• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พิพิธภัณฑ์ชุมชนชายทะเลสำหรับเด็ก (ตอนที่ 2) Museo Sang Bata Sa Negros Sagay City, Negros Occidental

การเดินทางจากโรงแรม Natures' Village ที่เมืองตาลิไซ (Talisay) ไปยังพิพิธภัณฑ์ชุมชนชายทะเลสำหรับเด็กเมืองซาไกนั้น ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากเส้นทางกำลังก่อสร้าง ผู้ร่วมทางชาวฟิลิปปินส์หลายคน บ่นว่าทำไมไปตั้งพิพิธภัณฑ์เสียห่างไกล แล้วใครจะไปดู น่าจะตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ จะได้มีเด็กไปดูมากๆ คุ้มค่าต่อการลงทุน


                                                 
                                                    เด็กๆ ต้อนรับ ดร.นีน่า ที่พิพิธภัณฑ์


                               
                                        วิกตอริอัส                                                      ABC ต้านบุหรี่


เราแวะพักกลางทางเล็กน้อยเพื่อเข้าห้องน้ำที่เมืองวิกตอริอัส (Victorias) ที่นี่มีศูนย์ขายสินค้าพื้นเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่น พวกเราส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก็อดแวะเข้าไปชมไม่ได้ ภายในมีสินค้าหัตถกรรมจำพวก OTOP วางขายอยู่บ้าง คงจะเป็น One City One Product แต่ไม่มีอะไรน่าซื้อ ไม่เห็นมีใครได้อะไรติดมือกลับมา

เมื่อรถบัสถึงพิพิธภัณฑ์ ก็มีเด็กๆ แต่งตัวสวย เอาพวงมาลัยดอกไม้กระดาษที่ทำกันเองมาคล้องคอรับแขกผู้มาเยือน แล้วพาพวกเราเข้าไปในอาคารพิพิธภัณฑ์ 2 ชั้นหลังเล็กๆ เพียงหลังเดียว เนื่องจากพวกเรามาด้วยกันถึง 2 คันรถ จึงต้องผลัดกันชมทีละชั้น

ดิฉันอยู่ในกลุ่มที่ต้องขึ้นไปชมชั้นบนก่อน บนนี้มีนิทรรศการตุ๊กตาและของเล่นซึ่งเป็นของสะสมของคุณมารา (Ms. Mara Montelibano) เป็นตุ๊กตาจากทั่วโลก เธอยกให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งนี้ นอกจากนั้น ยังมีของเล่นสะสมของคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ยกให้จัดแสดง มีเด็กหญิงและเด็กชายซึ่งเป็นนักเรียนระดับประถมคอยอธิบายเกี่ยวกับนิทรรศการให้พวกเราฟังด้วยภาษาอังกฤษ

ถัดจากห้องตุ๊กตาเป็นห้องจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านของชาวฟิลิปปินส์ เด็กๆ ที่มาชมสามารถทดลองทอผ้า สวมชุดต่างๆ ที่แขวนไว้ เล่นดนตรี และสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ได้ มุมเครื่องจักสานมีเด็กน้อยน่ารักอายุเพียง 8 ขวบมายืนอธิบายให้ฟัง

                              
                    มัคคุเทศก์อายุ 8 ขวบ                        หอยมุกและไข่มุกแห่งท้องทะเลซาไก  

                                                 
                                                              มัคคุเทศก์ประจำมุมตุ๊กตา


ใกล้บันไดทางลงมีนิทรรศการแสดงผลร้ายของการสูบบุหรี่ด้วย ABC ดูแล้วไม่ค่อยเกี่ยวโยงกับนิทรรศการอื่นๆ เท่าไรนัก แต่อยากถ่ายรูปมาฝากหมอชาวบ้าน และได้ทราบจาก ดร.นีน่า ในภายหลังว่านิทรรศการต้านบุหรี่นี้เคยจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เด็กเมืองมะนิลามาก่อน เธอขายต่อให้ลิลิเบ็ธ และตอนนี้กำลังคิดจะขายนิทรรศการป่าเมืองร้อนที่จัดแสดงมาได้ปีเศษแล้ว เพราะพิพิธภัณฑ์เด็กต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คงสูงมาก ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เด็กจึงต้องหาผู้สนับสนุนด้านการเงินเก่งด้วย แต่ละมุมจะมีชื่อบริษัทหรือชื่อผู้อุปถัมภ์ติดประชาสัมพันธ์ไว้

