• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รำไทยพิชิตปวด

ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งในหัวข้อ โรคอักเสบของเส้นประสาทบริเวณอุโมงค์ข้อมือ ว่าสามารถบรรเทาอาการของโรคได้โดยการรำไทย ฉบับนี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของรำไทยว่าสามารถช่วยได้อย่างไรและรำท่าไหน เวลานานแค่ไหน  เพื่อให้รำไทยได้อย่างถูกต้องและสามารถบรรเทาอาการของโรคได้

 


เมื่อเส้นประสาทบาดเจ็บ
เส้นประสาทเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย ทำหน้าที่ถ่ายทอดกระแสประสาทจากตัวรับรู้ความรู้สึกที่อยู่ตามผิวหนัง ข้อต่อ และอวัยวะต่างๆ ส่งไปยังสมองเพื่อให้ทราบว่าเรารู้สึกอย่างไร ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทสั่งการจากสมองหรือไขสันหลัง ลงมายังกล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานในการขยับเขยื้อนร่างกายและแขนขา

หากเส้นประสาทมีปัญหาและทำงานบกพร่องไป เช่น เส้นประสาทฉีกขาด ถูกกดทับ หรือมีการอักเสบ ติดเชื้อ ย่อมส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาทนั้นๆ

อย่างหนักสุดคือรับรู้สึกไม่ได้ หรือกล้ามเนื้อไม่ทำงาน อาจรู้สึกเจ็บปวดมากจนทนไม่ได้
อาการเบาหน่อยคือการรับรู้สึกลดลง และ   กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งความผิดปกติของระบบประสาทจะส่งผลต่อการทำงานและการดำรงชีวิต นอกจากนั้น หากพิจารณาการวางตัวของเส้นประสาท ยังพบว่าเส้นประสาทมีการวางตัวที่ยาวมากจากคอหรือหลังไปสู่แขนหรือขา ตามแต่กล้ามเนื้อหรือผิวหนังที่เส้นประสาทเหล่านั้นไปเลี้ยง เมื่อเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทจะมีการตึงรั้ง ส่งผลให้ขยับเขยื้อนร่างกายแล้วรู้สึกตึง แขนขาเหยียดได้ไม่เต็มที่     


  

รำไทยกับความตึงตัวของเส้นประสาท

จากการที่เส้นประสาทมีการตึงรั้งตัว ทำให้มีผู้ที่คิดค้นวิธีการตรวจและรักษาจากประเทศออสเตรเลีย ด้วยการขยับเขยื้อนเส้นประสาทให้เส้นประสาทมีการขยับตัวไปมา และยืดเส้นประสาท เพื่อลดการตึงตัว โดยการจัดท่าอาศัยความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์จัดท่าให้เส้นประสาทอยู่ในท่าที่ตึง แต่ไม่ตึงมากจนเกินไป และได้แนะนำท่าบริหารออกกำลังกายด้วยการเต้นแบบนกฟลามิงโกของทวีปแอฟริกา
แต่จากที่ผู้เขียนวิเคราะห์ท่าเต้นและท่าตรวจความตึงของเส้นประสาท พบว่ามีส่วนคล้ายกับท่ารำของรำไทยมาก เช่น ท่ายูงฟ้อนหาง ท่าล่อแก้ว และ ท่าชะนีร่ายไม้ จะมีผลต่อการขยับและยืดเส้นประสาทมีเดียน

ท่ารำยั่ว จะมีผลต่อการขยับและยืดเส้นประสาทเรเดียล

ท่าสอดสร้อยมาลาและท่าพรหมสี่หน้า มือที่อยู่ด้านบนจะมีผลต่อการขยับและยืดเส้นประสาทอัลนา

ทางคณะของผู้เขียน อาจารย์และนักศึกษาหลังปริญญา ได้ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่า การรำไทยมีส่วนช่วยลดอาการตึงตัวของเส้นประสาทหรือไม่ โดยทำการวิจัยตั้งแต่การสำรวจในผู้ที่รำไทยเป็นประจำ พบว่าผู้ที่รำไทยจะมีการตึงตัวของเส้นประสาทน้อยกว่า หรือไม่ตึงเลย และเมื่อทำการทดลองให้รำไทยในผู้ที่ทำงานในสำนักงานต่างๆ 


