เรื่อง “เหน็บชา” (ตอนจบ)
เมื่อคนไข้มหาด้วยอาการเหน็บชา การตรวจรักษาขึ้นแรก ต้องจำแนกก่อนว่าเป็นคนไข้ฉุกเฉินหรือไม่ เช่นเดียวกับการตรวจรักษาอาการอื่นๆ คนไข้เหน็บชาที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ก็คือ คนไข้ที่มีอาการเจ็บหนักอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้สูง หอบเหนื่อย ชัก หมดสติ เกิดอาการอัมพาตหรืออัมพฤกษ์อย่างรวดเร็ว เป็นต้น จะต้องรีบให้การปฐมพยาบาลอาการเจ็บหนักก่อน แล้วจึงตรวจหาสาเหตุและรักษาสาเหตุอาการเหน็บชาที่เกิดขึ้น
จากตัวอย่างของคนไข้รายที่ ๒-๕ จะเห็นได้ว่าอาการเหน็บชาเกิดจากสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ
๑. การขาดเลือด ทำให้เกิดอาการเหน็บและอาการชาและถ้าขาดเลือดมากหรือนาน ก็จะทำให้เส้นประสาทในบริเวณนั้นถูกกระทบกระเทือนจากการขาดเลือดด้วย ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง (เป็นอัมพาต/อัมพฤกษ์) จากระบบประสาทถูกกระทบกระเทือนได้ด้วย นอกจากกล้ามเนื้อจะอ่อนแรงโดยตรงจากการขาดเลือดแล้ว ถ้าการขาดเลือดนั้นเกิดที่ระบบประสาทโดยตรง เช่น เส้นเลือดสมองตีบตันหรืออุดตัน ทำให้สมองส่วนหนึ่งขาดเลือด อวัยวะที่ถูกควบคุมโดยสมองส่วนนั้น ก็จะเป็นอัมพฤกษ์หรืออมพาต และมีอาการชาโดยไม่มีอาการเหน็บได้
๒. การกระทบกระเทือนระบบประสาท ตั้งแต่สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท และปลายประสาท จะทำให้เกิดอาการชาเป็นสำคัญมักไม่มีอาการเหน็บแต่อาจจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือเสียวแปลบปลาบได้ อาการเสียวในที่นี้ หมายถึง อาการปวดเสียวแบบเสียวฟัน (ไม่ใช่อาการเสียวสยองแบบเจอสิ่งน่ากลัวน่าเกลียดหรืออะไรทำนองนั้น)
นอกจากอาการที่ต่างกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว การตรวจอย่างง่ายๆ ก็จะทำให้แยกอาการเหน็บชาที่เกิดจากการขาดเลือด ออกจากอาการชาที่เกิดจากการกระทบกระเทือนระบบประสาทได้ดังนี้
๑. อวัยวะที่ขาดเลือดจะซีดลง (ซีดกว่าอวัยวะที่ไม่ขาดเลือดของคนๆ นั้น ดังนั้นในคนผิวขาวหรือผิวดำก็สามารถเห็นความแตกต่างนี้ได้เพราะเป็นการเปรียบเทียบอวัยวะที่ต่างกันในคนๆ เดียวกัน)
๒. อวัยวะที่ขาดเลือดจะเย็นลง (เย็นกว่าอวัยวะที่ไม่ขาดเลือดของคนๆ นั้น)
๓. ชีพจรของเส้นเลือดที่เลี้ยงอวัยวะที่ซีดและเย็นนั้นจะเบาลง (เบากว่าอีกข้างหนึ่ง) หรือหายไป (คลำชีพจรไม่ได้)
๔. ถ้าขาดเลือดมากหรือนาน อวัยวะที่ขาดเลือดนั้นจะกลายเป็นสีม่วง แล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ และเป็นสีดำ (ตายสนิท) ในที่สุด
ส่วนอวัยวะที่ไม่ขาดเลือดแต่ประสาทที่ไปเลี้ยงถูกกระทบกระเทือนจะตรวจไม่พบลักษณะดังกล่าวข้างต้น มีดังนี้
๑. การขาดเลือด เช่น
๑.๑ โรคหรือภาวะเส้นเลือดตีบตัน (thrombosis) เพราะผนังเส้นเลือดหนาตัวขึ้นและแข็งตัวขึ้นตามอายุ และตามปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ความเครียด ไขมันในเลือดสูง การอักเสบ การสูบบุหรี่ เป็นต้น จนในที่สุดเส้นเลือดนั้นจะตีบตัน ทำให้อวัยวะที่ถูกเลี้ยงโดยเส้นเลือดนั้นขาดเลือด เกิดอาการเหน็บชา และที่สุดตายจากการขาดเลือด ดังตัวอย่างคนไข้รายที่ ๓
การตรวจรักษาอย่างง่าย ๆ ได้กล่าวไว้ในตัวอย่างคนไข้รายที่ ๓ แล้ว ถ้ามีเวลาและสามารถไปโรงพยาบาลหรือไปหาหมอได้ ควรจะรีบไปหา เพื่อให้หมอตรวจหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้การรักษาไปพร้อมกัน จะได้ไม่เกิดอาการขึ้นใหม่ได้ง่ายๆ อีก
๑.๒ โรคหรือภาวะเส้นเลือดอุดตัน (embolosm) เกิดจากมีก้อนเลือด ก้อนไขมัน ฟองอากาศ หรือสิ่งอื่นหลุดไปตามกระแสเลือดไปอุดตันเส้นเลือดเล็ก ๆ ที่อยู่ไกลออกไป ถ้าก้อนเลือด ก้อนไขมัน หรือฟองอากาศนั้นเป็นก้อนขนาดใหญ่ก็จะอุดตันหลอดเลือดใหญ่ๆ ได้ ทำให้เกิดการขาดเลือดในวงกว้างมากขึ้น
อาการที่เกิดจากภาวะเส้นเลือดอุดตันจะเหมือนกับอาการที่เกิดจากภาวะเส้นเลือดตีบตัน แต่อาการจะเกิดขึ้นอย่างปุบปับ และมักจะไม่มีอาการนำ (อาการเตือน) ล่วงหน้ามาก่อน เช่น ไม่มีอาการเหน็บชาของอวัยวะที่ขาดเลือดที่เป็นอาการเตือนให้รู้ล่วงหน้าก่อน (ดูตัวอย่างคนไข้รายที่ ๒ และรายที่ ๕ ที่มีอาการเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดอาการมากๆ เป็นเวลาหลายเดือน) และอาการหลังจากเกิดขึ้นอย่างปุบปับแล้วมักจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ไม่ค่อยจะดีขึ้นเองได้อย่างรวดเร็วเหมือนในกรณีที่เส้นเลือดตีบตัน (ดูตัวอย่างคนไข้รายที่ ๕) แต่หลายต่อหลายครั้ง จะแยกภาวะอุดตันออกจากภาวะตีบตันไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การตรวจรักษาภาวะเส้นเลือดอุดตันไม่ได้ต่างจากภาวะตีบตันมากนัก คือ ต้องใช้ยากันเลือดแข็ง (anticoagulants) เช่นเดียวกัน และถ้าเป็นมากก็ต้องพิจารณาผ่าตัดเอาก้อนเลือดออก หรือให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytics) ถ้าสิ่งที่อุดตันนั้นเป็นลิ่มเลือดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น นอกจากจะมีสาเหตุอื่น เช่น กระดูกหัก (จะเป็นก้อนไขมันไปอุดหลอดเลือด) หรือในระหว่างคลอด (จะเป็นก้อนน้ำคร่ำไปอุดหลอดเลือด) หรือในระหว่างฉีดยาหรือให้น้ำเกลือ (จะเป็นฟองอากาศไปอุดหลอดเลือด)
หลังจากรักษาให้ภาวะอุดตันหรือตีบตันดีขึ้นจนอวัยวะที่ขาดเลือดได้รับเลือดดีขึ้นแล้ว จะต้องหาสาเหตุที่ทำให้อุดตันหรือตีบตันของหลอดเลือดและให้การรักษาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
๑.๓ โรคหรือภาวะเส้นเลือดตีบตัว (vasospasm) เช่น ถ้าเราเอามือข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นๆ ไว้สักพัก มือข้างนั้นจะเกิดอาการเหน็บชา เนื่องจากขาดเลือด เพราะความเย็นจัดจะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมือข้างนั้นตีบตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงลำบาก จึงเกิดภาวะขาดเลือดและเกิดอาการเหน็บชาขึ้น
โรคภูมิแพ้บางชนิดก็ทำให้เกิดการแพ้ความเย็นได้ง่ายกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการเหน็บชาที่ปลายมือ ปลายเท้าได้ง่ายเวลาอากาศเย็น ยาบางชนิดหรือสารอาหารบางชนิดก็อาจะทำให้เส้นเลือดตีบตัว ทำให้เกิดอาการเหน็บชา ซึ่งมักจะเป็นที่ขาหรือแขนได้เช่นเดียวกัน เป็นต้น
การตรวจรักษาโรคหรือภาวะเส้นเลือดตีบตัวจนอวัยวะขาดเลือดนี้จำเป็นต้องอาศัยความช่างสังเกตของคนไข้แล้วพยายามหลีกเลี้ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการเหน็บชาขึ้น จึงจะรอดพ้นจากอาการเหน็บชาได้ และควรจะปรึกษาแพทย์ว่าจะแก้อาการแพ้นั้นได้หรือไม่และโดยวิธีใด
๑.๔ โรคหรือภาวะเส้นเลือดถูกกดรัด (compression of artery) เช่น การนั่งทับหรือหรือนอนทับแขนหรือขานานๆ การพาดแขนหรือขาบนที่ท้าวแขนท้าวขา หรือพนักเตียงพนักเก้าอี้หรือชื่อคาต่างๆ เป็นเวลานานๆ การใช้เชือกหรือยางรัดแขนขาหรือการหิ้วของหนักๆ เป็นเวลานานๆ เป็นต้น จะกดทับ หรือบีบรัดเส้นเลือดจนทำให้เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายต่อจุดที่เส้นเลือดถูกกดรัดไม่ได้ก็จะทำให้เกิดอาการเหน็บชาขึ้น
การกดรัดเส้นเลือดอาจจะเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย เช่น พังผืดจากแผลเป็นก้อนเนื้องอก การบวมของเนื้อเยื่อหรืออื่นๆ ทำให้เกิดอาการเหน็บชาจากการขาดเลือดได้เช่นเดียวกัน
การตรวจรักษา ต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย และพยายามกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดการกดรัดเส้นเลือดโดยเร็ว เพราะถ้าทิ้งไว้นาน อวัยวะที่ขาดเลือดอาจตายหรือเป็นอัมพาตได้ (เป็นอัมพาตเพราเส้นประสาทอาจถูกกดรัดด้วยจนทำงานไม่ได้)
๑.๕ ภาวะการณ์ใช้งานมากเกินไป เมื่ออวัยวะหนึ่งอวัยวะใดถูกใช้งานมาก จนกล้ามเนื้อที่ปฏิบัติงานได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่พอเพียง ก็จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยหรือเหน็บชาได้เช่นเดียวกัน
ภาวะนี้คนที่มีอาการมักรู้เองว่าสาเหตุเกิดจากการทำงานมากเกินไป จึงมักจะลดงานหรือหยุดงานสักพัก อาการก็จะดีขึ้น ถ้ายังปวดเมื่อยมาก ก็อาจใช้การบีบนวดหรือใช้ของร้อนๆ ประคบ ก็จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้ปวดแต่อย่างใด
๒. การกระทบกระเทือนระบบประสาท เช่น
- ๒.๑ ระบบประสาทขาดเลือด เช่น
๒.๑.๑ โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน (cerebral thrombosis) หรืออุดตัน (cerebral embolism) จนทำให้สมองตายจากการขาดเลือด (cerebral infarction) ทำให้เกิดอัมพาตครึ่งซีก (hemiplegia) หรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก (hemiparesis) ซึ่งทำให้เสียการรับความรู้สึก (เกิดอาการชา) ได้ ดังตัวอย่างคนไข้รายที่ ๕ การตรวจรักษาได้แสดงไว้อย่างคร่าวๆ ในตัวอย่างคนไข้รายที่ ๕ แล้ว
๒.๑.๒ โรคเส้นประสาทขาดเลือด (ischemia of peripheral nerve) ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดจากเส้นเลือดอุดตันหรือตีบตัน หรือถูกกดรัด จนทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ (รวมทั้งเส้นประสาท) ใต้จุดที่เกิดการอุดตัน ตีบตีน หรือกดรัดไม่ได้ ทำให้เกิดอาการชาและอาการอัมพาต/อัมพฤกษ์ ได้เช่นเดียวกัน
การตรวจรักษา คือ การพยายามกำจัดสาเหตุที่ไปอุดกั้นหรือกดรัดเส้นเลือดโดยเร็วที่สุดและป้องกันไม่ให้เกิดการอุดกั้น กดรัดหรือทำให้เส้นเลือดตีบตันได้อีก (ดูหัวข้อ ๑ เกี่ยวกับการขาดเลือด)
- ๒.๒ ระบบประสาทอักเสบ เช่น
๒.๒.๑ โรคสมองอักเสบ (encephalitis) หรือไขสันหลังอักเสบ (myelitis) ก็ทำให้เกิดอาการชาและอัมพาต/อัมพฤกษ์ได้เช่นเดียวกัน สาเหตุที่ที่รู้ว่าเกิดจากการอักเสบเพราะมักมีไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วยหรือนำมาก่อน ถ้าการอักเสบนั้นเกิดจากการติดเชื้อโรค เช่น โรคโปลิโอ โรคสมองอักเสบจากยุง เป็นต้น
แต่ถ้าการอักเสบเกิดจากภูมิแพ้ อาจจะไม่มีไข้ แต่อาจจะมีผื่นหรืออาการร่วมอย่างอื่นที่ทำให้รู้ว่าเป็นการอักเสบจากภูมิแพ้ ถ้าอาการอักเสบเกิดจากสารพิษหรือการขาดสารอาหาร มักต้องอาศัยประวัติการเจ็บป่วยที่ละเอียดรอบคอบ และการตรวจพิเศษในการวินิจฉัยโรค คนไข้ที่มีอาการชาและอัมพฤกษ์/อัมพาตที่รุนแรงหรือลุกลามเร็ว ควรจะพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เมื่ออาการเริ่มเป็นมากหรือลุกลามเพราะอาจจะหยุดยั้งไม่ให้อาการลุกลามจนกลายเป็นอัมพาตถาวรได้
๒.๒.๒ โรคเส้นประสาทอักเสบ (peripheral neuritis) มักทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนเด่นกว่าหรือมากกว่าอาการชา แต่ถ้าเป็นมากหรือนาน จนเส้นประสาทถูกกระทบกระเทือนมาก จะทำให้เกิดอาการชาและอัมพฤกษ์/อัมพาตได้เช่นเดียวกัน
การอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อ การขาดเลือด การขาดสารอาหาร การได้รับสารพิษ การถูกกระทบกระแทก หรืออื่นๆ จนทำให้เกิดโรคเส้นประสารทพิการ (neuropathy) เกิดอาการเหน็บชา และอัมพฤกษ์/อัมพาตได้
- ๒.๓ ระบบประสาทพิการ เช่น
๒.๓.๑ โรคสมองพิการ (encephalopathy) ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิดโดยเชื้อพันธุ์ (พันธุกรรม) หรือสาเหตุอื่น หรือเกิดขึ้นภายหลังจากการถูกกระทบกระแทกบ่อยๆ (เช่น อาชีพนักมวย) การติดเชื้อโรคต่างๆ (เช่น โรควัวบ้า) การขาดสารอาหาร (เช่น วิตามิน) การถูกสารพิษ (เช่น โลหะหนัก สารระเหย) โรคภูมิแพ้ และอื่นๆ
๒.๓.๒ โรคเส้นประสาทพิการ (neuropathy) ซึ่งอาจเกิดจาก
(๑) การถูกกระทบกระแทก เช่น เวลาด้านในของข้อศอกไปกระแทกเข้ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจกระทบต่อเส้นประสาทอัลนาร์ (ulnar nerve) ทำให้เกิดการเจ็บเสียวและชาลงมาตามต้นแขนด้านในจนถึงนิ้วก้อยและนิ้วนาง อาการจะเป็นอยู่ช่วงสั้นๆ หรือช่วงนานๆ ขึ้นอยู่กับแรงกระแทกว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งส่วนใหญ่จะดีขึ้นเอง
