• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 24

 

     
การตรวจตามระบบ
การตรวจปาก (ต่อ)

3.เหงือก เหงือกของคนเราโดยปกติไม่แตกต่างกันมากนัก นอกจากสีสรร ซึ่งก็เป็นไปตามเชื้อพันธุ์ของแต่ละคน

การตรวจเหงือก ควรจะตรวจทั้งด้านนอก (ด้านที่ติดกับริมฝีปากและกระพุ้งแก้ม) และด้านใน (ด้านที่ติดกับเพดานปาก พื้นปาก และลิ้น) โดยการพลิกริมฝีปากหรือดึงริมฝีปากออกเพื่อให้เห็นด้านนอกของเหงือกทางด้านหน้า

ส่วนทางด้านกระพุ้งแก้นั้น ควรให้คนไข้อ้าปาก แล้วใช้ไม้กดลิ้น หรือแก้มช้อนแบนๆ แหวกกระพุ้งแก้มออกจากเหงือกแล้วใช้ไฟฉายส่อง ก็จะเห็นด้านนอกของเหงือกที่ติดกับกระพุ้งแก้มได้
 

ส่วนด้านในของเหงือก ให้คนไข้อ้าปาก แล้วใช้ไฟส่องดู ด้านในของเหงือกบนมักจะมองเห็นได้ง่าย ส่วนด้านในของเหงือกล่างจะต้องให้คนไข้กระดกลิ้นหนี หรือใช้ไม้กดลิ้นแหวกลิ้นให้ห่างออกไป
 

ให้หัดตรวจเช่นนี้ในญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่เหงือกและฟันปกติจะได้เคยชินกับสภาพของเหงือกปกติ
เหงือกปกติจะเป็นสีชมพู (ในคนผิวดำ อาจจะเป็นสีแดงคล้ำ) ขอบเหงือกจะแนบสนิทกับตัวฟัน และจะยื่นแทรกลงมาตามซอกฟันจนเกือบจะถึงขอบฟัน (ดูรูปที่ 1)

 
รูปที่ 1
รูปฟันและเหงือกปกติ(เหงือกปกติ  ขอบเหงือกจะแนบสนิทกับตัวฟันและจะยื่นแทรกลงมาตามซอกฟันจนเกือบจะถึงขอบฟัน)

 
 

ถ้าใช้นิ้วกดและคลำเหงือกดูจะรู้สึกว่าเหงือกปกตินั้นจะมีเนื้อแน่นแข็งและยึดติดกับกระดูกข้างใน เวลากดหรือคลำจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดเกินกว่าปกติ เหงือกที่ผิดปกติ อาจจะมีลักษณะต่างๆ เช่น   
  

1.สี

1.ก สีซีดกว่าปกติ จะทำให้นึกถึงโรคเลือดจาง (โรคโลหิตจาง) หรือภาวะช็อค (ภาวะเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่พอเพียง) เช่นเดียวกับการซีดลงของริมฝีปาก (ดูหมอชาวบ้านฉบับก่อน) ของเยื่อบุหนังตา และของเยื่อเมือกอื่นๆ

1.ข สีม่วงดำกว่าปกติ หรือที่ชอบเรียกกันว่า “เขียว” จะทำให้นึกถึงภาวะที่เลือดขาดอ๊อกซิเจน เช่น คนไข้ที่หยุดหายใจ หรือหายใจไม่เพียงพอ คนไข้โรคปอดรุนแรง คนไข้โรคหัวใจแต่กำเนิดบางชนิดเป็นต้น

1.ค สีเงิน จะมีลักษณะเป็นสีน้ำเงินแก่หรือสีดำที่บริเวณเหงือก ต้องแยกจากคราบสีดำที่ติดอยู่บริเวณฟันตามขอบเหงือกหรือใต้ขอบเหงือก โดยใช้กระดาษขาวบางๆ ชิ้นเล็กๆ แทรกไประหว่างฟันกับขอบเหงือก ถ้าเป็นคราบสีดำที่ฟัน กระดาษก็มัก จะบังคราบเหล่านั้นเสีย ถ้าเป็นสีเงินที่เหงือกมักจะเห็นสีเงินนั้นชัดเจนขึ้น

