• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจล้ม ตัวบวม... เพราะหยุดยาขับปัสสาวะ

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 67

เดือนมิถุนายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีแพทย์รุ่นใหม่เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านในสถาบันฝึกอบรมต่างๆ จึงเป็นธรรมดาที่จะมีผู้ป่วยแออัดในห้องฉุกเฉินและในห้องตรวจโรคอื่นๆ ของสถาบันฝึกอบรมเหล่านั้น เพราะแพทย์ที่เพิ่งเข้ามายังไม่คุ้นกับระบบและวิธีการในสถาบันที่แตกต่างกันไป และมักจะเป็น  " มือใหม่หัดขับ"  ด้วย

เมื่ออาจารย์มาตรวจเยี่ยมผู้ป่วยพร้อมกับแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ฝึกหัดในตอนเช้า ก็ได้ยินเสียงร้องเรียกดังลั่น

ผู้ป่วย :  " หมอ... หมอ... ผมอยากกลับบ้าน "

อาจารย์ : " สวัสดีครับ เดี๋ยวผมถามแพทย์เจ้าของไข้เขาก่อนนะครับว่าคุณเป็นอะไรและจะกลับบ้านได้มั้ย"

ผู้ป่วย : " กลับได้สิครับ ผมหายดีแล้ว "
 

อาจารย์จึงหันไปถามแพทย์ประจำบ้านว่า ผู้ป่วยเป็นอะไร

แพทย์ประจำบ้าน :  " ผู้ป่วยเป็นชายไทยคู่ (คู่หมายความว่า แต่งงานแล้วและภรรยายังมีชีวิตอยู่) อายุ 58  ปี มาโรงพยาบาล เมื่อวานนี้ด้วยอาการหอบเหนื่อยและบวมครับ ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจรูมาติกมาหลายปีแล้วครับ มีลิ้นหัวใจตีบและรั่วอยู่ 2 ลิ้น ได้รับการรักษามาตลอด แต่    ผู้ป่วยปฏิเสธการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ จึงได้แต่กินยาบรรเทาอาการเรื่อยมา

2  วันที่ผ่านมา ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น และเท้าเริ่มบวม อาการเป็นมากขึ้นๆ ผู้ป่วยจึงมาโรงพยาบาล เมื่อวานนี้ การตรวจร่างกายก็พบว่าชีพจรไม่สม่ำเสมอและ ช้า ประมาณ 40 ครั้ง/นาที ความดันเลือด 100/70 หายใจเร็ว หลอดเลือดดำที่คอเต้นถึงคางในท่านั่ง เท้าบวม 2 ข้าง ปอดมีเสียงเปรี๊ยะๆ (crepitations) ที่ส่วนล่างทั้ง 2 ข้าง หัวใจโตและมีเสียงฟู่ (murmurs) ของลิ้นหัวใจไมทรัลตีบและรั่ว (mitral stenosis and regurgitation) และลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (aortic stenosis)
จึงให้การวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นภาวะหัวใจวาย (หัวใจล้ม, congestive heart failure) จากลิ้นหัวใจตีบและรั่ว ได้ให้การรักษาด้วยการฉีดยาขับปัสสาวะให้และผู้ป่วยก็ได้ปัสสาวะออกมาเป็นจำนวนมาก อาการก็ดีขึ้นแล้วครับ "

อาจารย์ :  " แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจล้มกำเริบล่ะหมอ "

แพทย์ประจำบ้าน : " ก็ผู้ป่วยมีโรคหัวใจรูมาติกและมีลิ้นหัวใจตีบและรั่วอยู่ 2  ลิ้นครับ " 

อาจารย์ : " โรคหัวใจรูมาติกและลิ้นหัวใจตีบและรั่วเป็นสาเหตุเดิม (underlying cause) ซึ่งผู้ป่วยคงเป็นมาหลายสิบปีแล้ว และขณะนี้ก็กินยาคุมอาการอยู่
แต่การที่ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้น เราต้องหาสาเหตุ ที่ทำให้อาการกำเริบ (precipitating cause) จะได้รักษาให้ถูกต้องมากขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นมาอีก"

แพทย์ประจำบ้าน : " ผู้ป่วยไม่มีไข้ ไม่มีการติดเชื้อกินอาหารและยาตามปกติ ไม่ได้ทำงานหนักอะไร และไม่ได้เดินทางไกลอะไรครับ "

อาจารย์ : "แปลว่า หมอคิดว่าไม่มีสาเหตุที่ทำให้อาการ ของผู้ป่วยกำเริบ "

แพทย์ประจำบ้าน :  " ครับ "

 

อาจารย์จึงหันไปถามผู้ป่วย

อาจารย์ : " ก่อนที่อาการของคุณจะกำเริบขึ้นใน 2  วันนี้คุณไปกินอะไรแปลกๆ ทำอะไรแปลกๆ หรือคุณคิดว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการของคุณกำเริบขึ้น "

ผู้ป่วย :  " ก็ไม่เห็นมีอะไรนี่ครับ ผมก็ทำงานตามปกติ กินอาหารและยาตามปกติ ไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย อ้อ เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมหยุดยาขับปัสสาวะไป เพราะเห็นว่ากินมานานแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยปัสสาวะลำบากหรือไม่ปัสสาวะและหยุดกินยาขับปัสสาวะแล้วก็ยังปัสสาวะได้ดี ผมก็เลยหยุดยานั้นไป "
 

อาจารย์ :  " ครับ คุณหยุดยาขับปัสสาวะไป แต่คุณยังดื่มน้ำเท่าเดิม น้ำจึงสะสมในร่างกายของคุณวันละเล็กละน้อย จนในที่สุดมันก็ท้นเขื่อน (หัวใจล้ม) จึงท่วมปอดของคุณ ทำให้คุณเหนื่อย ท่วมขาของคุณ ทำให้ขาและเท้าของคุณบวม ที่เราเรียกว่าหัวใจล้มนี่แหละ  ครับ
เพราะฉะนั้น ครั้งหน้าถ้าคุณจะหยุดยา เปลี่ยนยา ลดยาหรือเพิ่มยา กรุณาปรึกษาหมอเจ้าของไข้ของคุณก่อน จะได้ไม่ต้องเกิดอาการกำเริบ ทำให้ทรมานมากๆ"

ผู้ป่วย : "ครับ ทรมานจริงๆ ตอนหายใจลำบาก เดินเพียงไม่กี่ก้าวจะเข้าห้องน้ำก็เหนื่อยแล้วต่อไปผมจะปรึกษาคุณหมอก่อนจะหยุดยาหรือเปลี่ยนยาครับ"
 

อาจารย์ : " ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น นอกจากที่คุณหยุดยาขับปัสสาวะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบแล้ว ยาหัวใจที่คุณกินมานานหลายปีก็คงสะสมกันอยู่ในร่างกาย ของคุณมากเกินไป จนทำให้หัวใจของคุณเต้นช้ากว่าปกติ คุณหมอเขาจะหยุดยาหัวใจของคุณไว้ก่อน จนกว่าหัวใจของคุณจะกลับมาเต้นเป็นปกติ จึงจะให้คุณกินยาหัวใจอีกครั้ง"

ผู้ป่วย : " ขอบคุณครับ แล้วผมจะกลับบ้านได้หรือยัง "
อาจารย์ : "ถ้าคุณเข้าใจดีแล้วว่า อะไรทำให้อาการของคุณกำเริบ และคุณจะดูแล     ตัวเองไม่ให้อาการกำเริบอีก คุณก็น่าจะกลับบ้านได้แล้ว ประเดี๋ยวคุณหมอเขาจะปรึกษากับหมอเจ้าของไข้คุณก่อนให้คุณกลับบ้านนะครับ

แต่การรักษาที่เราให้คุณในห้องฉุกเฉินนี้เป็น การรักษาปลายเหตุเท่านั้นนะครับ เพราะคุณก็รู้อยู่แล้วว่าสาเหตุที่สำคัญที่    ทำให้คุณไม่สบายคือ ลิ้นหัวใจตีบและรั่ว ถ้าคุณไม่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่พิการออก ภาวะหัวใจล้มจะเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อคุณกินอาหารเค็มหรือรสจัด กินน้ำมาก ทำงานหนัก หรืออื่นๆ
ดังนั้น คุณควรปรึกษาหมอเจ้าของไข้ของคุณให้ทราบถึงผลดีผลเสียของการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ   ถ้าหมอเจ้าของไข้เขาคิดว่าการผ่าตัดจะเป็นประโยชน์ต่อคุณมากกว่าโทษ ก็ควรทำตามคำแนะนำนั้น เพราะยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งแก่ตัว ยิ่งผ่าตัดลำบาก และลิ้นหัวใจมันจะตีบและรั่วเพิ่มขึ้นได้"

การรักษาโรคส่วนใหญ่เป็นการรักษาปลายเหตุ หรือเป็นการรักษาตามอาการ  ถ้าแพทย์ไม่สนใจที่จะถามหาสาเหตุที่ทำให้อาการของผู้ป่วยกำเริบขึ้น แล้วแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสาเหตุ  ที่ทำให้อาการกำเริบ ผู้ป่วยก็จะไม่รู้ ทำให้เกิดอาการกำเริบบ่อยๆ ได้

ในปัจจุบัน ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลมากขึ้น แพทย์มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยแต่ละคนน้อยลง จึงไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยหรือทำให้อาการกำเริบขึ้น ได้แต่รักษาอาการที่กำเริบเท่านั้น และผู้ป่วยไทยก็ไม่ค่อยกล้าถามแพทย์เกี่ยวกับเรื่องการดูแลโรคภัยไข้เจ็บของตนโดยตนเองด้วย

 

 

ข้อมูลสื่อ

363-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 363
กรกฎาคม 2552
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์