• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 70
ในการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง หัวหน้าพยาบาลในหอผู้ป่วยแห่งนั้นได้มาขอให้ไปช่วยดูผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งนอนรักษาตัวมา 10  กว่าวันแล้วยังไม่รู้ว่าจะต้องนอนไปอีกนานเท่าไหร่


พยาบาล :  "อาจารย์คะ ช่วยดูผู้ป่วยรายนี้ให้หน่อยค่ะ ผู้ป่วยเป็นมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ได้รับการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะทิ้งเมื่อหลายเดือนก่อน แล้วเอาลำไส้ส่วนหนึ่งไปทำเป็นกระเพาะปัสสาวะ และปลายลำไส้ที่ถูกตัดไปทำกระเพาะปัสสาวะถูกนำมาเปิดไว้ที่หน้าท้อง ให้ผู้ป่วยอุจจาระทางหน้าท้อง
หลังผ่าตัดเมื่อหลายเดือนก่อน ผู้ป่วยต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ้าง ที่แผลหน้าท้อง (ตรงที่ถ่ายอุจจาระ) บ้าง

แพทย์ประจำบ้านที่มาตรวจเยี่ยมผู้ป่วยบอกว่าไม่รู้จะทำอะไรเพิ่ม เพราะมะเร็งมันกระจายไปแล้ว ก็ให้แต่ "คีโม" (ยาฆ่ามะเร็ง) ยาปฏิชีวนะ แต่ยังไม่ดีขึ้น"

อาจารย์ :  "ตกลง คุณพาไปที่เตียงผู้ป่วยหน่อย"


หัวหน้าพยาบาลจึงพาอาจารย์ไปที่เตียงผู้ป่วย ผู้ป่วยเป็นชายไทยอายุประมาณ 60 ปี ลักษณะท่าทางเป็นชาวบ้านแบบชาวไร่ชาวนาไทยทั่วไป นอนซมอยู่บนเตียง มีสายให้น้ำเกลือ สายให้อาหารทางจมูก สายสวนปัสสาวะและถูกเก็บอุจจาระทางหน้าท้อง หน้าตาแสดงความวิตกกังวลและเครียด
อาจารย์ :  "สวัสดีครับ วันนี้รู้สึกเป็นอย่างไรบ้างครับ"

ผู้ป่วย :  "ไม่สบายเลย"

อาจารย์ :  "ไม่สบายตรงไหนบ้างครับ"

ผู้ป่วย :  "ไม่สบายไปหมด ปวดหัว เป็นไข้ เจ็บจมูกเจ็บคอ (จากสายยางให้อาหารทางจมูก) ปวดท้อง เจ็บแผล (ตรงที่ถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง) เจ็บแขนตรงที่ให้น้ำเกลือ (และให้ยาฆ่ามะเร็ง หรือ "คีโม") คลื่นไส้อาเจียน ไม่สบายไปหมด"

อาจารย์ :  "คุณทราบมั้ยครับว่า คุณเป็นโรคอะไร"

ผู้ป่วย :  "หมอบอกว่า ผมเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ตัดกระเพาะปัสสาวะผมทิ้ง ตัดลำไส้ผมมาทำกระเพาะปัสสาวะแทน แล้วให้ผมขี้ทางหน้าท้อง แต่ผมไม่รู้สึกดีขึ้นเลย"

อาจารย์ :  "แล้วคุณหมอเจ้าของไข้เค้าบอกคุณว่าอย่างไรบ้าง จะต้องรักษาต่อไปอย่างไร"

ผู้ป่วย :  "หมอเจ้าของไข้ที่ผ่าตัดผมไม่เคยมาดูผมเลยหลังผ่าตัด"

อาจารย์ :  "คุณเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลหลายครั้งในระยะหลายเดือนนี้ หมอเจ้าของไข้ไม่มาดูคุณเลยหรือครับ"

ผู้ป่วย :  "ไม่เคยเลย ไม่มีหมอมาดูผมเลย"

พยาบาล :  "ลุงคะ ก็ช่วงเช้าๆ เย็นๆ ที่มีหมอมาตรวจเยี่ยมคุณลุง ที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ไม่มีเลยหรือคะ"


(โดยทั่วไป ผู้ป่วยในหอผู้ป่วย จะมีแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ฝึกหัด และนักศึกษาแพทย์ ที่อยู่เวรในหอผู้ป่วยนั้น เดินตรวจเยี่ยมผู้ป่วยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงเช้าๆ)

ผู้ป่วย :  "เค้ามายืนล้อมเตียงผม มองดูแฟ้ม แล้วก็คุยกันเป็นภาษาไทยปนอังกฤษ ผมฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ค่อยพูดกับผม ไม่เคยบอกผมว่าผมจะเป็นอย่างไรต่อไป แล้วก็เดินไปเตียงอื่น ก็ทำแบบเดียวกัน
ผมไม่แน่ใจว่าเค้าเป็นนักเรียนแพทย์หรือหมอ แต่หมอเจ้าของไข้ที่ผ่าตัดผม ไม่เคยมาดูผมเลย"

อาจารย์ :  "ในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ อาจารย์แพทย์ส่วนใหญ่มักจะให้แพทย์ประจำบ้านช่วยดูแลผู้ป่วยแทนตน เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านได้ฝึกดูแลผู้ป่วยและช่วยสอนแพทย์ฝึกหัดและนักเรียนแพทย์ด้วย แต่เวลามีปัญหา แพทย์ประจำบ้านจะปรึกษาอาจารย์ให้มาช่วยดูแลผู้ป่วยด้วยเป็นครั้งเป็นคราวครับ"

ผู้ป่วย :  "แล้วผมไม่มีปัญหาหรือ อาการผมแย่ลงๆ เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ่อยๆ"

พยาบาล :  "อาจารย์เจ้าของไข้ที่ผ่าตัดลุงคงเห็นว่าได้ผ่าตัดให้ลุงเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องผ่าอีก ตอนนี้จึงให้หมอด้านมะเร็งมารักษาให้ลุงแทนน่ะคะ"

ผู้ป่วย :  "แล้วเมื่อไหร่ผมจะหายหรือดีขึ้น ไปๆ มาๆ ผมก็ลำบาก ค่ารถก็แพง ญาติๆ ก็มาเยี่ยมลำบาก"

อาจารย์ :  "บ้านคุณอยู่ที่ไหนครับ"

ผู้ป่วย :  "อยู่บางสะพาน จังหวัดประจวบฯ ไปมาแต่ละครั้ง ต้องเหมารถหลายพันบาท"

อาจารย์ :  "แล้วคุณบอกหมอเจ้าของไข้หรือเปล่าครับ"

ผู้ป่วย :  "ผมบอกเค้าแล้วว่าผมอยู่ที่ไหน แต่ไม่ได้บอกค่ารถ ก็เค้าไม่ได้ถาม"

อาจารย์ :  "ที่จริงผู้ป่วยทุกคนเวลามาหาหมอ มีเรื่องอะไรทำให้ไม่สบายใจ หรือไม่สะดวก ควรบอกหมอด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่ายา การเดินทาง เรื่องงาน เรื่องเงิน และอื่นๆ คุณหมอจะได้นำไปพิจารณาร่วมกันว่าการรักษาแบบไหนจะให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากที่สุด
กรณีของคุณ โรคมะเร็งของคุณเป็นมากแล้ว ทำให้การรักษาไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ คุณหมอเค้าจึงพยายามรักษาแบบประคับประคองไปเรื่อยๆ คุณจึงต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ่อยๆ
การรักษาแบบประคับประคองจึงเป็นการยืดเวลาเท่านั้น ไม่ทำให้โรคมะเร็งของคุณหายหรือดีขึ้น
คุณจึงควรปรึกษาหมอเจ้าของไข้ของคุณ ให้เค้าช่วยเขียนใบส่งตัวคุณไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้หรือไม่ คุณจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล เสียค่าใช้จ่าย แล้วยังได้รับการกระทบกระเทือนจากการเดินทางไกลด้วย"

ผู้ป่วย :  "ผมจะกลับบ้านพรุ่งนี้"

อาจารย์ :  "คุณหัวหน้าพยาบาลได้ทราบความต้องการของคุณแล้ว ประเดี๋ยวเค้าจะติดต่อกับหมอที่ดูแลคุณอยู่ ให้หมอที่ดูแลคุณมาคุยกับคุณให้เข้าใจวิธีการดูแลรักษาตนเองที่บ้านก่อนนะครับ แล้วคุณหมอที่ดูแลคุณอยู่จะได้ดำเนินการต่างๆ ตามที่คุณต้องการได้"


นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่มีการแบ่งการรักษาออกไปตามอวัยวะหรือระบบหรือโรค ทำให้ผู้ป่วยต้องมีหมอดูแลเป็นจำนวนมาก จนไม่รู้ว่าหมอคนไหนเป็นผู้ดูแลตนจริงๆ

ซึ่งที่จริง ก็ไม่มีหมอที่จะดูแลผู้ป่วยอย่างองค์รวม (อย่างเป็นคนทั้งคน) จริงๆ หมอแต่ละคนจะดูเฉพาะโรคหรืออวัยวะที่ตนเชี่ยวชาญ โดยไม่สนใจโรคหรืออวัยวะอื่นว่าจะเกี่ยวข้องหรือได้รับการกระทบกระเทือนจากการตรวจรักษาของตนมากน้อยเพียงใด เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของหมอที่ดูแลโรคหรืออวัยวะนั้นๆ

ยิ่งเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม หมอส่วนใหญ่มักจะไม่สนใจ จึงมักไม่รู้ว่าผู้ป่วยอยู่ที่ไหน มาโรงพยาบาลอย่างไร ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมารักษาตัวหรือไม่ เพราะหมอส่วนใหญ่ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน ตนมีหน้าที่ดูแลรักษาโรคเท่านั้น

เพราะหมอส่วนใหญ่มักลืมไปว่าการรักษาคน มีความสำคัญกว่าการรักษาโรคหรืออวัยวะ เพราะคนที่เป็นโรคหรืออวัยวะพิการก็สามารถมีชีวิตอย่างมีความสุขได้ ถ้า "ความเป็นคน" ของเขาได้รับการดูแลรักษาตามสมควร

 

ข้อมูลสื่อ

367-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
พฤศจิกายน 2552
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์