ถ้ายังแยกจากกันไม่ได้ชัดเจน อาจต้องแปรงฟันให้คนไข้จนฟันและเหงือกสะอาดเสียก่อน แล้วจึงตรวจดูอีกครั้งหนึ่งเพราะคราบสีดำที่ติดอยู่บริเวณฟันมักจะเป็นคราบสิ่งสกปรกหรือคราบน้ำมันดินที่เกิดจากการสูบบุหรี่ การกินหมาก หรือสิ่งอื่นซึ่งจับอยู่ที่บริเวณฟัน ไม่ใช่ความผิดปกติที่เหงือก

ส่วนเหงือกที่เป็นสีเงินนั้น มักเกิดจกการเป็นพิษจากโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท เงิน หรืออื่นๆ
การเป็นพิษจากตะกั่ว มักพบในคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตะกั่ว เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่รถยนต์ งานที่เกี่ยวข้องกับตัวเรียงพิมพ์ เป็นต้น เหงือกสีเงินที่เกิดจากพิษตะกั่ว มักจะเห็นเป็นเส้นสีน้ำเงินดำที่ขอบเหงือก ส่วนที่เกิดจากโลหะอื่น มักจะกระจายทั่วไปในตัวเหงือก ไม่เฉพาะที่ขอบเหงือกเท่านั้น(ดูรูปที่ 2)

 

รูปที่ 2
เหงือกที่เกิดจากการเป็นพิษจากตะกั่ว มักจะเห็นเป็นเส้นสีน้ำเงินดำที่ขอบเหงือก

   

 


2.เหงือกหด (เหงือกถอยหรือเหงือกร่น, Atrophy or Recession of Gum) หมายถึงสภาพที่เหงือกหดถอยร่นเข้าไป ทำ ให้เห็นฟันยื่นยาวกว่าปกติ จนบางครั้งเห็นคอฟัน (คอของฟันคือส่วนของฟันที่คอดกิ่วลงเป็นที่จับของเหงือกตามปกติ) โผล่พ้นเหงือกออกมา ซึ่งที่จริงแล้ว ฟันไม่ได้ยื่นออกมา แต่เหงือกถอยร่นเข้าไป จึงเห็นฟันยื่นยาวกว่าปกติ

ถ้าเหงือกหดทั่วๆ ไปทั้งเหงือกมักเกิดจากอายุมากขึ้น หรือเกิดจากเหงือกอักเสบเรื้อรัง การแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธี (ดูการแปรงฟันที่ถูกวิธีในหมอชาวบ้านฉบับที่ 9 ประจำเดือนมกราคม 2523 หน้า 61) คราบหินปูนที่ฟัน (ดูรูปที่ 3) และอื่นๆ


 รูปที่ 3
ฟันที่มีคราบหินปูน

 

 

 



ถ้าเหงือกหดเฉพาะที่
(เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือฟันซี่หนึ่งซี่ใด) มักเกิดจากความผิดปกติที่ฟันซี่นั้น หรือกระดูกขากรรไกรที่รองรับฟันตรงส่วนนั้น หรือจากการจิ้มฟัน (แคะฟัน) ตรงนั้นบ่อยๆ

3.เหงือกโต (เหงือกใหญ่, hypertrophy of gum) คือ สถานที่ เหงือกพองโตกว่าปกติ ทำให้เห็นนูนโป่งออกมากว่าปกติ เมื่อคลำดู จะรู้สึกนุ่มและไม่แนบสนิทกับกระดูกข้างใน

ถ้าเหงือกโตโดยทั่วไป ไม่มีอาการเจ็บปวด หรือผิดปกติและเป็นมานานแล้ว หรือเป็นเช่นเดียวกันในญาติพี่น้อง ให้ถือว่าเป็นภาวะปกติ (ซึ่งต่างจากภาวะปกติของคนอื่น เนื่องจากกรรมพันธุ์ เช่นเดียวกับรูปร่างหน้าตาของเราซึ่งผิดแผกจากกัน)

