคต่อมหมวกไตพร่อง (Addison’ s disease)
สีเงิน ภายในปาก และตามผิวหนังทั่วๆ ไป ซึ่งจะเห็นเป็นสีคล้ำค่อนไปทางสีเทา หรือสีเงิน จะทำให้นึกถึงภาวะที่ร่างกายได้รับเกลือเงิน (silver salts) หรือเกลือทอง (gold salts) มากเกินไป (เกลือเงิน เคยใช้เป็นยารักษาโรคในสมัยก่อน เกลือทองยังใช้เป็นยารักษาโรคอยู่)

จุดน้ำเงิน หรือด่างน้ำเงิน มักจะพบในบริเวณเพดานปาก มักจะเกิดจากการใช้ยาควินาครีน (ยารักษามาลาเรีย) เป็นเวลานานๆ

จุดแดง อาจเป็นจุดเลือดออก (petechial hemorrhage) ซึ่งเกิดจากโรคเลือด หรือโรคติดเชื้อรุนแรงหรืออาจจะเป็นห้อเลือด (hematoma) ซึ่งเกิดจากการถูกขบกัดด้วยฟันของตนเองก็ได้

2.2 ความผิดปกติแต่กำเนิด ; เช่น
ก. เพดานโหว่ (cleft paiate)คือรูโหว่ที่เพดานปาก (ดูรูปที่ 7) รูโหว่นี้อาจจะเชื่อมติดต่อกับริมฝีปากที่แหว่ง เกิดเป็นลักษณะที่เรียกว่า ปากแหว่งเพดานโหว่ก็ได้
 

 

ข. เพดานสูง (high palatalarch) คือ เพดานปากจะโค้งสูงขึ้นไปกว่าปกติอาจทำให้เหงือกและฟันเหหรือเก และอาจทำให้รูจมูกตีบแคบลง ทำให้หายใจทางจมูกลำบาก ต้องอ้าปากหายใจแทน

ค. ปุ่มเพดาน (Torus palatinus) คือปุ่มกระดูกในบริเวณตรงกลางของเพดานปาก (ดูรูปที่ 8) ปุ่มนี้จะโตมากๆ จนดูคล้ายก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง เพราะผิวของมันอาจจะขรุขระหรือเป็นร่อง ซึ่งอาจทำให้เศษอาหารเข้าไปติดค้างแล้วบูดเน่า ทำให้เกิดการอักเสบหรือเป็นแผลขึ้น
ถ้าปุ่มเพดานนี้ไม่อักเสบ คนที่มีปุ่มเพดานนี้จะไม่รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ นอกจากเวลาส่องดูภายในปากของตนเองในกระจกเงาซึ่งจะเห็นก้อนนี้ ไม่ต้องทำการผ่าตัดหรือรักษา เพราะไม่มีอันตรายอะไรเลย


2.3 ปากอักเสบ
(stomotitis) : ทำให้ภายในปากอักเสบ (ปวดบวม แดง ร้อน) เป็นหย่อมๆ หรือเป็นทั่วปากเยื่อบุปากอาจจะหลุดลอกเป็นขุยๆ หรือแห้งแตกเป็นสะเก็ด ขณะที่ปากอักเสบมักจะมีน้ำลายมาก (น้ำลายไหลส่ออยู่ตลอดเวลา) มักเกิดจากการขาดอาหาร การติดเชื้อ การแพ้ยา หรือการถูกระคายด้วยหมากปูน ยาฉุนหรืออื่นๆ

แผลในปาก ที่พบบ่อย
มักจะเป็นแบบ “ซาง” (canker หรือ Aphthous stomatitis) ซึ่งครั้งแรกจะเกิดเป็นต่อมเป็นเม็ด อาจจะเกิดในบริเวณที่เป็นแผลจากการถูกกดด้วยฟันของตนเอง เช่น บริเวณด้านในของริมฝีปาก ของกระพุ้งแก้ม หรือบริเวณลิ้น ต่อมาตุ่มหรือเม็ดนี้แตกออกเป็นแผลตื้นๆ ขอบนูนเล็กน้อย พื้นแผลสีแดงจัดหรือคลุมด้วยฝ้าสีขาวเหลือง มีอาการเจ็บแสบซึ่งบางครั้งจะเป็นมากจนอ้าปาก หรือเคี้ยวอาหารไม่ได้ (ดูรูปที่ 9)

