• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 29


    
|
การตรวจตามระบบ (ต่อ)
การตรวจทรวงอก
ทรวงอก คือ ส่วนของลำตัวตั้งแต่คอลงมาจนถึงชายโครงทั้ง 2 ข้าง
ดังนั้น ทรวงอกจึงเป็นส่วนที่แข็ง (คลำแล้วแข็ง) โดยรอบทั้งแต่บนลงล่าง (หัวไหล่ลงไปถึงชายโครงทั้ง 2 ข้าง) และโดยรอบตั้งแต่ข้างหน้าอ้อมไปใต้รักแร้ไปจนถึงด้านหลัง เพราะมีกระดูกซี่โครงล้อมรอบกระดูกกลางหน้าอก (sternum) ทางด้านหน้าไปจนถึงกระดูกสันหลัง (spine) ทางด้านหลัง (ดูรูปที่ 1)

 

 


นอกจากนั้น ด้านบนยังมีกระดูกไหปลาร้า (clavicle) อยู่ข้างหน้าและกระดูกสะบัก (scapula) อยู่ข้างหลัง ซึ่งทำให้เกิดเป็นไหล่ขึ้นปลายด้านนอกของกระดูกไหปลาร้าและกระดูกสะบักจะมาจดกันเป็นหัวไหล่ เพื่อเป็นที่ยึดของหัวกระดูกต้นแขน (head of humerus)

ส่วนกระดูกกลางหน้าอกแบ่งเป็น 3 ชิ้น ชิ้นบนนอกจากจะเป็นที่เกาะของกระดูกไหปลาร้าแล้ว ยังเป็นที่เกาะของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 และ 2

กระดูกซี่โครงซี่ที่ 2 จะเกาะตรงรอยต่อระหว่างกระดูกกลางหน้าอกชิ้นบนกับชิ้นกลาง ทำให้เรานับกระดูกซี่โครงทางด้านหน้าได้โดยการคลำหารอยต่อนี้ รอยต่อนี้จะพบได้ง่ายโดยเอามือลูบบนกระดูกกลางหน้าอก จะพบรอยต่อนี้เป็นสันนูนขึ้นมา กระดูกซี่โครงที่มาจดสันนูนนั้นทั้งด้านซ้ายและด้านขวาจะเป็นกระดูกซี่โครงซี่ที่สอง

กระดูกกลางหน้าอกชิ้นกลางเป็นที่เกาะของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 2-10

กระดูกกลางหน้าอกชิ้นล่างเป็นกระดูกอ่อน ที่เรียกกว่ากระดูกลิ้นปี่ (xiphisternum) จะคลำได้เป็นกระดูกสามเหลี่ยมปลายแหลม ในบางคนปลายจะงุ้มเข้าข้างใน ในบางคน ปลายจะงอนอกข้างนอก คลำได้คล้ายเป็นปุ่มแข็งๆ จนบางคนตกอกตกใจคิดว่าเป็นเนื้องอกหรือสิ่งผิดปกติ

การนับกระดูกซี่โครงทางด้านหลัง ให้ใช้สะบักเป็นหลัก ในท่าห้อยแขนตามธรรมดา สันนูนตรงกลางด้านบนของกระดูกสะบักจะตรงกับกระดูกสันหลังอกข้อที่ 4 ส่วนมุมล่างของสะบักจะตรงกับกระดูกสันหลังข้อที่ 8 และกระดูกซี่โครงซี่ที่ 8 และกระดูกซี่โครงซี่ที่ 8 (ดูรูปที่ 2)

 

 

 

ภายในทรวงอก จะเป็นที่อยู่ของอวัยวะที่สำคัญๆ คือ ปอดและหลอดลม หัวใจและหลอดเลือดใหญ่ในอก หลอดอาหาร และใต้กะบังลมซึ่งปิดช่องอกทางด้านล่างก็จะมีตับอยู่ใต้ชายโครงขวา มีกระเพาะอาหารและม้ามอยู่ใต้ชายโครงซ้าย (ดูรูปที่ 3)

 

 

การตรวจทรวงอก โดยทั่วไป จะใช้การดู การคลำ การเคาะ และการฟัง
การดู
1. ขนาดและรูปร่าง ขนาดและรูปร่างของทรวงอกปกติย่อมแตกจ่างกันในแต่ละคน แต่ละวัย แต่ละเชื้อชาติ และกรรมพันธ์ จึงควรฝึกสังเกตขนาดและรูปร่างของทรวงอกของคนปกติต่างๆ ไว้ จะได้ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยภาวะผิดปกติ

ทรวงอกในเด็ก มักจะเป็นรูปแท่งกลมกว่าในผู้ใหญ่ ผู้หญิงก็จะมีทรวงอกเป็นรูปแท่งกลมกว่าผู้ชาย
ผู้ชายก็จะมีอกผายไหล่ผึ่งกว่าผู้หญิง ซึ่งมีทรวงอกกลมมนกว่า

การดูจะทำให้เห็นขนาดและรูปร่างที่ผิดปกติได้ เช่น
1.1 ขนาดเล็ก ทรวงอกที่มีขนาดเล็กผิดปกติ มักจะพบในคนที่อ่อนแอขี้โรค เป็นลมโรคกระดูกอ่อนตอนเด็กๆ เป็นวัณโรคเรื้อรังตั้งแต่อายุน้อย เป็นต้น

 

 


1.2 ขนาดใหญ่
ทรวงอกที่มรขนาดใหญ่กว่าปกติ จนมีลักษณะเหมือนโอ่ง หรือเรียกว่า อกโอ่ง (barrel chest) ซึ่งมักพบในคนที่เป็นโรคปอดหรือหลอดลมเรื้อรัง จนมีลมค้างอยู่ในปอดมาก เช่น ในคนที่สูบบุหรี่เรื้อรัง ในโรคหอบหืด เป็นต้น (ดูรูปที่ 4)

1.3 อกไก่ (pigeon chest) คืออกที่มีกระดูกกลางหน้าอกโป่งยื่นออกมาเหมือนอกไก่ ซึ่งมักพบในคนที่เป็นโรคกระดูกอ่อนในวัยเด็ก หรือเป็นมาแต่กำเนิด (ดูรูปที่ 5)

 

 


1.4 อกบุ๋ม
(funnel chest) คืออกที่มีกระดูกกลางหน้าอกบุ๋มลึกเข้าไปมากกว่าปกติ ซึ่งมักพบในคนที่เป็นโรคกระดูกอ่อนในวัยเด็ก หรือเป็นมาแต่กำเนิด (ดูรูที่ 6)

1.5 ปุ่มซี่โครง (rachitic rosary) คือ ปุ่มของกระดูกซี่โครงทางด้านหน้าตรงรอยต่อระหว่างกระดูกซี่โครงแข็งกับกระดูกซี่โครงอ่อน มักพบในโรคกระดูกอ่อน (ดูรูปที่ 7)

1.6 ร่องซี่โครง (Harrison’s groove) คือ ร่องบนส่วนล่างของทรวงอก ซึ่งเกิดจากโรคกระดูกอ่อนทำให้กระดูกซี่โครงส่วนล่างตรงที่กะบังลมเกาะ ถูกกะบังลมดึงยุบเข้าไปเป็นร่อง ซึ่งอาจจะเห็นได้ตั้งแต่กระดูกลิ้นปี่ เป็นร่องที่เกือบขนานไปกับชายโครงทั้ง 2 ข้าง (ดูรูปที่ 8)

 

 

1.7 อกแบน (flat chest) คือ อกที่แบนแฟบผิดปกติทั้ง 2 ข้าง มักจะร่วมด้วยอาการซูบผอม ไหล่ตก กระดูกไหปลาร้าและกระดูกสะบักโปนเด่น มักพบในคนที่อ่อนแอ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เป็นโรคปอดเรื้อรังแบบปอดเป็นพังผืดทั้งสองข้าง เป็นต้น (ดูรูปที่ 9)

1.8 อกแบนหรือโป่งข้างเดียว (unilateral flattening or prominence) อกแบนแฟบข้างเดียว มักเกิดจากหลังคด (scoliosis) หรือเกิดจากโรคปอดเรื้อรังที่ทำลายเนื้อปอดข้างเดียวไปมาก เช่น วัณโรค (ดูรูปที่ 10)

 

 