ถ้าเหงือกโตโดยทั่วไป ไม่มีอาการผิดปกติและพบในหญิงตั้งครรภ์ให้ถือว่าเป็นภาวะปกติของคนตั้งครรภ์ในบางครั้ง เหงือกอาจจะพองโตมากๆ จนดูคล้ายเนื้องอกได้ (ดูรูปที่ 4)

 

 

 รูปที่ 4
 เหงือกโตเกิดจากการตั้งครรภ์

 

 

 

  

ไม่ต้องกังวล ส่วนมากจะหายหรือยุบไปเองหลังคลอด แต่ในบางรา อาจจะคงอยู่ (ไม่หายไป) ก็ได้แต่ไม่มีอันตรายอะไร

ถ้าเหงือกโตทั่วไป แล้วเกิดภายหลังการใช้ยาชนิดหนึ่งชนิดใดอยู่เป็นเวลานานๆ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นผล (หรือเป็นพิษ) จากการใช้ยานั้น ยาที่ทำให้เหงือกโต โดยทั่วไปที่พบบ่อย เช่น ยากันชักพวกไดเฟ็นนิลไฮแดนโตอิน (diphenyl-hydantoin) หรือมีชื่อการค้าว่า ไดแลนติน (Dilantin) เป็นต้น เมื่อหยุดยาแล้ว เหงือกที่โตมักจะยุบลงเอง (ดูรูปที่ 5)

 

 

 รูปที่ 5
 
เหงือกโตที่เกิดภายหลังชนิดหนึ่งชนิดใด

 

 

 

 

 
 

ถ้าเหงือกโตเฉพาะที่ (เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือฟันซี่ใดซี่หนึ่ง) มักจะเกิดจากการถูกระคายเป็นเวลานานๆ โดยเครื่องเสริมฟัน เช่น โลหะครอบฟัน (ฟันทอง) หรืออื่นๆ เหงือกที่โตแบบนี้ มักจะมีการอักเสบร่วมด้วย จึงทำให้เหงือกนั้นบวม (มากกว่าโต) แดง (แดงกว่าเหงือกข้างเคียง) และมีเลือดออกง่าย (โดยเฉพาะเมื่อแปรงฟัน เคี้ยวอาหาร หรืออื่นๆ)

ในบางครั้ง ถ้าเคี้ยวอาหารเพียงข้างเดียว คือเคี้ยวด้วยฟันทางด้านซ้าย หรือทางด้านขวาเพียงด้านเดียว เป็นเวลานานๆ เหงือกของฟันทางด้านที่ไม่ได้ใช้อาจจะโต (อ้วน) ขึ้น เพราะขาดการออกกำลังได้เหงือกที่โตขึ้นนี้ มักถูกกระทบกระแทกได้ง่ายกว่าปกติ จึงเกิดการอักเสบได้ง่ายกว่าเหงือกปกติ


4.เหงือกบวม หรือเหงือกอักเสบ (swelling or inflammation of gum, gingivitis) ซึ่งจะเห็นได้จากการที่เหงือกบวม (โตกว่าปกติ) แดง (แดงกว่าเหงือกข้างเคียง) ร้อน (ร้อนกว่าเหงือกข้างเคียง แต่ตรวจได้ยาก) กดเจ็บ (เวลาคลำหรือกดจะรู้สึกเจ็บ หรือแม้เวลาอยู่เฉยๆ ไม่กดก็เจ็บปวดของมันเองได้) และเลือดออกง่าย (เลือดจะไหลออกจากเหงือกเวลาไปถูกเหงือกเข้าเช่นเวลาแปรงฟัน เวลาเคี้ยวอาหาร เป็นต้น)

เหงือกอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน และขอบเหงือก แล้วเกิดการเน่าบูด ทำให้เชื้อโรคลุกลามไประคายเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบ
ในบางครั้ง เกิดจากน้ำลายน้อย ปากแห้ง เช่นในคนที่เป็นไข้สูงอยู่นานๆ คนที่ต่อมน้ำลายอักเสบหรือผิดปกติ คนที่ได้รับการฉายแสงบริเวณปาก (เพื่อรักษามะเร็ง)เมื่อปากแห้งมากๆ จะทำให้เกิดการเน่าบูดของน้ำลายและเยื่อเมือกที่ลอกหลุดออกมารวมทั้งเศษอาหาร ทำให้เหงือกอักเสบ และปากอักเสบได้ง่าย

