• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “เหน็บชา”

เรื่อง “เหน็บชา” (ตอนที่ ๓)

 
คนไข้รายที่ ๔ กรรมกรก่อสร้าง ชายอายุประมาร ๓๐ ปี ตกจากบันไดนั่งร้าน กระแทกพื้น มีอาการชาและขยับเขยื้อนขา ๒ ข้างไม่ได้ จึงถูกพามาโรงพยาบาลทันที แพทย์ตรวจร่างกาย พบว่า ขาทั้ง ๒ ข้างอ่อนแรงมาก และรับความรู้สึกต่างๆ ไม่ได้ (ชายอย่างสมบูรณ์) ตรวจปฏิกิริยาสะท้อน (reflexes) ของเอ็นขาทั้ง ๒ ข้างได้ผลลบ คนไข้มีอาการปวดบริเวณหลังส่วนเอว และนอนหงายโดยไม่กล้าขยับเขยื้อนเพราะเจ็บหลัง

จากประวัติและการตรวจร่างกายข้างต้น แสดงว่าอาการชาและอ่อนแรงของชา ๒ ข้าง เกิดจากระบบประสาทที่ไปเลี้ยงขาทั้ง ๒ ข้าง ได้รับจากกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ระบบประสาทที่ไปเลี้ยงขา ๒ ข้าง มีต้นตอจากไขสันหลังบริเวณเอวประกอบกับประวัติที่คนไข้ตกจากที่สูงและเจ็บหลังส่วนเอว และต้องนอนหงายโดยไม่กล้าขยับเขยื้อนเพราะเจ็บ ทำให้วินิจฉัยโรคได้ง่ายว่า น่าจะเกิดภาวะกระดูกสันหลังหักหรือหลุดจากที่ (fracture or dislocation) จนไปกดไขสันหลังบริเวณเอว ทำให้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาทั้ง ๒ ข้างไม่ทำงาน ขาทั้ง ๒ ข้างจึงชาและอ่อนแรง (เป็นอัมพาต)

อาการชาแบบนี้เป็นอาการชาแบบฉุกเฉินอีกอย่างหนึ่งและในกรณีนี้ถือว่า ฉุกเฉินกว่าคนไข้รายที่ ๓ มาก เพราะถ้าไม่รีบผ่าตัดเพื่อเอากระดูกสันหลังที่กดทับไขสันหลังออกให้เร็วที่สุด (ภายในไม่กี่ชั่วโมง) โอกาสที่ขาทั้ง ๒ ข้างของคนงานคนนี้จะเป็นอัมพาตอย่างถาวรจะมีสูงมาก ทำให้เป็นคนพิการไปตลอดชีวิต ดังนั้น คนไข้แบบนี้จะต้องรีบรับไว้ในโรงพยาบาลและตรวจเอกซเรย์เพื่อหาจุดที่กระดูกหักหรือหลุดจากที่ แล้วรีบผ่าตัดทันที จะทำให้หายหรือดีขึ้นจากการเป็นอัมพาตได้
 

คนไข้รายที่ ๕ ชายไทยอ้วนอายุประมาณ ๖๕ ปี มาที่โรงพยาบาลแต่เช้าตรู่

ชาย : “สวัสดีครับหมอ แขนขาด้านซ้ายของผมมันชาและอ่อนแรงมา ๒ ชั่วโมงแล้วครับ”
หมอ : “สวัสดีครับ คุณกำลังทำอะไรอยู่ในขณะนั้นหรือครับ”
ชาย : “คือ มันรู้สึกคล้ายเมื่อยล้าไม่ค่อยมีแรงครับหมอ ผมคิดไปว่าหิ้วของหนัก แต่แขนขวาผมหิ้วของหนักกว่ายังไม่รู้สึกเปลี้ยเลย และผมก็ไม่ได้ใช้แขนซ้ายในวันนั้น เพราะผมถนัดขวา แต่ทำไมมันเปลี้ยได้ก็ไม่รู้ ๒-๓ ชั่วโมงต่อมามันก็หายไปเอง ผมเลยไม่ได้ใส่ใจอีก”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น อาการแขนซ้ายเปลี้ยๆ เมื่อ ๓-๔ เดือนก่อนของคุณอาจเป็นอาการอ่อนๆ ที่เดือนมาก่อนอาการในครั้งนี้ได้ ขอหมอตรวจคุณก่อนครับ”
 