อกโป่งข้างเดียว มักเกิดจากหลังคด (scoliosis) หรือเกิดจากมีลม มีน้ำ มีหนองในช่องอก (ช่องเยื้อหุ้มปอด) ข้างนั้น ซึ่งทำให้รอยบุ๋มระหว่างกระดูกซี่โครงโป่งออกจนดูคล้ายกับว่าหน้าอกข้างนั้นเรียบไม่มีรอยกระดูกซี่โครงอยู่ เพราะลม น้ำ หรือ หนองดันเนื้อที่อยู่ระหว่างกระดูกซี่โครงให้โป่งออกมา ทำให้หน้าอกแลดูเรียบ เพราะไม่มีรอยบุ๋มระหว่างกระดูกซี่โครงแต่ละซี่
ภาวะกระดูกสันหลังคดงอ (kypho-scoliosis) จะทำให้เกิดความผิดปกติในรูปร่างของทรวงอก
ทำให้อกข้างใดข้างหนึ่งแฟบ หรือโป่งไม่เท่ากัน (ดูรูปที่ 10)

1.9 อกโป่งเฉพาะที่ นอกจากที่เกิดจากอกไก่ อกบุ๋ม ปุ่มซี่โครง กระดูกสันหลังคดงอแล้วสาเหตุที่ทำให้อกโป่งเฉพาะที่ยังมีสาเหตุอื่นอีก เช่น

ก. หัวใจโต มักจะทำให้อกด้านหน้า ตรงกลางส่วนล่างค่อนไปทางซ้ายโป่งนูนขึ้นมา และเต้นเป็นจังหวะตามชีพจร

ถ้าหัวใจซีกขวาเท่านั้นที่โต อกด้านหน้าตรงกลางส่วนล่าง และอาจจะมีส่วนค่อนไปทางซ้ายด้วย จะโป่งนูนกว่าปกติ
ถ้าหัวใจซีกซ้ายเท่านั้นที่โต ยอดหัวใจ (apox of the heart) ที่ปกติจะเห็นเต้นอยู่ประมาณช่องซี่โครงช่องที่สี่จะเลื่อนออกไปเต้นอยู่ในช่องซี่โครงที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด หรือที่แปด และปกติยอดหัวใจจะเต้นอยู่ทางด้านใน (ไม่ถึงหัวนม หัวนมปกติจะอยู่ตรงช่องซี่โครงช่องที่สี่ตรงเส้นผ่านกลางกระดูกไหปลาร้า) ดังนั้น ยอดหัวใจปกติจะอยู่ไม่เกินเส้นผ่านกลางกระดูกไหปลาร้าออกไป ถ้าหัวใจซีกซ้ายโต ยอดหัวใจนอกจากจะลงมาอยู่ในช่องซี่โครงที่ต่ำลงมาแล้ว ยังอยู่เลยเส้นผ่านกลางกระดูกไหปลาร้าออกไปทางด้านนอก (ด้านข้าง) อีกด้วย บางครั้ง โตออกไปจนถึงใกล้ชายโครงในบริเวณใต้รักแร้ได้ (ดูรูปที่ 11)
 

 


ข. หลอดเลือดแดงใหญ่ในอกพอง
(aortic aneurysm) มักทำให้อกด้านหน้าตรงกลางส่วนบนค่อนไปทางซ้ายโป่งนูนออกมา ในสมัยก่อนพบมากกว่าในสมัยนี้ เพราะสมัยก่อนคนที่เป็นโรคซิฟิลิส (กามโรคชนิดหนึ่ง) เรื้อรัง ในระยะหลังเชื้อซิฟิลิสจะทำลายผนังของหลอดเลือดแดงใหญ่ในอก ทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่พองออก และอาจโตเท่าผลส้มเกลี้ยง หรือผลส้มโอ จนโป่งโตดันผนังอกด้านบนซ้ายตรงกลางให้โป่งพองออกมาและเต้นได้ (ดูรูปที่ 12)

ค. เนื้องอกต่างๆ ของผนังอก เช่น เนื้องอกไขมันซึ่งมักพบบ่อยในบริเวณด้านหลังของทรวงอก เป็นก้อนเนื้อนิ่มๆ โตช้าๆ เนื้องอกของกระดูกซี่โครง ซึ่งจะพบเป็นก้อนแข็งติดกับกระดูกซี่โครงทางด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างก็ได้ เป็นต้น

ง. อื่นๆ เช่น ฝี หนองหรือลมที่เซาะออกมาจากช่องอก (ช่องเยื้อหุ้มปอด) เป็นต้น


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

35-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 35
มีนาคม 2525
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์