• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาตรฐานความปลอดภัยของคนไข้ (1)

ความปลอดภัยของคนไข้ เป็นสิ่งที่คนไข้และผู้เกี่ยวข้องทุกคนให้ความสำคัญสูงสุด  โรงพยาบาลต่างๆ จึงพัฒนาคุณภาพ โดยเน้นการสร้างระบบงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าคนไข้ที่เข้ามารับบริการจะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด ตามมาตรฐานและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อให้คนไข้ได้รับความปลอดภัย หายจากการเจ็บไข้ โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือได้รับอันตรายใดๆ 


โรงพยาบาลต่างๆ จึงกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของคนไข้ (Patient Safety Goals) ขึ้น โดยเลือกประเด็นที่มีโอกาสเกิดความไม่ปลอดภัยต่อคนไข้ ทั้งจากกระบวนการรักษาพยาบาล การสื่อสารระหว่างคนไข้กับหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ การจัดการเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และสิ่งแวดล้อม


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่ยกระดับจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ได้จัดทำคู่มือการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของคนไข้ เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ใช้ศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล 
คู่มือมาตรฐานความปลอดภัยของคนไข้นี้ ใช้ชื่อว่า Patient Safety Goals : SIMPLE ซึ่งรวบรวมประเด็นปัญหาจากโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทย และประมวลแนวทางปฏิบัติที่ดี  ซึ่งเป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ ที่ประกาศโดยองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรมาตรฐานระดับนานาชาติต่างๆ

 

มาตรฐานความปลอดภัย

ประเด็นเนื้อหาจัดเป็น 6 หมวดหมู่ ได้แก่
1. การผ่าตัดที่ปลอดภัย (Safe Surgery)
2. การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (Infection Control, Clean Care)
3. การให้ยาและเลือดที่ปลอดภัย (Medication Safety)
4. กระบวนการรักษาพยาบาลที่ปลอดภัย (Patient Care Safety)
5. การดูแลอุปกรณ์สายและท่อต่างๆ ที่สอดใส่เข้าไปในร่างกายคนไข้ (Line, Tube and Catheter)
6. การตอบสนองภาวะวิกฤติ (Emergency Response)

บทความนี้ขอยกตัวอย่างมาตรฐานความปลอดภัยของคนไข้บางประเด็น ที่โรงพยาบาลต่างๆ นำมาปฏิบัติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการดูแลรักษาของโรงพยาบาลในประเทศไทยและความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ที่ทุ่มเทความพยายามทำตามมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของคนไข้

 

การผ่าตัดที่ปลอดภัย

เนื้อหามาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อ การให้ยาระงับความรู้สึก การป้องกันการผ่าตัดผิดคนผิดตำแหน่ง

ขอยกตัวอย่างการป้องกันการผ่าตัดผิดคน ผิดตำแหน่ง ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดองค์ประกอบสำคัญไว้ดังนี้
1. มีการทวนสอบหรือยืนยันตัวคนไข้ หัตถการ ตำแหน่ง ข้าง วัตถุอุปกรณ์ อวัยวะเทียม ที่จะใส่กับร่างกายคนไข้ เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาพถ่ายทางรังสีและผลการตรวจพิเศษ มีการระบุฉลากที่เหมาะสมและมีแสดงให้เห็น

2. กำหนดให้แพทย์ที่จะทำหัตการ ทำเครื่องหมายแสดงตำแหน่งที่จะลงมีดผ่าตัดหรือสอดใส่อุปกรณ์อย่างชัดเจน โดยการมีส่วนร่วมของคนไข้

3. กำหนดให้มีช่วงขอเวลานอก (time-out) ณ เวลาก่อนที่จะเริ่มให้การระงับความรู้สึกและลงมือทำผ่าตัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องตรงกัน เกี่ยวกับการจัดท่าของคนไข้ หัตถการที่จะทำ ตำแหน่งและอุปกรณ์ หรืออวัยวะเทียม และถ้ามีข้อมูลที่ขัดแย้งกันต้องกลับไปทบทวนใหม่ทั้งหมดจนมั่นใจ

 

การป้องกันการติดเชื้อ

มาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งมีหลายหัวข้อ ในบทความนี้จะยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องการรักษาความสะอาดของมือ (Hand Hygine) ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่

1. จัดให้มีแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ (Alcohol-based handrubs) ส่วนบริเวณที่รักษาพยาบาลคนไข้ ซึ่งสามารถใช้ได้สะดวก เช่น ติดไว้ที่เตียงคนไข้ วางบนโต๊ะข้างเตียง วางบนรถฉีดยาทำแผล หรือเป็นขวดเล็กๆ ติดกระเป๋าผู้ปฏิบัติงาน