หมอตรวจร่างกายคนไข้พบ ชีพจร ๘๐ ครั้งต่อนาที ความดันเลือด ๑๕๐/๑๐๐ ไม่มีไข้ หายใจปกติ แขนและขาด้านซ้ายรับความรู้สึกได้น้อยกว่า และอ่อนแรงกว่าแขนขาด้านขวา แต่ปฏิกิริยาสะท้อนของเอ็นแขนขาด้านซ้ายแรงกว่าแขนขาด้านขวา ซึ่งหมายความว่า ระบบประสาทที่ส่วนบท (upper motor neurone) ถูกกระทบกระเทือนผิดกับคนไข้รายที่ ๔ ที่ระบบประสาทส่วนล่าง (lower motor neurone) ถูกกระทบกระเทือน ปฏิกิริยาสะท้อนเอ็นของคนไข้รายที่ ๔ จึงอ่อนหรือไม่มี (ให้ผลลบ) ระบบประสาทส่วนบนที่ควบคุมแขนและขาซีกเดียวกันเกือบทั้งหมด หมายถึง สมอง พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ คนไข้รายนี้ สมองส่วนที่ส่งเส้นประสาทลงมาควบคุมแขนขาได้รับการกระทบกระเทือนทำให้แขนขาทำงานตามสั่งไม่ได้


หมอ : “จากประวัติและการตรวจร่างกายของคุณ แสดงว่า สมองส่วนที่ควบคุมแขนขาข้างซ้ายของคุณได้รับการกระทบกระเทือนจากการขาดเลือดที่เกิดจากเส้นเลือดทีไปเลี้ยงสมองส่วนนั้นตีบตัน ซึ่งพบบ่อยในคนที่เป็นโรคเบาหวานและความดันเลือดสูง แต่คุณอย่าเพิ่งตกใจ เพราอาการของคุณไม่รุนแรงมากนัก ในระยะ ๒ ชั่วโมงนี้ คุณคิดว่าอาการของคุณดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิม”
ชาย : “ก่อนมาพบหมอ ผมรู้สึกมันจะทรงๆ อยู่ แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าแขนซ้ายผมมีแรงมากขึ้น ผมยังไม่ได้ลองเดินดูขาซ้ายอาจจะมีแรงเดินมากขึ้นก็ได้ครับ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น คุณลองเดินดูสักหน่อยสิครับ”


คนไข้ลุกขึ้นเดินไปเดินมาในห้องตรวจ ยังเดินลากขาซ้ายอย่างเห็นชัด และแขนซ้ายก็ยังไม่ค่อยแกว่งไกวเหมือนปกติ (เหมือนแขนขวา) เวลาเดิน


ชาย : “ดีขึ้นครับ เพราะตอนก่อนมาหาหมอ ผมเกือบเดินไม่ได้เลย ต้องให้คนพยุงปีกจึงโขยกเขยกมาได้”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าสมองส่วนที่ขาดเลือดของคุณได้รับเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นแล้ว หมอจะให้ยาคุณไปกินที่บ้านเพื่อช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ส่วนยาเบาหวานและยาลดความดันเลือดสูง คุณกินเหมือนเดิม แต่ถ้าอาการทรุดลง รีบมาโรงพยาบาลทันที”
ชาย : “หมอไม่ให้ผมอยู่โรงพยาบาลหรือครับ ผมกลัวเป็นอัมพาต”
หมอ : “อันที่จริง ตอนนี้คุณก็เป็นอัมพาตอ่อนๆ อยู่แล้ว หรือจะเรียกว่าเป็นอัมพฤกษ์ก็ได้ และอาการของคุณกำลังดีขึ้น หมอจึงคิดว่า คุณจะดีขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะหายจากการเป็นอัมพฤกษ์ภายใน ๒๔ ชั่วโมงก็ได้ ครั้งที่แล้วคุณหายจากอาการอัมพฤกษ์ของแขนซ้ายเองภายใน ๒-๓ ชั่วโมง ครั้งนี้หมอให้ยาไปช่วยด้วย อาการน่าจะดีขึ้นเช่นเดียวกัน

