• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หมอหัวใจอนุรักษ์


                                                  

แวดวงสาธารณสุข "หมอหม่อง" หรือนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาจารย์แพทย์ผู้มีความสามารถระดับประเทศคนหนึ่ง

ทว่าแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และกลุ่มดูนก หมอหม่องเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีว่ามีความรู้เรื่องของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการดูนก อย่างลึกซึ้งจริงๆ

นอกเหนือจากชีวิตการเป็นแพทย์ เป็นอาจารย์แพทย์ "หมอหม่อง" เป็นประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา เชียงใหม่ จัดกิจกรรมดูนกและให้ความรู้เรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับผู้สนใจทั่วไปทุกวันอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือน

ความสนใจสิ่งแวดล้อมมีตั้งแต่เมื่อไหร่
ชีวิตวัยเด็กที่บ้านมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยตรง คุณพ่อจะพาออกทะเลท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ส่วนคุณแม่จะชอบภูเขา พาเข้าป่าดูสัตว์ตั้งแต่เด็กๆ รวมถึงสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้เป็นการเปิดประตูให้เห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่มีมากมายทุกวันนี้นำทักษะไปถ่ายทอดให้เด็กและเยาวชน

ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ใช้เวลาว่างทั้งหมดทำงานและศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม สมัยนั้นกิจกรรมนักศึกษาไปเน้นการทำค่าย แต่ผมพยายามเน้นกิจกรรมการปลูกฝังความรู้อนุรักษ์ธรรมชาติ

จะสังเกตได้ว่าตอนนั้นกิจกรรมนักศึกษาและเยาวชนมีน้อย การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กำลังไม่ค่อยมี เกิดขึ้นแล้วก็หายไปเหมือนไฟไหม้ฟาง เพราะคนไม่ค่อยตระหนักตรงนี้

การปกป้องธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติ ถ้าทำตามแฟชั่น ไม่เกิดประโยชน์

หลายคนแปลกใจว่าทำไมเลือกเรียนเป็นหมอ
ตอนอยู่ชั้น ม.ศ.4 สอบเทียบแล้วเอนทรานซ์ติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ่อบอกว่าอย่าเพิ่งเรียนเลย

ปีต่อมาสอบเอนทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้ 2 เดือน ก็รับทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนวิศวะฯ ที่บอสตัน แต่ยังไม่ทันได้เข้าเรียน มีเวลาคิดหลายอย่างและคิดมากด้วยว่าความ ต้องการดั้งเดิมของตัวเองชอบเรื่องชีวิต (ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสัตว์ด้วย) มากกว่าวัตถุ (การก่อสร้างสารพัดอย่าง) คือทำได้แต่ไม่มีความสุข จึงขออนุญาตไม่รับทุนต่อ เดินทางกลับประเทศไทย สอบเอนทรานซ์ใหม่ เลือกคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อันดับ 1 ถึงแม้จะเรียนช้ากว่าเพื่อน 1 ปี แต่มีความสุข เพราะเนื้อหาที่เรียนสนุกและได้ทำกิจกรรมที่ชอบมากด้วย

ไปใช้ทุนที่ด่านซ้าย จังหวัดเลย
ปกติแล้วนักศึกษาแพทย์ทุกคนที่เรียนจบจะต้องทำงานใช้ทุน 3 ปี ด้วยการกระจายไปอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ

วันที่ตื่นเต้นที่สุดของแพทย์จบใหม่ก็คือการจับลูกปิงปองเลือกโรงพยาบาลที่จะไป ความต้องการของแพทย์จบใหม่ก็มีหลากหลาย เช่น ต้องการไปอยู่โรงพยาบาลในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง บางคนก็อยากอยู่เมืองใหญ่ การจับฉลากจึงเป็นเรื่องตื่นเต้นของหลายๆ คน

ผมไม่ต้องจับลูกปิงปอง เพราะเลือกที่จะไปอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย อยู่ชายแดนไทยกับลาว

การเลือกไปอยู่ด่านซ้ายมีเหตุผลหลายอย่าง เป็นต้นว่าเรื่องการใช้ชีวิตเป็นแพทย์ชนบทด้วย ต้องการไปอยู่ไกลๆ หน่อย รู้สึกว่าได้ทำบทบาทอย่างเต็มที่ ไม่ว่าด้านการรักษา การส่งเสริมสุขภาพทุกๆ อย่างได้ ใช้ศักยภาพทำงานอย่างเต็มที่จริงๆ รู้สึกว่ารัศมี 200 กิโลเมตรนั้นไม่มีใครรู้เท่าเราแล้วเรื่องการแพทย์