2. จัดให้มีที่ล้างมือด้วยน้ำสะอาด สบู่ ผ้าหรือกระดาษเช็ดมือ ที่เจ้าหน้าที่ คนไข้ และญาติ สามารถใช้ได้สะดวก

3. ให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง (อ่านล้างมือให้สะอาด ป้องกันการติดเชื้อ นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 356 เดือนธันวาคม พ.ศ.2552)

4. แสดงสื่อเตือนใจในที่ทำงาน เพื่อกระตุ้นให้มีการล้างมือ

5. สังเกต ติดตาม วัดระดับการปฏิบัติและให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้ปฏิบัติงาน

 


การให้ยาที่ปลอดภัย

เรื่องการให้ยาที่ปลอดภัย มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสำคัญหลายเรื่อง เพื่อป้องกันมิให้คนไข้ได้รับยาผิด ไม่เหมาะสม หรือเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการได้รับยา เช่น เรื่องการควบคุมการให้สารละลายเข้มข้น การป้องกันอันตรายจากยาที่มีความเสี่ยงสูง การป้องกันการให้ยาผิดในกรณียาที่มีชื่อพ้องมองคล้าย การส่งมอบบัญชียาของคนไข้ให้ผู้ที่ให้การดูแลคนไข้ต่ออย่างปลอดภัย
ขอยกตัวอย่างเรื่องยาที่มีชื่อพ้องมองคล้าย (Look-Alike Sound-Alike Medication Names : LASA)
1. ทบทวนยาที่มีชื่อพ้องมองคล้ายที่ใช้ในโรงพยาบาลเป็นประจำทุกปี

2. ปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้
- ลดการใช้คำสั่งการรักษาด้วยวาจา และคำสั่งการรักษาทางโทรศัพท์
- ต้องอ่านฉลากอย่างระมัดระวังทุกครั้งที่หยิบยา และอ่านซ้ำก่อนที่จะให้ยา
- ต้องตรวจสอบเป้าหมายของการใช้ยาโดยคำสั่งใช้ยา และตรวจสอบการวินิจฉัยโรคที่เป็นปัจจุบันกับเป้าหมาย หรือข้อบ่งชี้ในการใช้ยาก่อนที่จะให้ยาอีกครั้งหนึ่ง
- ระบุทั้งชื่อสามัญและชื่อการค้าในคำสั่งใช้ยาและฉลากยา โดยให้ชื่อสามัญมีขนาดใหญ่กว่าชื่อการค้า

3. จัดทำกลยุทธ์เพื่อป้องกันความสับสนหรือแปลความหมายผิดเนื่องจากคำสั่งใช้ยาที่เขียนไม่ชัดหรืออ่านไม่ออก รวมทั้งระบุกรณีที่จะต้องเขียนชื่อยาและขนาดยาด้วยตัวพิมพ์

4. จัดเก็บยาที่มีปัญหาไว้ในสถานที่ที่แยกเฉพาะ

5. ใช้เทคนิค เช่น ตัวหนาหรือสีที่แตกต่างในการเขียนรายชื่อยาบนฉลาก กล่อง และชั้นเก็บ หน้าจอคอมพิวเตอร์ เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ และบัญชีแจกจ่ายยาของพยาบาล

6. จัดทำกลยุทธ์เพื่อให้คนไข้และผู้ดูแลมีส่วนร่วมในการลดความเสี่ยง เช่น ให้เภสัชกรทบทวนร่วมกับคนไข้ในการจ่ายยาให้คนไข้ โดยวิธีการต่อไปนี้
- ให้ข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรแก่คนไข้และผู้ดูแล เกี่ยวกับข้อบ่งชี้ในการใช้ยา ชื่อสามัญและชื่อการค้า ผลข้างเคียงของยา
- ใช้เทคนิควิธีการเพื่อช่วยคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องสายตา ภาษา และข้อจำกัดต่างๆ
- ให้เภสัชกรทบทวนร่วมกับคนไข้ในเรื่องการใช้ยา


นอกจากนี้ ควรมีการร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศและผู้ผลิตยา เพื่อปฏิบัติสิ่งต่อไปนี้
- ข้อตกลงในการตั้งชื่อยาที่เป็นสากล
- การพิจารณาชื่อยาที่ใช้อยู่ซึ่งมีโอกาสเกิดความสับสนกับชื่อยาใหม่
- จัดทำมาตรฐานการเรียกคำขยายชื่อยา


โปรดติดตามมาตรฐานความปลอดภัยของคนไข้ ตอนต่อไป ฉบับหน้า

ข้อมูลสื่อ

367-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
พฤศจิกายน 2552
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์