• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไม่อยากอ้วน... กินอย่างไรดี

ปัจจุบันหลายคนตระหนักดีว่า "อ้วน" มากเกินไปไม่ดีกับสุขภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผอมมากจะดีกับสุขภาพ


น้ำหนักตัวที่พอดี ไม่อ้วนและผอมคงจะดีที่สุด
ที่ว่า "อ้วน" ไม่ดีกับสุขภาพนั้น เพราะทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคปวดข้อต่างๆ ได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า

คนเกือบทุกคนทราบดีว่าสาเหตุของความอ้วนมาจากการกินอาหารมากเกินกว่าพลังงานที่ร่างกายต้องการใช้ในแต่ละวัน พลังงานที่เกินต้องการนั้นถูกเปลี่ยนเป็นไขมันพอกพูนอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าท้อง แขน ขา หรือลำตัว เป็นต้น

ดังนั้น การลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนจึงทำได้โดยการกินอาหารให้ได้ "พลังงานลดลง" ไม่ให้มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ หลายท่านอาจบอกว่า "พูดง่าย" แต่การกระทำนั้น "ยาก" ว่าไปแล้วก็มีส่วนจริงอยู่มาก เพราะควบคุมไม่ให้กินอาหารอร่อยไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่มีความสุขกับการกินอาหาร

อย่างไรก็ตาม การรู้จักกินให้พอเหมาะกับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่จะทำให้เราทุกคนมีสุขภาพดีไม่ใช่ไม่อ้วนเท่านั้น ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป เชื่อว่าทุกคนทำได้ ขอให้มีความเข้าใจและมีความตั้งใจอย่างจริงจังเท่านั้น 


 

กินไม่ให้อ้วน... ไม่ยากอย่างที่คิด

หลักสำคัญข้อแรกคือ "กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ" ไม่ใช่เรื่องยากเลย
การกินอาหารให้ครบ 3  มื้อ ช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารกระจายเหมาะกับความต้องการในการทำกิจกรรมต่างๆ

 

อาหารมื้อเช้าหรือมื้อกลางวันจะต้องให้พลังงานกับร่างกายมากกว่ามื้อเย็น

ปัจจุบันพบว่ามักจะตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา คือคนส่วนใหญ่มักจะกินอาหารมื้อเช้าน้อยหรือหลายคนไม่กินเลย ด้วยเหตุผลของความรีบเร่งที่ต้องไปทำงานให้ทัน ส่วนอาหารมื้อเย็นกลับกินมากเกินกว่าร่างกายต้องการใช้ เนื่องจากกิจกรรมหลังกินอาหารมื้อเย็นมีน้อย มักจะเป็นกิจกรรมผ่อนคลายเบาๆ ก่อนที่จะเข้านอน ทำให้พลังงานจากอาหารที่ได้รับมากเกินในมื้อเย็นสะสมไปสร้างไขมันพอกพูนตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ง่าย

พอกล่าวเช่นนี้แล้วหลายคนอาจบอกว่าถ้าเช่นนั้นงดการกินอาหารมื้อเย็นเลยดีกว่า จะได้ไม่มีพลังงานมากเกินไป

ขอแนะนำว่าไม่ดีเช่นกัน เพราะมักจะทำให้คนกินอาหารมื้อกลางวันมากขึ้น เผื่อสำหรับตอนเย็น และคนส่วนใหญ่ที่ทำเช่นนี้มักจะรู้สึกโหยหลังจากเลยอาหารมื้อเย็นไปสักพักหรือก่อนเข้านอน จึงไปกินอาหารกินเล่นอย่างอื่น ซึ่งอาหารเหล่านั้นมักจะมีพลังงานสูงโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้

อันที่จริงแล้วอาหารมื้อเช้าเป็นมื้อที่มีความสำคัญกับทุกคนรวมทั้งคนอ้วนด้วย  เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เรามีพลังงานในการทำงาน และทำกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่อดอาหารมาตลอดคืน
อาหารเช้าจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า มีสมาธิทั้งในการเรียนและการทำงาน