อีกทั้งที่อีสานมีอุทยานแห่งชาติหลายๆ แห่งซึ่งตอนนั้นยังไม่เคยไป เช่น ภูเรือ ภูหลวง ภูกระดึง ภูหินร่องกล้า ภูเขียว น้ำหนาว เป็นจุดที่ใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่ได้เป็นแพทย์ ทำงานด้านอนุรักษ์ได้อย่างเต็มที่ คือได้ทำงานและได้ท่องเที่ยวด้วย

อยู่ที่อำเภอด่านซ้ายไม่ผิดหวังเลย ถึงแม้ว่าด่านซ้ายจะไกลอยู่ติดชายแดนก็จริง แต่เป็นอำเภอที่ชุมชนมีความน่ารักมาก ชาวบ้านมีความน่ารัก

ที่โชคดีมากจริงๆ ก็คือทีมโรงพยาบาล ตั้งแต่ผู้อำนวยการ (คุณหมอภักดี สืบนุการณ์) ทำงานด้วยกันสนุกสนานมาก แต่ละวันคิดโครงการกันวันละหลายโครงการ ทุกคนมีไฟด้วยกันหมด เพื่อนที่ไปด้วย หรือเภสัชกรทุกวันนี้ก็ยังอยู่ ทุกคนมีใจทำงานเพื่อผู้ป่วย ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่ตนเองสะกิดใจก็คือผู้ป่วยที่ตรวจทุกวัน มีจำนวนมากเลยที่มาหาด้วยภาวะความเครียด ปวดหัวเรื้อรัง โรคกระเพาะ ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ผู้ป่วยเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเครียด คุยไปคุยมาก็เครียด

ชาวบ้านเครียดอะไรกันนักหนา
ผมเข้าไปช่วงนั้นเริ่มมีเหตุผลชัดเจนว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านเริ่มลำบากมากขึ้นกว่าแต่ก่อน สมัยก่อนชาวบ้านอยู่กับธรรมชาติ อาจจะไม่มีวัตถุสิ่งของมากมาย แต่ชาวบ้านไม่อดตาย ไม่ลำบาก เขามีน้ำใสไหลเย็นทั้งปี ปลูกอะไรก็ขึ้น โรคระบาดก็ไม่มี ความสมดุลทางธรรมชาติทำให้วิถีชีวิตไม่ลำบากอะไร ปรากฏว่าช่วงที่ไปทำงานที่ด่านซ้าย พบว่ามีการทำลายธรรมชาติ เหมือนกับการไปถอนต้นทุนจากธนาคาร ไม่ใช่ใช้แค่ดอกเบี้ย

ระบบทุนนิยมเข้าไปสู่ชนบท มีการปลูกพืชชนิดเดียวจำนวนมากๆ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เปลี่ยนไปไม่ใช่แบบพอเพียงอีกแล้ว ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้ที่เคยเป็นคนไม่มีเงินแต่ไม่จน กลายเป็นคนจน ที่จนเพราะทุกอย่างต้องใช้เงิน ตัวเองก็เลยกลายเป็นอีกชนชั้นหนึ่งของสังคม ไม่สามารถจะพึ่งธรรมชาติได้อีกต่อไป เพราะธรรมชาติถูกทำลายไปมาก ต้นน้ำลำธารถูกตัดออกไปเพื่อขยายพื้นที่เกษตร แค่เพียง 2 ปีเท่านั้น พื้นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกชะล้างไปเหลือแต่ดินที่แห้งแล้ง ลำธารก็เหือดแห้ง หรือกลายเป็นขุ่น มีโรคระบาดต่างๆ มีการใช้สารพิษทางการเกษตรจำนวนมากซึ่งกระทบต่อสุขภาพ เป็นความล้มเหลวของการใช้ชีวิตด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง

"การปกป้องธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติ ถ้าทำตามแฟชั่นไม่เกิดประโยชน์"Ž

ผลของวิถีชีวิตที่ล้มเหลวจากการไม่เข้าใจธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาที่ดีพอ ปัญหาบริโภคนิยม ทุนนิยมที่ถาโถมเข้ามา โฆษณาต่างๆ ทำให้คนต้องการบริโภคมากเกินความต้องการจริงๆ

ผมรู้สึกว่าเป็นการรักษาปลายเหตุ ผู้ป่วยหลายรายมีโรคที่เกิดจากความเครียด ให้ยาคลายเครียด และก็พยายามพูดคุยให้เห็นต้นตอของปัญหาต่างๆ แต่ก็รู้สึกว่าไม่ได้แก้ที่ตัวต้นเหตุ เพราะการให้ยาไม่ได้แก้ตัวโรค

ผมพยายามที่จะเข้าหาชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเห็นว่า การเอาชนะธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี สารพิษฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี อะไรต่างๆ เป็นชัยชนะชั่วคราวเท่านั้น คือ ชนะเป็นบางครั้ง แต่จะแพ้ในที่สุด เช่น การใช้สารพิษฆ่าแมลงอาจจะทำลายแมลงศัตรูพืชได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ดื้อยาและกลับมาสู่คนทำให้เกิดโรคมะเร็งอะไรต่างๆ

พยายามออกไปตามหมู่บ้าน ออกไปพูดคุยกับชาวบ้าน แต่มาค้นพบตัวเองว่าการสื่อสารเรื่องแบบนี้กับ ผู้ใหญ่ทำไม่ค่อยได้... ยากมาก เนื่องจากชาวบ้านมองระยะสั้นสำคัญกว่า มองปากท้องเฉพาะหน้าเป็นเรื่องใหญ่

การมองว่าการอนุรักษ์เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เป็นสิ่งที่ทำเมื่อมีทุกอย่างแล้วนั้น จริงๆ ไม่ใช่ เพราะการอนุรักษ์เป็นหลักประกันความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของสังคม คนที่ออกหาเช้ากินค่ำอาจจะยังไม่เห็น คงจะต้องไปตัดป่าก่อน ณ วันนี้เพื่อให้ตัวเองรอดไปก่อน เราอาจจะต้องปลูกฝังคนรุ่นหลัง

สิ่งที่ผมเห็นแน่ๆ ก็คือ จริงๆ แล้วคนที่ทำลายธรรมชาติมาต่อเนื่อง ก็ไม่ได้รวยขึ้นเลย ไม่ได้อิ่มท้องแบบยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นระดับชาวบ้านหรือระดับประเทศ

เราทุกคนต้องเรียนรู้ธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล
คนไทยส่วนหนึ่งอาจจะมองธรรมชาติเหมือนเห็นนก กระรอก รู้สึกว่าเป็นอาหาร เป็นของฟรีที่ยิงได้ ฆ่าได้ และนำมากิน แปลกที่ไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ความเมตตาหรืออภัยทานอยู่แค่เขตวัดเท่านั้น ไม่ออกนอกวัดเลย ก็แปลกนะที่รับศีลรับพรตลอด แต่ก็มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตกันเป็นว่าเล่น

ทำไมคนมีความเมตตาน้อยมาก จะบอกว่าเพราะยากจนก็ไม่ใช่เสมอไป หลายครั้งเห็นเด็กที่ไม่ได้หิวโซอะไรเลยถือหนังสติ๊กยิงสัตว์เพื่อความสนุกเท่านั้น หรือคิดว่าเป็นสิ่งที่จะทำได้ และไม่ได้มีความอ่อนโยนหรือสงสารอะไรเลย ว่าสัตว์ที่เราทำร้ายจะเจ็บปวด หรือครอบครัวสัตว์เหล่านั้นจะเป็นอย่างไรต่างๆ ไม่มีสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับแผ่นดินหรือธรรมชาติรอบตัวเลย ผมรู้สึกว่านี่คือต้นตอของปัญหาทั้งหมดเลย

การอนุรักษ์ต้องเริ่มจากมุมมองว่ามนุษย์เราไม่ใช่เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล เราจะใช้อะไรก็ได้ เราต้องมองว่าการกระทำอะไรมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความเกี่ยวข้องกันของการเป็นแพทย์กับงานสิ่งแวดล้อม
การเป็นแพทย์ก็ช่วยเสริมงานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มาก เพราะหลายๆ อย่างตอนที่อยู่ชุมชนทำให้เข้าหาชุมชนได้ง่ายมาก ค่อนข้างยอมรับและรู้จักอยู่แล้ว

