• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขอเพียงโอกาสเป็นคนหนึ่งในสังคม


 

หญิงสาวคนหนึ่ง ถูกไฟฟ้าช็อตจนต้องตัดแขนและขาทั้ง 2 ข้าง แต่ด้วยความมุ่งมั่นเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้จะเดินไม่ได้ต้องเคลื่อนไหวโดยใช้รถเข็น แม้จะไม่มีมือแต่เธอใช้ท่อนแขนทั้ง 2 ข้าง ฝึกเขียนหนังสือ วาดภาพ ใช้คอมพิวเตอร์ ทุกวันนี้เธอทำงานธุรการเป็นโอเปอร์เรเตอร์ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษแห่งหนึ่งและเป็นอาสาสมัครทำงานที่โรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่ง


เธอบันทึกความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องคนพิการที่น่าสนใจดังนี้

"หวังว่าคนในสังคมไม่มองว่าคนพิการเป็นแต่เพียงคนพิการที่ต้องรอรับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว อยากให้มองว่าคนพิการก็คือคนคนหนึ่งเหมือนกัน มีความอยาก มีความหิว และต้องการเป็นที่ยอมรับของคนปกติทั่วไป ไม่อยากถูกมองว่าคนพิการคือภาระที่ไม่มีวันหมด

ความพิการคือโรคที่รักษาไม่มีวันหาย แต่สังคมสามารถรักษาความพิการให้เบาบางลงได้ หากคนพิการ ไม่ถูกแยกไว้ต่างหากเหมือนเป็นโรคที่ติดเชื้อร้าย... คนพิการทุกคนยอมรับว่ายังไงก็ต้องพึ่งพาคนปกติวันยังค่ำ แต่คนพิการไม่ต้องการเป็นภาระทางสังคม ไม่ได้ต้องการให้สังคมหรือคนปกติมาอุ้ม ต้องการเพียงแต่การประคองหรือพยุงให้ยืนหยัดอยู่ "

 


คนพิการอาสาสมัครในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลจังหวัดแห่งนี้ เริ่มต้นด้วยการรับอาสาสมัครเข้าทำงานด้านการฟื้นฟูคนพิการ โดยผู้รับผิดชอบงานด้านนี้มีความเห็นว่าคนพิการน่าจะมีจิตวิญญาณในการดูแลให้กำลังใจคนพิการทุพพลภาพได้ดี และเพื่อให้เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไปเห็นศักยภาพของคนพิการ โครงการรับอาสาสมัครจึงเริ่มต้นขึ้น โดยผู้รับผิดชอบโครงการหาเงินบริจาคเป็นค่าอาหารและเบี้ยเลี้ยงแก่คนพิการอาสาสมัคร

" เรื่องของการจ้างงานคนพิการ ในหลายๆ ที่จ้างคนพิการทำงาน แต่ตั้งสเป็กคนพิการไว้สูงลิบ เหมือนจ้างคนพิการเพื่อให้ได้ตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ต้องการจ้างคนพิการจริงๆ โอกาสของคนพิการมีน้อย ยิ่งมีความพิการมากแม้จะทำงานได้ก็ยังถูกจำกัดความสามารถอยู่ดี" หญิงอาสาสมัครแสดงความรู้สึก

อย่างไรก็ดี บัดนี้ผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาล จังหวัดแห่งนี้ ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงสนับสนุนให้รับคนพิการเข้าทำงานเป็นลูกจ้างเงินบำรุงหลายคน ได้แก่ คนพิการแขนขาทำหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุอุบัติเหตุฉุกเฉิน คนพิการตาบอดเป็นพนักงานนวดแผนไทย และหากผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะมีการขยายงาน ด้านอื่นสำหรับคนพิการต่อไป

 


การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ได้ส่งเสริมให้คนพิการมีโอกาสในการประกอบอาชีพ เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป

มาตรา 33  เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงาน ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน ในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ออกกฎกระทรวง กำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ จะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน

มาตรา 34
นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนดตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 24 (5)
นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทำงาน หรือส่งเงินเข้ากองทุนตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเป็นร้อยละของจำนวนเงินค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการหรือที่ส่งเข้ากองทุน...


มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะไม่ประสงค์รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33  และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น อาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้า หรือบริหารจัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ หรือ   ผู้ดูแลคนพิการแทนก็ได้...

ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐ และสถานประกอบการของเอกชนหลายแห่ง รับคนพิการเข้าทำงานในตำแหน่ง งานต่างๆ ที่คนพิการทำได้ โรงพยาบาลเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมหน่วยงานหนึ่งที่จะรับคนพิการเข้าทำงาน เพราะงานที่คนพิการสามารถทำได้มากมายหลายงานตามประเภทความพิการ แม้คนพิการจะมี ข้อเสียเปรียบทางด้านกายภาพบางประการ แต่มีข้อได้เปรียบในด้านความมุ่งมั่นและจิตใจที่เมตตาต่อคนไข้และคนพิการ

 

คนพิการต้องการกำลังใจ
ชายหนุ่มขาขาดทั้ง 2 ข้างจากอุบัติเหตุ ซึ่งทำงานในโรงพยาบาล เล่าประสบการณ์

 " เมื่อคนพิการมาโรงพยาบาลก็ต้องมีเรื่องจำเป็นมากถึงได้มาโรงพยาบาลเพราะการมาโรงพยาบาลแต่ละครั้ง ย่อมเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบากมาก... ความต้องการของคนพิการเมื่อพบเจ้าหน้าที่ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และแพทย์ ก็คือต้องการคำแนะนำที่ดี ถูกต้อง ความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ทุกๆ ฝ่าย... ผมเคยเจอเหตุการณ์ที่คนไข้เกิดความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เพียงแค่คำพูดที่ไม่ดีแค่คำเดียว... คนไข้ก็ไม่อยากมาโรงพยาบาลอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลย หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยเห็นคนไข้คนนี้อีกเลย "

" วิธีสร้างกำลังใจที่ดีอีกวิธีหนึ่งก็คือการมีคนมาพูดคุย ดูแล เอาใจใส่ และถ้ามีโอกาสให้คนพิการที่หมดกำลังใจ ได้เห็นคนอื่นที่โชคร้ายกว่าตนเอง ก็จะทำให้เค้าคิดว่าตนเองนั้นยังโชคดีกว่าคนพิการที่โชคร้ายกว่าเค้าอีก " ชายหนุ่มพูดถึงวิธีการกระตุ้นคนพิการที่หมดกำลังใจและซึมเศร้า

มาตรการทางกฎหมายเป็นวิธีการที่ดีประการหนึ่งในการสร้างโอกาสให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตโดยการพึ่งพาตนเอง ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม  อย่างไรก็ดี ความเข้าใจต่อจิตวิญญาณและความรักศักดิ์ศรีของคนพิการ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า

คนพิการต้องการโอกาสเพื่อเขาจะได้ทำงานช่วยเหลือตนเอง มิได้ต้องการรับความช่วยเหลือ โดยไม่มีโอกาสได้ทำงาน เพื่อแสดงศักยภาพเยี่ยงคนคนหนึ่งในสังคม

 

 

ข้อมูลสื่อ

363-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 363
กรกฎาคม 2552
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์