นอกจากนี้ มีงานวิจัยจากต่างประเทศระบุว่าผู้ที่กินอาหารเช้าทุกวัน จะมีโอกาสเกิดภาวะอ้วน และโรคเบาหวานน้อยกว่าผู้ที่ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 35-50

อาหารเช้าที่เหมาะสมนั้น ควรมีค่าพลังงาน และสารอาหารอย่างน้อย 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ของปริมาณที่ควรจะได้รับตลอดวัน

ส่วนการกระจายพลังงานในมื้อกลางวันและมื้อเย็นควรอยู่ที่ร้อยละ 35 และร้อยละ 30 ตามลำดับ และที่เหลือเป็นพลังงานจากอาหารว่างอีกประมาณร้อยละ 10

หลักสำคัญข้อที่สองคือหลีกเลี่ยงอาหารว่างหรืออาหารระหว่างมื้อ ว่าไปแล้วอาหารระหว่างมื้อนี้ไม่มีความจำเป็นต่อผู้ใหญ่ทั่วไปเลย ยกเว้นในเด็กที่ต้องการการเจริญเติบโตและในคนบางกลุ่มที่อาจมีปัญหาในการย่อยและดูดซึมที่ต้องกินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น

อาหารว่างระหว่างการประชุมเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราได้รับพลังงานมากเกินไป
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเคยรายงานว่าร้อยละ 75 ของอาหารว่างที่จัดทั่วไปให้พลังงานมากกว่า 200 กิโลแคลอรีต่อมื้อ ซึ่งมากเกินไป
อาหารว่างที่ดีควรมีพลังงานประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี หรือไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่แต่ละคนควรได้รับ


คนที่มีปัญหาน้ำหนักตัวค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารว่างเป็นประจำ ที่จริงการดื่มน้ำเปล่าก็น่าจะเพียงพอแล้ว ควรระวังไม่ดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มประเภทมอลต์รสช็อกโกแลตมากเกินไป โดยเฉพาะที่เป็นเครื่องดื่มปรุงสำเร็จประเภท "ทรีอินวัน" ซึ่งจะให้พลังงานมากกว่าการชงดื่มเอง

กล่าวคือเครื่องดื่มประเภทมอลต์รสช็อกโกเลตที่ปรุงสำเร็จมักมีรสหวานมาก ให้พลังงานสูงถึง 150 กิโลแคลอรี ต่อ 1 ซอง

ส่วนกาแฟปรุงสำเร็จ 1 ซอง (20 กรัม) ให้พลังงาน 88 กิโลแคลอรี และควรหลีกเลี่ยงอาหารว่างประเภทเบเกอรีต่างๆ เพราะเป็นอาหารที่มีไขมันและพลังงานสูง เช่น ครัวซองเนย 1 ชิ้น (50 กรัม) ให้พลังงานประมาณ 203 กิโลแคลอรี หรือพายไก่ 1 ชิ้น (80 กรัม) ให้พลังงาน 178 กิโลแคลอรี เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการกินอาหารว่าง 1 มื้ออาจให้พลังงานมากกว่าอาหารหลักที่กินในตอนเช้าหรือกลางวันเสียอีก

ถ้ารู้สึกว่าจำเป็นต้องมีอาหารว่างขอแนะนำให้จัดเป็นผลไม้จานเล็กๆ 1 จานก็เพียงพอแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ได้พลังงานมากเกินความต้องการที่จะทำให้เกิดไขมันสะสมและกลายเป็นโรคอ้วน


หัวใจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการกินอาหารให้ครบหมวดหมู่ โดยเน้นการกินผักให้มากขึ้น กินไขมันให้น้อยลง กินข้าวแป้ง เนื้อสัตว์ และผลไม้พอประมาณ การกินอาหารให้ครบหมวดหมู่อย่างหลากหลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ ที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

 

อาหารไขมัน... ตัวการความอ้วน

สารอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกายสูงมากที่สุดคือไขมัน ซึ่ง 1 กรัมของไขมันให้พลังงานมากถึง 9 กิโลแคลอรี ดังนั้นการลดการกินไขมันลง จะช่วยควบคุมไม่ให้ได้รับพลังงานเกินความต้องการได้ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด หรือผัดที่มีการใช้น้ำมันมากๆ นอกจากนี้ยังต้องระวังไม่กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไปด้วย

หลายคนอาจเข้าใจว่าไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์คือส่วนที่เห็นเป็นไขมันขาวๆ ถ้าหลีกเลี่ยงการกินส่วนที่เห็นเป็นมันๆ แล้วก็สามารถกินเนื้อสัตว์มากเท่าไรก็ได้ แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น เนื้อสัตว์ที่เห็นเป็นเนื้อแดงล้วนยังมีไขมันแทรกอยู่ประมาณ 3-5 กรัม ต่อเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) แต่ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ที่เห็นเป็นมันหรือมีส่วนที่เป็นหนังจะมีไขมันประมาณ 7-10 กรัม ต่อ 2 ช้อนโต๊ะ โดยทั่วไปในแต่ละวันควรได้รับพลังงานจากไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้จากอาหารทั้งหมด

สมมุติว่าตัวเราต้องการพลังงานวันละ 1,500 กิโลแคลอรี (เป็นปริมาณพลังงานที่ส่วนใหญ่จะจัดให้กับผู้ใหญ่ที่ต้องการควบคุมหรือลดน้ำหนัก อาจมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับรูปร่างและกิจกรรมของแต่ละคน) พลังงานที่ได้จากไขมันไม่ควรเกิน 450 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นไขมันประมาณ 50 กรัม ซึ่งอาจจะได้มาจากการกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมันประมาณ 8 ช้อนโต๊ะ (คิดเป็นไขมันประมาณ 24-30 กรัม) และน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหารประมาณ 4-5 ช้อนชา (20-25 กรัม)

ถ้านิยมการกินอาหารเนื้อสัตว์มากกว่าที่กำหนด ก็จะต้องลดปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหาร หรือเปลี่ยนวิธีการประกอบอาหารเป็นการต้ม นึ่ง ย่าง แทนการทอด ผัด แต่ถ้าชื่นชอบอาหารประเภททอดก็จำเป็นต้องลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ลง เพื่อให้ปริมาณไขมันโดยรวมไม่มากเกินกว่าที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่มีไขมันชนิดที่อาจมองไม่เห็นว่าเป็นไขมัน (invisible fat) ที่ต้องระมัดระวังด้วย อาหารประเภทนี้ได้แก่ อาหารที่มีส่วนประกอบของเนย นม ไข่แดง กะทิ เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรีต่างๆ จำพวก เค้ก คุกกี้ พาย น้ำสลัด ไอศกรีม เป็นต้น

คนที่ชอบกินอาหารประเภทนี้จะมีโอกาสที่ทำให้ได้ไขมันมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ ขอแนะนำว่าให้กินแต่น้อยและนานๆ ครั้ง ถ้าวันไหนมีการกินอาหารประเภทนี้มาก ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องลดปริมาณอาหารเนื้อสัตว์หรือน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารลงด้วย เพื่อไม่ให้ได้ไขมันมากเกินไป คนที่ต้องการควบคุมหรือลดน้ำหนักต้องเข้าใจเรื่องนี้และรู้จักปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับตนเอง และทดลองทำอย่างจริงจัง จะทำให้น้ำหนักลดลงได้

 

กินข้าวแป้งแต่พอดี... ไม่อ้วน

อาหารกลุ่มข้าวแป้ง แม้ว่าจะให้พลังงานน้อยกว่าไขมัน แต่สามารถถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกายได้ง่าย จึงควรกินแค่พอประมาณ คือประมาณมื้อละ 2-3 ทัพพี ในคนที่ต้องการลดน้ำหนักจะต้องลดปริมาณลงจากที่เคยกิน เช่น ลดจาก 4 ทัพพีเป็น 3 ทัพพี เป็นต้น

การลดอาหารประเภทข้าวแป้งลงวันละ 2 ทัพพี ใน 1 เดือนหรือ 30 วันจะได้รับพลังงานลดลง 4,800 กิโลแคลอรี ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ประมาณ 0.7 กิโลกรัม ร่วมกับการระวังไม่กินไขมันมากเกินไปและการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นบ้าง จะทำให้น้ำหนักลดลงได้ประมาณ 2 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นการลดน้ำหนักที่ค่อยเป็นค่อยไปโดยที่ไม่เกิดผลเสียกับสุขภาพ

 

ผัก ผลไม้ เส้นใยอาหาร... กับการลดน้ำหนัก

การระวังไม่กินอาหารประเภทข้าวแป้งและไขมันมากดังกล่าวอาจทำให้หลายคนรู้สึกหิว จึงขอแนะนำให้กินผักมากขึ้น ผักจะมีส่วนประกอบของเส้นใยอาหารมาก นอกจากช่วยในการขับถ่ายแล้ว ยังช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม และทำให้ได้รับสารธรรมชาติที่เป็นประโยชน์กับร่างกายด้วย ถ้าเป็นไปได้อาหารทุกมื้อจำเป็นต้องมีผักเป็นส่วนประกอบ ด้วยการกินผักให้ได้วันละประมาณ 6 ทัพพี

บางคนอาจนิยมการกินผักสดในรูปแบบผักสลัด ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อยากเตือนเรื่องปริมาณน้ำสลัดที่กินร่วมกับผักว่าไม่ควรใส่ปริมาณมากนัก เพราะน้ำสลัดไม่ว่าจะเป็นสลัดครีมหรือสลัดน้ำใสจะมีส่วนประกอบของน้ำมันเป็นหลัก

สลัดครีม 1 ช้อนโต๊ะให้พลังงานประมาณ 75 กิโลแคลอรี ส่วนสลัดน้ำใสจะมีพลังงานน้อยกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าคนที่ชื่นชอบการกินผักสลัด 1 จานที่ใส่สลัดข้นประมาณ 3-4 ช้อนโต๊ะ จะได้พลังงานเกือบ 300 กิโลแคลอรีทีเดียว จึงอาจไม่สามารถทำให้น้ำหนักลดลงได้ สำหรับท่านที่ชอบน้ำสลัดมาก ขอแนะนำให้ใช้ชนิดที่มีไขมันและพลังงานต่ำแทน  

สำหรับผลไม้ แนะนำให้กินแค่พอประมาณ คือครั้งละ 6-8 ชิ้นคำ วันละ 2-3 ครั้ง ผลไม้ทุกชนิดมีแป้งหรือน้ำตาลเป็นองค์ประกอบมากหรือน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิด จึงให้พลังงานกับร่างกายมากเกือบพอๆ กับข้าว หลายคนมักเข้าใจผิดว่ามื้อเย็นไม่กินข้าวแต่ขอกินผลไม้แทน เพื่อต้องการลดน้ำหนัก กรณีเช่นนี้โดยส่วนใหญ่พบว่าไม่สามารถทำให้น้ำหนักลดลงอย่างที่ต้องการได้ เพราะมักพบว่าการกินผลไม้ปริมาณที่ค่อนข้างมากจะทำให้รู้สึกอิ่ม แต่ก็ทำให้ได้รับน้ำตาลและพลังงานค่อนข้างมากตามไปด้วย

 