อนึ่ง การอยู่โรงพยาบาลก็ไม่ได้ช่วยให้การตรวจรักษาของคุณเปลี่ยนไป และอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัด ไม่สะดวกและไม่สบายใจเหมือนอยู่บ้าน หมอจึงคิดว่าการอยู่บ้านจะทำให้คุณดีขึ้นได้เร็วกว่า เพราะคุณอาจจะสามารถเคลื่อนไหวได้ดีกว่า การเคลื่อนไหวส่วนที่อ่อนแรงบ่อยๆ จะทำให้หายเร็วขึ้น”
 
คนไข้รายที่ ๕ เป็นตัวอย่างคนไข้ที่มีอาการชาและเป็นภาวะฉุกเฉินอีกอย่างหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล นอกจากอาการกำลังทรุดลง หรือมีอาการหนัก เช่น ซึม เลอะเลือน สับสน หมดสติ ชัก จึงจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล คนไข้รายที่ ๕ นี้ น่าจะเป็น “โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน” (cerebral thrombosis) เพราะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว คือ โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง และอายุมาก ประกอบกับเคยมีประวัติ “สมองขาดเลือดชั่วคราว” (T.I.A. หรือ transient ischemic attack of the brain) เมื่อ ๓-๔ เดือนมาก่อน ทำให้วินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น ถ้าภายใน ๒๔ ชั่วโมง อาการอัมพฤกษ์ของคนไข้รายนี้หายโดยไม่มีอาการใดๆ เหลืออยู่อีก เราจะเรียกว่าเป็น โรคสมองขาดเลือดชั่วคราวแทนที่จะเรียกว่า โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน อาการชาและอาการอ่อนแรง (อัมพฤกษ์) เช่นนี้จะดีขึ้นได้เร็วกว่าถ้ามีคนช่วยบีบนวด ให้กำลังใจและให้เคลื่อนไหวส่วนที่ชาและอ่อนแรงบ่อยๆ การอยู่บ้าน (อยู่ใกล้ลูกหลานและคนใกล้ชิด) จึงช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่าการอยู่โรงพยาบาล


ส่วนยาที่ใช้ในกรณีเช่นนี้ที่สำคัญ คือ ยากันเลือดแข็ง (anticoagulant) เพื่อไม่ให้เลือดแข็งตัวอุดตันหลอดเลือดได้ง่าย ที่ใช้ได้ทั่วไปโดยไม่ต้องเจาะเลือดตรวจ คือ ยากันเกล็ดเลือดจับตัว (anti-platelet aggregation druge) ที่หาง่ายและราคาถูก คือ ยาแอสไพริน (เม็ดละ ๓๐๐ มิลลิกรัม) กินครั้งละ ครึ่ง-๑ เม็ดหลังอาหารทันทีวันละครั้งก็เพียงพอแล้ว (คนที่ปวดท้องเวลาหิวหรือเวลาอิ่ม หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารไม่ควรกินยานี้นอกจากแพทย์สั่งยารักษาโรคกระเพาะให้ด้วย)

.................................................................................................................

เหน็บชา ตอนที่ 1 | เหน็บชา ตอนที่ 2 | เหน็บชา ตอนจบ

ข้อมูลสื่อ

221-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 221
กันยายน 2540
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์