(๒) การกดทับหรือบีบรัด เช่น คนที่เมาหลับแล้วพาดต้นแขนไว้กับพนักเก้าอี้หรือพนักเตียง ตื่นขึ้นมาอาจพบว่า มือห้อยหรือมือตก (wrist drop) นั่นคือ กระดกมือไม่ได้และรู้สึกชาบริเวณหลังมือใกล้หัวแม่มือ เนื่องจากเส้นประสารทเรเดียลที่วิ่งผ่านต้นแขนถูกกดทับอยู่นาน ในประเทศตะวันตก (ฝรั่ง) มักเกิดในคนเมาสุราที่มักจะดื่มสุรากันมากในวันเสาร์ จึงเรียกภาวะนี้ว่า อัมพาตคืนวันเสาร์ (Saturday night palsy) ซึ่งส่วนใหญ่จะดีขึ้นเอง
หญิงตั้งครรภ์หรือคนที่ต้องงอข้อมือทำงานหนักๆ บ่อยๆ อาจมีอาการเหน็บชาที่บริเวณฝ่ามือตรงเนินศุกร์ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง อาจมีอาการอ่อนแรง (อัมพฤกษ์) ของนิ้วหัวแม่มือ และอาจมีอาการเจ็บหรือเหน็บชาในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมักจะปวดมากเวลากลางคืน ส่วนใหญ่เกิดจากเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ถูกเส้นเอ็นบริเวณข้อมือด้านฝ่ามือบีบรัด เรียกว่า โรคอุโมงค์ข้อมือ (carpal tunnel syndrome) ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการงอข้อมือมากๆ หรือบ่อยๆ ถ้าปวดเวลากลางคืนมากควรใช้หมอน เฝือก หรือเครื่องค้ำยันให้มือข้างนั้นอยู่ในท่ากระดกมือเล็กน้อยในขณะหลับ จะช่วยบรรเทาอาการปวด การบีบนวดเบาๆ และการใช้ของร้อนประคบบริเวณข้อมืออาจจะช่วยให้อาการดีขึ้นและหายไป ถ้าไม่หายอาจต้องฉีดยาแก้อักเสบจำพวกสตีรอยด์เข้าในบริเวณที่มีการบีบรัดเส้นประสาท ถ้าไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นต้องผ่าตัด
(๓) การขาดสารอาหาร เช่น ขาดวิตามินบี ๑ (B๑ Deficiency หรือ beriberi) ทำให้เกิดอาการชาที่ปลายมือปลายเท้าพร้อมๆ กันทั้ง ๒ ข้าง แล้วลามขึ้นมาถึงข้อมือและแขน เหมือนคนใส่ถุงมือถุงเท้าได้ แก้ได้โดยกินวิตามินบี ๑ ข้าวกล้อง (ข้าวแดง) รำข้าว เป็นต้น
(๔) การได้รับสารพิษ เช่น สุรา โลหะหนัก พิษภายในร่างกาย เช่น โรคไตวาย
(๕) ภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคเลือดจางบางชนิด โรคธัยรอยด์พร่อง โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ เป็นต้น
(๖) ภาวะหายใจเกิน (hyperventilation syndrome) ทำให้เกิดอาการชาปากและมือเท้า ซึ่งจะดีขึ้นและหายไปหลังหายใจในถุง เป็นต้น
อาการเหน็บชา จึงเป็นอาการที่คนทุกคนเคยผ่านพบมาทั้งสิ้น เช่น นั่งพับเพียบหรือนั่งย่องๆ นานๆ ไปจนถึงอาการที่ทำให้เกิดอัมพาต อาการเหน็บชาที่รู้สาเหตุ เมื่อกำจัดสาเหตุได้อย่างรวดเร็วแล้วอาการดีขึ้นและหายไป ก็ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ และต้องพยายามหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้สาเหตุนั้นเกิดขึ้นอีก ส่วนอาการเหน็บชาอื่นๆ ควรจะไปพบแพทย์ โดยเฉพาะถ้าร่วมกับอาการรุนแรงอื่นๆ เช่น ไข้ (ตัวร้อน) หายใจไม่สะดวก อัมพฤกษ์/อัมพาต ชัก หรืออาการนั้นเป็นมากหรือเริ่มลุกลามออกไป
.................................................................................................................
- อ่าน 50,215 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้