ในบางครั้ง เกิดจากการขาดอาหาร เช่น การขาดวิตามินซี ทำให้เกิดโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) ซึ่งเหงือกจะอักเสบ บวมซ้ำ และมีเลือดออกง่ายมาก ถ้ากินยาวิตามินซี หรืออาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่นมะนาว, ฝรั่ง, ผลไม้รสเปรี้ยวแล้วโรคนี้ก็จะหายไป (ดูรูปที่ 6) 

 

 

 รูปที่ 6
 
เหงือกอักเสบที่เกิดจากการขาดวิตามินซี

 

 

 

การขาดวิตามินบี ก็ทำให้เหงือกอักเสบ
ซึ่งมักจะออกมาในรูปของเหงือกเป็นแผลไม่ใช่ลักษณะเหงือกบวมช้ำ และเลือดออกแบบโรคลักปิดลักเปิด ถ้ากินวิตามินบี หรืออาหารที่มีวิตามินบีสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก เนื้อสัตว์ เป็นต้น อาการเหงือกอักเสบเป็นแผลก็จะลดลงและหายไป

ในบางครั้ง อาการเหงือกอักเสบนี้อาจพบได้ในโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ้งเหงือกจะบวมช้ำ มีลักษณะฟุๆ คล้ายฟองน้ำ และเลือดออกง่ายมาก


5.เหงือกเป็นแผล และเนื้อเหงือกตาย เมื่อเหงือกอักเสบมากๆ จะเกิดเป็นแผลและเกิดการตายของเนื้อเหงือก กลายเป็น ชิ้นเศษที่สกปรกและมีกลิ่นเน่าเหม็น (ดูรูปที่ 7)

 

 

รูปที่ 7
 
เหงือกอักเสบมากจะเกิดการตายของเนื้อเหงือก

 

 

 

  

การเป็นแผลที่เหงือก อาจเกิดจากการถอนฟัน หรือการถูกกระทบกระแทก หรืออาจเกิดจากมะเร็งของเหงือกก็ได้ในกรณีที่เป็นมากๆ ทั้งปากจะพลอยอักเสบเป็นแผลไปหมดและจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงจากการอักเสบทั้งปาก

6.เหงือกที่เป็นหนองเป็นฝี มักเกิดตามหลังเหงือกอักเสบจากการไม่ระวังรักษาความสะอาดของงฟันและปาก จะเห็นว่า เหงือกส่วนนั้นบวมโต และอาจเห็นหนองปริ่มๆ อยู่ตามขอบเหงือก เมื่อกดหรือนวดเหงือกส่วนนั้น อาจเห็นหนองทะลักออกมาตามรูเปิดหรือระหว่างเหงือกกับฟัน (ดูรูปที่ 8)


 

 รูปที่ 8
 
เหงือกเป็นหนองเป็นฝี

 

 

 
 

ถ้าเป็นมากๆ จะทำให้ปวดฟัน ฟันโยก หรือหลุดได้ ถ้าหนองนั้นเซาะเข้าไปในรากฟันและทำลายรากฟัน หรือโพรงกระดูกขากรรไกรที่รองรับฟันอยู่

7.เนื้องอกและมะเร็งของเหงือก เนื้องอกของเหงือกมักจะเป็นก้อนนูนออกมาจากเหงือกอาจจะมีลักษณะคล้ายเหงือกโตเฉพาะที่ หรือเป็นก้อนเนื้อ ติ่งเนื้อที่ติดอยู่กับเหงือก อาจจะมีแผลหรือการอักเสบของเหงือกเข้าร่วมสมทบด้วย (ดูรูปที่ 9)

 

 

 รูปที่ 9 
 
เนื้องอก

 

 


ส่วนมะเร็งของเหงือกมักจะเป็นแผลลักษณะน่าเกลียดบนก้อนเหงือกที่บวมโต มีการอักเสบและการตายของเหงือกมาก ลักษณะแผลลุกลาม ขอบแผลไม่ชัดเจน และมีส่วนเนื้อแข็งแผ่ลุกลามออกไปจากบริเวณแผล (ดูรูปที่ 10)