พบว่ารำไทยมีส่วนช่วยทำให้เส้นประสาทลดการตึงตัวลงอย่างชัดเจน
การทดลองใช้รำไทยกับผู้ป่วยที่มีอาการของเส้นประสาทอักเสบที่ถูกกดทับบริเวณข้อมือ ที่มีอาการระดับน้อยถึงปานกลาง ได้ผลออกมาอย่างชัดเจนว่าความตึงตัวของเส้นประสาทลดลง การรับรู้สึกสัมผัสดีขึ้น กำลังกล้ามเนื้อดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกพอใจกับผลที่ได้จากการรำ

อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้จากการรำเป็นส่วนประกอบเสริมจากการรักษาเท่านั้น เพราะหากไม่ทำการลดการกดทับ อาการอักเสบก็สามารถกลับมาเป็นอีกได้ทุกเมื่อ
ที่สำคัญคือการรำนั้นต้องพอเหมาะ เพราะหากรำมากไป ก็เปรียบเสมือนการกินยาเกินขนาด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว การรำอาจไม่สามารถช่วยได้ หรืออาจกระตุ้นทำให้เกิดอาการเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องมีการพิจารณาเวลาและความรุนแรงของการรำให้เหมาะสม
      


รำไทยแค่ไหนถึงดี

ในเบื้องต้น ท่ารำไทยที่ได้กล่าวถึงเป็นท่าที่ส่งผลต่อการยืดตัวของเส้นประสาทมากที่สุด แต่หากต้องมาคอยจดจำท่ารำหรือระมัดระวังเรื่องท่ารำมากเกินไป อาจทำให้การรำไม่สนุกหรือเกร็งเกินไป ผู้เขียนขอแนะนำอย่างง่ายๆ ดังนี้

♦ ให้ใช้ท่ารำวงที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะท่าของผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายท่าสอดสร้อยมาลา และอาจเพิ่มเติมด้วยท่าจีบมือไปข้างหลัง ในลักษณะคล้ายท่ายูงฟ้อนหาง ก็เป็นท่าที่เพียงพอต่อการยืดเส้นประสาทแล้ว

♦ การรำแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที การรำบ่อยๆจะดีกว่าการรำครั้งละนานๆ

♦ ขณะที่รำให้มีความรู้สึกตึงของแขนเพียงเล็กน้อย อย่าฝืนว่ายิ่งตึงยิ่งดี เพราะการรำมีผลต่อการยืดเส้นประสาทโดยตรง อาจทำให้มีการบาดเจ็บเพิ่มเติมของเส้นประสาทได้

♦ หากรำแล้วมีอาการชาหรือเจ็บเพิ่มขึ้น ให้หยุดรำสักครู่ ถ้าอาการหายไปทันทีที่หยุดรำ ให้รำต่อได้ แต่ถ้าต้องพักสักครู่หนึ่ง (ประมาณ 1 นาที) ให้ลดความรุนแรงของการรำ คือรำโดยไม่ให้รู้สึกตึง และลดเวลาของการรำลงด้วย

♦ ทำการรำทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ อาการตึงจะค่อยๆดีขึ้น

♦ การรำไทยนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการอยู่ในระดับน้อย ถึงปานกลาง หากอาการที่เป็นอยู่หนักมาก (คือทำงานเบาๆ ก็กระตุ้นทำให้เกิดอาการ) ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้เฉพาะเจาะจงกับอาการที่เป็นอยู่ เพราะการรำไทยอาจกระตุ้น ทำ ให้อาการแย่ลงได้ ซึ่งสังเกตได้จาก เมื่อรำแล้ว อาการชา หรือเจ็บจะมากขึ้น พักสักครู่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนต้องทำการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การประคบเย็น อาการถึงดีขึ้น ถ้ามีอาการในลักษณะนี้ บ่งบอกเบื้องต้นได้ว่าการรำไทยยังไม่เหมาะสมกับตัวคุณ
 



ผู้เขียนเคยให้การรำเป็นส่วนหนึ่งของท่าออกกำลังกายของพนักงานตามสำนักงาน และโรงงาน ที่มีอาการและไม่มีอาการของการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน พบว่าเมื่อออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน ท่าออกกำลังกายดังกล่าวสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บของพนักงานลงได้

ดังนั้น อาจจัดให้รำไทยเป็นกิจกรรมหนึ่งของพนักงานระหว่างพัก เพื่อลดและป้องกันปัญหาการบาดเจ็บจากการทำงานที่เกิดกับพนักงานได้

 

 

ข้อมูลสื่อ

364-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา