• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เพื่อคนไข้ หมอทำได้

คนไข้ชายอายุ 80  ปีคนหนึ่ง เกิดการอักเสบติดเชื้อที่ขาขวา แพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์ได้ทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อที่ตายออก ทำให้เกิดบาดแผลซึ่งมีขนาดใหญ่เกือบรอบขา

คนไข้นอนอยู่โรงพยาบาลหลายวัน ได้รับการทำผ่าตัดเนื้อตายหลายครั้ง เมื่อแผลดีขึ้นแพทย์แนะนำให้ทำการผ่าตัดปลูกผิวหนัง (skin graft) โดยตัดผิวหนังชั้นตื้นของขาอีกข้างหนึ่งมาปลูกที่แผล ส่วนแผลจากการตัดผิวหนังชั้นตื้นของขาข้างดีนั้น จะมีเซลล์จากผิวหนังชั้นลึก  สร้างผิวหนังใหม่ขึ้นมาแทนที่ภายหลัง

คนไข้รู้สึกเป็นทุกข์กับการผ่าตัด เริ่มขาดความเชื่อมั่น เนื่องจากได้รับข้อมูลก่อนการผ่าตัดแต่ละครั้งไม่เพียงพอที่จะสร้างความเข้าใจ จึงปฏิเสธการผ่าตัดเพื่อปลูกผิวหนัง คนไข้กลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน

"ไม่อยากกลับไปอีก เป็นตายผมขอตายอยู่กับคุณหมอที่นี่" ชายชรายืนยัน

 

ไม่มีศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน

โรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้มีแต่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ไม่มีศัลยแพทย์ นอกจากนั้นบางคนยังเป็นแพทย์จบใหม่ที่เพิ่งออกปฏิบัติงาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงถ่ายภาพไปปรึกษาเพื่อนศัลยแพทย์ ๒ คน ซึ่งได้รับคำตอบตรงกันว่า แผลใหญ่และลึกลักษณะนี้ หากทำแผลไปเรื่อยๆ ถ้าโรงพยาบาลไม่เจ๊ง คนไข้ก็คงตายไปก่อน

หมอหนุ่มผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงตัดสินใจซื้อมีดตัดผิวหนังเพื่อการปลูกผิวหนัง (dermatome) ราคา 30,000 บาท และนัดแนะเพื่อนศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์มาทำการผ่าตัดปลูกผิวหนังให้คนไข้ที่โรงพยาบาลชุมชน โดยใช้บริการระงับความรู้สึกจากวิสัญญีพยาบาล  เนื่องจากไม่มีวิสัญญีแพทย์

ผลการผ่าตัดปลูกผิวหนังประสบความสำเร็จด้วยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้นทั้งจากการผ่าตัด การระงับความรู้สึก และการรักษาพยาบาลภายหลังการผ่าตัด

ประสบการณ์ที่ดีนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้โรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้ ทำการผ่าตัดรักษาคนไข้ที่ไม่กล้าทำมาก่อน ทั้งการปลูกผิวหนัง การผ่าตัดไส้เลื่อน การผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี การผ่าตัดต้อลม โดยในระยะแรกจะเชิญศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์มาสาธิตและร่วมกันผ่าตัด จนแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนสามารถทำได้เอง ส่งผลให้คนไข้ได้รับประโยชน์ ไม่ต้องไปรอคิวผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนได้สร้างศรัทธาแก่ประชาชน แพทย์และทีมงานของโรงพยาบาลชุมชนได้เพิ่มพูนทักษะประสบการณ์การผ่าตัด และเป็นการใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

 

การผ่าตัดมีความเสี่ยง

การผ่าตัดเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยง นอกจากนั้นหากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจจะเป็นสาเหตุได้รับการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทำให้โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งไม่กล้าทำการผ่าตัดรักษาคนไข้

 "แต่ผมโดยส่วนตัวรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่กลัวผิดไปมากกว่าธรรมชาติที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งบางครั้งยังคิดว่าผมอยากให้คนอื่นกลับมาคิดด้วยว่าความกลัวนั้นเป็นการปกป้องตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของคนไข้และญาติ" คุณหมอผู้อำนวยการกล่าวความรู้สึก

อย่างไรก็ดีเพื่อให้การพัฒนางานผ่าตัดเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้วางหลักเกณฑ์ไว้คือ การผ่าตัดนั้นต้องเป็นความประสงค์ของคนไข้ คนไข้ไม่มีความเสี่ยงทางด้านวิสัญญี และได้ประสานความพร้อมของศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์ไว้เรียบร้อย

การทำผ่าตัดรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลชุมชน บางครั้งมีความยุ่งยากมากกว่าที่คิด  ปัญหาเรื่องแรกคือเรื่องความพร้อมของทีม หลายโรงพยาบาลไม่มีศัลยแพทย์ เกือบทุกโรงพยาบาลไม่มีวิสัญญีแพทย์ ส่วนมากจะมีวิสัญญีพยาบาลเพียง ๑ หรือ ๒ คน แพทย์ผู้ผ่าตัดจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการให้ยาระงับความรู้สึกด้วย
ปัญหาเรื่องเลือดเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ เพราะต้องขอเลือดจากจังหวัด และมีเลือดสำรองไม่มาก การผ่าตัดที่หากต้องใช้เลือดฉุกเฉินจะเกิดปัญหาได้ หลายโรงพยาบาลที่ไม่สามารถทำผ่าตัดคลอดได้ เพราะมีปัญหาเรื่องการสำรองเลือด
แม้จะมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจพิเศษต่างๆ ครบถ้วน การวินิจฉัยทางการแพทย์ ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าถูกต้อง ยิ่งโรงพยาบาลชุมชนมีอุปสรรคเครื่องมือน้อย การวินิจฉัยจึงต้องใช้การซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลักจึงอาจเกิดการวินิจฉัยผิดพลาดได้ เช่น การวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นไส้ติ่งอักเสบ ถ้าเกิดผ่าตัดเปิดหน้าท้องแล้ว พบว่าเป็นเนื้องอกลำไส้ใหญ่ อาจไม่สามารถผ่าตัดต่อไปได้ ต้องเย็บแผลปิดและส่งคนไข้ต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัดทันที
การผ่าตัดอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะผ่าตัดได้ เช่น เกิดหลอดเลือดหรือเส้นประสาทสำคัญขาด เกิดบาดแผลทะลุอวัยวะภายใน เป็นต้น
การร้องเรียนและฟ้องร้องแพทย์ เป็นกระแสสังคมที่กดดันต่อการรักษาพยาบาลของแพทย์ ส่งผลให้แพทย์หลายคนในโรงพยาบาลชุมชนไม่อยากเสี่ยง เพราะแม้จะมีเจตนาดีที่จะช่วยเหลือคนไข้ แต่ก็อาจได้รับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา
เมื่อโรงพยาบาลชุมชนปฏิเสธการผ่าตัด คนไข้เหล่านี้ต้องเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัดที่มีศักยภาพสูงกว่า ทำให้ภาระงานมากขึ้น คนไข้อาจต้องรอนานขึ้น ได้รับทุกข์ทรมานมากขึ้น  และบางครั้งพยาธิสภาพของโรคจะลุกลามมากขึ้น ทำให้ผลการรักษาไม่ดี

 

ทางออกของปัญหา

การแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจายแพทย์ รวมทั้งจัดหาบุคลากรสาขาอื่นๆ บรรจุไปพร้อมกับแพทย์ เพราะการมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น โดยขาดทีมงานและวัสดุอุปกรณ์ แพทย์ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้แพทย์ย้าย

การสื่อสารทำความเข้าใจกับคนไข้และประชาชนทั้งโดยภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อให้สังคมเข้าใจการทำงานของแพทย์ และเข้าใจธรรมชาติของโรคที่มีตัวแปรต่างๆ มากมาย ที่มีผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวแพทย์และทีมงาน ต้องทำงานด้วยความสามารถเต็มที่ตามมาตรฐานวิชาชีพ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรักษาพยาบาลคนไข้ให้หายหรือทุเลา ให้คนไข้และญาติพ้นความทุกข์ ดังกรณีหมอหนุ่มและทีมงานของโรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้

 

ข้อมูลสื่อ

366-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์