 

 

  รูปที่ 10
 
มะเร็งของเหงือก

 

  

ถ้าเป็นมานาน อาจจะคลำได้ต่อมน้ำเหลืองเป็นก้อน (ลูกหนู) เล็กๆ ที่ใต้ขากรรไกร (ใต้คาง) หรือหน้าหู และก้อน (ลูกหนู) เหล่านี้จะกดไม่เจ็บ (คลำไม่เจ็บ) และแข็ง ต่างกับก้อน (ต่อมน้ำเหลือง) ที่เกิดจากเหงือกอักเสบซึ่งจะนุ่มกว่ามาก และเจ็บเวลาคลำ หรือถูกต้อง


4.ฟัน ฟันของคนเรามี 2 ชุด

ชุดแรก คือ ฟันน้ำนม ซึ่งจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน โดยฟันหน้าล่างมักเริ่มขึ้นก่อนแล้วก็ทยอยขึ้นมาเรื่อยๆ จนอายุประมาณ 2-3 ขวบ (ปี) ฟันน้ำนมทั้ง 20 ซี่ ก็จะขึ้นหมด และจะเริ่มหลุดเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ (ปี) หลุดไปทีละซี่สองซี่จนหลุดหมดเมื่ออายุประมาณ 11-12 ขวบ (ดูรูปที่ 11)

 

ชุดที่สอง คือ ฟันแท้ ซึ่งจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 7-8 ขวบ (ปี) และจะขึ้นครบทั้ง 32 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 21-23 ปี แต่ในบางครั้งฟันกรามซี่สุดท้ายอาจจะขึ้นมาไม่พ้นเหงือก ทำให้เห็นฟันแท้ไม่ครบ 32 ซี่ก็ได้ การขึ้นของฟันแท้ตามอายุต่างๆ ไม่ค่อยแน่นอนเท่าในฟันน้ำนม แต่ก็คงพอจะคาดคะเนได้บ้าง (ดังในรูปที่ 12)

ความผิดปกติของฟันที่อาจจะตรวจได้อย่างง่ายๆ เช่น

1.ฟันขึ้นช้า เด็กที่ฟันขึ้นช้า มักจะเกิดจากโรคหรือความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคธัยรอยด์ พร่องแต่เกิด (cretinism), โรคมองโกลอยด์ หรือ โรคดาวน์ (mongolism) หรือ Down,s syndrome) หรือ อาจเกิดจากโรคกระดูกอ่อน โรคขาดอาหาร หรือความพิการของขากรรไกร ทำให้ฟันคุดหรืออุดอยู่ข้างใน ออกไม้ได้
 

2.ฟันขึ้นเร็ว มักไม่ได้เกิดจากโรคอะไร แต่ทำให้แม่ลำบากพอดู เช่น อายุ 3-4 เดือน ฟันก็เริ่มขึ้นแล้ว จะทำให้เด็กกัดหัวนมแม่ ทำให้แม่เจ็บ หรือเกิดการอักเสบของหัวนมหรือเต้านมได้ ถ้าให้กินนมขวด หัวนมของนมขวดก็ฉีกขาดบ่อยๆ เป็นต้น
 

3.ฟันเก คือฟันที่ขึ้นไม่เป็นระเบียบ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นกรรมพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของรากฟันหรือขากรรไกรบน หรือขากรรไกรล่างที่รองรับฟันอยู่
บางครั้ง ฟันที่ขึ้นอาจเกไปดันฟันข้างหน้าหรือข้างหลัง หรือโผล่ขึ้นมานอกแถวไปเลย
บางครั้ง ฟันที่ขึ้นอาจเกไปชนรากฟันข้างหน้าหรือรากฟันข้างหลัง ทำให้โผล่ขึ้นมาไม่ได้และอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะปวดกราม (ขากรรไกร) โดยหาความผิดปกติของฟันไม่พบ เพราะฟันยังไม่ได้โผล่พ้นเหงือกขึ้นมา (ดูรูปที่ 13)

 

 

  รูปที่ 13
 
ฟันเกไปชนรากฟันทำให้โผล่ขึ้นไม่ได้

 

 

 