ภายในพิพิธภัณฑ์ชั้นล่างเน้นจัดแสดงความรู้เกี่ยวกับท้องทะเลแถบเมืองซาไก ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์ปะการังและแหล่งผลิตหอยมุก เด็กหญิงที่ยืนอธิบายนิทรรศการให้พวกเราฟังเป็นภาษาอังกฤษ เป็นเด็กชั้นประถมปลาย เธออธิบายได้อย่างฉาดฉาน เหมือนท่องจำเอาไว้ได้จนคล่องปรื๋อ และสัมผัสได้ถึงความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ ที่เธอมีโอกาสได้อวดบ้านเกิดให้ชาวต่างถิ่นได้รับรู้ถึงทรัพย์สินทางธรรมชาติมูลค่ามหาศาลที่อยู่ใต้ทะเลซาไก

ลิลิเบ็ธ (Lilibeth Cordova La O') ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนชายทะเลสำหรับเด็กแห่งนี้เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ชาวประมงของหมู่บ้านซึ่งเป็นพ่อแม่ของเด็กๆ พวกนี้ ชอบลักลอบใช้ระเบิดจับปลาและทำลายปะการัง แต่หลังจากมีพิพิธภัณฑ์โดยมีกิจกรรมฝึกให้เด็กๆ มีส่วนร่วมเป็นมัคคุเทศก์แนะนำนิทรรศการของท้องถิ่นบ้านเกิด เด็กๆ เหล่านี้กลายเป็นผู้ชักชวนให้พ่อแม่ และญาติพี่น้องเลิกการทำประมงแบบทำลายทรัพยากร ธรรมชาติได้สำเร็จ

พิพิธภัณฑ์ชุมชนหลังเล็กๆ ที่มีนิทรรศการให้ชมเพียงไม่กี่ชนิดแห่งนี้ มีคุณค่ามหาศาลที่มองไม่เห็นด้วยสายตาซ่อนอยู่เบื้องหลัง ทำให้พวกเราได้คำตอบว่าเพราะเหตุใด พิพิธภัณฑ์ชุมชนจึงมาตั้งอยู่ห่างไกลผู้คนจำนวนมากจากเมืองเช่นนี้ ครูและผู้ปกครองที่เข้าใจ คงจะดั้นด้นพาเด็กๆ ที่อยู่ในเมือง มาสัมผัสพิพิธภัณฑ์และสัมผัสชีวิตชุมชนชายทะเลไปพร้อมกัน เป็นการเรียนรู้จากของจริงที่กลั่นกรองแล้ว ทั้งยังเป็นกำลังใจให้ผู้คนในชุมชนชายทะเลประกอบอาชีพต่อไปโดยไม่ทำลายธรรมชาติอีกด้วย
ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้ไปเข้าค่ายกับนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ที่อู่มหิดลฯ สัตหีบ นาวาเอก (พิเศษ) วีรยุทธ ตุลวรรธนะ ผู้นำค่าย จัดให้พวกเราได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย บริเวณเขาหมาจอ แสมสาร ซึ่งกองทัพเรือจัดตั้งขึ้นตามแนวทางที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชกระแสแนะนำให้สร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตามรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อให้เยาวชนเกิดความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ

                                      
                                             พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและทะเลไทย

ระหว่างทางเดินขึ้นพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่บนเขา มีเด็กหญิงลูกชาวบ้านแถบนั้น 2 คนเดินขึ้นมาด้วย ดิฉันจึงเดินคุยกับหนูน้อยทั้ง 2 คนไปตลอดทาง เด็กหญิงมินท์ อายุ 11 ขวบกำลังจะขึ้นชั้นประถม 6 กับเด็กหญิงดรีม อายุ 9 ขวบกำลังจะขึ้นชั้นประถม 4

                                               
                                      เด็กหญิงมินท์ และเด็กหญิงดรีม แสมสาร ชลบุรี

เด็กทั้ง 2 คนเป็นพี่น้องกัน พ่อทำงานอยู่บนเรือประมง แม่พาเด็กๆ มาพักผ่อนที่นี่เป็นประจำ แม่นั่งคุยกับคนรู้จักอยู่ใต้ต้นไม้ด้านล่าง เด็กๆ ก็วิ่งขึ้นลงเข้าออกพิพิธภัณฑ์ และได้ซึมซับความรู้ต่างๆ โดยธรรมชาติ

เจ้าหนูดรีมตัวเล็กอ่านคำบรรยายในพิพิธภัณฑ์ให้ฟังจ้อยๆ โดยไม่ติดขัด พี่มินท์ซึ่งค่อนข้างขี้อายก็อมยิ้มฟังน้องอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟัง เห็นแล้วนึกถึงเด็กฟิลิปปินส์ที่ชุมชนชายทะเลเมืองซาไก เด็กๆ คงรู้สึกภูมิใจมากที่มีโอกาสอธิบายให้คนต่างถิ่นฟังเหมือนกัน

ความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดที่ฝังลึกอยู่ในใจเด็กนี้ จะมีพลังอันยิ่งใหญ่ตลอดไป

 

ข้อมูลสื่อ

362-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 362
มิถุนายน 2552
อื่น ๆ
พรอนงค์ นิยมค้า