• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มื้อนี้ได้อะไร

หมี่กะทิ

ชื่อรายการอาหารมื้อนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะไม่คุ้นหูหรือไม่รู้จัก เนื่องจากหมี่กะทิไม่ได้เป็นอาหารยอดนิยมมากนัก แต่ตามต่างจังหวัดก็ยังพอที่จะหาซื้อกินได้ อย่างไรก็ตามหมี่กะทิเป็นอาหารจานเดียวของไทยที่มีคุณค่าโภชนาการดี ควรค่าแก่การรักษาและสนับสนุนอาหารนี้ไว้ เป็นทางเลือกเพื่อความหลากหลายของชนิดอาหาร

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยกินหมี่กะทิ ใคร่จะขออธิบายส่วนประกอบและลักษณะของอาหารจานนี้ให้รู้จัก ลักษณะอาหารแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่หนึ่งเส้นก๋วยเตี๋ยวใช้ เส้นหมี่ ส่วนที่สองเป็น น้ำราดเรียกน้ำกะทิ ซึ่งน้ำราดนี้จะราดให้เป็นก๋วยเตี๋ยวขลุกขลิกไปจนถึงชุ่มเล็กน้อยตามความชอบของแต่ละท่าน เส้นหมี่ปรุงโดยการผัดกับเต้าหู้ เต้าเจี้ยวขาว น้ำตาล น้ำปลา น้ำมะขาม เปียก และซอสแดง ใส่ใบกุยช่าย ถั่วงอก โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นฝอย ส่วนของน้ำกะทิ ทำจากหัวกะทิ ใส่หมูสับ เต้าเจี้ยว เต้าหู้ หัวหอมแดง น้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาล หมี่กะทิจะเสริฟพร้อมกับผักสด อาจมีการปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำมะนาว พริกป่น หรือน้ำตาลให้ ได้รสเปรี้ยวหวานเผ็ดตาม ความชอบของแต่ละคน ผักสดที่ใช้เคียงนั้นก็มี หัวปลี ถั่วงอก ใบบัวบก ใบกุยช่าย อธิบายส่วนประกอบเสียตั้งนาน มาดูคุณค่าโภชนาการกันดีกว่า
 

ปริมาณ(กรัม)พลังงาน(กิโลแคลอรี)โปรตีน(กรัม)ไขมัน(กรัม)คาร์โบไฮเดรต(กรัม)เถ้า(กรัม)
๒๗๒๔๖๖๑๐.๗๑๘.๑๖๕.๒๔.๖


หมี่กะทิ ๑ จาน มีปริมาณอาหาร ๒๗๒ กรัม หรือประมาณ ๓ ขีด ให้พลังงาน ๔๖๖ กิโลแคลอรี ซึ่งถือว่าให้พลังงานใกล้เคียงกับอาหารจานเดียวทั่วๆไป ลักษณะ ที่ดีของอาหารจานนี้อยู่ที่มีอาหารค่อนข้างครบ ๕ หมู่ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว เป็นหมู่ข้าวแป้ง น้ำกะทิราดเป็นทั้งหมู่โปรตีน โดยมีเนื้อสัตว์ และเต้าหู้ และหมู่ไขมันคือกะทิและไขมัน หมู มีผักสดที่ใช้เคียงเป็นหมู่ผักและผลไม้ ปริมาณโปรตีนที่มีอยู่ในหมี่กะทิ ๑ จานนี้ประมาณ ๑๐ กรัม ให้โปรตีนแก่ร่างกายประมาณร้อยละ ๒๐ ของความต้องการโปรตีนใน ๑ วัน ปริมาณไขมันมีอยู่ประมาณ ๑๘ กรัม คิดเป็นประมาณร้อยละ ๓๐ ของความต้องการไขมันใน ๑ วัน แต่มีข้อระมัดระวังสักนิดสำหรับเรื่องไขมัน เพราะอาหารจานนี้ทำจากกะทิและมีไขมันหมู จะมีไขมันอิ่มตัวมาก เพราะไขมันอิ่มตัวมีมากในกะทิ

ฉะนั้นผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวจึงไม่ควรเลือกกินอาหารจานนี้ ส่วนคาร์โบไฮเดรตจัดว่ามีปริมาณไม่มากนัก ทั้งนี้การกินคาร์โบไฮเดรตจะขึ้นอยู่กับการใช้แรงงาน ถ้าใช้แรงงานมากควรกินมากได้ ถ้าใช้น้อยควรกินเพียงจานเดียว

ข้อมูลสื่อ

230-007-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 230
มิถุนายน 2541
เรารักสุขภาพ
ดร.สมเกียรติ โกศัลวัฒน์