กินอาหารโปรตีนสูง... เพื่อลดน้ำหนัก

ปัจจุบันมีแนวคิดของการกินอาหารโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ เพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งมักเรียกกันว่า อาหาร "Low Carb" เป็นแนวคิดที่มาจาก ดร.โรเบิร์ต แอตกินส์ ที่เน้นให้กินอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ไข่ มากขึ้นโดยไม่จำกัด แต่ให้ลดการกินข้าว แป้ง น้ำตาล รวมทั้งคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในผัก ผลไม้ และนมลงด้วย

แนวคิดการกินอาหารโปรตีนสูงนี้มาจากความคิดที่ว่าการจำกัดคาร์โบไฮเดรต ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง ร่างกายจึงต้องดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน การสลายไขมันที่มากขึ้นทำให้กรดไขมันในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และมีการสร้างสารที่เรียกว่า "คีโทน" ออกมามากขึ้นด้วย

สารคีโทนนี้จะยับยั้งความรู้สึกอยากอาหาร จึงทำให้กินอาหารได้น้อยลง วิธีนี้สามารถลดน้ำหนักได้ค่อนข้างเร็วในระยะแรกเมื่อเทียบกับการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการที่กล่าวมาข้างต้น

แม้ว่าการกินอาหารโปรตีนสูงนี้จะทำให้น้ำหนักลดลงได้จริง แต่ก็มีผลข้างเคียงของการมีสารคีโทนมากๆ คือ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ และลมหายใจมีกลิ่นคล้ายสารระเหยออกมา

การกินอาหารแบบนี้ในระยะยาวจะเพิ่มภาระการทำงานแก่ตับและไต และยังทำให้ได้รับไขมันประเภทอิ่มตัวที่มากับเนื้อสัตว์สูงขึ้นด้วย จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น และการไม่ได้รับผักผลไม้มากเพียงพอ ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากขึ้นด้วย

งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าในระยะสั้นการลดน้ำหนักด้วยวิธีกินอาหารโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ จะได้ผลดีกว่าการลดน้ำหนักด้วยวิธีดั้งเดิมที่ควบคุมทั้งคาร์โบไฮเดรตและไขมัน เพราะน้ำหนักลดลงได้มากกว่าและเร็วกว่า แต่หากเทียบผลในระยะยาวแล้ว น้ำหนักที่ลดลงไม่แตกต่างกันระหว่าง 2 วิธี

นอกจากนี้ ยังพบว่าการกินอาหารที่เน้นโปรตีนมาก จะทำให้น้ำหนักลดลงได้ไม่นาน เพราะน้ำหนักที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้นมาจากการสูญเสียน้ำร่วมด้วย การสูญเสียไขมันจะเกิดขึ้นทีหลังเมื่อเกิดการเบื่ออาหารและกินอาหารได้น้อยลงจึงมีการดึงไขมันส่วนเกินมาใช้ ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่ใช่วิธีการลดน้ำหนักที่ยั่งยืน

ผลการวิจัยจากต่างประเทศก็ยังยืนยันว่าผู้ที่ลดน้ำหนักได้มากและสามารถป้องกันน้ำหนักกลับคืนในระยะยาวนั้นส่วนใหญ่คือผู้ที่กินอาหารที่มีไขมันต่ำและมีเส้นใยอาหารสูง พร้อมกับมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย

จะเห็นได้ว่าการรู้จักกินอาหารเพื่อลดน้ำหนักไม่ยากเลยคือการกินอาหารให้สมดุล ครบหมวดหมู่ ต้องจำกัดปริมาณอาหารบางอย่างลงให้พอเหมาะกับความต้องการของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้อาจจะรู้สึกว่ายากกับหลายๆ คน แต่ที่จริงแล้วคงไม่มีใครช่วยคุณได้ ถ้าคุณไม่ช่วยตัวคุณเองก่อน โดยการตั้งใจจริงและเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนอีกครั้งและขอให้มีความสุขกับน้ำหนักที่ลดลงและสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้น
 

ข้อมูลสื่อ

366-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ
อ้วน