การไม่ระวังรักษาฟันน้ำนมทำให้ฟันน้ำนมผุถึงรากฟัน หรือหลุดเร็วก่อนกำหนด เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นภายหลังเกได้
 

4.ฟันโยก คือ ฟันที่ไม่ยึดติดแน่น เมื่อใช้นิ้วจับโยกจะรู้สึกโยกได้หรือโยกได้จริงๆ เลยส่วนมากเกิดจากเหงือกอักเสบ เหงือกหด ฟันถูกกระทบกระแทกหรือโรคของกระดูกขากรรไกร ที่ทำให้กระดูกขากรรไกรกร่อน เช่น โรคต่อมพาราธัยรอยด์ (ต่อมเล็กๆ ข้างหลังต่อมคอพอก) พร่องหรือทำงานน้อยไป


5.ฟันห่าง
คือ ฟันที่ไม่อยู่ชิดกัน ถ้าเป็นเฉพาะฟันซี่ที่อยู่ข้างๆ กับฟันที่ถูกถอนไป ก็เกิดจากเพราะการมีช่องว่างจากฟันซี่ที่ถูกถอนไป ทำให้ฟันที่อยู่ข้างๆ เอียงตัวเข้ามาสู่ช่องว่างนั้น ทำให้ห่างออกจากฟันที่อยู่ข้างๆ มัน แต่ถ้าฟันที่เคยยึดกันอยู่ดีๆ แล้วเกิดมีช่องว่างทำให้ห่างออกจากกันมากขึ้น และเป็นไปในฟันเกือบทุกซี่ทั้งที่ไม่มีการถอนฟันอะไรเลยให้นึกถึงโรคต่อมใต้สมองทำงานเกินไป (acromegaly), โรคต่อมพาราธัยรอยด์พร่อง (hypopatathyroidism) หรือโรคอื่นๆ ที่กระทบกระเทือนกระดูกขากรรไกรด้วย
 

6.ฟันกร่อน แม้ฟันจะเป็นหินปูนที่แข็งมาก แต่ฟันก็อาจจะกร่อนได้ ถ้าไปขบกัดหรือเคี้ยวของแข็ง เช่น กระดูก ของที่ทำด้วยโลหะ เป็นประจำ หรือในบางคน การกัดฟันกรอดๆ เป็นประจำก็อาจจะทำให้หน้าบด (หน้าเคี้ยว) ของฟันกร่อน จนบางครั้งอาจจะกร่อนลงจนถึงเหงือกได้ (ดูรูปที่ 14)  

 

 

  รูปที่ 14
 
ฟันกร่อนลงจนถึงเหงือก

 

 

 

แต่สาเหตุที่ทำให้ฟันกร่อนที่พบบ่อยที่สุด คือการปล่อยให้เศษอาหารค้างอยู่ในบริเวณเหงือกและฟัน เศษอาหารเหล่านี้เมื่อบูดเน่า จะให้กรดและสารเคมีออกมากัดฟันโดยเฉพาะบริเวณคอฟันทำให้ฟันกร่อน และเหงือกอักเสบไปพร้อมกัน

7.สีของฟัน ปกติฟันจะเป็นสีขาว หรือสีอมฟ้าๆ หรือขาวนวล แต่บางครั้งก็มีสีผิดปกติได้เช่น

7.ก ฟันดำ ส่วนมากเกิดจากการสูบบุหรี่ ถ้าเป็นการดำทั่วไปโดยเฉพาะด้านใน แต่ถ้าดำเป็นจุด จะเกิดจากฟันผุโดยเฉพาะถ้าใช้ไม้แหลมๆ (ไม้จิ้มฟัน หรือไม้กลัด) จิ้มบนจุดนั้นแล้วรู้สึกว่าเป็นรู หรือรู้สึกเสียวๆ ฟันขึ้นมา

7.ข ฟันเหลือง ส่วนมากเกิดจากการเจ็บป่วยบ่อยๆ ในขณะที่เป็นเด็ก โดยเฉพาะการเป็นไข้สูงๆ การได้อาหารไม่เพียงพอในระยะที่ฟันกำลังเจริญเติบโต ซึ่งการเป็นไข้สูงๆ และภาวะขาดอาหารนี้ อาจจะทำให้ฟันเป็นหลุมขรุขระหรือเป็นร่อง ไม่เรียบเหมือนฟันปกติด้วย

7.ค ฟันน้ำตาลหรือสีเทา สกปรก ส่วนมากเกิดจากการใช้ยาเตตร้าซัยคลีนในเด็ก (เด็กที่อายุต่ำกว่า 8-10 ขวบ จึงไม่ควรใช้ยาเตตร้าซัยคลีน) หรือเกิดจากการใช้ยาบำรุงฟัน (ยาฟลูออไรด์) มากเกินไป


8.ฟันผุ มักเกิดจากการไม่ระวังรักษาความสะอาดในปาก การกินของหวาน เช่น อมลูกอมแล้วไม่บ้วนปาก แปรงฟัน หรือดื่มน้ำล้างปากจะทำให้ของหวานเหล่านั้นเป็นที่เกิดและเจริญเติบโตของเชื้อโรค ทำให้เกิดกรดและสารเคมี ทำให้ฟันผุ

เมื่อฟันเริ่มผุ จุดที่เริ่มผุจะเห็นเป็นสีขาวด้านๆ ไม่เป็นมันเหมือนผิวฟันปกติ ต่อมาก็จะเกิดเป็นหลุมและเป็นสีเหลือง น้ำตาลหรือดำในระยะต่อมา แล้วจะเกิดอาการปวดฟันเสียวฟันเวลาไปเคี้ยวถูกอาหาร ต่อมาจะเกิดการอักเสบของเหงือกหรือรากฟันทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ถ้าทิ้งไว้นานๆ ฟันจะค่อยๆ ถูกทำลายเพราะเศษอาหารจะเข้าไปค้างอยู่ในรูผุและทำให้รูผุโตขึ้นๆ จนฟันคลอนและโยกหลุดไป
คนที่หายใจทางปาก จะทำให้ปากแห้ง และเกิดเป็นฟันผุได้ง่าย นอกจากนั้นฟันผุอาจเกิดจากภาวะขาดอาหารหรือโรคภัยไข้เจ็บอย่างรุนแรงในระยะที่ฟันเริ่มขึ้น ทำให้ฟันที่ขึ้นมาไม่แข็งแรง จึงผุง่าย


9.ฟันเป็นหนอง (รากฟันเป็นหนอง) เมื่อฟันผุมากๆ เชื้อโรคจะลุกลามเข้าสู่โพรงฟันข้างในและจะลุกลามลงไปถึงรากฟันและโพรงกระดูกขากรรไกร เกิดเป็นหนองขึ้นภายใน (ดูรูปที่ 15) ทำให้ปวดฟันมาก อาจทำให้ไข้ขึ้น ปวดศีรษะ หรือมีอาการรุนแรงอื่นๆ

 

 

 

 

 

  รูปที่ 15
  รากฟันเป็นหนอง

 

 

 

 

 

 


10.ความผิดปกติอื่นๆ เช่น ฟันซิฟิลิส (Hutchinsonian teeth) ซึ่งเกิดในเด็กที่เป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (โรคซิฟิลิส คือกามโรคชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เกิดแผลริมแข็ง เข้าข้อออกดอก ฯลฯ) เด็กที่เป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด มักได้รับเชื้อนี้ในขณะที่อยู่ในท้องแม่

เพราะฉะนั้นแม่จะเป็นโรคนี้อยู่ แต่แม่จะไม่มีฟันซิฟิลิส เพราะแม่ไม่ได้เป็นซิฟิลิสแต่กำเนิด ลักษณะของฟันซิฟิลิส คือฟันหน้ากร่อนเป็นแฉกแหลมเหมือน “ฟันผี” (ดูรูปที่ 16)

 

 

  รูปที่ 16
  ฟันกร่อนเป็นแฉกแหลม

 

 

 

 
 

ดังนั้น การตรวจฟัน นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโรคฟันแล้ว ยังอาจช่วยในการวินิจฉัยโรคของร่างกายทั่วไปได้ด้วย

(อ่านต่อฉบับหน้า) 

ข้อมูลสื่อ

30-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 30
ตุลาคม 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์