โยคะ...ไม่ยากอย่างที่คิด
หมายความอย่างนั้นจริงๆ
โยคะ ไม่ได้ยากอย่างที่หลายๆ คนคิด นอกจากทำได้ไม่ยากแล้ว ยังให้ความสนุก สบายและสงบด้วย... ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เป็นหนึ่งเสียงที่กล้ายืนยันเช่นนั้น ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และเจ้าของงานเขียนเกี่ยวกับการจัดการความรู้และการพัฒนาตน วันนี้ ดร.ประพนธ์ได้เรียนรู้และตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้จากโยคะ นั่นคือ "ความนิ่ง" "ความสบาย " และ "การมีสติอยู่ทุกขณะ " นอกจากประโยชน์ที่เกิดแก่ตนเองแล้ว ยังสามารถปรับไปใช้ในชีวิตการทำงานและความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมได้ด้วยการใช้ "ความรู้" คู่ " สติปัญญา "
กว่าจะเป็นโยคะ
ก่อนที่อาจารย์ประพนธ์จะมาสนใจฝึกโยคะได้ลองทำอะไรมาหลายๆ อย่างที่คิดว่าเหมาะสมกับตนเอง เหมาะสมกับคนที่อายุมากขึ้น โดยเน้นการออกกำลังที่ไม่หนักและหักโหมจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการแกว่งแขน รำมวยจีน หรือชี่กง แต่ปัญหาคือไม่มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จนไม่ได้ทำในที่สุด และแล้วก็ได้มารู้จักและทดลองฝึกโยคะโดยการแนะนำของภรรยา
" แรกๆ แค่ตามภรรยาไปฝึกโยคะสัปดาห์ละครั้ง แต่นั่นก็เป็นเรื่องยากแล้วเพราะรู้สึกว่าต้องเหยียด ต้องยืดอะไรมากมาย พยายามแล้วก็ยังทำไม่ได้ ยิ่งท้อไปใหญ่เมื่อเห็นคนอื่นทำได้แต่ตัวเองแข็งเหมือนท่อนไม้ " แล้วความพยายามที่มีก็สิ้นสุดลงที่ 2 เดือนเท่านั้น
"เวลาผ่านไปเป็นปี ก็ได้ยินเรื่องโยคะมาเข้าหูอีก เพื่อนที่ทำงานไปเล่นโยคะร้อน (Hot Yoka) มาและชักชวนให้เล่นด้วย ในใจยังกล้าๆ กลัวๆ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาฝังใจว่าเป็นเรื่องยาก ยิ่งเป็นโยคะร้อนที่ต้องอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส ให้ครบ 90 นาทีแล้วก็ยิ่งกังวล " แม้จะกังวลแค่ไหนแต่อีกใจก็อยากลอง ในที่สุดอาจารย์ประพนธ์จึงได้เข้าไปฝึกโยคะร้อนในฐานะแขกรับเชิญของเพื่อน ฝึกผ่านไปได้ด้วยดีโดยไม่มีอาการเป็นลมแต่อย่างใด
จากโยคะร้อนที่ไปทดลองกับเพื่อนมาถึงโยคะร้อน ใกล้บ้านจากการชักชวนของภรรยา (อีกครั้ง) " ตัดสินใจสมัครสมาชิกไป 2 เดือน และพยายามไปให้บ่อยครั้งจะได้คุ้มกับเงินที่จ่ายไป อาจารย์ประพนธ์บอกถึงความ รู้สึกทรมานกับการจัดการบริหารเวลาในช่วงนั้นว่าเสร็จงานปุ๊บต้องรีบไปให้ทันฝึกรอบเย็น ไม่ทันรอบเย็นก็เป็นรอบกลางคืน กว่าจะกลับถึงบ้านดึกดื่น เป็นการจัดการเวลาที่ไม่ลงตัว ครบ 2 เดือนก็หยุดไปอีก
แม้จะผ่านประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับโยคะมาโดยไม่มีครั้งไหนที่ได้ทำอย่างจริงจัง แต่โอกาสก็มาให้ได้ทดลองอีกครั้ง... 13-14 ธันวาคม พ.ศ.2551 อาจารย์ประพนธ์และภรรยาได้เข้าร่วมคอร์ส " โยคะ ธรรมะหรรษา ฮา..ฮา..ฮา" ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดนครปฐมโดยสถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน เน้นการสอนอาสนะพื้นฐาน 14 ท่า ผนวกกับการบรรยายธรรมและนำฝึกปฏิบัติ (ฝึกสติ) ตามแนวหลวงพ่อเทียนโดยพระอาจารย์ครรชิต อกิณจโน แห่งวัดป่าสันติธรรม จังหวัดชัยภูมิ
" การเข้าคอร์สครั้งนี้เปลี่ยนมุมมองของผมเกี่ยวกับโยคะโดยสิ้นเชิง คือได้เรียนรู้ว่า " โยคะไม่ได้ยาก
อย่างที่เคยรู้สึก " และยังได้หลักสำคัญในการฝึกโยคะ 4 ข้อ ว่าจะต้อง นิ่ง สบาย ใช้แรงแต่น้อย และมีสติรู้ตัวอยู่ทุกขณะ "
ทําโยคะให้ง่าย