                           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


วิธีรักษาอย่างง่ายๆ ให้ใช้เกลือทาบริเวณแผล ใช้น้ำเกลืออมบ้วนปากบ่อยๆ ใช้เกลือเป็นยาสีฟันแทนยาสีฟันแบบหลอดที่มีรสซ่า (ถ้าใช้เกลือเป็นยาสีฟันตั้งแต่ระยะที่แผลยังเป็นตุ่มเป็นเม็ดยังไม่แตกออกเป็นแผลเจ็บ อาจจะทำให้ตุ่มหรือเม็ดนั้นยุบหายไปโดยไม่แตกเป็นแผลได้)

ในบางคนที่ธาตุ (ท้อง) ผิดปกติ การกินยาลดกรด 1-2 ช้อนโต๊ะ หนึ่งถึงสองชั่วโมงหลังอาหาร 3 เวลา อาจจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

ในคนที่เจ็บแผลมากๆ อาจใช้เกลือทา จะทำให้เจ็บแสบมากขึ้นสักพักหนึ่ง แล้วแผลจะชาและทุเลาเจ็บลง หรือถ้ากลัวเจ็บจะใช้ยาชา เช่น วุ้นไซโลเคน (Xylocaine jelly) หรือ ขี้ผึ้งยาชาอื่น ทาบริเวณแผล ก็จะทำให้ทุเลาปวดได้ หรือจะใช้ขี้ผึ้งสเตียรอยด์ เช่น ขี้ผึ้งเพร็ดนิโซโลน (perdnisoloneointment) หรือ เคนาล็อก (Kenalog in Orabasse) ทา ก็จะทำให้ทุเลาปวดได้แต่ไม่ทำให้แผลหายเร็วขึ้นแต่อย่างใด

แผลในปากอื่นๆ มักเกิดจากการขบกัดโดยฟันของตนเอง ส่วนน้อยอาจเกิดจากแผลซิฟิลิส แผลวัณโรค แผลมะเร็ง เริม และอื่นๆ ได้

2.4 ผื่นฝ้า : ภายในปากอาจจะเป็นผื่น เป็นฝ้า ได้เช่นเดียวกับผิวหนัง และเยื่อเมือกอื่นๆ ผื่นฝ้าเหล่านี้มักเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา การเจ็บป่วยเรื้อรัง การติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อรา (monilia) ซึ่งจะพบเป็นฝ้าขาวเหลืองสกปรก (thrush) มักพบในเด็ก คนที่ป่วยเรื้อรัง หรือคนที่กินยาปฏิชีวนะที่ไปฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เชื้อราขึ้นแทน

ผื่นฝ้าอาจเกิดจากการระคายอยู่นานๆ เช่น โดนฟัน (ที่มักจะเก) ขบกัดถูกบ่อยๆ เกิดเป็นเนื้อด้านสีขาว (leucoplakia) ซึ่งอาจจะเปลี่ยนเป็นเนื้อมะเร็งต่อไปได้

เม็ดตุ่มบางอย่างในปาก อาจจะเป็นสิ่งบอกโรคได้ เช่น ตุ่มใสเล็กๆ ขนาดหัวเข็มหมุดบริเวณกระพุ้งแก้มด้านตรงข้ามกับฟันกราม (Koplik’ s spots) ถ้าพบในเด็กที่มีอาการไข้ (ตัวร้อน) จะทำให้นึกถึงโรคหัด ในผู้ใหญ่ก็อาจจะพบได้เช่นเดียวกัน (ดูรูปที่ 10)

โรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดเม็ดหรือตุ่มแผลตามตัวเช่นไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) อีสุกอีใส ภายในปากก็จะมีตุ่มหรือเม็ดเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน
 

 

2.5 ถุงน้ำ : บริเวณพื้นปากใต้ปลายลิ้น (ตรวจได้โดยให้กระดกปลายลิ้นขึ้น) ถ้าเห็นเป็นถุงน้ำพองใส มักจะเป็นถุงน้ำลายที่เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำลายเล็กๆ ทำให้น้ำลายขังอยู่ในท่อและดันท่อออกจนโป่งเป็นถุงน้ำลายเล็กๆ มักจะหายเองได้ ถ้าโตขึ้นเรื่อยๆ อาจใช้ปลายเข็มสะกิดให้แตกออก หรือจะใช้การผ่าตัดก็ได้ (ดูรูปที่ 11)
 

 


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

29-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 29
กันยายน 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์