การเป็นแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง ผมคิดว่าค่อนข้างหดหู่นะ แต่การเข้ามาอยู่กับธรรมชาติ ทำงานที่เปลี่ยนไปอีกแนวหนึ่งก็ช่วยเสริมกัน หลีกเลี่ยงความจำเจที่พบเจอทุกวัน ที่มีแต่กลิ่นแอลกอฮอล์ หรือบรรยากาศโรงพยาบาลที่ทุกคนรู้สึก เป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ได้ชาร์จแบตเตอรี่ พร้อมที่จะมีแรงกลับไปทำงานที่ต้องใช้กำลังกายและกำลังใจมากๆ ทำให้มีความพร้อมตรงนี้

การเคลื่อนไหวทำได้ดีกว่า เพราะแพทย์อาจจะมีภาพลักษณ์ของการเป็นนักวิชาการ ถ้ารักษาบทบาทตรงนี้ พูดสิ่งที่มีหลักฐานข้อมูลวิจัยประกอบ สถานภาพแพทย์อาจจะทำให้คนฟังมากขึ้น โดยเฉพาะพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

ผมเคยทำเรื่องเขื่อนปากมูล ก็ต้องหาข้อมูลวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับหอยชนิดหนึ่ง ชื่อ Neotricular aperta เป็นพาหะของพยาธิใบไม้ในเลือดชื่อ Schiztosoma mekongi ซึ่งยังไม่มีระบาดในประเทศไทย แต่มีระบาดในลาว มีความเป็นห่วงว่าหลังสร้างเขื่อนปากมูลแล้ว น้ำที่บริเวณแก่งตะนะ แก่งอะไรต่างๆ จะชะลอตัวลง พยาธิใบไม้ในเลือดจะเข้าไปเจริญเติบโตในหอยได้มาก เมื่อพยาธิเติบโตในหอยจนเป็นพยาธิตัวแก่ก็จะออกมาไชคน โรคพยาธิใบไม้ในเลือดก็จะระบาดมากขึ้น... ความเป็นแพทย์ช่วยได้มาก สมัยนั้นทางราชการสอบสวนเหตุไปขวางเรื่องการสร้างเขื่อนปากมูล แต่ว่าพี่ๆ น้องๆ ชมรมแพทย์ชนบทก็ออกมาช่วย

ตอนนั้นเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายได้สักพัก จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ เพราะคิดว่าภาระเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะมาก คนเป็นแพทย์ก็มีมากแล้ว ไม่ได้ขาดแคลนอะไร คิดว่าปัญหางานสิ่งแวดล้อมสำคัญกว่า ช่วงนั้นไปทำงานวิจัยนกเงือกกับศาสตราจารย์ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ (ทำงานวิจัยนกเงือกมากกว่า 30 ปี) ใช้นกเงือกเป็นสื่อเผยแพร่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"เราทุกคนต้องเรียนรู้ธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล"Ž

ลาออกจากการเป็นแพทย์ประมาณ 1 ปี เริ่มรู้เลยว่าคิดถึงมาก ผมคิดว่าเราได้อะไรจากอาชีพแพทย์มากเลย ความรู้สึกว่าเรามีคุณค่า จริงๆ แล้วงานทุกงาน มีคุณค่าแน่นอน เพียงแต่อาชีพแพทย์เห็นทันที จากการที่ใช้กำลังกาย กำลังปัญญา กำลังใจดูแลผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยเค้าดีขึ้น ผมรู้สึกว่าการให้แบบนี้มีผลด้านจิตใจค่อนข้างจะสูงและเร็ว

การตอบแทนด้านจิตใจมีคุณค่าค่อนข้างจะมาก ผมคงรักที่จะต้องทำอาชีพแพทย์นี้ ตอนนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ โทรศัพท์มาหา บอกว่าให้กลับมาเรียน ก็บอกอาจารย์ว่าตั้งใจจะกลับไปอยู่แล้ว

แล้วเรื่องการซักประวัติอย่างละเอียดของคุณหมอเป็นอย่างไร
ผมถูกสอนมาอย่างนั้น อาจารย์ที่รามาธิบดีเน้นให้ทำอย่างนั้น
การใช้ห้องแล็บสืบค้นที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง มีความจำเป็น แต่ต้องใช้ให้เหมาะสม เพราะอาจจะนำไปสู่ผลบวกลวง หรือการรักษาที่ไม่ถูกต้องได้ เพราะไม่แม่นยำกว่าการตรวจโดย ตาดู หูฟัง มือคลำ

ถ้ามีโอกาส พยายามเน้นทุกครั้งกับนักศึกษาแพทย์ ไม่อยากให้การแพทย์กลายเป็นต้องใช้งบประมาณการดูมากมายเหลือเกินจากการส่งตรวจห้องแล็บต่างๆ