จากการฝึกโยคะแบบจำใจมาหลายครั้ง ถึงตอนนี้ อาจารย์ประพนธ์ฝึกโยคะด้วยความเต็มใจและสามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างลงตัว การบริหารเวลาในตอนเช้าช่วง 05.00-06.00 น. เพียง 1 ชั่วโมงสำหรับฝึกโยคะและนั่งสมาธิก่อนเตรียมตัวไปทำงานทำให้พบความเปลี่ยนแปลง... " เท่าที่ผ่านมาพบว่าร่างกายมีความยืดหยุ่นดีขึ้น จิตใจสงบมากยิ่งขึ้น รู้สึกว่าไม่ค่อยเจ็บป่วยเหมือนแต่ก่อน เพราะปกติจะเป็นหวัดหรือแพ้อากาศค่อนข้างบ่อย แต่ตอนนี้สังเกตว่าเป็นน้อยลง และตั้งแต่ฝึกโยคะมาพบว่าไม่ได้เป็นหวัดถึงขั้นต้องไปหาหมอหรือกินยาปฏิชีวนะเหมือนแต่ก่อน "... คำบอกเล่าที่แสดงถึงความรู้สึกยินดีกับสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นของอาจารย์ประพนธ์ เป็นผลมาจากการรู้จักนำโยคะมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นธรรมชาติ
นอกจากทำโยคะให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แล้ว ยังสามารถผสานเรื่องโยคะกับการปฏิบัติธรรมได้อย่างกลมกลืน เพราะโยคะมีหลักคือ ต้องไม่ฝืน ไม่รีบ และทำด้วยตนเอง...อาจารย์ประพนธ์ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองที่บ้านหลังจากได้รับคำชี้แนะจากครูมาแล้ว ซึ่งเป็นการพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดโดยการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและทำจนเป็นนิสัย นี่คือหลักปฏิบัติ ที่สำคัญ
โยคะคือธรรมะและธรรมชาติ
ด้วยหน้าที่การงานที่ต้องเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการจัดการความรู้หรือ KM นั้น ทำให้อาจารย์ประพนธ์พบว่า เราไม่สามารถจัดการแต่ส่วนที่เป็น"ความรู้" ได้ แต่ต้องจัดการส่วนที่เป็น " สติปัญญา" ด้วย เพราะสติปัญญาเป็นรากฐานสำคัญสำหรับหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น อัตตาตัวตน (อีโก้) หรือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก การจะจัดการและพัฒนาสติปัญญาให้มีประสิทธิผลนั้นสามารถใช้แนวทางของโยคะหรือธรรมะเป็นตัวยึดเหนี่ยวได้
ธรรมะสอนให้เรานิ่ง สงบ อยู่โดยจัดการชีวิตให้เกิดความสมดุล ไม่มากหรือน้อยไปในทิศทางใดทิศทาง หนึ่ง เช่นเดียวกันกับโยคะที่เน้นใช้ความนิ่ง สบาย ใช้สติ ค่อยๆ ทำ ไม่เร่งหรือฝืนจนเกินกำลัง แต่ต้องสร้างความกลมกลืนและสมดุลให้เกิดขึ้นและให้เป็นไปอย่างธรรมชาติที่ควรจะเป็น
การมีสติรู้ตัวอยู่ในทุกขณะเท่านั้นที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายได้
ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด
ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลง
การสร้างแรงบันดาลใจ
และการประยุกต์ใช้หลักธรรมกับการบริหารงานยุคใหม่
ประวัติการศึกษา
♦ อาจารย์ประพนธ์จบการศึกษาด้านวิศวกรรม-ศาสตร์ ปริญญาตรี-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและเอกจากสหรัฐอเมริกา
ประสบการณ์การทำงาน
♦ สนใจเรื่องการพัฒนาคนและการพัฒนาตนเอง มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาองค์กร และเคยเป็นผู้บริหารในหลายหน่วยงาน อาทิเช่น ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ฯลฯ
ผลงานหนังสือ (เฉพาะที่วางจำหน่าย)
♦ เขียนหนังสือ KM ที่อ่านง่ายและขายดีที่สุดในประเทศไทย 2 เล่ม คือ KM ฉบับมือใหม่หัดขับ และ KM ฉบับขับเคลื่อน LO
♦ แปลหนังสือแนวพัฒนาตน 6 เล่ม คือ ปัญญาญาณ, อิสรภาพ, วุฒิภาวะ, Intelligence...เป็นไปได้ด้วยปัญญา, เต๋า:มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง และสปาอารมณ์ (Emotional Wellness)
- อ่าน 4,837 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้