ผมคิดว่าถ้าซักประวัติอย่างละเอียดจะทำให้แพทย์ เข้าถึงผู้ป่วยมากขึ้นถึงแม้จะต้องใช้เวลามากขึ้นก็ตาม การตรวจพิเศษด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้แพทย์ห่างจากผู้ป่วย

ผมอยากให้เทคโนโลยีถูกใช้อย่างเหมาะสม การเน้นเทคโนโลยีมากและอาจจะทำให้คนใช้ไม่เข้าใจความผิดพลาดของเทคโนโลยี หรือสามัญสำนึกว่าผลอย่างนี้จะต้องฉุกคิดว่าใช่หรือไม่ใช่ คือเชื่อมั่นอะไรก็ตามที่คาย ออกมาจากคอมพิวเตอร์ โดยขาดการพิจารณาอย่างถ้วนถี่

เริ่มสนใจดูนกตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอนนั้นเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 1 พ.ศ.2527 เริ่มดูนกอย่างจริงจัง ครั้งแรกไปกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ดูนกที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

สงสัยว่าทำไมเขาดูนกกันจริงจัง มีการเอ่ยชื่อนกเยอะมาก รู้สึกแปลกดีก็เลยสนใจว่าถ้าดูนกอย่างละเอียดบ้างเป็นอย่างไร กลับบ้านมาก็รื้อหนังสือที่มีอยู่หัดสังเกตไปกับเพื่อนๆ นานวันเข้าก็ติดเพราะสนุกมาก การดูนกเป็นกิจกรรมหนึ่งในป่า

คุณค่าที่ได้จากการดูนก
ตัวผมเองไม่ใช่นักเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านอะไรมากมาย ยกเว้นมีเหตุการณ์อะไรที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนของเรา เราไม่ใช่นักเคลื่อนไหวประเภทวางแผนจิปาถะ ทำอะไรก็ทำดื้อๆ ตรงไปตรงมา
สิ่งที่ถนัดก็คืองานเผยแพร่มากกว่า งานปลูกฝังความรู้ ความรัก

พบว่าการดูนกเป็นกิจกรรมที่สามารถดึงคน หรือเด็กๆ เข้ามาสัมผัสธรรมชาติได้มาก อีกทั้งตัวเองรักนกและชอบนกมากด้วย จึงใช้นกเป็นสื่อ... ด้วยเหตุผลหลายอย่าง

นกมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าบอกว่าจัดกิจกรรมดูเสือ ดูช้าง ในธรรมชาติหายากมาก หรือบอกดูตุ๊กแก คนก็ไม่ชอบแน่ เพราะน่าเกลียดน่ากลัว นกดึงดูดได้มากมีเสน่ห์หลายอย่าง แต่ละที่นกก็ไม่เหมือนกัน เมื่อเด็กๆ ได้ส่องกล้องหรือได้เห็นนกสวยๆ หรือรูปร่างประหลาดเขาก็จะเกิดความประทับใจ อยากเห็นมากขึ้น อยากดูมากขึ้น ก็จะเข้ามาในธรรมชาติบ่อยมากขึ้น จะทำให้จิตใจเริ่มอ่อนโยน และเริ่มมีความละเอียด สังเกต ใช้ตาดู หูฟัง มากขึ้น

ถ้าเป็นเด็กๆ ประสาทสัมผัสก็ไวอยู่แล้ว พอโตขึ้นหรืออยู่ในเมืองนานๆ ประสาทสัมผัสจะหยาบ สื่อหลายรูปแบบรุมเร้าตลอด เพราะฉะนั้นบางครั้งเราก็ต้องตัด เราจะเปิดรับละเอียดมากไม่ได้ ก็จะรับอะไรแบบหยาบๆ เด็กหรือวัยรุ่นสมัยนี้ก็จะดูเป็นเด็กร้อนรน เร่งรีบ ค่อนข้างจะหยาบหรือฉาบฉวย ต้องใช้แรงกระตุ้นมาก

ความละเอียดอ่อน ความอ่อนโยนต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวก็จะหายไป แต่ผมคิดว่ากิจกรรมดูนกหรือการเข้าสู่ธรรมชาติ จะช่วยคืนสิ่งเหล่านี้กลับไปมากขึ้น ความอ่อนไหว อ่อนโยนก็จะเริ่มเห็นนกตัวเล็กๆ ที่เขามองข้ามไป กิ้งก่าบินที่เกาะอยู่กับต้นไม้รอบตัวเรามีมากมาย

ความสัมพันธ์ระหว่างนกตัวนี้ กับต้นไม้นี้กินลูกไม้ต้นนี้แล้วบินไปถ่ายมูลตรงนั้นช่วยปลูกป่า นกกินแมลงช่วยควบคุมแมลง เป็นการเชื่อมโยงของธรรมชาติ

ความเชื่อมโยงสำคัญมากๆ เลย ได้เห็นความเชื่อมโยงของนกและธรรมชาติ ได้เห็นว่าทั้งหมดกำลังทำหน้าที่อะไร กำลังทำอะไร เกี่ยวพันกันอย่างไร

เด็กสมัยนี้ถ้าถามว่าข้าวมาจากไหน คำตอบอาจจะได้มาจากห้างสรรพสินค้า
ไม่มีใครที่เวลาหิวข้าวแล้วออกไปกลางแดดแล้วสังเคราะห์แสงเองได้
สำนึกความสำคัญของธรรมชาติ บุญคุณของธรรมชาติ

ความสัมพันธ์หลายอย่างกระทบมาก บางอย่างก็นึกไม่ถึง เช่น การกินทุเรียน อร่อยมาก รู้ไหมว่าการกินทุเรียนของเรา เป็นหนี้บุญคุณค้างคาวเล็บกุด (Eonycteris spelaea) ซึ่งเป็นค้างคาวถ้ำกินผลไม้ ถ้าไม่มีค้างคาวก็ไม่มีทุเรียนกิน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่มาเลเซีย พบว่าสวนทุเรียนในจังหวัดนั้นล้มเหลว ทุเรียนไม่ติดลูกเลย ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับโรงงานปูนซีเมนต์ที่ตั้งอยู่ห่างจากสวนทุเรียน 100 กว่า กิโลเมตร

โรงงานปูนซีเมนต์กับทุเรียนเกี่ยวข้องกันอย่างไร
โรงงานปูนซีเมนต์ต้องไประเบิดภูเขาหินปูนเพื่อนำมาผลิตซีเมนต์ ภูเขาหินปูนมีถ้ำอยู่มากมาย ถ้ำเหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว โรงงานปูนซีเมนต์ทำลายถ้ำค้างคาว

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ดอกจะบานเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น คือบานแป๊บเดียวก็ร่วงไป เป็นดอกที่วิวัฒนาการมาให้ค้างคาวผสม ถ้าไม่มีค้างคาวดอกทุเรียนก็ไม่ได้รับการผสม

สิ่งต่างๆ ที่เราใช้อยู่ ทำอยู่ เพื่อการดำรงชีวิต มีที่มาที่ไปและมีความละเอียดอ่อน มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญมาก

ผมเชื่อว่ากิจกรรมดูนกทำให้คนมองเห็นสิ่งเหล่านี้ มากขึ้น เปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นภาระของสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยลง

ทุกคนเป็นผู้ต้องหาคดีโลกร้อน และทำลายธรรมชาติ มากหรือน้อยเท่านั้นเอง คือเราคงจะต้องมีวิถีชีวิตที่ไม่บริโภคทรัพยากรเกินจำเป็น

การจะทำได้อย่างต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องแฟชั่นที่มาบอกว่า ช่วงนี้ต้องถือถุงผ้าเพื่อไปจ่ายตลาด มันต้องฝังเข้าไปอยู่ในจิตใจว่าการกระทำอย่างนี้ ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ถ้าสิ่งนี้ปลูกฝังได้แล้วสังคมจะน่าอยู่มากขึ้น ทุกคนจะมองเห็นความเชื่อมโยงก็จะไม่มองโลกเฉพาะตัวเราแล้ว ถ้าเกิดคนเห็นสังคมไม่ใช่แค่มนุษย์อย่างเดียว มีนก มีสัตว์ป่า ต้นไม้ มีก้อนหิน มีดิน เห็นทุกอย่าง เขาจะเอาใจใส่ส่วนรวมมากขึ้น ทุกอย่างก็จะไม่ใช่แค่ตัวเรา ไม่ใช่แค่ครอบครัวเรา แต่จะกว้างมากขึ้น ที่เขารักษาธรรมชาติจริงๆ แล้วผลประโยชน์ก็จะเกิดกับตัวเราด้วยในที่สุด

การดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกคน คงไม่ต้องบอกคุณนะ ว่าคุณทำเพื่อใคร
 

ข้อมูลสื่อ

362-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 362
มิถุนายน 2552
อื่น ๆ
คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล